xs
xsm
sm
md
lg

จีนปรับภาษีเงินได้ อุดช่องว่างรวยจน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเยนซี – จีนปรับแก้กม.ภาษีเงินได้ ปรับรายได้ขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีจาก 1,600 หยวน เป็น 2,000 หยวน เริ่มบังคับใช้ 1 มี.ค. ชี้ลดช่องว่างรวยจน รัฐเผยปรับฐานทำเสียรายได้ แต่จะเร่งเก็บภาษีคนรวยมากขึ้น เพื่ออุดรูโหว่

รัฐบาลจีนเผย ได้ทำการปรับแก้กฎหมายภาษีเงินได้ ปรับฐานรายได้ขั้นต่ำสำหรับการเก็บภาษีจากรายได้ 1,600 หยวนต่อเดือน เป็น 2,000 หยวน โดยจะมีผลบังคับใช้ครอบคลุมถึงผู้มีรายได้จากการทำธุรกรรมเช่าซื้อ และการทำสัญญารับเหมา

กรมสรรพากร, สำนักงานฝ่ายนิติบัญญัติของคณะมุขมนตรี และกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงสาเหตุการปรับฐานภาษีครั้งนี้ว่า “มีสาเหตุมาจากการพิจารณาอัตราค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น” นอกจากนี้การปรับภาษีดังกล่าว จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างประชาชนในเมืองกับชนบท

เนื่องจากการปรับภาษีครั้งนี้เน้นให้ผลประโยชน์กับผู้มีรายได้ต่ำ ฉะนั้นผู้เสียภาษี ที่มีภูมิลำเนาในประเทศจีน แต่ไปทำงานต่างประเทศ หรืออาศัยอยู่ในต่างประเทศ แต่มีรายได้จากธุรกรรมในจีน จะไม่ได้รับผลประโยชน์จากการปรับฐานภาษีดังกล่าว โดยบุคคลเหล่านี้ ยังต้องใช้ฐานภาษีรายได้ขั้นต่ำที่ 4,800 หยวนต่อเดือน

การปรับฐานภาษีเงินได้ดังกล่าว จะส่งผลให้รายได้ของรัฐลดลงราว 30,000 ล้านหยวนต่อปี นอกจากนี้ กลุ่มผู้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ยังขยายใหญ่ขึ้น จาก 50% เพิ่มเป็น 70%

ทั้งนี้เมื่อปี 2006 รัฐบาลเคยปรับฐานภาษีเงินได้จากฐานรายได้ขั้นต่ำ 800 หยวนต่อเดือนเป็น 1,600 หยวน โดยพิจารณาจากค่าครองชีพ ณ เวลานั้น อย่างไรก็ตามช่วงปีที่ผ่านมาดัชนีราคาผู้บริโภค ซึ่งเป็นมาตรวัดค่าครองชีพ เพิ่มขึ้นหลายครั้ง จนสร้างความลำบากให้กับผู้มีรายได้น้อย - ปานกลาง

เจาะโครงสร้างภาษีจีน

อย่างไรก็ตาม เอเชียน วอลล์สตรีทชี้ว่า การปรับโครงสร้างภาษีดังกล่าว แม้จะสร้างประโยชน์ให้กับภาคประชาชน แต่สำหรับภาครัฐแล้วยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องแก้ไข เนื่องจากระบบการเก็บภาษีของจีนยังมีรูรั่วอีกหลายจุด เพื่อทดแทนรายได้ที่ลดลง รัฐบาลต้องทำการปรับระบบการเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

แหล่งที่มาของภาษีส่วนใหญ่ที่จีนจัดเก็บ มาจากนิติบุคคลเป็นหลัก หากเศรษฐกิจไปได้ดีส่วนรายได้ส่วนนี้จะงอกงาม แต่อาการชะงักงันทางเศรษฐกิจพร้อมเกิดขึ้นทุกเมื่อ หากไม่ปฏิรูปการจัดเก็บภาษี จีนอาจเจอปัญหาครั้งใหญ่ ที่ผ่านมารัฐบาลเผยว่า จะทุ่มทุนริเริ่มโครงการขนาดยักษ์ ทว่าแหล่งที่มาของรายได้ ทางหนึ่งคือ ภาษียังง่อนแง่น แล้วจีนจะทำอย่างไร?

เช่นเดียวกับประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย จีนจัดเก็บภาษีรายได้ประเภทบุคคลธรรมดาได้น้อยนิดเพียง 6.5% ของเงินภาษีที่จัดเก็บได้ทั้งหมดของประเทศ เนื่องจากชาวจีนส่วนใหญ่ไม่เคยยื่นเรื่องเสียภาษี เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาแล้ว รัฐบาลอเมริกันสามารถเก็บภาษีเงินได้ประเภทบุคคลธรรมดาได้มากถึง 45% ในปีบัญชีที่ผ่านมาซึ่งสิ้นสุดเมื่อเดือนกันยายนปี 2007

ที่เป็นเช่นนี้เพราะ มนุษย์เงินเดือนในจีน กว่าจะได้เงินมาเลือดตาแทบกระเด็น ครั้นจะยอมเสียภาษีเงินได้ง่ายๆก็ไม่มีทาง จึงมักพยายามหลบเลี่ยงเสมอ ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนเองก็ไม่เข้มงวดจริงจัง กับการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากเกรงว่า อาจนำไปสู่การกระตุ้น สร้างสำนึกร่วมของภาคประชาชน ในฐานะเจ้าของประเทศ และเจ้านายของรัฐ ด้วยข้าราชการทั้งหลายล้วนกินเงินภาษีประชาชน

จินตงเซิง นักวิจัยจากกรมสรรพากรกล่าวว่า “ถ้าคุณเอาเงินของผู้เสียภาษีมาส่วนหนึ่ง พวกเขาต้องถามแน่นอนว่า คุณกำลังจะเอาเงินไปทำอะไร! ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับรัฐบาล”

ปัญหาเร่งด่วน

ปัจจุบันรายได้จากภาษีของจีนส่วนใหญ่ มาจากภาษีมูลค่าเพิ่มโดยเรียกเก็บ 17% จากสินค้าส่วนใหญ่ และจากภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้จากการยกเครื่องระบบการเงินของประเทศจีนเมื่อปี 1994 รายได้จากเงินภาษีจะมาจากบริษัทและหน่วยงานต่างๆ มากกว่าบุคคลธรรมดา เพราะทางการสามารถติดตามรายงานทางการเงินของบริษัทได้ง่ายกว่าประชาชนที่มีอยู่ราว 1,300 ล้านคน แต่การติดตามนิติบุคคลก็ยังมีปัญหา ด้วยธุรกิจจีนแม้แต่ ธุรกิจขนาดใหญ่ ยังนิยมทำธุรกรรมด้วยการอาศัยเงินสด ฉะนั้นข้อมูลจากทางธนาคารจึงใช้อ้างอิงได้เพียงเล็กน้อย

หากเกิดการชะลอตัว หรือเศรษฐกิจสะดุดขึ้นมา รายได้จากการพึ่งภาษีมูลค่าเพิ่ม และเงินได้นิติบุคคลย่อมลดวูบ ฉะนั้นทางการจึงเร่งยกเครื่องระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยยังคงพยายามหลีกเลี่ยงประเด็นล่อแหลม เรื่องสำนึกการเป็นเจ้าของเงิน โดยเฉพาะจากผู้มีรายได้ต่ำ-ปานกลาง ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประทศ และมีความอ่อนไหวต่อเรื่องเงินทองเป็นพิเศษ

“การเพิ่มรายได้จากการจัดเก็บภาษีจะไม่เกิดจากการปรับอัตราภาษีให้สูงขึ้น แต่จะมาจากแหล่งรายได้หลากหลายของกลุ่มคนรวย” จางปิน ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีจากสถาบันการเงินและเศรษฐกิจการค้าในปักกิ่งเผย

เมื่อปี 2007 เจ้าหน้าที่สรรพากรได้เรียกร้องให้ผู้เสียภาษีบางกลุ่ม ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติม โดยมีเป้าหมายหลัก ที่กลุ่มผู้มีรายได้จากการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ บริษัทหรือสินทรัพย์อื่นๆ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้มากกว่า 120,000 หยวนต่อปีหรือราว 6 เท่าของรายได้เฉลี่ยของคนเมือง ทว่ามีเพียง 1.63 ล้านคนเท่านั้นที่ส่งแบบฟอร์มกลับมา แม้ไม่รู้แน่ชัดว่าคนกลุ่มนี้มีจำนวนเท่าไร แต่เชื่อได้ว่า ผู้ที่ยื่นแบบฟอร์มกลับมา เป็นเศษส่วนเพียงเล็กน้อยจากกลุ่มคนรวยทั้งหมดเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น