ถือเป็นโอกาสพิเศษที่ “Celeb Online” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์แบบเอ็กซ์คลูซีฟ “คุณชายโมโม่-ม.ร.ว.สริพงษ์ วรวุฒิ” โอรสองค์เดียวใน “หม่อมเจ้าพิทยากรพันธ์ วรวุฒิ” กับ “หม่อมสถาพร วรวุฒิ ณ อยุธยา” ซึ่งถือเป็นลูกหลานที่สืบเชื้อสายมาจาก พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระเปตามไหยกา หรือปู่ทวด) ถึงเรื่องราวชีวิตในต่างแดนที่ผ่านมาครบทุกรส และไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน หากเปรียบเทียบละครชีวิตนี้เป็นภาพยนตร์สักเรื่อง รับรองว่าผู้ชมจะได้เต็มอิ่มกับเรื่องราวที่ชวนลุ้น และว้าวสุดๆ จนไม่อยากพลาดสักตอนเดียว
เก็บกระเป๋าตามเพื่อนไปเปิดโลกใบใหม่
ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว คุณชายโมโม่ตัดสินใจเก็บกระเป๋าจากบ้านเกิด ไปเปิดประสบการณ์ชีวิตในต่างแดน โดยเดินทางไปปักหมุดที่ประเทศโอมาน ก่อนจะย้ายไปประเทศเยอรมนีตามเพื่อน
“เราเรียนประถมและมัธยมที่โยธินบูรณะ พอจบก็ไปต่อช่างศิลป์ เรียนรุ่นเดียวกับ น้ำพุ (วงศ์เมือง นันทขว้าง ลูกชายของ สุวรรณี สุคนธา), จุ๋ม-อุทุมพร ศิลาพันธ์ มีรุ่นพี่คือ ไก่-วรายุฑ มิลินทจินดา ตอนนั้นเลือกเรียนที่นี่ เพราะในยุคนั้นเป็นอะไรที่เท่สุดแล้ว นุ่งกางเกงขาสั้น ไว้ผมยาว โดยเรายังแถมไว้หนวดเคราให้ด้วย พูดง่ายๆ ไว้หนวดตั้งแต่นุ่งขาสั้น (หัวเราะ) พอเรียนจบก็ไปต่างประเทศเลย ไปเที่ยวเล่นสนุกสนานตามประสาเด็ก ไม่ได้ไปเรียนเป็นเรื่องเป็นราว สมัยนั้นไปเมืองนอกก็เด๋อๆ หน่อย โดนเพื่อนหลอกสารพัด” คุณชายพานั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลาไปสมัยเป็นนักเรียน ก่อนจะเปิดฉากเล่าถึงประสบการณ์ครั้งแรกในต่างแดนอย่างออกรส
“ออกจากประเทศไทยครั้งแรกตอนอายุ 24 ปี ตอนแรกไปโอมานก่อน สมัยนั้นประเทศโอมานยังไม่มีอะไร ดูไบเองก็ยังเป็นประเทศที่ขายทองอย่างเดียว ไม่ได้มีตึกสูงระฟ้าเช่นทุกวันนี้ หลังจากไปโอมานเราก็ไปเยอรมนีต่อ เพราะโดนเพื่อนหลอกให้ไป เขาบอกว่าที่เยอรมนี รัฐบาลต่อท่อเบียร์เข้าตามบ้าน แล้วใช้วิธีติดมิเตอร์ พอสิ้นเดือนก็เก็บเงินเหมือนน้ำประปาบ้านเรา ด้วยความคะนองตามประสาวัยรุ่นเราก็อยากไป เพราะคิดว่าถ้ามาอยู่ที่นี่ แค่เปิดก็อกน้ำในบ้านก็ได้ดื่มเบียร์เลย จำได้ว่าพอไปถึงเพื่อนก็ยังหลอกอีกว่า เวลาจะขึ้นซับเวย์ให้โบก ไม่อย่างนั้นคนขับจะไม่จอด เราก็ทำ (หัวเราะ) จนตอนหลังจึงรู้ว่าถึงไม่โบกก็จอด”
พอมาอยู่ที่เยอรมนี คุณชายใช้ความสามารถด้านศิลปะที่มี เป็นใบเบิกทางจนสามารถเข้าไปทำงานที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัลได้สำเร็จ
“ผมไปช่วยในเรื่องอินทีเรีย ออกแบบครัว เลยมีโอกาสได้ทำงานและรู้จักกับเอ็กซ์เซ็กคิวทีฟเชฟเยอะ ผมเป็นหนึ่งในทีมโอเพนนิ่งโรงแรม เขาเรียกว่า เอทีม เวลาอินเตอร์คอนฯ ไปเปิดที่ไหนเราต้องไปเปิดให้เขา อย่างไปเปิดที่ญี่ปุ่นต้องไปอยู่โยโกฮาม่าเกือบ 2 ปี ไปตั้งแต่ตัวตึกยังไม่เสร็จ ไปช่วยวางแผน ดูแลตั้งแต่การรับพนักงานจนเรียบร้อยแล้วก็กลับมา ผมเริ่มงานที่โรงแรมอินเตอร์คอนฯ ที่แฟรงก์เฟิร์ต 1 ปี ก็ย้ายมาทำงานที่โรงแรมอินเตอร์คอนฯ ที่เบอร์ลิน ระหว่างที่ทำงานอยู่ที่นั่น เป็นจังหวะที่ ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เข้าซื้อโรงแรมเคมปินสกี้ที่เบอร์ลินพอดี ครั้งนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ทางกงสุลใหญ่จึงให้ผมไปช่วยรับเสด็จ แต่ตอนนั้นด้วยความที่ผมยังทำงานอยู่ที่โรงแรมอินเตอร์คอนฯ เลยจะไปช่วยงานไม่เต็มตัว สุดท้ายเลยตัดสินใจลาออกจากอินเตอร์คอนฯ มาทำงานที่เคมปินสกี้ แต่มาอยู่ได้ 1 ปี น้องสาวก็เปิดร้านอาหารไทยที่เบอร์ลิน เลยตัดสินใจลาออกมาช่วยน้องสาวบริหารร้าน”
หลังจากมาช่วยน้องสาวได้ 2 ปี คุณชายเริ่มคิดถึงเมืองไทยจึงตัดสินใจกลับมา หลังจากบ้านเกิดไปนานถึง 18 ปี แต่อาจเพราะห่างเมืองไทยไปนาน พอกลับมาอีกครั้งไม่รู้ว่าชีวิตจะไปทางไหนต่อดี สุดท้ายจึงตัดสินใจเบนเข็มไปใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกาแทน
“ตอนนั้นกลับมาอยู่เมืองไทยไม่กี่เดือน ก็พบว่าตัวเองไม่เหมาะกับที่นี่ จึงตัดสินใจไปสหรัฐอเมริกา ตั้งใจไปฟลอริดา เพราะมีน้าเปิดร้านอาหารอยู่ที่คีย์เวสต์”
ในเวลานั้นทุกอย่างในชีวิตดูเหมือนจะมีเส้นทางให้เลือกเดิน แต่แล้วคุณชายในวัยย่าง 40 ปี กลับต้องพบกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่อถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองกักตัวไว้ไม่ยอมให้เข้าประเทศ โดยไม่รู้สาเหตุมาจนถึงทุกวันนี้
“เชื่อไหมว่าตอนไปอเมริกา เราโดน ตม.กักตัวไว้อยู่หลายชั่วโมง ติดต่อใครก็ไม่ได้ หิวก็หิว คิดดูว่าโดนกักตัวอยู่จนเจ้าหน้าที่เปลี่ยนกะ ที่จำไม่ลืมคือมีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งมาถามว่าหิวไหม เขาบอกเขาไม่มีอาหารให้ แต่ก็ยังใจดีไปซื้อโค้กให้กระป๋องหนึ่ง แล้วก็ถามเราว่า รู้ไหมว่าต้องบินกลับเยอรมนีไฟลต์ 10 โมงเช้าพรุ่งนี้ เราก็งง! เขาก็ถามว่าเราจะมาทำงานที่นี่ใช่ไหม ตอนนั้นเราถือวีซ่านักท่องเที่ยวมานะ แต่ก็ยอมรับกับเขาไปว่าใช่ พร้อมกับอธิบายว่าเรามีเพื่อนเป็นเชฟหลายคน เลยอยากมาทำงานกับเชฟที่นี่ เขาก็บอกว่าเป็นไอเดียที่ดีแต่ขัดต่อกฎหมาย
แล้วเขาก็บอกว่า ที่อเมริกา ยูหาเพื่อนแบบเมืองไทยไม่ได้นะ ไอเคยไปอยู่เมืองไทย 1 ปี ไม่ต้องใช้เงินสักบาท เพื่อนคนไทยดูแลตลอด 1 ปี เสร็จแล้วไม่รู้ยังไงเขาก็หันไปลบข้อมูลในคอมพิวเตอร์ แล้วก็บอก ‘สริพงษ์ ไปเถอะ’ ตอนนั้นผมก็ยังงงๆ แถมยังนอยด์ ไม่เชื่อว่าจะเขาจะปล่อยเราจริงไหม แต่ก็รีบไปเก็บกระเป๋า เรียกแท็กซี่จากสนามบินไปโรงแรมใกล้ๆ ระหว่างนั้นก็ยังระแวงตลอดว่าจะมีใครตามมาไหม แต่สุดท้ายทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี”
หลังจากผ่านเหตุการณ์นาทีชีวิตมาได้ เขารีบติดต่อไปหาคุณน้าเพื่อแจ้งข่าว ปรากฏว่าคุณน้ามารอนานแล้วไม่เจอ จึงถอดใจกลับไปก่อน แต่ที่ไม่คาดคิดคือ นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่เขาได้พูดกับคุณน้า
“พอคุยกับพี่เสร็จว่าให้มาที่บ้านเขาอย่างไรในวันุร่งขึ้น ปรากฏว่าคุณน้าก็เสียด้วยโรคประจำตัว ตอนแรกที่มาถึงบ้านก็ยังไม่รู้นะ เห็นคนมาเต็มบ้านเลย จนตอนหลังน้าผู้หญิงเชิญเข้าไปในบ้าน ถึงได้รู้เรื่อง ยอมรับว่าช็อกเลย วินาทีนั้นสะท้อนใจว่า แหม...ชีวิต! จะเข้าอเมริกาก็เกือบเข้าไม่ได้ พอเข้ามาแล้วคนที่จะมาอยู่ด้วยดันมาจากไปอีก แล้วทีนี้จะทำอย่างไรต่อไป ตอนนั้นก็มีคิดนะว่า หรือจะกลับไปเยอรมัน แต่ด้วยความที่เราอยู่มา 10 กว่าปี ได้อยู่ในเหตุการณ์สำคัญอย่างตอนทำลายกำแพงเบอร์ลิน ก็รู้สึกว่าอิ่มตัวกับประเทศนี้แล้ว เลยตัดสินใจอยู่ที่นี่ต่อ”
เริ่มต้นชีวิตใหม่ที่อเมริกา
การใช้ชีวิตในอเมริกาของคุณชาย ถือเป็นอีกหนึ่งบททดสอบชีวิตครั้งสำคัญ จากสมัยอยู่เยอรมนีที่มีช่องทางเลี้ยงชีพ ไม่เคยต้องสู้ชีวิต แต่พอมาอยู่ที่อเมริกาในฐานะโรบินฮู้ด ต้องทำงานแลกข้าว ถึงได้พบว่าชีวิตนี้ไม่ง่ายเลย และทำให้สุดท้ายคุณชายต้องตัดสินใจออกเดินทางอีกครั้งเพื่ออนาคต คราวนี้เขาเลือกที่จะมาหาความหมายของชีวิตที่มหานครนิวยอร์ก
“ตอนนั้นตัดสินใจว่าต้องย้ายมาอยู่เมืองใหญ่ เพราะอยู่ฟลอริดาหาความเป็นตัวเองไม่เจอ พอมานิวยอร์กก็พยายามค้นหาอาชีพแกะสลักน้ำแข็ง เข้ากูเกิลหาคำว่า Ice Sculpting แต่หาอย่างไรก็ไม่เจอ จนมารู้ทีหลังว่า คนที่ทำอาชีพแกะน้ำแข็งต้องเรียกว่า Ice Sculpture แค่นั้นแหละชีวิตเปลี่ยนเลย จากแต่ก่อนทำงานชั่วโมงละ 6-7 เหรียญ มาเป็นมือปืนรับจ้างแกะน้ำแข็ง 1 ตัว ใช้เวลา 30 นาทีก็หาเงินได้แล้ว 100 เหรียญ ซึ่งแต่ละวันเขามีงานให้เราทำไม่น้อยกว่า 8 ตัว เท่ากับว่าวันหนึ่งหาเงินได้ 800 เหรียญ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่ทำเงินของเราก็ว่าได้”
ระหว่างสั่งสมประสบการณ์และเลี้ยงชีพจากการแกะสลักน้ำแข็ง คุณชายก็เริ่มไปตระเวนแข่งขันแกะน้ำแข็งในรายการต่างๆ
“งานแรกที่ไปแข่งมีผู้สมัคร 70 คน ผลคือได้ที่โหล่ (หัวเราะ) เพราะเรายังใช้เทคนิคแบบ Old School แกะสลักจากน้ำแข็งก้อนเดียว ขณะที่ฝรั่งแกะสลักน้ำแข็งเป็นชิ้นๆ แล้วมาประกอบ ทำให้ผลงานของเขาค่อนข้างฟรีฟอร์ม จำได้ว่าตอนไปแข่งเจอผู้หญิงรัสเซียที่มาแข่งด้วยกันถามว่า ทำไมยูไม่ต่อน้ำแข็งแบบคนอื่นๆ เราก็สารภาพกับเขาตรงๆ ว่าต่อไม่เป็น เพิ่งมาเห็นครั้งแรก เขาก็แนะนำว่าจะทำได้ต้องมีอุปกรณ์อะไรบ้าง แล้วยังใจดีบอกว่ามีสำรองจะให้ยืม เราก็บอกว่าไม่ต้อง เพราะเอามาก็ทำไม่เป็นอยู่ดี (หัวเราะ)”
ผลการแข่งขันในครั้งนั้นแม้ไม่เป็นดั่งใจ แต่ก็เปิดโลกใบใหม่ให้คุณชายกลับมาฝืกปรือฝีมือ จนกระทั่งอีก 2 สัปดาห์มีการแข่งขันแกะน้ำแข็งรายการใหญ่ระดับชาติ คุณชายจึงไม่ลังเลที่จะประลองฝีมืออีกครั้ง
“ตอนที่ไปแข่ง เราสังเกตว่าคนที่มาแข่งส่วนใหญ่เป็นขาประจำ เขารู้จักกันหมดจนเป็นเพื่อน แต่ละคนเตรียมตัวมาอย่างดี มีเต็นท์มากาง แต่เราไปตัวเปล่า มีเครื่องมือแกะน้ำแข็งชิ้น 2 ชิ้น เขาให้เวลาแกะ 2 ชั่วโมง เราใช้จนนาทีสุดท้าย เพราะตอนที่แกะจะเสร็จอยู่แล้ว กำลังจะต่อน้ำแข็งปรากฏว่าต่อไม่ถึง เลยไปขอยืมลังจากคนข้างๆ แต่เขาไม่ยอมให้ จนคนดูที่ดูอยู่รอบๆ ยังโห่ โชคดีที่มีผู้ชมคนหนึ่งไปหาเก้าอี้จากไหนไม่รู้ เราเลยต่อน้ำแข็งชิ้นสุดท้ายได้เสร็จทันเวลาพอดี”
เพราะลำดับการแข่งขันจากครั้งที่แล้วที่อยู่ท้ายตาราง ทำให้ครั้งนี้คุณชายไม่กล้าหวังไกล
“ตอนประกาศผลเราก็ลุ้น ผ่าน 50 ก็แล้ว 40 คนก็แล้ว ก็เริ่มแปลกใจทำไมไม่มีชื่อเรา คิดว่ากรรมการลืมชื่อเราแน่ๆ จนประกาศมาถึงที่ 3 ที่ 2 ก็ยังไม่มี คิดในใจว่าลืมแน่ พอประกาศชื่อคนที่ได้ที่ 1 เราก็ไม่ได้สนใจฟัง จนคนข้างๆ ถามว่า ยูชื่อโมโม่ใช่ไหม ถึงได้รู้ตัว ใครจะคิดแข่งครั้งแรกได้ที่โหล่ ครั้งที่ 2 จะได้แชมป์ของอเมริกา คราวนี้เพ้อเลย เขาแข่งที่ไหนก็ไปตามล่ารางวัล จนเขาไม่ยอมให้แข่ง แต่ให้เป็นกรรมการ สุดท้ายก็ได้ไปแข่งในการแข่งขันที่มีนักแกะสลักจากทั่วโลกมา ครั้งนั้นได้เหรียญเงินมาครอง”
ขณะที่กำลังเพลิดเพลินกับชีวิตในนิวยอร์ก คุณชายก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในอีกเหตุการณ์ช็อกโลก อย่าง 9/11 “ตอนนั้นกำลังจะไปทำงาน ซึ่งที่ทำงานเราต้องนั่งรถใต้ดินผ่านตึกเวิลด์เทรด ตอนกำลังจะออกจากบ้าน เห็นข่าวเครื่องบินเพิ่งชนตึกแรก เลยไปนั่งดูข่าวจากโทรทัศน์ เหมือนในหนังเลย จนกระทั่งลำที่ 2 พุ่งชนตึกอีกครั้ง ตอนนั้นคิดในใจว่านิวยอร์กไม่เอาแล้ว อันตราย ขอย้ายมาอยู่ที่ลาสเวกัสดีกว่า เพราะมีเพื่อนเป็นเชฟที่รู้จักกันตอนทำงานโรงแรมอยู่หลายคน แล้วเราเองก็มีประสบการณ์ด้านโรงแรมมา”
การเดินทางมาลาสเวกัสครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นให้คุณชายได้หวนคืนสู่ธุรกิจโรงแรมอีกครั้ง โดยเริ่มทำงานกับโรงแรมในเครือซีซาร์ พาเลซ หน้าที่หลักยังคล้ายเดิม คือ ดูแลโปรเจกต์พิเศษ ช่วยออกแบบ เซตอัพห้องอาหารที่จะมาเปิดในเครือโรงแรม งานนี้เปิดโอกาสให้คุณชายได้ร่วมงานกับเซเลบริตีและเชฟชื่อดังมากมาย อาทิ กอร์ดอน แรมซีย์, ปรินซ์ ตำนานนักดนตรี นักร้องชาวอเมริกัน และยังเป็นที่ปรึกษาให้ร้าน Serendipity ซึ่งเป็นร้านอาหารหรูระดับไฮโซ มีแขกเป็นคนดังมากมาย และได้ชื่อว่าเป็นร้านอาหารที่ช็อกโกแลตร้อนราคาแพงที่สุดในโลก ถ้วยละ 25,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 600,000 บาท)
“งานของผมตอนอยู่ที่นี่ คือเวลามีโปรเจกต์เข้ามา ผมจะไปประชุมเพื่อรับบรีฟลูกค้า เช่น จะมีปาร์ตี้ที่มีแขก 4 หมื่นคน เราจะใช้สถานที่ไหน จะทำอาหารอะไร มีโชว์อะไรมามอบความบันเทิง พูดง่ายๆ ว่าผมจะเข้าไปฟังความฝันในอากาศของลูกค้า แล้วสรุปไอเดียที่ลูกค้าพอใจเพื่อนำไปดำเนินการ ถ้าชอบก็เป็นหน้าที่เราไปติดต่อกับเชฟว่าจะมีแขกแบบนี้ ให้คิดเมนูออกมา ออเดอร์อาหาร เตรียมแรงงานที่จะใช้หรือถ้ามีใครจะมาเปิดร้านอาหาร ก็ไปคุยคอนเซ็ปต์ ช่วยออกแบบเป็นที่ปรึกษาให้ แล้วก็ไปติดต่อผู้รับเหมามาดำเนินการ”
อย่างไรก็ตาม ถึงจะอยู่ในวงการอาหารมานาน แต่คุณชายไม่เคยคิดจะมีร้านอาหารเป็นของตัวเอง “ผมเคยทำมาแล้ว ญาติพี่น้องก็ทำกันอยู่ เราไม่อยากมารับผิดชอบเรื่องต้นทุน ดูรายรับรายจ่าย ทำงานแบบนี้ชิลกว่า เช้าตื่นไปทำงาน โปรเจกต์จบก็จบ อิสระสูง ถ้าให้ตอกบัตรก็ไม่ใช่แนว”
นอกจากจะร่วมสร้างความฝันให้เป็นจริงกับคนดังมากมาย ที่ฝันอยากจะมีร้านอาหาร คุณชายยังเคยต้อนรับแขกคนดังอย่าง เอลตัน จอห์น นักร้อง นักแต่งเพลงชื่อดังชาวอังกฤษ
“เราเคยเจอกันมาก่อน เพราะเขามาเช่าคอนโดฯ ของกาสิโนที่ชื่อ “พาลาซโซ” ซึ่งเป็นคอมมิวนิตีของพวกนักร้องคนดัง อย่าง ปรินซ์, แชร์, เจนนิเฟอร์ โลเปซ แล้วเวลาที่เขามีปาร์ตี้จะให้เชฟชาลี ซึ่งเป็นไพรเวตเชฟคนไทยไปจัดให้ เขาก็จะชวนเราไปช่วย ด้วยความที่คุ้นเคยกันเพราะเราไปจัดปาร์ตี้ให้ประจำ มีครั้งหนึ่งตอนใกล้วันเกิดเขา เขาก็ถามว่า โมโม่ วันเกิดจะทำอะไรให้เขา เราก็บอกอะไรก็ได้ สุดท้ายเราเลือกแกะสลักน้ำแข็งที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อเซอร์ไพรส์เขา ซึ่งเขาก็ปลื้มมาก”
ถามว่า ประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาในฐานะอาร์ติสท์ ผลงานครั้งไหนรู้สึกภูมิใจที่สุด คุณชายยกให้เมื่อครั้งได้ทำร้านอาหารให้ปรินซ์ ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตไม่นาน
“เขาเป็นคนดีมาก จำได้ว่าครั้งหนึ่งเคยเดินไปในกาสิโนด้วยกัน เขาเจอผู้หญิงนุ่งน้อยห่มน้อยก็เกิดคำถามว่า ใครดีไซน์ชุดให้ผู้หญิงคนนี้ แมเนเจอร์ก็บอกกาสิโนดีไซน์ เขาก็บอกไม่ดีเลย ไม่ให้เกียรติผู้หญิง ถ้าคุณเป็นพี่หรือน้องผู้หญิงคนนั้นจะคิดอย่างไร ผมฟังแล้วประทับใจและรู้สึกดีกับความคิดของเขา”
ค้นพบความสุขที่เมืองไทย
หลังจากผจญภัยในต่างแดน สร้างชื่อในฐานะอาร์ติสท์มาหลายสิบปี คุณชายบอกเล่าถึงจังหวะชีวิตที่ลงตัว และทำให้ตัดสินใจกลับมาเมืองไทยว่า “พอดีน้องๆ และเพื่อนๆ ที่สนิทกัน นับถือกันแบบครอบครัว ไปเที่ยวที่ลาสเวกัส ก็เลยถือโอกาสไปพักที่บ้านเรา แล้วก็คุยกันว่ามีโปรเจกต์จะทำร้านอาหาร คุยไปคุยมา เราก็ช่วยดีไซน์โลโก้ให้เป็นรูปปลา ผ่านไปปีหนึ่งเขาก็ส่งข่าวมาว่าร้าน Blue Sea ที่พัทยาจะเปิดแล้วให้เรามาหน่อย เราก็เลยรีบซื้อตั๋วเครื่องบินมา บินมาถึงวันเปิดร้านพอดี ซึ่งคอนเซ็ปต์ร้านจะชิลๆ สบายๆ เป็นแหล่งรวมพี่น้อง พบปะเพื่อนฝูง ตอนที่กลับมาเราก็ตั้งใจเอาประสบการณ์ที่มีมาช่วยในส่วนหนึ่ง แต่จะเอาระบบใหญ่ๆ ที่เราคุ้นเคยมาใส่ร้านเล็กๆ ก็คงไม่ได้ เพราะอย่างตอนทำงานที่เครือซีซาร์ พาเลซ ครัวเขาทำงานแบบกองทหาร มีตั้งแต่นายสิบจนนายพัน เราก็ต้องค่อยๆ ปรับ จัดระบบในครัว จัดการออเดอร์ วิธีออกอาหาร สกรีนอาหารควรออกหรือไม่ควร”
ถามว่าครั้งนี้ คุณชายตั้งใจลงหลักปักฐานอยู่ที่เมืองไทยเลยหรือไม่ คำถามนี้ คุณชายตอบได้อย่างไม่ลังเล เพราะมีคำตอบในใจไว้แล้วว่าคงกลับมาอยู่ถาวร เพราะบ้านที่ลาสเวกัสก็ปล่อยให้บริษัทนายหน้าดำเนินการเป็นบ้านเช่า
“แต่กลับมาแล้วพี่ก็ไม่ได้อยากทำอะไรจริงๆ จังๆ คุณดา (ดาราราย รัตนชัยวรรณ เจ้าแม่ธุรกิจน้ำมันและเจ้าของร้าน Sea Blue) มีแผนเปิดร้านอาหารที่กรุงเทพฯ โดยทำแบบไพรเวตรับไม่เกิน 20 คน แต่เน้นนำเสนอร้านที่มีสตอรีในมื้ออาหาร เพื่อให้คนรู้ว่าทำไมคนต้องมากินอาหารที่นี่ บวกกับเน้นวัตถุดิบชั้นเลิศ ด้วยการไปถึงตามหาถึงแหล่ง ส่วนตัวเราคิดว่าไอเดียนี้ไปได้ แต่ตัวเราเองต่างหากที่มองว่าตัวเองรีไทร์แล้ว ไม่อยากมีความรับผิดชอบอะไรอีก อยากตื่นเช้ามาแบบชิลๆ กาแฟซักแก้ว โซเชียลฯ สักนิด ออกไปจ็อกกิ้ง ไปยิม ซึ่งถ้าจะให้เราเข้ามาช่วยตรงนี้จริง อาจจะต้องหาเชฟจากอเมริกาที่เคยทำงานด้วยกันมาเป็นซูเชฟ เป็นลูกมือ” คุณชายวาดแผนอนาคตในวัยเกษียณ ก่อนจะทิ้งท้ายอย่างจับใจว่า
“พี่ใช้ชีวิตอยู่อเมริกามา 24 ปี บวกเยอรมนี 18 ปี ชีวิตนี้แทบไม่ได้อยู่เมืองไทยเลย ตอนนี้พี่คิดว่าถึงเวลาแล้ว อย่างที่พี่เคยบอก เราไปโตอยู่ในมหาสมุทร แต่สักวันเราต้องกลับมาจุดเล็กๆ ที่เราเกิดสักที”