xs
xsm
sm
md
lg

“ผ้าไทย” เอกลักษณ์ของชาติที่ทรงคุณค่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมื่อครั้งที่ จอม-มนุญสินี ฟูตระกูล ได้มีโอกาสไปอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันนี้เธอจึงจะมาขอเล่าเรื่องผ้าไทยให้ฟังกัน

ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปสักเพียงใด เอกลักษณ์การแต่งกายของสตรีไทยด้วยผ้าไหมยังคงนิยมมาจนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง รวมทั้งค่านิยมแห่งยุคสมัยมาโดยตลอด ชุดประจำชาติของสตรีไทยปัจจุบันเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ในช่วงทรงเยือนทวีปยุโรป ใน พ.ศ. 2503 เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาชาติ พระบรมราชินีนาถมีพระราชดำริว่าจะทรงฉลองพระองค์ในชุดประจำชาติที่แสดงถึงเอกลักษณ์ไทยอย่างแท้จริงสำหรับงานพิธีและโอกาสต่างๆ (บทนำในหนังสือ “ราชศิลป์พัสตราภรณ์” พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ)

นับเป็นโชคดีของคนไทยที่มีชุดประจำชาติที่งดงาม รวมถึงต้นแบบแรงบันดาลใจจากฉลองพระองค์ชุดไทย สะท้อนถึงพระอัจฉริยภาพในการสร้างสรรค์ และสืบสานธรรมเนียมการแต่งกายที่ดำรงเอกลักษณ์ไทยไว้ได้อย่างสมบูรณ์งดงาม จนได้รับการยกย่องชื่นชมจากชาวไทยและชาวต่างชาติทั่วโลก

ดังปรากฏในพระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสที่องค์การยูเนสโกทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองโบโรพุทโธ ณ ศาลาธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2535 ความว่า

“...ชาวนาชาวไร่เหล่านี้มีฝีมือทางหัตถกรรมสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษแล้ว โดยที่หัตกรรมส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่เขาใช้สอยอยู่ในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น ชาวอีสานปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อทอผ้าไว้ใช้เอง สิ่งนี้จึงป็นแรงบันดาลใจให้ข้าพเจ้าเริ่มงานส่งเสริมการทอผ้าไหมขึ้น เพื่อชาวนาชาวไร่นำความสามารถของเขาเองมายกระดับความเป็นอยู่รวมทั้งเพิ่มพูนศักดิ์ศรี และความภาคภูมิใจในงานของเขา จนในที่สุดจึงเกิดเป็นมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ...”

ตั้งแต่นั้นมาหัตถกรรมทอผ้าพื้นเมืองก็ได้กลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้ชาวบ้านอย่างยั่งยืน มีการส่งเสริมและพัฒนาในเรื่องเนื้อผ้าและสีของผ้าให้มีคุณภาพดีขึ้นเพื่อให้เหมาะสมแก่การตัดเย็บเสื้อผ้าสมัยใหม่ และให้อนุรักษ์การทอผ้าและลวดลายเก่าดั้งเดิมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นไว้ ตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

ปัจจุบันผ้าไหมไทยที่ได้รับความเป็นสากลนิยม และเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย โดยเฉพาะ ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมแพรวา ผ้าไหมลายเกล็ดเต่า ขึ้นอยู่กับลาย สีที่ทอ และฝีมือของผู้ทอ ได้นำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน




กำลังโหลดความคิดเห็น