ยะลา - กลุ่มผ้าศรียะลาบาติก ริเริ่มฟื้นฟู “ผ้าปะลางิง” ฟื้นคืนตำนานงานแฮนด์เมดที่ผสมผสานความเป็นอยู่อย่างพหุวัฒนธรรม โดยแต่ละผืนจะมีอยู่เพียงแค่ลายเดียว
วันนี้ (2 ส.ค.) ที่กลุ่มผ้าศรียะลาบาติก ภายในซอยสุขธร 12 ต.สะเตง อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ซึ่งมี นายปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2560 เป็นผู้เริ่มก่อตั้งการทำผ้าบาติก และริเริ่มฟื้นฟูตำนานของผ้าปะลางิง กลับมาสร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกครั้ง
ครูปิยะ สุวรรณพฤกษ์ เล่าว่า “ผ้าปะลางิง” เป็นผ้าในตำนาน ได้สูญหายไปร่วม 80 ปี ลักษณะของผ้าปะลางิงนั้น มีลักษณะเป็นผ้านุ่ง มีการพบเห็นผ้าปะลางิงครั้งแรกในปี พ.ศ.2472 ในขบวนรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยผู้ร่วมขบวนได้แต่งกายด้วยผ้าปะลางิง ทั้งผู้หญิง และผู้ชาย ซึ่งผู้ชายส่วนใหญ่จะใช้นุ่ง ส่วนผู้หญิงจะใช้สำหรับคลุมผม คลุมศีรษะ และปล่อยชายผ้าห้อยลงมาอย่าสวยงาม ซึ่งเป็นผ้าปะลางิง ยุคแรกๆ ที่ได้เห็นกัน
“ในส่วนของการพบเจอที่เป็นเอกสารหลักฐานสำคัญ ก็คือ แม่พิมพ์ไม้ ที่กรมศิลปากรได้มาเก็บข้อมูลไว้ และนำไปจัดแสดง จึงได้หาข้อมูลอ้างอิงเกี่ยวกับที่มาของผ้าปะลางิง และการสูญหายไปของผ้าปะลางิง ก็มาจากการที่ได้เลิกปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในท้องถิ่น เพราะสภาพพื้นที่ และสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ทำให้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมหยุดไป โดยผ้าปะลางิงนั้น ตัวผืนผ้าใช้การทอ ไม่ว่าจะเป็นการทอด้วยฝ้ายกับฝ้าย หรือไหมกับฝ้าย ก่อนที่จะมาทำเป็นผ้ามัดย้อม การเขียนลวดลาย การพิมพ์ลายผ้า และการเก็บสิ เพราะฉะนั้นในผ้าปะลางิงหนึ่งผืนจะมีหลากหลายสี แต่โทนสีจะเป็นคู่สีตัดกัน” ครูปิยะ กล่าว
ครูปิยะ กล่าวอีกว่า จุดเด่นของผ้าปะลางิง ที่สำคัญคือ ตั้งแต่ตัวลวดลายที่อยู่บนผืนผ้า เพราะลายผ้าปะลางิง จะไม่เหมือนลายทอผ้าจากภาคเหนือ หรือภาคอีสาน แต่ลายทอของผ้าได้ถอดแบบมาจากบล็อกแม่พิมพ์ไม้ แล้วมาเขียนกราฟ แล้วก็ทอ ซึ่งจะมีความแตกต่างกัน และการทอก็มีลูกเล่นของลายเนื้อผ้ามากกว่าด้วย และจุดเด่นอีกอย่างก็คือ การใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นมาเป็นตัวเล่าเรื่องผ้า เช่น ตัวลวดลายที่แกะไม้ออกมาก็มาจากลวดลายช่องลมโบราณ ลวดลายกันสาด ลวดลายราวประตู กระเบื้องโบราณ หรือลวดลายจากสถาปัตยกรรมในท้องถิ่น เช่น จากวังโบราณต่างๆ วังจะบังติกอ วังในจังหวัดปัตตานี สมัยก่อนก็ถูกนำมาถ่ายทอดจากวัฒนธรรมต่างๆ ก็ถูกนำมาเล่าเรื่องผ่านลายผ้า เปรียบเสมือนการเอาวัฒนธรรมต่างๆ ออกเผยแพร่ผ่านลวดลายบนเนื้อผ้า ผ้าปะลางิงจึงนับว่าเป็นผ้าพื้นเมือง หรือผ้าพื้นถิ่นของจังหวัดชายแดนภาคใต้
ครูปิยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องขอบคุณคนรุ่นใหม่ที่ได้เล็งเห็นภูมิปัญญาของผ้าปะลางิง และมหาวิทยาลัยต่างๆ เชิญชวนให้ไปสอนและถ่ายทอด ทำให้คนรู้จักผ้าปะลางิงมากขึ้น เพราะผ้าของทางภาคใต้จะเป็นผ้าที่อายุสั้น ไม่เหมือนภาคเหนือหรือภาคอีสาน ที่มีการทำต่อเนื่อง ยกตัวอย่างจังหวัดยะลา ไม่มีการทอผ้าหลงเหลืออยู่ แต่สมัยก่อนยะลาเองก็มีการทอผ้า ปัตตานี ยังมีผ้าจวน นราธิวาส ยังมีผ้าในโครงการของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ แต่จังหวัดยะลาเป็นที่เดียวที่การทอผ้าหายไป และขอบคุณผู้ที่เข้ามาร่วมอนุรักษ์ส่งเสริม ทั้งการส่งนักเรียน นักศึกษาเข้ามาเรียนรู้ และต่อยอดภูมิปัญญา ทำให้การต่อยอดของผ้าไปได้ไกลขึ้น
สำหรับผ้าปะลางิง จะใช้เวลาในการทำอยู่ที่ประมาณ 4 ผืนต่อ 1 เดือน ไม่ได้มากกว่านี้ เพราะปัจจัยด้านเวลา และการทำผ้าที่ใช้มือทำทั้งหมด ทั้งการวางสี การวางลวดลายต่างๆ ซึ่ง 1 ผืน ก็จะมีเพียงผืนเดียวลายเดียวเท่านั้น ทำผืนต่อไปก็จะไม่เหมือนแล้ว นอกจากนี้ ในผืนผ้าปะลางิง ก็จะมีตัวเลขกำกับไว้เฉพาะใครซื้อไป ผ้าผืนนี้หมายเลขนี้ไปอยู่ที่ใครก็จะทราบ
ครูปิยะ สุวรรณพฤกษ์ กล่าวว่า สุดท้ายตนเองเรียกผ้า ปะลางิง ว่าเป็นผ้าที่สร้างชุมชน เพราะวิธีการทำผ้ามาจากผู้ที่ทำหลายหลาก ผ้าปะลางิง ได้สร้างความรู้สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และเป็นผ้าที่อยู่รวมกันเป็นพหุวัฒนธรรม เพราะลูกศิษย์ที่ทำงานร่วมกันมีทั้งพุทธ ทั้งมุสลิม และจีน ซึ่งมันก็เปรียบเสมือนกับพื้นที่บ้านเราที่มีผู้คนจากหลากหลายศาสนาอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างพหุวัฒนธรรม และสามารถต่อยอดการดำเนินชีวิตในชุมชนที่สามารถหล่อเลี้ยงกันมาจนถึงปัจจุบันได้
โดยในขณะนี้ได้มีการทำผ้าเก่ากว่าผ้าปะลางิง โดยราคาอยู่ที่ 59,000 บาท และมีผู้ที่สั่งจองไว้แล้ว จำนวน 4 ผืน โดยที่ลูกค้าเองก็ยังไม่ได้เห็นลวดลายของผ้า ซึ่งถือเป็นความเชื่อมั่นในตัวผ้า