ศูนย์ข่าวศรีราชา- ปิดมอเตอร์เวย์ สาย 7 (ชลบุรี-พัทยา) ไม่ใช่กระทบแค่รากหญ้า แต่วันนี้ยังสะเทือนถึงผู้ประกอบการ ร้านค้า ภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และธุรกิจด้านพลังงานที่ยอดหายแล้วกว่า 50% ถามผู้มีอำนาจมีแนวทางแก้ไขเยียวยาอย่างไร?
วันนี้ (3 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวได้เดินทางลงพื้นที่บริเวณริมถนนมอเตอร์เวย์ ฝั่งขาเข้าชลบุรี เพื่อตรวจสอบปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน หลังกรมทางหลวง ได้ทำการปิดทางเข้า-ออก ถนนมอเตอร์เวย์ สาย 7 (ชลบุรี-พัทยา) จำนวน 22 จุด มาตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.2561 ถึงปัจจุบัน จนทำให้ทั้งชาวบ้าน ร้านค้า ผู้ประกอบการภาคขนส่ง และผู้ที่ต้องใช้เส้นทางสัญจรจากศรีราชา ไปยังแหลมฉบัง เมืองพัทยา และเส้นทางอื่นๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จนทำให้กรมทางหลวง ต้องยอมเปิดด่านบ้านบึง ด่านบางพระ ด่านหนองขาม ด่านโป่ง และด่านพัทยา เพื่อให้รถสามารถวิ่งเข้าถนนมอเตอร์เวย์ เพื่อลดผลกระทบในเบื้องต้น แต่ก็ดูเหมือนว่าสถานการณ์จะไม่ดีขึ้น เนื่องจากจุดที่เปิดต้องยูเทิร์นรถไกลถึง 20 กิโลเมตร
ล่าสุด นายวิชัย กุลสมภพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ก็ได้ออกมากระตุ้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงปัญหาดังกล่าวว่า ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เท่านั้น แต่ในวันนี้ปัญหาต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มมากขึ้น จนอาจทำให้เกิดการเสียหายในภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ไม่น้อยกว่าแสนล้านบาท กำลังจะผลักดันให้นักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ หมดความมั่นใจในความพร้อมด้านการขนส่งของไทย และอาจย้ายฐานผลิตหนี
โดยจากการลงพื้นที่เพื่อสอบถามชาวบ้านในครั้งนี้ พบว่า เสียงใหญ่ไม่มีใครพอใจต่อการดำเนินงานของกรมทางหลวง เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไปเท่านั้น แต่ยังทำให้การใช้ชีวิตประจำวันจากที่เคยสัญจรไปมาหากันได้สะดวก มีความลำบากอย่างหนัก และยืนยันว่า ไม่ชินต่อความเดือดร้อนที่ไม่อยากได้ เพราะสุดท้ายผลประโยชน์ที่ได้ไม่ใช่คนพื้นที่ แต่เป็นเพียงหน่วยงานรัฐเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
นายประยูร และนางอร่าม ศิลชาติ เจ้าของร้านอาหารตามสั่ง และอาหารอีสานในพื้นที่ ม.1 ต.หนองขาม อ.ศรีราชา กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะการนำตาข่ายเหล็กมาปิดกั้นระหว่างถนนมอเตอร์เวย์กับทางคู่ขนาน ทำให้คน และรถเข้าออกไม่ได้ และยังทำให้ลูกค้า ที่เคยแวะเข้ามารับประทานอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าขับรถหัวลาก และรถตู้คอนเทนเนอร์ไม่เข้ามาใช้บริการอีก จึงทำให้ในบางวันมีรายได้จากการขายอาหารเพียง 100 บาทเท่านั้น ทั้งที่ก่อนปิดเคยมีรายได้ถึงวันละ 700-1,000 บาท และยังต้องแบกรับภาระค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้ก็คงต้องเลิกกิจการเพื่อกลับไปทำนาที่ จ.อุบลราชธานี
เช่นเดียวกับ นางประภาพร หนุนดี ผูัให้บริการรถส่งน้ำแข็งหลอดที่บอกว่า ตนเองก็ได้รับผลกระทบจากการทยอยปิดตัวของร้านอาหารข้างทาง จนทำให้ยอดส่งน้ำแข็งหลอดหายไปกว่า 50% ส่วนจะให้ข้ามไปส่งร้านค้าอีกฝั่งถนนก็ต้องขับรถเพื่อยูเทิร์นไกล และไม่คุ้ม แต่ก็ยังคงต้องดำเนินกิจการต่อเพราะทำมานานแล้ว
ด้าน นางเฉลียว หิตะจารีย์ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ติดกับถนนคู่ขนานมอเตอร์เวย์ ม.1 ต.หนองขาม บอกว่า ตนเองมีบ้านเช่าหลายห้อง ที่ผู้เช่ามีทั้งเปิดขายอาหาร ขายของชำ และสำนักงาน ซึ่งขณะนี้ได้ขอเลิกเช่าเกือบหมดแล้ว แต่ตนเองก็ยังต้องเลี้ยงดูบุตรที่พิการ และไม่มีรายได้ทางอื่น จึงได้รับผลกระทบอย่างหนัก
“หน่วยงานที่รับผิดชอบควรเห็นใจชาวบ้านดั้งเดิม หรือคนท้องถิ่น และควรหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะชาวบ้านอยู่กันมานานหลาย 10 ปีแล้ว แต่กรมทางหลวงมาทีหลังก็ควรหาทางให้คนในท้องถิ่นได้มีที่ทำกินด้วย” นางเฉลียว กล่าว
ส่วน นายโยธิการ์ ปามี ผู้จัดการปั๊มน้ำมัน ปตท.แหลมฉบัง (ขาเข้ากทม.) หมู่ 10 ต.หนองขาม กล่าวว่า ทางบริษัทก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากยอดขายหายไปถึง 53% จากเดิมที่สามารถจำหน่ายน้ำมันได้ประมาณ 2.8 ล้านลิตรต่อเดือน ก็เหลือเพียง 1.3 ล้านลิตรต่อเดือนเท่านั้น
“ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะกลุ่มนักท่องเที่ยวจากพัทยา ขับรถเข้ามาที่ปั๊มไม่ได้ รวมทั้งกลุ่มลูกค้าขาจรที่เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ก็เข้ามาหาเราไม่ได้ ในวันนี้จึงเหลือเพียงกลุ่มกลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่เท่านั้น ทางปั๊มจึงต้องช่วยเหลือตัวเองในเบื้องต้น ด้วยการติดป้ายบอกเส้นทางตามจุดยูเทิร์น หรือแยกต่างๆ เพื่อแจ้งเส้นทางที่จะเข้ามายังปั๊มได้ รวมทั้งจัดโปรโมชันส่งเสริมการขายเล็กน้อย ซึ่งในอนาคตก็ยังไม่ทราบว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบจะมีแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างไร เพราะขณะนี้ประชาชนทุกหมู่เหล่า ตั้งแต่รากหญ้าถึงผู้ประกอบการกำลังได้รับความเดือดร้อนจากการปิดถนนมอเตอร์เวย์” นายโยธิการ์ กล่าว
ส่วน น.ส.อัจฉราพร ยะวงศ์ พนักงานขายของร้านประชารัฐ สุขใจ ที่อยู่ภายในปั๊มน้ำมัน ปตท. แหลมฉบัง กล่าวในลักษณะเดียวกันว่า สินค้าภายในร้านที่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าโอทอปก็ไม่สามารถขายได้เช่นกัน จนทำให้สินค้าบางชนิดหมดอายุ และเกิดความเสียหาย