ที่ผ่านมา “บะหมี่กึ่งสำเร็จ” จัดเป็นอาหารจำพวกกินยามจำเป็น แค่แก้หิว รับรู้กันทั่วไปว่า คุณค่าทางโภชนาการค่อนข้างต่ำ แนวคิดดังกล่าวกำลังถูกท้าทาย จาก “เร็ด ช๊อปสติกส์” (Red chopsticks) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อใหม่ ที่หวังทำลายทัศนคติเดิมๆ ด้วยการชูเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ สำหรับลูกค้าตลาดบน ทั้งในและต่างประเทศ
สงวน จรรยาพุทธิพงศ์ กรรมการผู้จัดการและสิรีรัตน์ ศิวะเพ็ชรานาถ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการตลาด บริษัท มาไว ฟู้ด คอร์ปอเรชั่น จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จ “Red chopsticks” เล่าว่า เดิมครอบครัวทำธุรกิจอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ และอสังหาริมทรัพย์ จนปี 2540 เกิดผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจต้องหันมาจับธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพื่อส่งออก ยี่ห้อ “มาไว” เพราะเห็นว่า ธุรกิจอาหารยังเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และสามารถพัฒนาให้แตกต่างจากสินค้าของบริษัทยักษ์ใหญ่ในท้องตลาดได้ โดยเน้นความต่างเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทางเลือกใหม่ที่มีคุณภาพสูง ทั้งด้านมาตรฐานการผลิต และคุณค่าทางอาหาร มีช่องทางตลาด ส่งออกต่างประเทศ อาทิ สเปน โอมาน สหรัฐฯ เป็นต้น และเสิร์ฟบนสายการบิน “นกแอร์”
อย่างไรก็ตาม “มาไว” ไม่ประสบความสำเร็จในการเจาะตลาดต่างประเทศ เพราะสินค้ายังไม่ต่างจากคู่แข่งอย่างชัดเจน ดังนั้น บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการระดับเอสเอ็มอี พยายามปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ตลาด ด้วยวิธีปรับแบรนด์ให้มีรูปโฉมใหม่ ในชื่อ Red chopsticks เพื่อเจาะตลาดได้กว้างขึ้น อีกทั้ง ขยายจุดยืนเป็นอาหารเพื่อสุขภาพให้เด่นชัดยิ่งขึ้น โดยใช้เงินลงทุนซื้อเครื่องจักร สร้างมาตรฐานการผลิต รวมถึงค่าวิจัยและพัฒนา กว่า 1 ปี มูลค่ารวมกว่า 200 ล้านบาท
สงวน ขยายความว่า จุดเด่นของ Red chopsticks คือ พยายามตัดปัจจัยลบของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เคยมีมาออกให้หมด ไม่ว่าจะเป็นไร้คุณค่าทางอาหาร ไขมันสูง ความเค็มสูง เส้นเละและอืดเร็ว ถ้วยไม่สามารถเข้าไมโครเวฟได้ และอาจเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม แล้วเปลี่ยนมาเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น เส้นทำจากแป้งสาลีโปรตีนสูง 13% ขณะที่รายอื่นๆ ในท้องตลาดประมาณ 11% เส้นไม่เละมีความเหนียวนุ่มคล้ายเส้นราเมนญี่ปุ่น ส่วนน้ำมันที่ใช้ผสม คือ “น้ำมันรำข้าว” ซึ่งมีไขมันอิ่มตัวต่ำ
รสชาติไม่เน้นจัดมากนัก เพราะต้องการให้ผู้บริโภคกินเป็นประจำต่อเนื่อง ขณะที่เครื่องปรุงปราศจากผงชูรส และเกลือ นอกจากนั้น เป็นผู้ผลิตรายแรกและรายเดียวในโลกที่เสริมสารอาหารเพื่อสุขภาพลงไปใน 4 รสชาติ ได้แก่ รสไก่ สำหรับกลุ่มสตรี เสริมด้วย Collagen สกัดจากปลาทะเล รสต้มยำกุ้ง สำหรับกลุ่มผู้ชาย เสริมด้วย L-Carnitine รสทะเล สำหรับกลุ่มเด็กเสริมด้วย Omega 3 & DHA และรสสาหร่ายทะเล สำหรับกลุ่มผู้ต้องการลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็งในลำไส้ เสริมด้วยใยอาหารInulin-Oligofructose
ด้านฉลากนั้น สงวนเผยว่า ใช้ภาพกราฟฟิก เพื่อเวลาอยู่บนชั้นวางสินค้าจะเห็นสะดุดตา เด่นจากยี่ห้ออื่นๆ อีกทั้ง ช่วยสื่อถึงความเป็นอาหารสมัยใหม่ ส่วนบรรจุภัณฑ์ใช้พลาสติกอย่างดี สามารถเข้าไมโครเวฟได้ เป็นต้น
ทั้งนี้ ราคาขายตั้งที่ถ้วยละ 49 บาท ซึ่งสูงกว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยรายอื่นๆ ตามท้องตลาดถึง 4 เท่าตัว เพื่อต้องการเจาะกลุ่มลูกค้าตลาดบนที่ให้ความใส่ใจในสุขภาพอย่างแท้จริง ทั้งตลาดในและต่างประเทศ
“เรามีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน ถ้าผมจะไปแข่งเรื่องราคาถูก เรื่องการตลาด หรือโฆษณากับบริษัทยักษ์ใหญ่ อย่างไรเสียก็ไม่มีทางสู้ได้ ดังนั้น เราจึงฉีกมาหากลุ่มลูกค้าที่ยังไม่มีคู่แข่งโดยตรง นำเสนอเป็นทางเลือกใหม่ ซึ่งตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมูลค่าเป็นหมื่นล้าน ถ้าเราจับแค่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายสำเร็จ โอกาสจะยืนอยู่ท่ามกลางยักษ์ใหญ่ก็มีความเป็นไปได้” สงวน กล่าวและเผยต่อว่า
ความท้าทายของ Red chopsticks คือ ต้องพยายามปรับทัศนคติของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายให้ยอมรับว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อนี้ ไม่ได้มุ่งขายราคาถูกแค่เป็นอาหารสำรอง แต่ต้องการให้เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เกิดการซื้อซ้ำ และกินได้เป็นประจำ
ทั้งนี้ ช่องทางจำหน่ายนั้น ผ่านห้างเซ็นทรัล และท๊อป ซูเปอร์มาร์เกต รวมถึงบนสายการบิน “นกแอร์” โดยเริ่มวางตลาดเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมา
เจ้าของธุรกิจ ยอมรับว่า ยอดขายเดือนแรก ประมาณ 1,000 ถ้วย แม้จะยังไม่สูงมาก แต่ถือเป็นการเริ่มต้นที่น่าพอใจ เพราะเป็นสินค้าใหม่ ไม่เคยประชาสัมพันธ์ใดๆ เลย ส่วนแผนตลาดต่อไป จะเน้นเปิดตัวตามงานแฟร์อาหารต่างๆ ส่วนการบุกต่างประเทศจะมุ่งส่งออกตลาดยุโรป อเมริกา และเอเชีย เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นต้น ตั้งเป้าว่า ภายใน 2-3 ปีนี้ ยี่ห้อจะติดตลาด และคืนทุนได้ภายใน 4-5 ปี