xs
xsm
sm
md
lg

คลังเตรียมแผนเก็บ VAT 10% ชงรัฐบาลใหม่ พร้อมลดเพดาน ภงด.เหลือ 30% อุ้มมนุษย์เงินเดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คลังเตรียมรื้อโครงสร้างภาษีใหม่ เล็งเสนอแผนปรับขึ้น VAT 10% ชงรัฐบาลชุดใหม่ โดยปรับแบบขั้นบันไดทีละ 1% พร้อมปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล-บุคคลธรรมดา ให้ต่ำลง ลดภาระมนุษย์เงินเดือน คาดกู้วิกฤตฐานะคลังได้ใน 2 ปี ขณะที่กรมบัญชีกลางเผย ยอดเบิกจ่ายเงินงบไตรมาสแรก 22% ของงบรายจ่าย 1.66 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 5.10%

วันนี้ (7 ม.ค.) มีรายงานข่าวจากทีมเศรษกิจของของรัฐบาล ระบุว่า ในปี 2551 กระทรวงการคลัง กำลังจัดเตรียมแผนการปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ จากอัตรา 7% เพิ่มเป็น 8% ในขั้นแรก และจะมีการปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 10% ในขั้นตอนสุดท้าย ทั้งนี้ การปรับเพิ่มจะเป็นการปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่นำเงื่อนไขของระยะเวลามาเป็นตัวกำหนด แต่จะพิจารณาจากภาวะทางเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยต่อการปรับขึ้นของภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นสำคัญ

สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีแผนที่จะปรับลดลงเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของบริษัทและบุคคลธรรมดา โดยจะปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% ของรายได้ เหลือเพียง 25% พร้อมกับยกเลิกเพดานสูงสุดของอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ใช้แบบก้าวหน้าสูงสุดไม่เกิน 37% เหลือสูงสุดไม่เกิน 30% ซึ่งกลุ่มลูกจ้างหรือมนุษย์เงินเดือนจะได้รับประโชน์

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่ทางกระทรวงการคลังจะเสนอการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ดังกล่าว ให้รัฐบาลใหม่พิจารณา เพื่อสามารถนำโครงสร้างภาษีที่ปรับปรุงใหม่นี้มาใช้ได้ทันภายในปี 2551 อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า รายได้ที่สูญเสียไปกับการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กับรายได้ที่เพิ่มขึ้นของการขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มครั้งแรกจาก 7% เป็น 8% นั้น จะสามารถทำให้รัฐบาลรายได้เพิ่มขึ้นและสามารถตั้งงบประมาณสมดุลได้ในอีก 2 ปี

สำหรับการปรับโครงสร้างภาษีของกระทรวงการคลังในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งสำคัญของประเทศไทยคือ มาเลเซีย ในปัจจุบันที่เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ที่ 27% ก็จะปรับลดลงเหลือ 26% ในปีนี้ ขณะที่สิงคโปร์ เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล 20% ก็มีเป้าหมายที่จะลดลงเหลือ 19% ในปีนี้ และในปีหน้าเหลือ 18% เพื่อให้ผู้ประกอบการของตัวเองสามารถแข่งกับผู้ประกอบการที่ตั้งบริษัทในฮ่องกงได้ เนื่องจากปัจจุบันฮ่องกงเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเพียง 17.5% เท่านั้น

สำหรับรายละเอียดของการปรับปรุงโครงสร้างภาษีดังกล่าว คาดว่า กระทรวงการคลังจะเริ่มต้นด้วยลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงเหลือ 25% เป็นการทั่วไป ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์เสียภาษีในอัตราที่เท่ากัน และยุติธรรมกับทุกฝ่าย คาดว่าในช่วง 2 ปีแรกของการลดภาษีจะทำให้รายได้ของกรมสรรพากรลดลงไปบ้าง เพื่อแลกกับการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนที่จะดีขึ้นตามมาในปีที่ 3 ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ปัจจุบันบุคคลธรรมดาที่มีรายได้เกินกว่า 4 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษีในอัตราสูงสุดที่ 37% ซึ่งมีปริมาณเพียง 1% ของจำนวนผู้เสียภาษีทั้งหมด 6-7 ล้านคน แต่หากเปรียบเทียบเป็นเม็ดเงินแล้ว สูงถึง 34% ของรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจำนวน 215,000 ล้านบาท ขณะที่ผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 4 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตรา 30% ซึ่งมีปริมาณ 2% ของจำนวนผู้เสียภาษี แต่หากเปรียบเทียบเป็นเม็ดเงินแล้ว สูงถึง 34%

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจึงมีแนวคิดยกเลิกอัตราภาษีสูงสุด 37% โดยกำหนดวงเงินของรายได้ใหม่คือ ผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษี 30% ซึ่งแน่นอนว่า คนรวยที่มีรายได้จะได้รับประโยชน์จากภาษีที่ลดลง แต่หากมองในแง่ของการสูญเสียรายได้กลับมีเพียงเล็กน้อย เพราะอัตราภาษีที่หายไปมีเพียง 7% เท่านั้น

สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 1 ล้านบาทลงไป จะมีการแบ่งวงเงินของรายได้ใหม่ ซึ่งปัจจุบันอัตราภาษีกำหนดให้ผู้มีรายได้ 0 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี รายได้ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 500,000 บาท เสียภาษี 10% รายได้ 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท เสียภาษี 20% อาจจะปรับวงเงินใหม่ เช่น มีรายได้ 0 บาท แต่ไม่เกิน 170,000-180,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี พร้อมกับเพิ่มการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ ให้มากขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ ยังจะปรับวงเงิน 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 500,000 บาท รวมถึง 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาทใหม่ ซึ่งการปรับวงเงินข้างต้นนี้จะทำให้ผู้ที่มีรายได้ใกล้เพดาน 500,000 บาท ที่เสียภาษี 10% อาจจะถูกปรับขึ้นไปเสียภาษีในอัตรา 20% และผู้ที่เคยเสียภาษี 20% อาจจะปรับขึ้นไปเสียภาษีที่ 30% ก็ได้ เนื่องจากการกำหนดวงเงินรายได้ใหม่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และยังต้องหารือกันอีกหลายรอบก่อนที่จะมีการตัดสินใจอย่างเป็นทางการ
กำลังโหลดความคิดเห็น