ปัตตานี - ชาวชุมชนกรือเซะประชุมตั้งคณะทำงานเข้าร่วมประชุมหารือกับทางศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดปัตตานี ภายในวัน 31 กรกฎาคมนี้ เพื่อหาทางแก้ปัญหาเรื่องที่ดินมัสยิดกรือเซะ
วันนี้ (27 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีการเรียกร้องพื้นที่คืนให้มัสยิดกรือเซะ โบราณสถานแห่งชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2526 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พ.ศ.2504 ได้กำหนดเขตที่ดินโบราณสถานมัสยิดกรือเซะ 10 ไร่ 2 งาน 24.85 ตารางวา แต่ปัจจุบัน พื้นที่ที่ใช้สอยจริงมีเพียง 2 ไร่ จึงทำให้ไม่สามารถพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวในการปรับปรุงภูมิทัศน์ เพื่อรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่นิยมเที่ยวชมมัสยิดโบราณแห่งนี้ ถึงแม้ก่อนหน้านี้ ได้มีตัวแทนชาวบ้านได้ทำหนังสือร้องขอให้สำนักศิลปากรตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวว่ายังมีอยู่จริงหรือไม่
ต่อมา ทางสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่เดินทางสำรวจพื้นที่เขตโบราณสถานตามประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้นมีอยู่จริง แต่มัสยิดกลับไม่สามารถขยับขยายพื้นที่ดังกล่าวได้เลย เพราะถูกแบ่งพื้นที่ไว้อย่างชัดเจน มีรั้วเหล็กกั้นเป็นพื้นที่สัดส่วน จึงเรียกร้องอยากให้มีการคืนพื้นที่ให้แก่มัสยิดสามารถใช้สอยได้ตามเจตนารมณ์ของการประกาศพื้นที่เขตโบราณสถานมัสยิดกรือเซะไว้ที่ 10 ไร่เศษ ตามที่ได้กล่าวไว้ขั้นต้น
ล่าสุด ทางชุมชนกรือเซะ ประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต.ตันหยงลุโล๊ะ อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น พร้อมด้วยคณะกรรมการมัสยิดในชุมชน ประธานชมรมรักษ์กรือเซะ ได้ร่วมการประชุมหารือเพื่อหาทางออกในเรื่องดังกล่าว โดยใช้เวลาประชุมนาน 3 ชั่วโมง ในที่ประชุมได้มีมติให้ตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามผลการดำเนินการทวงคืนที่โบราณสถานมัสยิดกรือเซะ กลับคืนสู่มัสยิดเพื่อเป็นตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ.2526 โดยเฉพาะในเรื่องการย้ายห้องน้ำออกจากบริเวณมัสยิด เพราะสร้างชิดกับตัวมัสยิดมากเกินไป ทำให้ส่งกลิ่นเหม็นรบกวน และเพื่อการขยับขยายห้องน้ำเพิ่มเติมให้เพียงพอในการรองรับนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางมาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลต้องเข้าแถวยาวเพื่อรอเข้าห้องน้ำ
สำหรับคณะทำงานชุดนี้อาจเป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุมหารือกับทางศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดปัตตานี ภายในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ เพื่อหาทางออกแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยสันติวิธี ใช้วิธีการพูดคุย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่ดังกล่าวอย่างเป็นธรรม ตามเมืองต้นแบบพหุวัฒนธรรมเมืองชายแดนใต้ ด้วยการให้เกียรติซึ่งกันและกัน นับเป็นครั้งแรกที่ประชาชนในพื้นที่ออกมาปกป้องมัสยิดโบราณสถานแห่งนี้ในรอบหลายสิบปี และพร้อมที่จะทำงานคู่กันกับทางสำนักศิลปากร เพื่อให้มัสยิดแห่งนี้เป็นมรดกของชาติส่งถึงลูกหลานสืบไป
นายอับดุลรอนิง ลาเต๊ะ ประธานชมรมรักษ์กรือเซะ กล่าวว่า มัสยิดโบราณสถานแห่งนี้ถูกมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ดำเนินการแทนอธิบดีศิลปากร ได้ลงนามเมื่อปี พ.ศ.2536 ตามคำสั่งเลขที่ 954/2536 โดยมีเนื้อหาในคำสั่งขั้นต้นว่า ด้วยมัสยิกกรือเซะ และฮวงซุ้ยเจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยวเป็นโบราณสถานที่สำคัญ และกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานไว้ ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการควบคุมดูแลรักษาโบราณสถานมัสยิดกรือเซะ และฮวงซุ้ยเจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยวที่อยู่ภายในเขตโบราณสถานดังกล่าว จึงเห็นสมควรมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทน
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.2548 นายอารักษ์ สังหิตกุล อธิบดีกรมศิลปากรได้บันทึกลงนาม MOU ในการถ่ายโอนภารกิจการดูแลรักษาโบราณสถานมัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นไปตามแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมี นายมะแอ ฮามิ นายก อบต.ตันหยงลุโล๊ะ เป็นผู้ลงนามในการรับการส่งมอบภารกิจดังกล่าว จึงทำให้พื้นที่โบราณสถานมัสยิดกรือเซะมีสองสถานะต่างกรรมต่างวาระ จึงกลายเป็นประเด็นปัญหาในการเข้ามาบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรมได้
ไม่ว่าจะเป็นกรณีการอนุญาตนำดินมาถมที่ฝั่งฮวงซุ้ยเจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยวให้สูงขึ้น จึงกลายเป็นปัญหาน้ำไหลท่วมเข้าบริเวณมัสยิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะถึงนี้ แต่ท้องถิ่นไม่สามารถยับยั้งได้เพราะอำนาจอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ทั้งที่รู้ว่าการนำดินมาถมบริเวณที่ตั้งฮวงซุ้ย จะทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวมัสยิด แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ จึงง่ายต่อการที่จะกล่าวอ้างว่าได้ขออนุญาตจากทางผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว ทั้งที่ไม่รู้ว่าได้ขออนุญาตจริงหรือไม่ ทางผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีเองคงไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ อบต.ทราบว่าได้อนุญาตอะไรไปบ้าง