xs
xsm
sm
md
lg

ฟื้นเทศกาลทานอาหาร "เย็น" วันสุกดิบก่อนเช็งเม้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เทศกาลเช็งเม้ง หรือ ชิงหมิง (清明节) เป็นเทศกาลที่ลูกหลานจะแสดงความเคารพต่อดวงวิญญาณของบรรพบุรุษด้วยการเซ่นไหว้และปัดกวาดสุสาน กระทำกันในช่วงเดือนยี่ตามปฏิทินจันทรคติ คือหลังวันตงจื้อ (ราววันที่ 21-23 ธันวาคม) นับไป 106 วัน โดยจะตรงกับวันที่ 4 หรือไม่ก็ 5 เมษายน ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 4

ต้นกำเนิดของเทศกาลเช็งเม้งนั้นกล่าวไว้หลายอย่างด้วยกัน หนึ่งในนั้นเล่าว่า ช่วงปลายราชวงศ์ฉิน หลิวปัง (เล่าปัง) และ ฉู่ป้าหวัง (ฌ้อป้าอ๋อง) ต่างยุ่งกับการทำสงครามกัน จนสุดท้ายหลิวปังได้ครองแผ่นดิน และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฮั่น หลิวปังเกิดคิดอยากกลับไปกราบไหว้บิดามารดรที่ล่วงลับของตน แต่เพราะก่อนหน้านั้น ช่วงบ้านเมืองอยู่ระหว่างศึกสงคราม ทำให้มีหญ้าขึ้นรก สุสานทั้งหลายก็กระจัดกระจายพังพินาศไป

แม้หลิวปังจะให้เหล่าขุนนางช่วยกันค้นหาก็ไม่สำเร็จ ดังนั้นหลิวปังจึงได้ฉีกกระดาษและอธิษฐานว่า สุสานของบิดามารดาอยู่ที่ใด ก็ขอให้กระดาษที่โยนขึ้นฟ้าลอยไปตก ณ ที่นั้น โดยไม่ถูกลมพัดหาย

ด้วยความกตัญญูทำให้กระดาษลอยไปตกยังที่แห่งหนึ่ง กระทั่งหลิวปังได้ตามกระดาษไปก็พบชื่อป้ายสุสานของมารดาตน พร้อมได้รีบก่อสร้างสุสานให้กับบิดามารดาใหม่ และกำหนดให้ในช่วงเวลานี้ เป็นวันที่ต้องมากราบไหว้ที่สุสานเป็นประจำทุกปี จนภายหลังประชาชนจึงเริ่มต้นเอาอย่าง

ทุกวันนี้ชาวจีนทั้งในประเทศและโพ้นทะเลก็ยังคงให้ความสำคัญกับเทศกาลนี้อยู่ แต่ก็มิอาจปฏิเสธได้ว่า เวลาที่ล่วงเลยมานับพันๆ ปีจะทำให้คนรุ่นหลังไม่เข้าใจนัยยะแท้จริงของเทศกาลเช็งเม้งที่ต้องการให้ลูกหลานแสดงความกตัญญู และสำนึกในพระคุณของบุพการี เช่นเดียวกับที่หลายคนได้ลืมเลือน “เทศกาลงดก่อไฟ” หรือ “เทศกาลทานอาหารเย็น” ที่ในอดีตเคยเป็นเทศกาลที่สำคัญของชาวจีน แต่ต่อมาได้ถูกผนวกรวมเข้ากับเทศกาลเช็งเม้งนั่นเอง

นานมาแล้ว จีนเคยมีประเพณีที่เรียกว่าประเพณี “ทานอาหารเย็น” หรือ “หานสือเจี๋ย” (寒食节) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเทศกาล “งดก่อไฟ” (禁烟节) เชื่อกันว่าเทศกาลนี้น่าจะมีอายุยาวนานกว่า 2,000 ปี และเกิดก่อนเทศกาลเช็งเม้งเสียอีก เล่ากันว่า ในสมัยชุนชิวนั้น ภายในราชสำนักเกิดความวุ่นวาย อ๋องจิ้น เสี้ยนกง หูเบาเชื่อฟังคำยุยงใส่ร้าย จนสั่งคนไปสังหารองค์ชายเซินเซิง และสั่งคนตามล่าองค์ชาย ฉงเอ่อ ผู้น้อง

องค์ชายฉงเอ่อหนีออกจากรัฐจิ้น ระหกระเหินอยู่ต่างแดนนานนับ 10 ปีโดยมี เจี้ย จือทุย ขุนนางผู้จงรักภักดีตามรับใช้ไม่ห่าง ขุนนางเจี้ยถึงขนาดเคยชำแหละเนื้อที่ขาตนเองมาต้มเป็นน้ำแกงให้ผู้เป็นนายทานเมื่อยามขัดสน

จนเมื่อองค์ชายฉงเอ่อได้มีโอกาสกลับคืนสู่รัฐจิ้น และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นเจ้าครองรัฐนาม “จิ้น เหวินกง” เขาก็ค่อยๆ ลืมเลือนความดีความชอบของขุนนางตงฉินผู้นี้ไปเสียสิ้น ทำให้เจี้ย จือทุยบังเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ และเสียใจเป็นอย่างมาก จึงได้ตัดสินใจพามารดากลับไปยังบ้านเกิด และหนีขึ้นไปหลบอาศัยอยู่บนภูเขาเหมียนซัน

เวลาล่วงเลยมาจนกระทั่งวันหนึ่ง จิ้น เหวินกง นึกขึ้นได้ว่าตนเองนั้นได้ลืมปูนบำเหน็จความดีความชอบให้แก่ขุนนางผู้จงรักภักดี ที่ยอมเฉือนเนื้อตนเองให้ท่านเสวย ให้บังเกิดความรู้สึกผิดเป็นอย่างยิ่ง จึงได้เสด็จไปตามหาเจี้ย จือทุย ที่บ้านเกิดของเขาด้วยตนเอง แต่เพราะขุนเขากว้างใหญ่ยากตามหาตัว

เพราะความที่รู้ดีว่า เจี้ย จือทุย เป็นลูกกตัญญู ดังนั้น จิ้น เหวินกง จึงได้ออกอุบายให้ทหารวางเพลิงเผาป่า เพราะเชื่อว่า เจี้ย จือทุยจะต้องแบกแม่หนีไฟป่าลงมาแน่ๆ

เพลิงนรกได้ลุกลามติดต่อกันนานถึง 3 วัน กินพื้นที่ไกลหลายสิบลี้ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่เห็นเงาของเจี้ย จือทุย....

กระทั่งเมื่อเพลิงสงบ ทุกคนจึงขึ้นเขาไปดู

สิ่งที่พบกลับเป็นภาพของเจี้ย จือทุย และมารดากอดคอกันตายอยู่ใต้ต้นหลิว

ด้วยความรู้สึกเสียใจ อีกทั้งต้องการแสดงความเคารพและรำลึกถึงขุนนางเจี้ย จิ้น เหวินกงจึงได้กำหนดให้วันเสียชีวิตของเจี้ย จือทุย (ก่อนวันเช็งเม้ง 1 วัน) เป็นวันรำลึกถึงเจี้ย จือทุย และด้วยเพราะเจี้ยเสียชีวิตในกองเพลิง จึงได้ให้ทุกคนงดก่อไฟ และทานอาหารเย็นแทน ดังนั้นจึงเรียกเทศกาลนี้ว่า “เทศกาลทานอาหารเย็น” หรือ “งดก่อไฟ” หรือ “เทศกาล 105” (เพราะว่านับจากวันตงจื้อมา 105 วัน) และเปลี่ยนชื่อภูเขาจากเหมียนซันมาเป็น “เจี้ยซัน” เพื่อรำลึกถึงเขาด้วย (ปัจจุบันเขาเหมียนซัน อยู่ในเมืองเจี้ยซิว มณฑลซันซี)

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคนโบราณนิยมถือปฏิบัติกิจกรรมตามประเพณีเทศกาลทานอาหารเย็นต่อเนื่องไปจนถึงวันเช็งเม้ง นานวันเข้าเทศกาลทั้งสองก็รวมเป็นวันเช็งเม้งวันเดียว และนานวันเข้าเทศกาลทานอาหารเย็นที่เคยได้รับความนิยมก็เริ่มถูกลืมเลือนไป....




เรียบเรียงโดย สุกัญญา แจ่มศุภพันธ์
กำลังโหลดความคิดเห็น