สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ ที่ 2 ทรงครองราชสมบัติยาวนานที่สุดในราชวงศ์อังกฤษ บนเส้นทางอันยาวนาน ทรงต้องผ่านวิกฤตในชีวิตมานับไม่ถ้วน หากเป็นคนธรรมดาก็ต้องเรียกว่าชีวิตค่อนข้างสะบักสะบอม พระองค์ทรงสามารถก้าวผ่านแต่ละเรื่องราวมาได้อย่างฉลุยได้อย่างไร...
สืบสันตติวงศ์
เมื่อครั้งที่เจ้าหญิงเอลิซาเบธ มีพระประสูติกาล สมเด็จพระอัยกา อย่างพระเจ้าจอร์จ ที่ 5 ยังทรงครองราชย์ ผู้สืบสันตติวงศ์อังดับหนึ่ง คือ เจ้าฟ้าชายเอดเวิร์ด แห่งเวลส์ พระปิตุลา ตามด้วยพระบิดาของพระองค์ อย่างเจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งยอร์ก
สมเด็จพระปิตุลาทรงขึ้นครองราชย์เพียงปีเดียวก็ทรงต้องสละราชบัลลังก์ หลังตัดสินใจแต่งงานกับสตรีม่ายชาวต่างชาติ ซึ่งนับว่าผิดกฎมณเฑียรบาลของการเป็นกษัตริย์ ทำให้พระบิดาของเจ้าหญิงเอลิซาเบธขึ้นครองราชย์แทนเป็นกษัตริย์จอร์จ ที่ 6 พระองค์จึงกลายเป็นรัชทายาทอันดับหนึ่งไปอย่างแทบไม่ทันตั้งตัว
สงครามโลกครั้งที่ 2
ระหว่างที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 พระเจ้าจอร์จ ที่ 6 ทรงปฏิเสธที่จะเสด็จออกจากลอนดอน แม้ว่าจะมีการทิ้งระเบิดจากฝ่ายอักษะอย่างบ้าคลั่ง ดังนั้น เจ้าหญิงเอลิซาเบธ และสมาชิกราชวงศ์ทั้งหมดก็ทรงต้องอยู่ข้างพระวรกายพระบิดาในพระราชวังบัคกิงแฮม ซึ่งรอดพ้นจากระเบิดมาได้อย่างปาฏิหาริย์
การยืนหยัดของพระบิดา ก็ทรงปฏิบัติพระองค์ให้เป็นตัวอย่างให้แก่พระธิดาที่จะขึ้นครองบัลลังก์ในอนาคต โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นอนาคตอันใกล้กินไป โดยทรงต้องเสด็จขึ้นครองราชย์ด้วยพระชันษาเพียง 25 ชันษาเท่านั้น
ครองบัลลังก์เครือจักรภพ
หลังจากพระเจ้าจอร์จ ที่ 6 เสด็จสวรรคตด้วยโรคมะเร็ง ขณะนั้น เจ้าหญิงเอลิซาเบธ อยู่ในระหว่างเสด็จเยือนประเทศเคนยา และกำลังจะเสด็จไปยังประเทศอื่นๆ ในเครือจักรภพ อย่างนิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย แต่ก็ต้องยุติกลางคันและเดินทางกลับอังกฤษทันที
ข่าวการสวรรคตใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมง จากลอนดอนไปเคนยา เจ้าหญิงเอลิซาเบธ และพระสวามี ดยุคแห่งเอดินบะระ ทรงรับฟังอย่างสงบ ก่อนจะจัดการพระราชพิธีฝังพระศพอย่างละเอียด
เมื่อครั้งที่พระบิดายังทรงพระชนม์ชีพ ทรงเลี้ยงดูเจ้าหญิงเอลิซาเบธมาอย่างใกล้ชิด พระองค์ทรงขอเวลาอยู่เงียบๆ เพื่อทำพระทัยให้หายเศร้าเพียงชั่วโมงเดียว ก็มีรับสั่งให้เดินทางกลับอังกฤษในฐานะสมเด็จพระราชินีทันที
วิกฤตสั่นบัลลังก์
เมื่อพระน้องยาเธอ อย่าง เจ้าหญิงมาร์กาเรต ทรงมีสัมพันธ์กับชายสูงวัย แถมเคยแต่งงานมาก่อน นับว่าเป็นวิกฤตร้ายแรงครั้งหนึ่งของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ ที่ 2 ซึ่งสำนักราชวังอังกฤษไม่สามารถอนุญาตให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ นอกเสียจากว่าพระองค์จะต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกของราชวงศ์ เช่นเดียวกับกรณีที่เคยเกิดขึ้นของพระปิตุลา ในที่สุด เจ้าหญิงมาร์กาเรตก็ทรงออกมาแถลงยกเลิกการแต่งงานดังกล่าวไป
ในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน หลายประเทศในเครือจักรภพออกมาประกาศอิสรภาพ ทำให้สมเด็จพระราชินีมีพระราชดำรัสในพระราชพิธีเฉลิมฉลองวันราชาภิเษกว่า อาณาจักรของพระองค์ชักจะเล็กลงๆ ทุกวันๆ
แม้พระองค์จะทรงสนับสนุนให้หลายประเทศในเครือจักรภพมีอิสรภาพและปกครองตัวเอง แต่ในบางแห่งที่พระเห็นควรจะยังรักษาผลประโยชน์ ก็ยังทรงส่งทหารไปปกป้อง เช่น คลองสุเอซ หรือหมู่เกาะฟอล์กแลนด์
ปัญหาครอบครัว
อีกวิกฤตที่เกี่ยวข้องกับบุคคลอันทรงเป็นที่รัก อย่าง เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ที่ทรงไม่ประสบความสำเร็จด้านชีวิตครอบครัว ทรงต้องหย่าร้างกับพระชายา อย่าง เจ้าหญิงไดอานา สเปนเซอร์ ตั้งแต่ปี 1992 (1996 อย่างเป็นทางการ)
สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ ที่ 2 ทรงเคยบอกว่า ปี 1992 เป็นปี “โหดร้ายที่สุด” ในชีวิตของพระองค์ ราชวงศ์อังกฤษต้องเสื่อมความนิยม ตกเป็นวิกฤตศรัทธาของพสกนิกรชาวอังกฤษ จากการเลิกราของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และเจ้าหญิงไดอานา จนพระองค์ต้องออกมาประกาศว่าจะขอจ่ายภาษีเช่นเดียวกับประชาชน เพื่อทรงกู้คืนความนิยมกลับมา
เมื่อเจ้าหญิงไดอานาสิ้นพระชนม์ในอุบัติเหตุในปี 1997 สมเด็จพระราชินีที่ไม่ได้แสดงออกถึงการไว้อาลัยอย่างเป็นทางการ สร้างความไม่พอใจให้ประชาชนอย่างมาก แม้ว่าจะออกมาแก้ต่างภายหลังด้วยการออกมาทรงพูดชื่นชมเจ้าหญิงไดอานาก็ไม่ทันการณ์แล้ว กว่าราชวงศ์อังกฤษจะกู้คืนความนิยมกลับมาได้ต้องอาศัยเวลาอีกกว่า 2 ทศวรรษเลยทีเดียว
ภัยก่อการร้าย
สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ ทรงรอดพ้นจากการลอบปลงพระชนม์มาแล้ว 2-3 ครั้ง ขณะที่ประชาชนของพระองค์ก็ต้องเผชิญหน้ากับภัยก่อการร้าย โดยเฉพาะในปี 2005 ที่มีการโจมตีระบบขนส่งมวลชนกลางกรุงลอนดอน ซึ่งพระองค์ทรงรีบออกมาให้กำลังใจประชาชน “การกระทำอันป่าเถื่อนโหดร้ายนี้ แค่ออกมาทำให้เราตกใจกลัวเล็กน้อย แต่ขอให้ทุกคนเชื่อว่าบ้านเมืองเรามีกฎหมาย และอย่าลืมรักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชุมชนเอาไว้เป็นเกราะคุ้มครองได้อย่างดี”
แฮร์รี-เมแกน
วิกฤตศรัทธาครั้งใหม่ที่ดูเหมือนจะโจมตีได้ไม่ค่อยสะเทือนมากนัก การให้สัมภาษณ์ของดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ ที่เน้นประเด็นหลักๆ เรื่องเหยียดสีผิวในราชวงศ์อังกฤษ ผ่านทางโทรทัศน์ทั่วโลก ซึ่งสำนักพระราชวับัคกิงแฮมได้ออกหนังสืออย่างเป็นทางการ ที่มีถ้อยคำสั้นๆ แต่คมคายว่า รู้สึกเสียใจที่ทำให้ทั้งสองรู้สึกแย่ขนาดนี้ แต่เรื่องดังกล่าวควรจะมีการพูดคุยในครอบครัวมากกว่าออกมาประกาศทางโทรทัศน์
งานนี้แม้จะทำให้ราชวงศ์และสมเด็จพระราชินีเสื่อมความนิยมลงไปบ้าง แต่คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าสิ่งที่เมแกนให้สัมภาษณ์จะเป็นเรื่องจริง