มีหลายคนกล่าวไว้ว่าเมื่อใดที่ยักษ์ใหญ่อย่างประเทศจีนตื่นจากการหลับใหล เมื่อนั้นโลกจะสะเทือนและแล้วเมื่อมาถึงปัจจุบัน ในห่วงเวลาที่เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างรวดเร็วจนแถบฉุดไม่อยู่ อีกทั้งจีนยังมีบทบาทอย่างมากต่อการเมืองโลกในปัจจุบัน ถึงกับเรียกได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่ามังกรยักษ์ตนนี้ได้ตื่นแล้ว
สิ่งเหล่านี้ได้รับการยืนยันจากการบอกเล่าของท่านจางจิ่วหวน เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย โดยได้ระบุถึงความเปลี่ยนแปลงของจีนในช่วงที่ผ่านมาว่า “เศรษฐกิจจีนในรอบ 30 กว่าปีที่ผ่านมาได้เติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 9% มาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงปีหลังๆที่เพิ่มมากกว่า 10% โดยในปีนี้คาดว่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศจีน (จีดีพี) จะอยู่ที่ราว 1.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือจัดอยู่ในอันดับ 4 ของโลก”
ความแตกต่างด้านรายได้ประชากร
แม้ตัวเลขผลผลิตมวลรวมภายในดินแดนมังกรจะดูมากมายมหาศาล ทว่าท่านทูตกลับมองในมุมที่ว่า ตัวเลขดังกล่าวไม่นับว่ามากนัก จากการที่จีนมีประชากรกว่า 1.3 พันล้านคน ดังนั้นรัฐบาลจีนจึงจะต้องพยายามพัฒนาประเทศของตนให้รุดหน้าไปกว่านี้ โดยเฉพาะปัญหาความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจนของจีนที่กำลังเป็นที่จับตา
“ที่ผ่านมานโยบายของจีนได้ผลักดันให้บุคคลกลุ่มหนึ่งมีความมั่งมีขึ้นก่อน แล้วค่อยให้คนทั่วๆไปมั่งมีตามขึ้นมา เหมือนกับสุภาษิตจีนที่ว่า “ให้ม้าเร็วนำหน้า แล้วฝูงม้าก็จะตามไปเรื่อยๆ” อย่างไรก็ตามรัฐบาลจีนก็ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาช่องว่างรายได้ ทั้งระหว่างคนเมืองกับชนบท หรือระหว่างภูมิภาคต่างๆ ที่เห็นได้จากทางภาคตะวันออกของจีนมีการพัฒนาที่มากกว่าภาคกลางและภาคตะวันตก”
ต่อปัญหาดังกล่าวนอกจากการทุ่มเทพัฒนาตะวันตกกับภาคกลางมากขึ้นแล้ว จีนได้ผลักดันวิธีแก้ปัญหาเป็นรูปธรรม ด้วยการพยายามช่วยชาวนาให้มากยิ่งขึ้น อย่างเช่นในปีที่ผ่านมาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีน 5,000 ปี ที่ชาวนาชาวไร่จีนไม่ต้องเสียภาษี นอกจากนั้นยังได้ส่งเสริมในด้านความเที่ยงธรรมในสังคม เช่นการสร้างระบบสาธารณะให้ถ้วนหน้า ทั้งด้านอนามัยและคมนาคม ผลักดันให้คนทุกคนมีที่อยู่อาศัย แต่การที่จะสร้างให้คนจีนมีฐานะกันถ้วนหน้านั้น อาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปี”
ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูง
ปัญหาน้ำมันที่กำลังเป็นที่จับตาและเป็นปัญหาไปทั่วโลก จีนเองก็เป็นประเทศที่มีการบริโภคน้ำมันอย่างมหาศาล อีกทั้งราคาน้ำมันจะส่งผลให้สินค้าอุปโภคบริโภคแพงตามไปด้วย ดังนั้นจีนเองก็มีวิธีแก้ปัญหาในด้านนี้หลายๆวิธีอาทิเช่น การรณรงค์การประหยัดการใช้น้ำมัน พยายามชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจด้วยการเปิดเครื่องปรับอากาศเท่าที่จำเป็น หรือปิดในยามไม่จำเป็น นอกจากนั้นยังต้องมีการพัฒนาพลังงานอื่นเช่นพลังงานจากน้ำ ลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวภาพเป็นต้น
นอกจากวิธีการดังกล่าว จีนยังจะส่งเสริมให้การทำงานและโครงสร้างของเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพ ที่จะช่วยให้การพึ่งพาพลังงาน ถูกลดลงด้วยการอาศัยเทคโนโลยี และสมรรถภาพการทำงานเข้ามาช่วยในการประหยัดพลังงาน อีกทั้งต้องให้นานาชาติร่วมกันส่งเสริมในการประหยัดและหาลู่ทางที่จะแก้ไข
ข้อหาตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
จากที่ในระยะหลังมีประเทศต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯที่ตำหนิว่าจีนปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาอย่างมหาศาล อีกทั้งเรียกร้องให้จีนลดตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงนั้น ท่านทูตจีนประจำประเทศไทยได้ชี้แจงจุดยืนว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการพัฒนาประเทศ แต่จีนเองก็ให้ความสำคัญกับภาวะโลกร้อนและลดก๊าซเรือนกระจก โดยให้ความร่วมมือกับประเทศต่างๆของโลกในการแก้ปัญหา ทว่าต่อคำตำหนิที่ระบุให้จีนต้องรับผิดชอบนั้น ต้องมองว่าภาวะความเปลี่ยนแปลงทางอากาศต้องมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ด้วย เพราะการที่จีนและประเทศกำลังพัฒนาหลายๆประเทศที่ใช้พลังงานและสร้างมลพิษเป็นจำนวนมากนั้นเพิ่งจะเกิดขึ้นในช่วงหลายปีหลัง แต่ก่อนหน้านั้นประเทศที่พัฒนาได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมากมานับเป็นเวลาหลายสิบถึงหลายร้อยปี ดังนั้นหากจะมีการเรียกร้องการรับผิดชอบ ประเทศที่พัฒนาเป็นฝ่ายที่ควรต้องออกมารับผิดชอบ มิใช่เอาแต่ตำหนิประเทศกำลังพัฒนา
ดังนั้นกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องมองจากอดีต ปัจจุบัน และอนาคต โดยจุดยืนของรัฐบาลจีนยังมองว่า ภาวการณ์เปลี่ยนแปลงทางอากาศเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองเฉพาะในมุมของสิ่งแวดล้อมแต่ต้องมองไปที่การพัฒนาด้วย โดยจะต้องแก้ปัญหาด้วยการพัฒนาควบคู่ไป ไม่ใช่แก้ด้วยการหยุดการพัฒนา มิเช่นนั้นประเทศกำลังพัฒนาจะไม่มีโอกาสพัฒนาได้ อีกทั้งประเทศพัฒนาแล้วจะต้องรับผิดชอบมากกว่า ด้วยการช่วยประเทศกำลังพัฒนาด้วยการถ่ายโอนเทคโนโลยี และให้เงินทุนสนับสนุน
อย่างไรก็ตาม ท่านทูตจีนได้เน้นย้ำว่า ปัญหานี้ไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะสั้น เพราะเป็นปัญหาที่ถูกสะสมมาเป็นเวลานาน ต้องใช้เวลาในการแก้ ผนวกกับรู้จักปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด และจีนเองก็ให้ความสำคัญและพร้อมที่จะให้ร่วมมือในการแก้ปัญหา
ดอลลาร์และเศรษฐกิจมะกันถดถอย
เมื่อมองในมุมโลกาภิวัตน์แล้ว แม้ว่าเศรษฐกิจจะพัฒนาไปมาก แต่สหรัฐฯซึ่งเป็นหนึ่งในคู่ค้าสำคัญของจีนและของโลกกำลังประสบภาวะค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลง สิ่งเหล่านี้ท่านทูตจางจิ่วหวนได้มองว่า “เศรษฐกิจสหรัฐฯย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจีนมาก เพราะว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯนั้นจัดว่าใหญ่อย่างที่ยังไม่มีประเทศไหนเทียบได้ ทว่าแม้ดอลลาร์สหรัฐฯจะอ่อนตัวลง แต่ก็ยังจัดว่ายังแข็งอยู่ แต่เชื่อว่าโดยรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯก็ยังดีอยู่ และน่าจะปรับตัวได้ทันเวลา อย่างไรก็ตามจีนเองก็ถือคติที่ว่าจะไม่วางไข่ไก่ไว้ใบตะกร้าใบเดียว คือแม้จะมีการถือเงินสำรองต่างประเทศเป็นสกุลดอลลาร์เป็นหลัก และยังไม่มีนโยบายจะลดการถือครองดอลลาร์ครั้งใหญ่ แต่ที่ผ่านมาจีนเองก็มีการถือเงินสำรองสกุลอื่นเอาไว้ด้วย
มุมมองการเมืองระหว่างประเทศ
ต่อปากีสถานและพม่าที่จีนมองว่าเป็นเพื่อนบ้านนั้น นโยบายของจีนคือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในทั้ง 2 ประเทศเป็นเรื่องภายใน ต้องให้ประเทศและประชาชนของประเทศทั้ง 2 แก้ปัญหาในประเทศเอง โดยจีนก็มองว่าผู้นำปากีสถานมีความสามารถที่จะทำให้ประเทศให้มีความมั่นคงและมีเศรษฐกิจที่พัฒนาก้าวหน้าต่อไป
กับพม่าจีนมองว่าควรจะมีการส่งเสริมความปรองดองทางการเมือง ความสามัคคีในชนชาติ และกระตุ้นให้ประชาธิปไตยมีความคืบหน้า เพื่อสร้างความมั่นคงและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น อีกทั้งควรสนับสนุนให้ทูตยูเอ็นเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะอาเซียน ถือว่าควรจะเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ให้มาก เพราะพม่าถือเป็นสมาชิกของอาเซียน เหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน สมาชิกในครอบครัวควรจะให้ความช่วยเหลือ
อย่างไรก็ตามปัญหาของพม่าในปัจจุบันก็ยังเป็นปัญหาภายใน ยังมิได้กระทบกระเทือนไปถึงความปลอดภัยและความมั่นคงของภูมิภาค จึงยังไม่ถือว่าเป็นปัญหาสากล จีนเองก็สนับสนุนให้ประเทศต่างๆในประชาคมโลกได้ช่วยเหลืออย่างสร้างสรรค์ โดยผ่านการเจรจา มิใช่การคว่ำบาตรหรือลงโทษใดๆ
สำหรับปัญหานิวเคลียร์ในอิหร่านและเกาหลีเหนือนั้น จีนสนับสนุนให้ไม่มีการแพร่หลายอาวุธนิวเคลียร์ อย่างในอิหร่านจีนเห็นว่าควรจะปฏิบัติตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ โดยอิหร่านควรจะติดต่อเจรจากับสหรัฐฯและประเทศต่างๆในตะวันออกกลางเพื่อแก้ปัญหาด้วยวิธีการทางการทูต
ส่วนคาบสมุทรเกาหลี จีนก็สนับสนุนให้เป็นเขตปลอดนิวเคลียร์ ต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาจีนก็มีบทบาทในทางสร้างสรรค์ให้ทุกฝ่ายมีการพูดคุยเจรจากันอย่างสร้างสรรค์ และจะพยายามผลักดันให้มีการแก้ปัญหาด้วยดี
เอฟทีเอ จีน-อาเซียน
เมื่อถูกถามถึงความคืบหน้าในเรื่องเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่จีนกับอาเซียนได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเศรษฐกิจรอบด้านมาตั้งแต่ปี 2002 อีกทั้งการเซ็นการตกลงนการค้าสินค้าในปี 2004 นั้น ท่านทูตจีนได้ชี้ว่าที่ผ่านมาข้อตกลงดังกล่าวมีส่วนช่วยให้การค้าขายของจีนกับอาเซียนพัฒนาอย่างรวดเร็ว อย่างในปี 2006 การค้าขายจีนกับอาเซียนมีมากถึง 160,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2005 ถึง 23% และในปี 2007 จีนกับอาเซียนยังได้ลงนามในข้อตกลงการค้าในภาคบริการเพิ่มขึ้นอีก โดยปัจจุบันจีนกับอาเซียนกำลังเจรจาเพื่อเซ็นความตกลงในด้านการลงทุนเพิ่มเติม เพื่อให้เขตการค้าเสรีพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน โดยตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2010 จะให้เขตการค้าเสรีระหว่างจีน-อาเซียนมีความสมบูรณ์ในทุกด้าน โดยให้ความสัมพันธ์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในด้านของเศรษฐกิจ แต่ให้ครอบคลุมไปถึงด้านอื่นๆอาทิการเมือง วิทยาศาสตร์ และการศึกษาด้วย
ด้านเขตการค้าเสรีของจีนกับไทยซึ่งเดินไปในเฟรมเวิร์คเดียวกันกับอาเซียน โดยแม้ว่าการค้าของไทยกับจีนในปีนี้อาจจะมากถึง 33,300 สหรัฐฯ แต่ก็ถูกมองว่าผักผลไม้ของจีนได้เข้ามาตีตลาดไทยเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ผู้ประกอบการไทยโอดครวญว่าการส่งผักผลไม้ไทยเข้าจีนนั้นกลับประสับภาวะติดขัดอย่างมหาศาลนั้น ท่านทูตจางได้ชี้แจงว่า เขตการค้าเสรีเป็นหลักการที่จะทำให้การค้าขายของทั้ง 2 ประเทศดียิ่งขึ้น แต่ก็ย่อมมีผลกระทบบ้าง เพราะในทางกลับกันผักผลไม้ไทยที่อร่อยเมื่อเข้าไปในตลาดจีน ก็ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรจีนเช่นกัน อย่างชาวนาชาวไร่ในกวางสี ที่เริ่มบ่นว่าลำไยและส้มโอของไทยที่เข้าไปตีตลาดทำให้ลำไยและส้มโอของจีนไม่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเหมือนเดิม
กรณีผักและผลไม้ของไทยที่เข้าไปจำหน่ายในจีนได้ไม่สะดวก ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องร่วมกันหาความแก้ไข เพราะปัญหาสามารถเกิดขึ้นตลอดเวลา อีกทั้งหน้าที่ของข้าราชการคือการค้นหาปัญหาและแก้ไขปัญหา เพราะโดยรวมแล้วเอฟทีเอเป็นนโยบายที่ใช้การได้และมีผลดี แต่ในการดำเนินงานนั้นรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศต้องร่วมมือในการแก้ไขปัญหาให้หมดไป เพื่อผลักดันให้การค้าและเศรษฐกิจจีนพัฒนาไป
อย่างไรก็ตาม จีนกับไทยถือว่าเป็นประเทศพี่น้องควรจะมีความร่วมมือกัน แม้จะมีการแข่งขันก็ต้องเป็นไปด้วยเจตจำนงที่ดี ที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน