ครม.เห็นชอบเปลี่ยนชื่อกรมการขนส่งทางน้ำฯ เป็น “กรมเจ้าท่า” ขณะที่กรมการขนส่งทางอากาศ เปลี่ยนชื่อเป็น “กรมการบินพลเรือน” ตามที่คมนาคมชง
วันนี้ (23 มิ.ย.) นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผล ครม.ว่า ครม.ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อส่วนราชการ “กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี” เป็น “กรมเจ้าท่า” พ.ศ. .... และร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อส่วนราชการ “กรมการขนส่งทางอากาศ” เป็น “กรมการบินพลเรือน” พ.ศ. .... จำนวน 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยให้กระทรวงคมนาคมเป็นผู้รับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาและดำเนินการด้วย
ทั้งนี้ นายวัชระกล่าวต่อว่า ตั้งแต่มีการเปลี่ยนชื่อเป็นกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ปรากฏในทางปฏิบัติในการประชุมและประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ไม่สอดคล้องกับภารกิจของกรมตามกฎหมายหลายฉบับ อาทิ พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 และพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช 2481 ซึ่งกำหนดการใช้อำนาจของอธิบดีและในการมอบหมายงานในสำนักงานสาขาในต่างจังหวัดเป็นอำนาจ “เจ้าท่า” ซึ่งเป็นคำเฉพาะที่สามารถเข้าใจได้ดีทั้งข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนทั่วไป ซึ่งไม่คุ้นเคยกับชื่อกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีที่เป็นชื่อใหม่ แม้ว่าจะใช้มาเป็นเวลานานแล้วก็ตาม
“กรมการขนส่งทางน้ำได้ทำการสอบถามข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ 87 เห็นด้วยที่จะให้ใช้ชื่อ “กรมเจ้าท่า” ที่เหลือเห็นควรให้เป็นชื่ออื่น ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามชื่อพระราชทานเดิม และภารกิจหลักของกรมตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นควรเปลี่ยนชื่อ “กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี” เป็น “กรมเจ้าท่า” ตามชื่อที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้แต่เดิม”นายวัชระ กล่าว
นายวัชระกล่าวต่อว่า ส่วนการขอเปลี่ยนชื่อ “กรมการขนส่งทางอากาศ” เป็น “กรมการบินพลเรือน” นั้น ชื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการบินของประเทศต่างๆ ใช้กันเป็นสากล คือ กรมการบินพลเรือน (Department of Civil Aviation) ซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญาและองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ โดยแม้ว่าปัจจุบันจะชื่อภาษาไทยว่า “กรมการขนส่งทางอากาศ” แต่ภาษาอังกฤษกลับใช้ชื่อว่า “Department of Civil Aviation” โดยไม่ใช้ชื่อ “Department of Air Transportation” ตามชื่อภาษาไทยในปัจจุบัน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในบทบาท ภารกิจของกรมที่รับผิดชอบงาน ทั้งด้านการขนส่งทางอากาศ และด้านการเดินอากาศแก่ประเทศต่างๆ รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่เป็นคู่เจรจาความตกลงและความร่วมมือด้านการบินกับประเทศไทย