สตูล - เยาวชน-ผู้สูงอายุสตูลฝึกเพ้นท์ “ผ้าท้องถิ่นปาเต๊ะ” เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์
วันนี้ (23 ก.ค.) “ผ้าปาเต๊ะ” เครื่องนุ่งห่มอันเป็นเอกลักษณ์ของชายหญิงแดนใต้ ด้วยสีสันและลวดลายที่สดใสสวยงาม บ่งบอกถึงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างดี ซึ่งการวาดลวดลายจะไม่แตกต่างกับผ้าบาติกมากนัก แต่ผ้าปาเต๊ะมีลวดลายที่ประณีตซับซ้อนกว่า และมีมากกว่าสองลายขึ้นไปบนผ้าผืนเดียว จึงทำให้ผ้าปาเต๊ะมีความโดดเด่นสะดุดตา ผสมผสานกับฝีมือการเล่นสีอะคริลิก ผสมสีกากเพชร แต่งแต้มลวดลายตามจินตนาการ การแต่งกายด้วยผ้าปาเต๊ะซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากแหลมมาลายู สืบเนื่องมาจากการติดต่อค้าขายในอดีต แต่ปัจจุบันได้มีการนำผ้าปาเต๊ะมาประยุกต์ใช้ให้มีความหลากหลาย ทั้งกระเป๋า เสื้อผ้า ผ้าพันคอ และอื่นๆ ยิ่งช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผ้าปาเต๊ะยิ่งดูมีคุณค่า กลายเป็นผ้าที่มีราคา และเป็นที่ต้องการของคนทั่วไป
ที่ห้องประชุม อบจ. ชั้น 4 ต.คลองขุด อ.เมือง จ.สตูล กลุ่มแม่บ้าน/สตรี เยาวชน และประชาชนทั่วไป จาก 7 อำเภอ จำนวน 60 คน ที่สนใจงานผ้าต่างขะมักเขม้นกับการเพ้นท์สีลงบนผ้าบาเต๊ะกันอย่างตั้งใจ หลังเข้าร่วมกิจกรรมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การทำผ้าปาเต๊ะประยุกต์และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สู่อาชีพเสริม เพิ่มรายได้” ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนากลุ่มอาชีพประจำปีงบประมาณ 2561 ซึ่งกองส่งเสริมคุณภาพชีวิต (ฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ) องค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูลจัดขึ้น เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้กับกลุ่มแม่บ้าน สตรี เยาวชน และประชาชนทั่วไปในจังหวัดสตูลให้มีความรู้ ทักษะตั้งแต่การทำผลิตภัณฑ์ผ้าปาเต๊ะ การปั้มลาย วาดลาย เพ้นท์ลาย และ การลงสี
ตลอดจนนำผ้าปาเต๊ะซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสตูลมาประยุกต์ใช้ในการทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะกระเป๋าทำมือจากผ้าปาเต๊ะ และเพื่อส่งเสริมให้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพ สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้มีความมั่งคงทางอาชีพและรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว และเพิ่มพูนทักษะเพื่อปรับเปลี่ยนอาชีพ บนพื้นฐานของการลดรายจ่าย สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน อีกทั้งยังเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีที่ดีเอาไว้อีกด้วย
ทั้งนี้ได้แบ่งเป็น 2 หลักสูตร หลักสูตรที่ 1 การทำผ้าปาเต๊ะ (ระดับพื้นฐาน การต้มผ้า การปั้มลาย การเพ้นท์ผ้าปาเต๊ะ การลงสี) หลักสูตรที่ 2 การทำผลิตภัณฑ์ (กระเป๋า) จากผ้าปาเต๊ะ วันที่ 1 สิงหาคม 2561
นางศิริวรรณ ตาเดอิน อายุ 60 ปี ผู้เข้าอบรม กล่าวว่า เดิมที่บ้านทำอาชีพตัดเย็บผ้าอยู่แล้ว เมื่อทราบว่า อบจ.จัดโครงการดังกล่าวนี้ จึงตัดสินใจเข้าร่วมอบรม เพื่อรับความรู้ใหม่ๆ ที่มากกว่าความรู้ที่มีอยู่แล้ว เพื่อนำไปต่อยอดอาชีพที่ทำอยู่ นอกจากนั้นแล้วสามารถนำไปสอนเพื่อนบ้านใกล้เคียงได้อีกด้วย หากถามว่ายากไหม ก็ไม่ยาก ไม่มีอะไรยากหากเราตั้งใจทำ แล้วการเพ้นท์ผ้าก็เป็นความชอบโดยส่วนตัวด้วย
นางสาวจุฑามาศ สุวรรณแสง อายุ 15 ปี และ นางสาวนิชนันท์ สงค์แก้ว อายุ 14 ปี นักเรียนโรงเรียนอนุบาลมะนัง ผู้เข้าร่วมอบรม กล่าวว่า การเพ้นท์ผ้านี้ทำไม่ยาก แม้ตอนแรกคิดว่ายาก แต่เมื่อลงมือทำจริงก็ไม่ยาก สามารถนำไปต่อยอดเป็นกระเป๋าเอกสาร ซองโทรศัพท์ และอื่นๆได้อีกหลายอย่าง และสามารถฝึกให้เพื่อนๆ ที่โรงเรียนได้เรียนรู้ในเรื่องนี้ ซึ่งผ้าปาเต๊ะนี้มีความสวยงามตรงการพิมพ์ลาย
นางรอเบียะ หมันเส็น วิทยากรวิชาชีพ สาขาศิลปะ กล่าวว่า ผ้าปาเต๊ะมีเสน่ห์ในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่เมื่อเพิ่มสี เพิ่มกากเพชรลงไปก็ทำให้ปาเต๊ะธรรมดาดูโดดเด่นขึ้นมา สามารถนำไปต่อยอดทำเป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกได้ เช่น กระเป๋า หรือนำมานุ่งห่มตัดชุดสวมใส่ในงานพิธีการต่างๆ ส่วนกระบวนการทำไม่ซับซ้อนอะไร แค่มีผ้าปาเต๊ะ 1 ผืน สีอะคลีลิต สำหรับเคลือบ ลงสีกากเพชรตัดขอบเพื่อความสวยงามและโดดเด่น ส่วนวิธีการดูแลรักษานั้นควรตากในที่ร่ม ซักปกติสีจะไม่ลอก
สำหรับผ้าท้องถิ่นอย่างผ้าปาเต๊ะ ราคาปกติ 100-350 บาท แล้วแต่เกรดของผ้า ผ่านการเพ้นท์ ราคาอยู่ที่ 900 -1,500 บาท หากนำมาแปรรูปเป็นกระเป๋าโน้ตบุ๊ก ราคา 350 บาท กระเป๋าเอกสาร 200-250 บาท ซองใส่โทรศัพท์ 120-150 บาท ส่วนกระเป๋าเป้จากผ้าปาเต๊ะ ราคา 1,350 บาท หากผ่านการเพ้นท์ลายและกันน้ำ ราคาอยู่ที่ 3,500 บาท กลุ่มลูกค้าจะเป็นส่วนราชการ ลูกค้าทั่วไป เพราะช่วงนี้มีการรณรงค์ให้สวมใส่ชุดพื้นเมือง โดยจุดจัดจำหน่ายนั้นจะจำหน่ายตามเครือข่ายโอทอปและเครือข่ายต่างจังหวัด