xs
xsm
sm
md
lg

กระทงโฟม 1 ใบย่อยสลายมากกว่า 50 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เทศกาลลอยกระทงในแต่ละปี เริ่มมีวัสดุจากธรรมชาติมากมายมาให้เลือกสรรเพื่อสร้างกระทง
ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย - เชิญชวนให้ใช้วัสดุธรรมชาติร่วมประเพณีลอยกระทง นักวิชาการเผยแม้โฟมจะนำกลับไปรีไซเคิลได้ แต่ต้องอาศัยการจัดเก็บที่ถูกต้อง พร้อมแนะข้อเตือนใจ กระทงโฟม 1 ใบ ใช้เวลาย่อยสลายมากกว่า 50 ปี

เวียนมาอีกครั้งกับประเพณีวันลอยกระทง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันพุธที่ 12 พฤศจิกายนนี้ โดยกิจกรรมซึ่งเป็นหัวใจหลักของประเพณีไทยนี้คือการนำ“กระทง” ที่ตกแต่งเป็นรูปดอกบัวบาน แล้วปักธูปเทียนมาลอยน้ำ เพื่อเป็นการบูชาและขอขมาพระแม่คงคาที่มนุษย์ได้ใช้ น้ำในการดื่มกินและใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ รวมไปถึงการทิ้งสิ่งปฏิกูลนานาชนิดลงในแม่น้ำ ลำคลอง โดยในสมัยโบราณ กระทงที่นำมาลอยนั้นล้วนทำมาจากวัสดุธรรมชาติ เช่น กระทงใบตอง แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ผู้คนเริ่มหันมาใช้กระทงที่ทำจากโฟม มีกลีบกระทงที่ทำจากกระดาษสีต่างๆ อัดเป็นจีบสวยงาม เนื่องจากน้ำหนักเบา หาง่าย และราคาไม่แพง

แต่ปัญหาที่เกิดก็คือ กำจัดยากและสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม หลายฝ่ายจึงได้หันมารณรงค์การใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติมากขึ้น โดยปีที่ผ่านมาแม้ผลการเก็บกระทงของกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะเป็นที่น่ายินดีว่ามีกระทงที่ทำจากโฟมลดลงไปมาก แต่ก็ยังคงมีการใช้อยู่ถึง 182,322 ใบทีเดียว แล้วรู้ไหมว่ากระทงโฟม 1 ใบ มีที่มาอย่างไรและต้องใช้เวลาในการย่อยสลายกี่ปี

ดร.ธนาวดี ลี้จากภัย นักวิจัยประจำห้องปฏิบัติการวิจัยวัสดุเพื่อสิ่งแวดล้อม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) กล่าวว่า โฟมที่นิยมนำมาใช้ทำเป็นฐานกระทงนั้น เป็นโฟมที่ผลิตจากพลาสติกประเภทพอลิสไตรีน (Polystyrene :Ps) ซึ่งกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกชนิดนี้ จะมีการใส่ก๊าซเพนเทน (Pentane : C5H12) หรือ บิวเทน (Butane: C4H10) เข้าไปเพื่อให้เนื้อพลาสติกทำปฏิกิริยาและกักเก็บก๊าซเอาไว้ภายใน

เมื่อนำมาผลิตเป็นโฟม ก็จะนำเม็ดพลาสติกพอลิสไตรีนมาอัดด้วยไอน้ำ ซึ่งไอร้อนจะทำให้พลาสติกนิ่มและก๊าซที่อยู่ภายในจะขยายตัวออกมาเป็นเม็ดโฟมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จากนั้นจึงนำไปขึ้นรูป (Molding) ซึ่งมี 2 ลักษณะคือ อัดขึ้นรูปเป็นรูปร่างต่างๆ ตามลักษณะแม่พิมพ์ที่ทำ (Shape Molding) เช่น เป็นกล่องน้ำแข็ง และบรรจุภัณฑ์ ต่างๆ หรือ อัดขึ้นรูปเป็นก้อนสี่เหลี่ยม (Block Molding) แล้วนำมาตัดตามขนาดและรูปร่างที่ต้องการ

“ทั้งนี้ที่ผ่านมา การกำจัดโฟมโดยทั่วไปจะนิยมเผาหรือฝังกลบ ซึ่งการเผาก็ทำให้เกิดมลพิษในอากาศ ขณะที่การนำไปฝังก็จะย่อยสลายได้ยากมาก เนื่องจากโฟมเป็นวัสดุสังเคราะห์ ไม่สามารถย่อยสลายได้ด้วยวิธีทางชีวภาพโดยจุลินทรีย์ แม้จะยังไม่มีงานวิจัยเรื่องเวลาของการย่อยสลายที่แน่ชัด แต่ประเมินว่าโฟมที่นำมาใช้ในการทำฐานกระทงขนาดทั่วไปพียง 1 กระทงนั้น ต้องใช้เวลาในการย่อยสลายไม่ต่ำกว่า 50 ปีทีเดียว" ดร.ธนาวดีอธิบาย

อีกทั้งแม้ปัจจุบัน จะสามารถนำโฟมกลับมารีไซเคิลได้โดยการบดให้มีขนาดเล็ก แล้วนำกลับเข้ามาสู่กระบวนการหลอม เพื่อให้กลายสภาพเป็นพลาสติก PS และนำกลับมาผลิตเป็นสินค้าพลาสติกใหม่ เช่น ตลับเทปเพลง ม้วนวิดีโอ ไม้บรรทัด เป็นต้น แต่ก็ต้องมีกระบวนการจัดเก็บ คัดแยก ทำความสะอาดที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมา การรีไซเคิลโฟมที่จัดเก็บจากสาธารณะนั้น ยังมีไม่มากท่าที่ควร เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดว่าโฟมรีไซเคิลไม่ได้ นอกจากนี้ กระบวนการจัดเก็บโฟมมักจะมีขนาดใหญ่แต่มีน้ำหนักเบา ทำให้ต้นทุนของการขนส่งค่อนข้างจะสูงกว่าพลาสติกประเภทอื่นๆจึงไม่ค่อยเป็นที่นิยม

อย่างไรก็ดีสำหรับประเพณีลอยกระทงในปีนี้ ดร. ธนาวดี แนะนำว่า อยากให้ประชาชนหันมาเลือกใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เพราะว่า โฟม เป็นสารสังเคราะห์ที่ผลิตมาจากน้ำมันดิบ จัดเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป อีกทั้งยังต้องใช้เวลานานหลายล้านปีในการสร้างขึ้นมาใหม่ ขณะที่วัสดุจากธรรมชาติ เช่นต้นกล้วย จัดเป็นทรัพยากรที่ปลูกทดแทนได้ง่าย ไม่หมดไป ที่สำคัญยังย่อยสลายได้ในเวลาสั้นเมื่อเทียบกับโฟมที่ต้องใช้เวลาหลายสิบปีอีกด้วย

(ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย ส่วนงานกลาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1461 ,1462 โทรสาร 0-2564-7000 ต่อ 1482 e-mail : thaismc@nstda.or.th)
กระทงสาย ตัวกระทงมาจากกะลาและวัสดุด้านในเป็นเทียนหอม (ภาพจาก www.aromaniche.com)
กระทงจากเปลือกข้าวโพด (ภาพจาก kpp.nfe.go.th)
กระทงขนมปัง เห็นกันมาหลายปีแล้ว
กระทงใบตอง (แต่ส่วนที่เป็นฐานกระทงก็ควรทำจากหยวกกล้วย หรือลำต้นไม้)
กำลังโหลดความคิดเห็น