หากลองเข้าไปค้นหาเรื่องราวของ ป่าน-ดร.ศรัณฐ์ หวั่งหลี ลูกชายของ สุจินต์-รุจิราภรณ์ หวั่งหลี ในอินเทอร์เน็ตเวลานี้ คุณจะได้รู้จักกับผู้บริหารหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงที่เป็นกำลังสำคัญในการชุบชีวิตล้ง 1919 ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมไทย-จีนได้อย่างน่าชื่นชม แต่ถ้าคุณเลือกที่จะทำความรู้จักเขาผ่านบทสัมภาษณ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟชิ้นนี้ รับรองว่าจะได้รู้จักตัวตนของทายาทตระกูลดังในทุกแง่มุม
ปัจจุบัน นอกจากป่านจะสวมบทผู้บริหารโครงการ ล้ง 1919 ยังดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) ธุรกิจของครอบครัวที่เจ้าตัวเคยพยายามยื้อเวลาที่จะกลับมาสานต่อ แต่สุดท้ายเมื่อถึงเวลาที่ต้องกลับมา เขาก็ทำออกมาได้อย่างไม่ผิดหวัง
จากเด็กเรียน (ดี) สู่เส้นทางที่ฝัน
ดูจากโปรไฟล์การศึกษาของทายาทตระกูลดัง บอกได้เลยว่าไม่ธรรมดา ฉีกตำราค่านิยมแบบผิดๆ ที่เชื่อว่า ลูกคุณหนูมักไม่สนใจเรียน เพราะป่านถือเป็นหนึ่งในเมล็ดพันธุ์ชั้นดี ที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าคนเราถ้าตั้งใจไม่มีคำว่าไม่สำเร็จ
“ผมเป็นเด็กเรียนดี แต่ไม่ใช่เด็กเรียนเก่ง ผมไม่เนิร์ด แต่เป็นพวกชอบเรียนหนังสือ คือถึงเวลาเรียนก็ตั้งใจเรียน ตั้งใจอ่านหนังสือสอบ” ป่านเปิดฉากนิยามตัวตนของตัวเองอย่างออกรส หลังจากเรียนจบไฮสกูลที่วินเชสเตอร์คอลเลจ (Winchester College) เขาเลือกเรียนต่อด้านวิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการบริหาร (Engineering, Economic and Management : EEM) มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และเรียนต่อด้าน Manage Research ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน
“ผมโชคดีที่คุณพ่อคุณแม่ให้การสนับสนุนเรื่องการเรียนเต็มที่ แต่ไม่ได้จำกัดกรอบ หรือบังคับว่าต้องเดินไปทางไหน อย่างตอนจะเข้ามหาวิทยาลัย คุณพ่อคุณแม่ก็พาไปดูทั้งที่อังกฤษและอเมริกา สุดท้ายผมเลือกเรียนที่อังกฤษเพราะชอบมหาวิทยาลัยนี้ และคิดว่าสาขาที่เรียนก็เหมาะกับผม เพราะผมไม่ได้เก่งพอที่จะเรียนเลข หรือฟิสิกข์โดยตรง ที่สำคัญในตอนนั้นผมคิดว่าสาขานี้น่าจะเป็นประโยชน์ สามารถนำมาใช้ในชีวิตจริง แต่พอเรียนจบมาจริงๆ ผมคิดว่าเรียนอะไรมาก็ไม่ได้สำคัญขนาดนั้น (หัวเราะ) อันนี้ตามความคิดเห็นส่วนตัวของผมนะ เพราะผมมองว่าสิ่งสำคัญกว่าคือ มหาวิทยาลัยสอนวิธีคิด”
หลังจากเรียนจบปริญญาตรี ป่านตัดสินใจใช้ Gap Year 1 ปี เพื่อกลับมาบวชเรียน จากนั้นจึงไปเปิดประสบการณ์ชีวิตที่จีน 6 เดือน เรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศมหาอำนาจฝั่งซีกโลกตะวันออกที่เขาไม่เคยสัมผัส ก่อนจะกลับมาเรียนต่อปริญญาโท
“ตอนที่บวชเรียน เป็นช่วงเวลาที่ผมมีความสุขมาก บวชอยู่ 6 เดือนจนวันที่บอกว่าจะสึก คุณพ่อยังเดินตามมาถึงกุฏิว่า จะสึกจริงใช่มั้ย (หัวเราะ) พอสึกแล้วผมไปอยู่ที่จีน 6 เดือน ไปแบบไม่มีพื้นภาษาจีนเลย ตั้งใจว่าจะไปเรียนรู้ที่นั่น แต่ปรากฏว่าไปกลับมาแล้วก็พูดไม่ได้อยู่ดี (หัวเราะ) แต่สิ่งที่ผมได้กลับมา คือ การเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง จากจีนผมกลับไปเรียนต่อปริญญาโทจนจบ ตอนแรกตั้งใจจะเรียนต่อปริญญาเอกทันที เพราะอยากทำตามความหวังของคุณแม่ที่ตั้งใจให้ลูกเรียนสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ และอีกเหตุผลคือ ผมยังไม่อยากกลับมาสานต่อธุรกิจที่บ้าน เลยอยากใช้เวลาเรียนให้นานที่สุด” ผู้บริหารหนุ่มบอกเล่าอย่างติตตลก
บันทึกบทใหม่ของชีวิต
ป่านเลือกเดินทางตามแผนชีวิตที่วางไว้ คือ เมื่อคว้าปริญญาโทมาครองได้สมใจ ก็เตรียมต่อปริญญาเอกที่อังกฤษ แต่เพราะพลาดหวังจากมหาวิทยาลัยที่เลือกไว้ จึงตัดสินใจกลับประเทศไทย และเริ่มเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานที่บริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ เพราะคุณพ่ออยากให้มีประสบการณ์ด้านไฟแนนซ์ หลังจากทำงานได้ 2-3ปี ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
“จำได้ว่าเป็นช่วงใกล้ปีใหม่ พอเลิกงานผมก็รีบกลับบ้าน ปรากฏว่ามอเตอร์ไซค์ที่ผมซ้อนมาจนถึงแยกอิตัลไทยเกิดอุบัติเหตุรถชน ผมกระเด็นออกจากตัวรถ ผมเองไม่ได้เป็นอะไรมาก แต่กะโหลกร้าว 3 จุด สะบักหัก ต้องพักฟื้นอยู่บ้าน พอดีคุณแม่เห็นว่าศศินทร์ฯ เปิดรับสมัครปริญญาเอกอยู่ เลยให้ลองไปสมัคร ผมก็ไปปรากฏว่าได้ เลยเหมือนเป็นโอกาสที่ได้ทำความตั้งใจอีกข้อให้สำเร็จ”
ส่วนการเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว ป่านเล่าอย่างติดตลกว่า “หนีไม่ได้อีกแล้วครับ (หัวเราะ) ตอนที่ผมเข้ามาทำงานคุณพ่อท่านก็อายุ 72 แล้ว ถึงเวลาที่ผมต้องเข้ามาช่วยดูแลธุรกิจประกันที่คุณพ่อสร้างมากับมือ ช่วงแรกๆ ที่เข้ามายอมรับว่าสิ่งที่เห็นกับความเป็นจริงไม่เหมือนกันเลย เหนื่อยกว่าเยอะ (หัวเราะ) แต่มาถึงวันนี้ทุกอย่างก็เริ่มเข้าที่เข้าทางมากขึ้น ความท้าทายในการสานต่อธุรกิจนี้สำหรับผมคือ วัฒนธรรมองค์กร เราจะพาองค์กรก้าวไปข้างหน้า และยืนหยัดในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงมากได้อย่างไร”
หนึ่งในเทคนิคการบริหารธุรกิจที่ป่านนำมาใช้คือ แนวคิดสุดคลาสสิกที่เรียนรู้จากคุณแม่ ซึ่งเป็นหญิงแกร่งและเก่ง
“บริษัทพี ไอ เอ อินทิเรียของคุณแม่ผม เป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จมาก เพราะมีคนเก่งอยู่เยอะ คุณแม่สอนผมเสมอว่า ถ้าจะทำของของเราให้ดีกว่าตลาด เป็นไปไม่ได้ที่จะใช้คนที่ต่ำกว่าตลาดมาทำ เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากได้คนที่มีความสามารถสูงกว่าตลาด เราก็ต้องจ้างคนในราคาที่สูงกว่าตลาดมาทำงานด้วย”
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารหนุ่มออกตัวว่า นอกจากจะรวมพลคนเก่งมาไว้ในองค์กร ให้ค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลกับศักยภาพของบุคลากรแล้ว การสร้างคนก็สำคัญ และมากกว่านั้นคือ การซื้อใจเพื่อให้บุคลากรคุณภาพอยู่กับบริษัทไปนานๆ ก็เป็นอีกหัวใจสำคัญในการบริหารคน
ล้ง 1919 ประวัติศาสตร์ที่ยังมีลมหายใจ
เอ่ยชื่อ “ล้ง 1919” หลายคนต้องนึกถึงป่าน เพราะเขาคือหนึ่งในกำลังสำคัญที่ช่วยคุณแม่คืนชีวิตให้ ฮวย จุ่ง ล้ง ที่ดินเก่าแก่ที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2393 หรือเมื่อ 167 ปีก่อน โดย พระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) เพื่อเป็นท่าเรือกลไฟขนส่งสินค้าระหว่างจีน-ไทย ให้กลายเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์
ป่านเล่าว่า เริ่มเข้ามาบูรณะสถานที่แห่งนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 โดยมีคุณแม่เป็นหัวเรือใหญ่ ในเชิงธุรกิจนั้น ทางครอบครัวไม่ได้คาดหวังว่า ล้ง 1919 ต้องทำกำไรมหาศาล แต่ต้องการให้พื้นที่คืนสู่สังคมและสร้างประโยชน์ได้มากขึ้น
“เอาจริงๆ ผมก็ผิดหวังกับตัวเองเล็กน้อยนะที่ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับคุณแม่มากกว่านี้ (หัวเราะ) แต่ในเมื่อมาถึงวันนี้ ผมคิดว่าไม่มีประโยชน์ที่เราจะจมปลักกับอดีต สู้ทำข้างหน้าให้ดีกว่า”
จากนี้ผู้บริหารหนุ่มยังมีไอเดียที่จะต่อยอดพื้นที่อันทรงคุณค่าแห่งนี้อีกมากมาย หนึ่งในนั้นคือ การริเริ่ม ล้ง เอ็กซ์พีเรียนซ์ (LHONG Experience) เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับล้ง 1919 ต่อไปนี้จะไม่ใช่เพียงสถานที่รักษาประเพณีและทรัพย์สมบัติชาติจากอาคารโบราณเพียงเท่านั้น แต่ยังสืบทอดให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้ถึงวัฒนธรรมอันดีงาม โดยการส่งต่อ “ประสบการณ์” ผ่านเป็นกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตลอดปี
ในฐานะทายาทรุ่นที่ 5 ของครอบครัวหวั่งหลี ถามว่าทำให้ป่านรู้สึกว่าถูกคาดหวังหรือไม่ คำถามนี้ผู้บริหารหนุ่มตอบได้อย่างไม่ต้องเสียเวลาคิดว่า “เราเป็นครอบครัวใหญ่ แต่ไม่ทะเลาะกันเลย ผมไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองถูกคาดหวัง มีแต่สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นความรับผิดชอบของตัวเอง ตัวผมเองเรียนจบได้ด้วยมูลนิธิของคุณย่า ทำให้ผมบอกตัวเองเสมอว่า ถ้าเรียนจบต้องกลับมาช่วยสานต่อธุรกิจครอบครัว “เล่ามาถึงตรงนี้ ป่านก็นึกถึงเรื่องตลกที่เกิดขึ้นกับเขา “เชื่อมั้ยว่ามีบริษัท Head Hunter โทร.มาชวนผมไปเป็นผู้บริหารของบริษัทประกันภัยหลายแห่ง (ยิ้ม) ผมไม่โกรธนะ ส่วนใหญ่จะคุยเล่นกับเขาด้วยซ้ำ แล้วพอไปเจอเจ้าของบริษัทประกันนั้นๆ ก็จะแชร์ให้ฟัง เป็นเรื่องขำๆ ไป”
ชีวิตหลังม่านของทายาทคนดัง
ทำความรู้จักกับป่านมาพักใหญ่ สิ่งที่สัมผัสได้คือ แพสชันและพลังงานในตัวอย่างเหลือล้น จนอดสงสัยไม่ได้ว่าตัวเขาเองมองภาพตัวเองในวัย 37 ปีอย่างไร?
“ผมเชื่อว่าทุกคนมีความเหนื่อยของตัวเอง ผมเองไม่ใช่ลูกคุณหนู ก็ยังกินเงินกงสีเหมือนกัน ผมโชคดีที่ทุกครั้งที่รู้สึกเหนื่อยผมยังมีครอบครัวที่ดีที่พร้อมซัปพอร์ต แต่ถ้าช่วงไหนรู้สึกว่าชีวิตมันสาหัสมากๆ ผมจะใช้วิธีบอกตัวเองด้วยแนวคิดที่จะอิงกับทฤษฎีความน่าจะเป็น นั่นคือ ถ้าวันนี้มันแย่มากๆ มีโอกาสเป็นไปได้มากที่วันพรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าวันนี้แย่ขอให้อดทนอยู่กับวันนี้ไป เพื่อรอเจอวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า
ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จหรือยัง เพราะผมไม่ได้ตั้งความคาดหวัง หรือคิดว่าตัวเองต้องเดินไปถึงตรงไหน ผมคิดว่าผมมีความสุขกับสิ่งที่ผมเป็นในวันนี้ ผมไม่ได้มีเป้าหมายว่าต้องมีเงินเท่าไหร่ ถ้าถามว่ายังมีอะไรที่อยากทำ คงเป็นอยากมีเวลามากกว่านี้ เพื่อไปเที่ยวได้โดยไม่ต้องห่วงงานที่รออยู่ (หัวเราะ)”
สำหรับไลฟ์สไตล์วันว่างของป่าน เขาออกตัวก่อนเลยว่า “ไม่เคยคิดว่าว่าง (หัวเราะ) แต่ถ้ามีเวลาผมชอบไปซ้อมดนตรีและเล่นกับลูก อย่างดนตรี ผมเป่าขลุ่ยและแซกโซโฟนมานานแล้ว แต่ช่วงนี้ซ้อมบ่อยเพราะมีวงกับเพื่อน ‘อัลตร้า เวลท์’ ส่วนเลี้ยงลูก ตอนนี้เพิ่ง 9 เดือน ยอมรับเลยว่าเห่อลูกมาก น่ารักที่สุดในโลก เขาทำให้ผมรู้สึกว่าอยากกลับบ้าน ถามว่าผมเป็นพ่อแบบไหน ผมคงเป็นพ่อที่เพื่อนลูกอยากมาบ้าน เพราะคุณพ่อเขาเท่มากๆ (หัวเราะ)” ป่านกล่าวทิ้งท้าย