xs
xsm
sm
md
lg

“ม.ล.รังษิธร ภาณุพันธุ์” เปิดชีวิตเกือบปีในอเมริกา ทำอย่างไรให้รอดจากโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“จะว่าไปก็เหมือนได้เกิดใหม่อีกครั้ง” คือประโยคที่ “โก้-ม.ล.รังษิธร ภาณุพันธุ์” เอ่ยออกมาระหว่างที่กำลังถ่ายทอดเรื่องราวที่ไม่ต่างจากในภาพยนตร์ เมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงสุดในโลก ถึง 364 วัน...อีกเพียง 1 วันก็จะครบ 1 ปีเต็ม เจ้าตัวถึงจะได้กลับมาเหยียบแผ่นดินไทยอีกครั้ง

ใครจะคิดว่าจากทริปพักร้อนที่ต้องการไปชาร์จแบตแค่ 2-3 อาทิตย์ จะกลายเป็นทริปที่ลืมไม่ลง เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ทำไมต้องรอเกือบ 1 ปีกว่าจะได้กลับ ขั้นตอนยุ่งยากแค่ไหน ที่สำคัญหนุ่มโก้เอาตัวรอดมาได้อย่างไร เมื่อต้องใช้ชีวิตในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อหลักหมื่น ยังไม่รวมอีกหลายเหตุการณ์โกลาหลที่ล้วนบั่นทอนจิตใจ หนุ่มโก้พร้อมแล้วที่จะไขทุกข้อข้องใจ...

ชีวิตต้องสู้ในต่างแดน

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้แล้วรู้ล่วงหน้าว่าชีวิตจะต้องเผชิญหน้ากับอะไร โก้จะยังตีตั๋วไปพักผ่อนที่แอลเอ พร้อมกับเยี่ยมเยียนแฟนสาว “อ้อย-ชัชฎาภรณ์ กิมากรณ์” Miss Grand Thailand 2016 หรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ คือ การเดินทางครั้งนี้ให้บทเรียนชีวิตอันล้ำค่ากับเขามากมาย

“ผมเดินทางไปแอลเอประมาณปลายเดือน ม.ค. 63 จำได้เลยว่า ตอนที่ไปเปลี่ยนเครื่องที่โอซากา ผมเริ่มเห็นผู้โดยสารสวมหน้ากาก เพราะตอนนั้นเริ่มมีข่าวการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากอู่ฮั่นแล้ว แต่ฝั่งยุโรปและสหรัฐอเมริกาตอนนั้นยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ จนเข้าสู่เดือน มี.ค. 63 สถานการณ์โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตพุ่งขึ้นอย่างน่ากลัว”

ในเวลานั้น โก้ยอมรับว่าช่วงแรกเขาเองก็ยังตั้งตัวไม่ติด ทำได้เพียงระมัดระวังตัว มีสติในการใช้ชีวิต เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นผู้ติดเชื้อ

“ผมก็ประคองตัวด้วยการดูแลตัวเองและคนในครอบครัว ใช้ชีวิตอย่างมีวินัย ทั้งใส่หน้ากาก ล้างมือ ขณะเดียวกัน ก็ปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่ ดิสรัปตัวเองหลายอย่าง จากที่ไม่ค่อยพึ่งเทคโนโลยี ก็เปิดรับมากขึ้น เปิดโอกาสให้ตัวเองไปลองทำหลายๆ อย่าง ทั้งลองไปขับรถส่งของ อารมณ์เหมือน Grab บ้านเรา ซึ่งรายได้ก็ดีไม่เบา ผันตัวไปเป็นจิตอาสาช่วยคนซึมเศร้า เพราะผมเองก็เคยผ่านจุดนั้นมา ใช้ความรู้ด้านการลงทุนที่มี หารายได้ และยังลองทำ Podcast เพื่อแบ่งปันความรู้”


ระหว่างนั้นถามว่า โก้มีความพยายามที่จะเดินทางกลับเมืองไทยหรือไม่ เพราะ ตามแผนเดิมเขาก็ตั้งใจจะอยู่แค่ 2-3 อาทิตย์ แต่กลายเป็นว่าผ่านไปหลายเดือน ก็ยังไม่วี่แววว่าจะได้กลับ


โก้ตอบว่า มี แต่อย่างที่รู้ว่าด้วยสถานการณ์ ไม่ใช่ว่าอยากเดินทางกลับก็จะกลับได้ เพราะพอสถานการณ์การแพร่ระบาดลุกลาม เริ่มมีการประกาศล็อกดาวน์ ปิดน่านฟ้า จนตอนหลังเริ่มคลายล็อกดาวน์ เปิดน่านฟ้า แต่คนที่จะเดินทางได้ก็ต้องเป็นกลุ่มที่เข้าเงื่อนไขพิเศษก่อน โก้เองถือวีซ่านักท่องเที่ยว หมายความว่าจะอยู่ที่นั่นได้ 6 เดือนเท่านั้น แต่พอเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เลยทำได้เพียงติดต่อไปขอต่ออายุวีซ่าเป็นกรณีพิเศษไปอีก 6 เดือน

“ช่วง 6 เดือนหลังที่อยู่ที่โน่น ผมเองก็ settle มากขึ้น เลยทำให้อยู่จนเกือบครบปี เพราะผมเองก็อยากอยู่เป็นกำลังใจให้ครอบครัวที่นั่น ซึ่งกังวลกับโรคระบาดไม่พอ ธุรกิจสปาที่ทำอยู่ก็ต้องปิดๆ เปิดๆ บางทีก็ต้องมีการปรับรูปแบบการให้บริการ มาอยู่เอาต์ดอร์ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ ซึ่งถ้าเป็นช่วงหน้าร้อนก็จะลำบากหน่อย

ยิ่งกว่านั้น ช่วงครึ่งหลังของปี 2563 สหรัฐฯ มีการประท้วงใหญ่ จากกรณีการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ และการชุมนุมใหญ่หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ก็เลวร้าย ช่วง ต.ค-ธ.ค. 63 สหรัฐฯ มีตัวเลขผู้เสียชีวิตวันละ 4,000 คน” โก้ฉายภาพให้เห็นชีวิตในต่างแดน

สัจธรรมที่โก้พบคือ สุดท้ายชีวิตยังต้องก้าวต่อไป ในเวลานั้นก็เป็นจังหวะเดียวกับที่โก้ได้กลับมาร่วมงานกับ Suit Select แบรนด์สูทจากญี่ปุ่นที่เขาช่วยดูแลด้านการตลาดนานถึง 8 ปี ก่อนจะลาออกไป โดยครั้งนี้เขากลับมารับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาจากต่างแดน

“ช่วงหลังๆ ที่อยู่ที่โน่น ผมทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับ Suit Select ใช้วิธี Work from home กับทีมงานที่ไทยและญี่ปุ่น เพียงแต่บ้านของผมอาจจะไกลหน่อย อยู่ที่แอลเอ ซึ่งช่วงโควิด-19 Suit Select เมืองไทยก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย เพราะที่ผ่านมา เราเป็นแบรนด์ที่ไม่ได้มาสายออนไลน์เลย ไม่มีเว็บไซต์ หรือช่องทางอีคอมเมิร์ซ เพราะเน้นทำตลาดแบบ Traditional เราเชื่อในการมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการที่ช็อป เรามีพนักงานหน้าร้านที่ได้รับการเทรนจนมีทักษะของการเป็นสไตลิสต์อยู่ในตัว สามารถวัดตัวไปจนถึงแนะนำสูทที่มีรายละเอียดของไซส์ เนื้อผ้าที่หลากหลายให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้เป็นอย่างดี

แต่พอมาเจอโควิด-19 เรารู้แล้วว่าไม่ออนไลน์ไม่ได้แล้ว ผมและทีมเลยเข้ามาช่วยกันพัฒนาเว็บไซต์ นำสินค้าทั้งหมดของเราไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ พัฒนาแอปพลิเคชันที่ใช้ AI วัดตัวในการเลือกสูท ซึ่งก็ช่วยกู้สถานการณ์ให้กับทางแบรนด์ได้พอสมควร ทำให้ยอดขายกลับมาบ้าง มีรายได้เลี้ยงพนักงาน ซึ่งเราไม่ได้เอาออกเลย อาจจะมีลดค่าใช้จ่ายด้วยการลดเงินเดือนพนักงาน ตั้งแต่ระดับบริหารลงไปถึงพนักงานหน้าร้าน

จนมาเจอคลัสเตอร์ระลอกใหม่ที่สมุทรสาคร คราวนี้กำลังซื้อหายไปเยอะ เราเลยเปิดตัวสูทรุ่น New Normal ปรับราคาจากหมื่นกว่าเหลือประมาณ 6-7 พันบาท ก็ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีมาจนถึงตอนนี้” โก้อัปเดตถึงประสบการณ์ทำงานทางไกลอย่างเห็นภาพ ก่อนจะเล่าถึงการใช้ชีวิตประจำวัน ท่ามกลางตัวเลขผู้ติดเชื้อหลักพัน

โก้บอกว่าคัมภีร์สำคัญ คือ สติ “เวลาออกไปซื้อของผมจะวางแผนอย่างดี เพื่อซื้อของที่จำเป็นให้ครบ เพราะเราจะไปซูเปอร์แค่เดือนละ 1-2 ครั้งเท่านั้น กลับถึงบ้านผมจะไม่ไปนั่งที่โซฟาเด็ดขาด แต่จะตรงไปอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้าทันที ส่วนของที่ซื้อมา ผมจะทำความสะอาดด้วยสเปรย์ฆ่าเชื้อทีละชิ้น จะว่าผมโอเวอร์ก็ได้ครับ แต่ผมทำอย่างนั้นจริงๆ หรืออย่างช่วงปลายปีที่มีการระบาดหนัก ผมขับรถไปตรวจโควิด-19 ที่เขามีให้ตรวจฟรีแทบจะทุกสัปดาห์ แล้วก็กลับมารอลุ้นผลที่บ้าน

เกือบ 1 ปีที่อยู่ที่นั่น ผมมีวินัยกับตัวเองมาก ใครจะบอกว่าโควิด-19 ไม่ได้ติดจากของที่เราซื้อมาหรอก แต่ผมคิดแค่ว่าไม่ประมาทดีกว่า เพราะถ้าติดขึ้นมาเรื่องใหญ่ ยิ่งเราถือวีซ่านักเดินทางจะรักษาก็ลำบาก ยิ่งเราไม่มีประกัน ค่าใช้จ่ายในการรักษาที่โน่นสูงมาก แถมถ้าป่วยเป็นโควิด-19 โรงพยาบาลเขาก็ไม่ได้มีเตียงที่พร้อมรองรับ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อยากทำให้ตัวเองลำบาก คนรอบข้างเดือดร้อน เราต้อง Extra lockdown และมีสติ”


บอกลาอเมริกากลับสู่ไทยแลนด์

หลังใช้ชีวิตอยู่อเมริกามา 364 วัน ในที่สุด ก็ถึงวันที่ได้เดินทางกลับเมืองไทย “ช่วงแรกๆ จะกลับยากมากครับ แต่พอมาตอนหลัง ๆ ถ้าจะหาตั๋วกลับจริงๆ ก็พอจะหาได้อยู่ แต่อย่างที่บอก เป้าหมายของผมช่วงหลังๆ คือ อยู่เป็นกำลังใจให้ครอบครัว แต่พอวีซ่านักท่องเที่ยวใกล้หมดก็ต้องกลับครับ ซึ่งขั้นตอนการเดินทางกลับก็ไม่ได้เหมือนปกติ คนที่มีแผนจะเดินทางกลับ ก่อนอื่นต้องเลือกว่าจะกักตัวแบบที่รัฐจัดให้ State Quarantine (SQ) ซึ่งจะไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ไม่สามารถเลือกที่พักได้ หรือจะเลือกกักตัวที่โรงแรมกักตัวทางเลือก (ASQ) ได้ โดยต้องจ่ายค่าที่พักเอง

จากนั้นก็ต้องไปแสดงความจำนงกับสถานทูต ติดต่อขอเอกสารเพื่อไปออกตั๋ว ซึ่งสายการบินและไฟล์ทอาจจะไม่ได้มีให้เลือกมากนัก หลังจากเลือกได้แล้ว ก็ต้องไปตรวจสุขภาพเบื้องต้นอีกครั้ง เพื่อนำเอกสารมายืนยันว่าเรา Fit to Fly

“บนไฟลต์ที่บินกลับ นอกจากจะจัดที่นั่งแบบมีระยะห่าง ยังต้องสวมหน้ากากตลอดการเดินทางจนมาถึงกรุงเทพฯ จะมีขั้นตอนการตรวจเอกสาร ก่อนจะพาไปยังสถานที่สำหรับกักตัว อย่างผมเลือกแบบ State Quarantine เลยไม่รู้ว่าจะต้องไปกักตัวที่ไหน เพราะเขาใช้วิธีสุ่ม ออกจากสนามบินขึ้นรถทัวร์มารู้ตัวอีกที ก็ถึงล็อบบี้ของโรงแรมแล้ว พอไปถึงก็จะมีการตรวจเอกสารอีกรอบ พร้อมกับอธิบายข้อกำหนดในการกักตัวเบื้องต้น หลังจากนั้นจะมีตรวจโควิด-19 อีก 2 ครั้งในรอบ 14 วันที่มีการกักตัว ครั้งแรกประมาณ 2-3 วันของการกักตัว แล้วก็อีกทีตอนก่อนกลับ”

“ถามว่า เครียดมั้ย ช่วงนั้นก็เครียดนะ เราออกไปไหนไม่ได้ อยู่แต่ในห้อง นอกจากวันที่ต้องไปตรวจ ก็อาจจะได้เจอคนที่กักตัวอยู่ด้วยกันบ้าง แต่ละวันเขาจะมีน้ำและอาหารเตรียมไว้ให้ ถ้าใครไม่อิ่มหรืออยากกินอะไรที่นอกเหนือจากนั้น สามารถโทร.สั่งจากร้านอาหารของโรงแรม หรือไม่ก็สั่งออเดอร์ไปซื้อจากเซเว่น แต่ไม่อนุญาตให้ใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรีเจ้าอื่น”

โก้บอกว่า ตอนที่กักตัว เป็นช่วงที่ได้ทบทวนตัวเองเยอะ ถ้ารู้สึกเหงา ก็โทร.หาครอบครัว หรือไม่ก็คุยกับเพื่อนใหม่ในกลุ่มไลน์ของคนที่กักตัวด้วยกัน

“ผมชอบนะ เหมือนเป็นอีกสังคม ในกลุ่มจะมีคนหลากหลายมาก มาแบ่งปันประสบการณ์ อย่างผมเองชอบชกมวย บางทีก็แชร์คลิปไปให้คนที่กักตัวแล้วไม่มีอะไรทำตาม หรือบางคนเพิ่งเล่น Tiktok ก็แชร์มาให้เข้าไปดู หรือบางทีก็จะมีการส่งเสบียงให้กัน อย่างบางคนซื้อของฝากกลับมาเยอะ ก็เอามาแชร์ อารมณ์น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า ซึ่งเป็นอะไรที่ผมประทับใจมาก ทุกวันนี้เราก็ยังเป็นเพื่อนกัน ยังคุยกันตลอด หรืออย่างวันที่ออกจากที่กักตัว เราก็แชร์กันว่าใครไปกินอะไรบ้าง” โก้เล่าอย่างอารมณ์ดีก่อนเสริมว่า

“พอจากบ้านเกิดไปนาน กลับมาอีกครั้ง มันทำให้เรารู้สึกรักเมืองไทยมากกว่าเดิม รู้สึกว่า ทุกอย่างเป็นของมีค่า ชีวิตก็มีค่า สิ่งที่โควิด-19 ให้กับผมคือ โลกแห่งความเท่าเทียม จะว่าไปการที่โลกเราเจอกับโรคระบาด ก็คล้ายๆ กับเวลาที่เราดูหนังซอมบี้ ไม่ว่าจะเป็นคนสูงต่ำ ดำขาว ยากดีมีจน สุดท้ายก็หนีไม่พ้นความตาย ที่สำคัญ ในช่วงเวลาแบบนี้ ผมคิดว่ามันทำให้คนเราเห็นใจกันมากขึ้นนะ เราได้เห็นการเกื้อหนุนกัน การมีมุทิตาจิต ที่อยากให้ทุกคนรอด อยากให้ครอบครัวได้รู้ว่าเราสบายดี ทุกวันนี้ ผมเห็นคุณค่าของชีวิตมากขึ้น รู้สึกว่าโชคดีที่รอดมาได้จากการอยู่ในเมืองที่มีคนตาย เพราะโควิด-19 วันละหลายพันคน ผมอยากเอาประสบการณ์ที่มีและทัศนคติดีๆ ในการใช้ชีวิตที่ได้รับจากวิกฤตนี้ไปแชร์กับทุกคนครับ” โก้ทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น