xs
xsm
sm
md
lg

ดับฝันสิงคโปร์แอร์ถือหุ้นไชน่าอีสเทิร์น แอร์ไชน่านำทีมผู้ถือหุ้นชี้ชะตาคว่ำดีล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซี - การประชุมนัดชี้ชะตาข้อตกลงสิงคโปร์ แอร์ไลน์สเสนอซื้อหุ้น 24% สายการบินไชน่า อีสเทิร์นได้ข้อสรุปแล้ว ผู้ถือหุ้นของไชน่า อีสเทิร์นมากกว่า 77% ลงมติคัดค้านดับฝันสายการบินลอดช่อง เนื่องจากมองว่าราคาที่สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์สเสนอยังไม่สมกับมูลค่าแท้จริง อีกทั้งได้รับแรงสนับสนุนอีกทางจากรัฐบาลมังกร ด้านประธานสายการบินจีนยังหยอดว่า อย่างไรเสียสิงคโปร์ แอร์ไลน์สก็ยังคงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด พร้อมปฏิเสธพิจารณารับ แอร์ ไชน่า เข้าเป็นนักลงทุนเชิงยุทธศาสตร์

ยืดเยื้อมานานในที่สุดก็ได้ข้อสรุปเสียทีสำหรับข้อตกลงของสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส และบริษัทเทมาเสก ที่เสนอซื้อหุ้นรวม 24% ของสายการบินไชน่า อีสเทิร์น ของจีน โดยหลังจากประชุมผู้ถือหุ้นรายย่อยเพื่อลงคะแนนรับไม่รับข้อตกลงดังกล่าว หลี่เฟิงหัว ประธานบริษัทไชน่า อีสเทิร์น ได้ให้สัมภาษณ์ถึงผลการลงคะแนนครั้งนี้ว่า “ผมรู้สึกเสียดายที่ข้อตกลงของไชน่า อีสเทิร์น และสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ต้องตกไป” หลังจากที่มีผู้ถือหุ้นมากกว่า 77% ลงคะแนนไม่เห็นด้วย

ด้านสิงคโปร์ แอร์ไลน์สให้สัมภาษณ์ว่าบริษัทรู้สึกผิดหวัง หลังจากที่ผู้ถือหุ้นไชน่า อีสเทิร์น ปฏิเสธข้อตกลง อย่างไรก็ตามสิงคโปร์ แอร์ไลน์สจะยังคงเต็มใจที่จะเดินหน้าพัฒนาความสัมพันธ์กับไชน่า อีสเทิร์นต่อไป

ก่อนหน้าที่การประชุมตัดสินชี้ชะตาดีลข้ามชาติจะเปิดม่านขึ้นนั้น ได้เคยมีกระแสข่าวกระหน่ำเป็นระยะถึงแนวโน้มความล้มเหลวของสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ที่เห็นเค้าลางมาจากการที่รัฐบาลได้แต่งตั้ง หลี่เจียเซียง ประธานแอร์ ไชน่า ขึ้นเป็นรัฐมนตรีกรมการบินพลเรือนแห่งชาติ ซึ่งมีศักดิ์เทียบเท่ากระทรวง โดยที่ผ่านมาไชน่า เนชั่นแนล เอวิเอชั่น โฮลดิ้ง (ซีเอ็นเอซี) บริษัทแม่ของแอร์ ไชน่า และเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยของไชน่า อีสเทิร์น ด้วยนั้น ได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนที่จะคัดค้านข้อเสนอของสิงคโปร์ แอร์ไลน์ โดยอ้างว่าราคาที่สิงคโปร์ แอร์ไลน์ เสนอนั้นไม่สะท้อนราคาที่ยุติธรรมกับมูลค่าแท้จริงของไชน่า อีสเทิร์น

นับเป็นความเคลื่อนไหวที่สะท้อนให้เห็นถึงท่าทีต่อข้อตกลงสองยักษ์การบินที่เปลี่ยนไปของรัฐบาลจีน เพราะตามปกติแล้วข้อตกลงที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีมักดำเนินไปอย่างสะดวก

อีกทั้งก่อนหน้านี้บริษัทแม่ แอร์ ไชน่า ยังประกาศว่า “บริษัทอาจพิจารณายื่นข้อเสนอซื้อหุ้นจากไชน่า อีสเทิร์น เพื่อเข้าไปมีบทบาทในการควบคุมมากกว่านี้” โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาได้ประกาศเสนอซื้อหุ้นของไชน่า อีสเทิร์น หากแผนซื้อหุ้นของสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ไปไม่ถึงดวงดาว โดยเสนอซื้อราคา 5.00 เหรียญฮ่องกงต่อหุ้น ซึ่งสูงกว่าตัวเลขที่สายการบินลอดช่องเสนอ

ซึ่งการที่ซีเอ็นเอซีแสดงจุดยืนคัดค้านอย่างชัดเจน และเสนอซื้อหุ้นเกทับสิงคโปร์ แอร์ไลน์สเช่นนี้นั้น นักวิเคราะห์แสดงทัศนะว่า นี่เป็นวิธีที่ใช้กันอย่างมากในสงครามเสนอซื้อหุ้นในประเทศฟากตะวันตก แต่ไม่ค่อยใช้กันในประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่นิยมโต้เถียงหรือคัดค้านกันโดยไม่เปิดเผยมากกว่า

อย่างไรก็ตามหลังลงคะแนนเสียงเมื่อวันอังคาร (8 ม.ค.) ประธานของไชน่า อีสเทิร์น ยังได้ออกมาปฏิเสธถึงการที่ แอร์ ไชน่า จะเข้ามาเป็นนักลงทุนยุทธศาสตร์ของสายการบิน พร้อมระบุว่า "สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ยังคงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดอยู่" โดยจุดขายหลักของสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส สายการบินที่ได้รับการยอมรับที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นอกจาก “กระเป๋าหนัก” แล้ว ก็ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการที่มากความสามารถด้วย

“หากสายการบินแอร์ไชน่า ยื่นข้อเสนอเข้ามาเป็นนักลงทุนยุทธศาสตร์ เราจะไม่พิจารณา เพราะเรายังเชื่อว่าสิงคโปร์ แอร์ไลน์สเป็นผู้ร่วมงานที่ดีที่สุด ส่วนแอร์ ไชน่านั้นอยู่ในระดับเดียวกันกับไชน่า อีสเทิร์น” หลี่เฟิงหัวกล่าว

ทั้งนี้เมื่อต้นเดือนกันยายนปีที่แล้ว สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ได้ตกลงซื้อหุ้น 15.7% ของสายการบินไชน่า อีสเทิร์นแห่งเซี่ยงไฮ้ โดยมีบริษัทแม่อย่าง เทมาเสก มาร่วมวงซื้อหุ้นอีก 8.3% ด้วย รวมทั้งสิ้น 24% เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 7,200 ล้านเหรียญฮ่องกง หรือ หุ้นละ 3.80 เหรียญฮ่องกง โดยข้อตกลงดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีจีน และบอร์ดบริหารของไชน่า อีสเทิร์นแล้ว

สำหรับยักษ์การบินลอดช่องแล้ว การบรรลุข้อตกลงซื้อหุ้น 24% ของไชน่า อีสเทิร์นนั้นเป็นเหมือนใบเบิกทางให้สายการบินลอดช่องทะยานสู่ตลาดมังกร ซึ่งปัจจุบันมีผู้โดยสารเครื่องบินขยายตัวมากกว่า 15% ต่อปี

ขณะที่ไชน่า อีสเทิร์นก็ได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยไชน่า อีสเทิร์น เป็นสายการบินที่อ่อนแอที่สุดในบรรดา 3 สายการบินบิ๊กบึ้มของรัฐบาลจีน โดยปัจจุบันสายการบินต้องแบกรับทั้งหนี้สินและต้นทุนการบินที่สูง โดยในปี 2005 และ 2006 ไชน่าอีสเทิร์นขาดทุน 467 ล้านหยวน (60.9 ล้านเหรียญสหรัฐ) และ 3,310 ล้านหยวน (431.9 ล้านเหรียญสหรัฐ) ตามลำดับ อีกทั้งยังต้องเผชิญกับคู่แข่งที่หนาตามากขึ้นในฐานการบินที่เซี่ยงไฮ้ ดังนั้นการที่สิงคโปร์ แอร์ไลน์สเข้ามาลงทุนนั้น ก็ประหนึ่งมาช่วยเสริมเขี้ยวเล็บให้แก่สายการบินจีนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น