xs
xsm
sm
md
lg

หยวนเซียว : เทศกาลขโมยผัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ นอกจากตรงกับวันมาฆบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทุกคนแล้ว ปีนี้ยังบังเอิญตรงกับวันเทศกาลหยวนเซียวของจีน ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้ายตามปฏิทินจันทรคติของจีนด้วย*

ในวันเทศกาลหยวนเซียว (元宵节) นั้น ชาวจีนนิยมทานขนมบัวลอยกันในครอบครัว เพราะบัวลอยในภาษาจีนมีนัยยะหมายถึงการอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันของคนในครอบครัว และในวันนี้ชาวจีนจะออกไปชมโคมไฟประดับอันงดงาม เพื่อความเป็นสิริมงคล ดังนั้นเทศกาลหยวนเซียวจึงมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “เทศกาลโคมไฟ” (灯节) ด้วย

นอกจากนั้น กว่า 2,000 ปีที่ผ่านมา เทศกาลหยวนเซียว ยังมีนัยยะของเทศกาลแห่งคู่รัก เพราะในอดีตนั้นกุลสตรีจีนส่วนใหญ่มักต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน แต่ในค่ำคืนวันนี้พวกนางจะมีโอกาสออกมาชมโคมประดับ เล่นทายปริศนา ทำให้หนุ่มสาวทั้งหลายมีโอกาสมองหาและเลือกคู่ครองในอนาคตด้วย

แต่ในบางพื้นที่ของจีนไม่เพียงแค่ทานบัวลอย ชมโคมประดับกันเท่านั้น ยังพ่วงกิจกรรมแปลกๆ ขึ้นมาด้วย ดังเช่นที่มณฑลเสฉวน กว่างตง และกว่างซี ยามค่ำมืดดึกดื่นของคืนวันเทศกาลหยวนเซียว ทั้งเด็กผู้ใหญ่คนหนุ่มคนสาวจะย่องเข้าสวนผักของบ้านอื่น เพื่อขโมยผักที่บ้านนั้นปลูก เป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาในพื้นที่แถบนี้เรียกว่าประเพณี “ขโมยผัก” (偷青) แต่เริ่มต้น ณ สมัยไหนนั้นไม่มีระบุแน่ชัด

ที่เรียกว่า “ขโมยผัก” นั้นจริงๆ แล้วก็ใช่ว่าจะขโมยกันแบบเอาเป็นเอาตายจนเจ้าของสิ้นเนื้อประดาตัว แต่จะขโมยกันแค่พอเป็นพิธี พอหอมปากหอมคอเท่านั้น เพราะจุดประสงค์ของการขโมยที่แท้จริงแล้ว คือการขโมยความโชคดี ความมีสิริมงคลมากกว่า ผักที่นิยมไปขโมยกัน ก็ได้แก่ “หัวหอม” (葱 - ชง) ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า “ฉลาดเฉลียว” (聪明- ชงหมิ่ง), “ผักคื่นช่าย” (芹菜 – ฉินไช่) พ้องเสียงกับคำว่า “ขยัน” (勤 - ฉิน), “กระเทียม” (蒜 - ซ่วน) พ้องเสียงกับคำว่า “คำนวณ” (算 – ซ่วน) ซึ่งมีนัยยะว่า คิดอย่างละเอียดถี่ถ้วน (精打细算 – จิงต่าซี่ซ่วน) แต่ในกว่างซีจะไม่นิยมขโมย “หัวผักกาด” (萝卜- หลัวปอ) เพราะเขามีสำนวนพูดติดปากว่า “ใครขโมยหัวผักกาด คนนั้นโง่กว่าควาย”

ส่วนเจ้าของสวนที่ถูกขโมยผักในวันนี้นั้น นอกจากจะไม่ถือโทษโกรธเคืองกันแล้ว กลับมีความสุขซะอีก เพราะนั่นหมายความว่าผักที่บ้านตัวเองปลูกได้นั้นเติบโตงอกงามดี และจะเก็บเกี่ยวดียิ่งๆ ขึ้นในปีต่อๆ ไป แต่ถ้าบังเอิญไปเจอหัวขโมยโลภมากเข้า เจ้าของสวนก็ได้แต่ก้มหน้ารับชะตากรรม ถือว่าฟาดเคราะห์ไป เจ้าของสวนบางรายรอบคอบเตรียมพร้อมรับมือหัวขโมยมืออาชีพด้วยการชิงเก็บผักที่สุกแล้วและกลางสุกกลางดิบไปเสียก่อน เหลือผักไว้ส่วนหนึ่งสำหรับให้ชาวบ้านร่วมสนุกกัน

หลังจากได้ผักตามต้องการแล้ว ขโมยสมัครเล่นจะนำผักที่ได้กลับบ้านไปต้มกิน ว่ากันว่าเมื่อกินผักที่ได้มาในคืนเทศกาลหยวนเซียวแล้ว คนๆ นั้นจะปราศจากโรคภัย กลายเป็นคนเฉลียวฉลาด ใจกว้าง จิตใจดีงาม ผู้เฒ่าผู้แก่เชื่อว่า ประเพณีขโมยผักนั้นก็คือการขโมยความสนิทสนม หรือก็คือการไปเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันนั่นเอง เพราะมีตำนานเล่าว่า ในอดีตบรรพบุรุษของชาวจีนไม่สมัครสมานสามัคคีกัน เข่นฆ่าสายเลือดเดียวกันเป็นว่าเล่น ต่อมามีท่านเซียนปรากฏตัวสั่งสอนจนรู้สำนึก ในค่ำคืนขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้ายพวกเขาจึงได้ร่วมสาบานต่อหน้าผักว่าจะสมัครสมานสามัคคีกัน นับแต่นั้นมาจากศัตรูก็กลายเป็นมิตร

หมายเหตุ
* ปฏิทินจันทรคติของจีน และไทยนั้นแตกต่างกัน เช่น หากของจีนเป็นวันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้าย ปฏิทินจันทรคติของไทยอาจตกที่ประมาณเดือน 3 โดยปฏิทินจีนนั้นจะเริ่มนับขึ้น 1 ค่ำเดือน 1 จากวันตรุษจีนนั่นเอง




เรียบเรียงโดย สุกัญญา แจ่มศุภพันธ์
กำลังโหลดความคิดเห็น