สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ระบุในวันอังคาร (9 มี.ค.) สมาชิกบรมวงศานุวงศ์แห่งราชวงศ์อังกฤษ รู้เสียเสียพระทัยกับประสบการณ์ท้าทายที่เจ้าชายแฮร์รี พระราชนัดดาของพระองค์ และ เมแกน มาร์เคิล ต้องเผชิญ พร้อมสัญญาจะจัดการเป็นการภายใน กรณีที่ถูกแฉว่ามีสมาชิกราชวงศ์อังกฤษพระองค์หนึ่ง แสดงความคิดเห็นเหยียดผิวพระโอรส ‘อาร์ชี’
ดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ ให้สัมภาษณ์กับพิธีกรชื่อดัง โอปราห์ วินฟรีย์ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สหรัฐฯ เมื่อวันอาทิตย์ (7 มี.ค.) ฉุดราชวงศ์อังกฤษดำดิ่งสู่วิกฤตครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี 1997 ครั้งที่เจ้าหญิงไดอานา พระมารดาของเจ้าชายแฮร์รี สิ้นพระชนม์
ระหว่างการสัมภาษณ์นาน 2 ชั่วโมง เมแกน เปิดอกแสดงความคับข้องใจและเผยถึงแรงกดดันภายในราชวงศ์ พร้อมกล่าวหาคนในราชวงศ์มีความกังวลเรื่องสีผิว ของพระโอรสอาร์ชี ตั้งแต่ก่อนประสูติ และเล่าว่า สิ่งต่างๆ ที่ประดังประเดเข้ามาทำให้เธอเป็นทุกข์หนักถึงขั้นคิดทำร้ายตัวเองและฆ่าตัวตาย แต่หลังจากที่พยายามขอความช่วยเหลือ กลับถูกเพิกเฉย
ทางด้านเจ้าชายแฮร์รีทรงระบุว่า ที่ตัดสินใจทิ้งชีวิตเจ้าก็เพราะ “ไม่ได้รับความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ” จากญาติๆ และทรงเกรงว่า “ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย” เหมือนตอนที่พระมารดา เจ้าหญิงไดอานา สิ้นพระชนม์ในอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อปี 1997
ดยุคแห่งซัสเซกซ์ทรงย้ำว่า “ยังเคารพรัก” สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เหมือนเดิม แต่ในส่วนของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส บิดาของพระองค์นั้น ทรงทำให้พระองค์ผิดหวัง หลังจากปฏิเสธรับโทรศัพท์จากพระองค์มาสักระยะหนึ่งแล้ว
“สมาชิกบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์เสียพระทัยหลังได้รับทราบอย่างครบถ้วน กับขอบเขตความท้าทายที่แฮร์รีและเมแกนต้องเผชิญในช่วงหลายปีหลัง” ถ้อยแถลงของสำนักพระราชวังบักกิงแฮม ที่เผยแพร่ในนามสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
“ประเด็นต่างๆ ที่หยิบยกขึ้นมา โดนเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสีผิวนั้นน่ากังวล ในขณะที่ความทรงจำบางอย่างอาจมีความต่างกัน สมาชิกบรมวงศานุวงศ์จะจริงจังกับเรื่องนี้และจะจัดการเรื่องนี้กันเป็นการภายในราชวงศ์ แฮร์รี เมแกนและอาร์ชี จะเป็นที่รักของสมาชิกบรมวงศานุวงศ์ตลอดไป” ถ้อยแถลงระบุ
แหล่งข่าวสำนักพระราชวัง เผยว่า สำนักพระราชวังพิจารณาเรื่องนี้ว่าเป็นประเด็นภายในของพระบรมวงศานุวงศ์ พร้อมระบุว่าสมาชิกบรมวงศานุวงศ์จะใช้โอกาสนี้หยิบยกประเด็นดังกล่าวมาพูดคุยกันเป็นการส่วนพระองค์ในฐานะครอบครัว
สื่อมวลชนระบุว่า คำสัมภาษณ์ที่มีผู้ชม 12.4 ล้านคน ในสหราชอาณาจักร และ 17.1 ล้านคนในสหรัฐฯ โหมกระพือวิกฤตหนึ่งขึ้นมา วิกฤตที่ทางราชวงศ์ต้องจัดการ
คำสัมภาษณ์ดังกล่าวยังก่อความเห็นแตกแยกในหมู่ประชาชนชาวสหราชอาณาจักร โดยบางส่วนเชื่อว่าสถาบันนั้นล้าสมัย และมีทิฐิ แต่บางส่วนมองว่ามันเป็นการทำร้ายตนเองที่ทางสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 และสมาชิกบรมวงศานุวงศ์ ไม่ควรต้องมาเผชิญ
(ที่มา: รอยเตอร์)