คปภ.เตรียมประเมินความเสียหาย 8 จว.ใต้ พร้อมแผนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ชี้ รถยนต์มักเป็นทรัพย์สินที่มีความเสียหายมากเป็นลำดับต้นๆ แนะเจ้าของรีบแจ้ง บ.ประกัน เพื่อแบ่งเบาภาระทางการเงิน สรุปอุทกภัย 12 จว.ใต้ พบเสียหาย 139 สายทาง กว่า 1 พันล้าน "ทางหลวง" สรุปอุทกภัย 12 จว.ใต้ เสียหาย 139 สายทาง คิดเป็นเงินกว่า 1 พันล้าน บขส.เปิดเดินรถได้ตามปกติแล้ว ยกเว้น กรุงเทพฯ–เขาพนม-กระบี่ ขณะที่ "รถไฟสายใต้-สนามบินเมืองคอน" ยังงดให้บริการ
นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่าตามที่ได้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ของไทยส่งผลให้ประชาชนหลายจังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ พัทลุง ตรัง ชุมพร สงขลา และพังงา ได้รับความเดือดร้อน บ้านเรือนและข้าวของเสียหายรวมถึงมีผู้เสียชีวิตแล้วจำนวน 13 คน โดยขณะนี้หน่วยงานภาครัฐก็ยังได้ออกประกาศเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวังเหตุการณ์ในครั้งนี้อย่างต่อเนื่อง
สำนักงาน คปภ.ในฐานะหน่วยงานช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัยได้มีมาตรการให้สำนักงาน คปภ.ในส่วนภูมิภาคเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประสบภัยรีบสำรวจความเสียหายของบ้านเรือนและทรัพย์สินโดยเฉพาะรถยนต์ที่มักจะได้รับความเสียหายเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม โดยให้รีบแจ้งบริษัทประกันภัยทราบเพื่อเข้าไปประเมินความเสียหาย
ทั้งนี้ คปภ.ขอให้แสดงรายละเอียดความสูญเสียและมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นของทรัพย์สิน ส่วนกรณีเสียชีวิตให้แสดงหลักฐานสำเนาใบมรณะบัตร และสำเนาบันทึกประจำวันตำรวจ เป็นต้น อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นขอให้ประชาชนตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้ซื้อไว ว่ามีความคุ้มครองอะไรบ้าง โดยกรมธรรม์ประกันภัยที่มีความคุ้มครองน้ำท่วมหลักมีดังนี้
1) การประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ให้ความคุ้มครองตัวรถคันเอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายจากภัยน้ำท่วมกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นมีมูลค่าตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไปของมูลค่ารถ จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย
2) การประกันอัคคีภัยที่ซื้อความคุ้มครองน้ำท่วมเพิ่มและการประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินจะได้รับความคุ้มครองตามความเสียหายตามที่ระบุไว้ในตัวกรมธรรม์
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่าอยากให้ประชาชนตระหนักว่าปัจจุบันนี้ภัยทางธรรมชาติได้สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอยู่บ่อยครั้ง โดยไม่สามารถป้องกันความสูญเสียได้ทันท่วงที
ดังนั้น หากประชาชนจัดทำประกันภัยเอาไว้ ก็็จะเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินที่จะเกิดขึ้นภายหลังได้ โดยอัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับความคุ้มครองที่เพิ่มขึ้นเป็นอัตราที่ไม่สูงมากนัก เช่น การซื้อความคุ้มครองภัยธรรมชาติ 4 ภัยสำหรับที่อยู่อาศัย (น้ำท่วม ลมพายุ แผ่นดินไหว และลูกเห็บ) มีอัตราค่าเบี้ยประกันภัยอยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 0.015-0.15 ของทุน ประกันภัย หรือคิดเป็นค่าเบี้ยประกันภัยประมาณ 15 - 150 บาท ต่อทุนเอาประกันภัย 100,000 บาท เป็นต้น
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลด้านการประกันภัยเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วนประกันภัย 1186 และสำนักงาน คปภ.จังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ
ด้านกรมทางหลวงชนบท รายงานสถานการณ์อุทกภัยใน 12 จังหวัดภาคใต้ ขณะนี้ ทำให้เส้นทางที่รับผิดชอบได้รับความเสียหายจำนวน 139 สายทาง สามารถสัญจรได้ 81 สายทาง ไม่สามารถสัญจรได้ 58 สายทาง โดยมีการประเมินความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 1,100 ล้านบาท ซึ่งพบว่า จังหวัดนครศรีธรรมราช สายทางเสียหายมากที่สุดถึง 40 สายทาง รองลงมาเป็น จังหวัดสุราษฎร์ธานี 31 สายทาง จังหวัดพัทลุง 19 สายทาง จังหวัดตรัง 14 สายทาง และจังหวัดกระบี่ 12 สายทาง
ทั้งนี้ กรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินการซ่อมแซมชั่วคราวให้สามารถสัญจรได้บ้างแล้ว โดยจังหวัดที่สายทางเสียหายไม่มากประมาณ 2-3 สายทาง จะมีที่จังหวัดชุมพร จังหวัดปัตตานี และจังหวัดระนอง ได้ทำการซ่อมแซมแล้ว ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการซ่อมแซม
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กล่าวว่า บขส.เปิดให้บริการเดินรถในพื้นที่ภาคใต้ ตามปกติทุกเส้นทาง ยกเว้นเส้นทางกรุงเทพฯ – เขาพนม – กระบี่ ต้องปิดให้บริการชั่วคราว อย่างไรก็ดี สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มดีขึ้น ส่งผลให้รถโดยสารสามารถกลับมาวิ่งให้บริการได้อีกครั้ง อาทิ เส้นทางกรุงเทพฯ – ตรัง , กรุงเทพฯ – คลองท่อม – กระบี่ เส้นทางหาดใหญ่ - ตรัง และเส้นทางกรุงเทพฯ – เกาะสมุย รถโดยสารสามารถข้ามฟากไปยังเกาะสมุยได้ ส่วนที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ระดับน้ำเริ่มลดลงแล้วเหลือประมาณ 0.30 เมตร ทำให้สามารถใช้เส้นทางเดินรถได้ตามปกติ แต่ สถานีเดินทางนครศรีธรรมราช ยังเปิดให้บริการผู้โดยสารที่ปากทางเข้าสถานี ตรงถนนกระโรม
นอกจากนี้ บขส. ยังได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม รับบริจาคสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ โดยจะลำเลียงสิ่งของบริจาคไปกับรถโดยสาร บขส. สำหรับประชาชนที่ต้องการบริจาคสิ่งของสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ กองประชาสัมพันธ์ บริษัท ขนส่ง จำกัด Call Center 1490 เรียก บขส. ตลอด 24 ชั่วโมง
นางนวลอนงค์ วงษ์จันทร์ หัวหน้ากองประชาสัมพันธ์ ศูนย์ประชาสัมพันธ์และบริการท่องเที่ยว การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักในภาคใต้ยังคงส่งผลกระทบกับการเดินรถไฟสายใต้ในวันที่ 1 เมษายน 2554 ซึ่งยังไม่สามารถเดินขบวนรถผ่านไปได้ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช
ด้านนายสมชาย จันทร์รอด อธิบดีกรมการบินพลเรือน กล่าวว่า น้ำยังคงท่วมบนทางวิ่งและลานจอดเครื่องบินที่ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช สิ่งที่ต้องระวังในขณะนี้คือป้องกันน้ำไม่ให้ท่วมอาคารติดตั้งระบบไฟฟ้า ส่วนไฟฟ้าที่ใช้ในอาคารผู้โดยสารเป็นไฟฟ้าสำรอง หากน้ำท่วมทางวิ่งเป็นระยะเวลานานจะยิ่งส่งผลเสียมากขึ้น