xs
xsm
sm
md
lg

ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ในความทรงจำ ของ ม.ร.ว.ภวรี สุชีวะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ระหว่างความโศกเศร้า เรื่องราวพระจริยวัตรที่งดงาม เปี่ยมด้วยพระเมตตา รวมถึงความสนุกและเป็นกันเองของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ คุณหญิงหนิง-ม.ร.ว.ภวรี สุชีวะ ธิดาใน ม.จ. ภีศเดช รัชนี องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวง กรุณาบอกเล่าให้ได้ฟัง นอกจากจะเพิ่มความปีติในใจให้ท่วมท้นมากขึ้นแล้ว ยังช่วยคลายความทุกข์ และความคิดถึงที่มีต่อพระองค์ท่านได้เป็นอย่างดี ซึ่งเราหวังว่าเมื่อคุณได้อ่านก็จะรู้สึกเช่นเดียวกันกับเรา
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับบรรดานักกีฬาเรือใบ และนายปีเตอร์ คัมมินส์ นักกีฬาเรือใบชาวออสเตรเลีย
เมื่อเริ่มโตมา คุณหญิงหนิงก็เห็นภาพท่านพ่อ (ม.จ. ภีศเดช รัชนี) ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดย ม.จ. ภีศเดช ได้เริ่มถวายงานครั้งแรกคือ เรื่องการต่อเรือใบ ครั้นเมื่อโรงเรียนปิดเทอมใหญ่ ก็เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ทรงแปรพระราชฐานไปวังไกลกังวล หัวหิน ทำให้เธอและพี่ๆ น้องๆ มีโอกาสได้ติดตาม ม.จ. ภีศเดช ไปหัวหินด้วยเช่นกัน
ว่างเว้นจากแล่นเรือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็ทรงออกเยี่ยมราษฏรของพระองค์
 
คุณหญิงหนิง ย้อนความทรงจำแรกให้ฟัง พร้อมยืนยันว่า ช่วงปิดเทอมของทุกปีถือเป็นไฮไลต์สำคัญในชีวิตเด็กเลยทีเดียว เพราะนอกจากได้เที่ยวพักผ่อนแล้ว ยังได้ติดตามเข้าเฝ้าในหลวง รัชกาลที่ ๙ อย่างใกล้ชิดอีกด้วย

“พ่อเป็นหัวหน้าหมวดเรือใบหลวงของจิตรลดา จึงต้องไปถวายงานที่นั่น ทุกเช้าในหลวง รัชกาลที่ ๙ จะทรงสนับเพลาสั้นลงมาที่ชายหาด พวกเราแม้จะไม่ได้ลงเรือใบด้วย แต่ก็มารอที่ชายหาดทุกวันรู้สึกว่าอยากจะมาเข้าเฝ้าส่งเสด็จ เพราะว่าท่านจะโจ๊ก (Joke) ตลอดเวลาค่ะ บรรยากาศตรงนั้นท่านมีสปิริตนักกีฬา ทรงเป็นกันเองมาก ข้าราชบริพารทั้งที่เป็นทหารและหมอ ที่ปกติถวายงานกันเคร่งเครียด แต่ถึงเวลาเล่นเรือใบ ทุกอย่างผ่อนคลาย สู้เป็นสู้ ชนะเป็นชนะ ไม่เก่งท่านก็สอนให้เก่ง คือเป็นสปิริตที่ดีมาก พอแข่งเสร็จ ท่านกลับขึ้นมาบนบก มหาดเล็กจะนำเบียร์เย็นๆ ไปถวายที่หาดทราย ท่านก็ทรงพระบาทเปล่า ถือแก้วเบียร์ แล้วก็ทรงคุยรอจนกลับมากันครบถึงจะเสด็จขึ้นข้างบน ทำให้ในตอนนั้นแทบไม่รู้สึกเลยว่า ช่องว่างระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับข้าราชบริพารเป็นอย่างไร เพราะพระเมตตาที่พระองค์มีให้เห็นเป็นเรื่องที่ธรรมชาติมาก”

 
ภาพความรักความเมตตาของพระองค์ที่คุณหญิงหนิงสัมผัสนั้น ไม่ได้มีให้เฉพาะแค่เหล่าข้าราชบริพารเท่านั้น แต่กับประชาชนก็ทรงมีให้ไม่ได้น้อยไปกว่ากันเลย กลับจะดูมากกว่าเสียด้วยซ้ำ โดยคุณหญิงหนิงเล่าว่า ช่วงบ่ายลมทะเลจะแรงมาก เรือใบล้มลุกคลุกคลานกันไปหมด ทำให้แข่งไม่ได้ พระองค์ตรัสกับเหล่าข้าราชบริพารว่า “ครูซซิง” ก็คือไปเที่ยว แต่ไปเที่ยวของท่านก็คือ แล่นเรือไปเยี่ยมราษฎรนั่นเอง

“สมมติว่าจะเสด็จไปเขาเต่า ซึ่งมีหมู่บ้าน ท่านก็จะเสด็จลงเรือไปขึ้นที่หาดทรายใหญ่ ส่วนสมเด็จฯ ท่านก็ทรงรถยนต์พระที่นั่ง ไปรอรับเสด็จในหลวง รัชกาลที่ 9กับคณะเรือใบ ที่หาดทรายใหญ่ สมัยนั้นยังไม่มีนางสนองพระโอษฐ์ มีแต่นางกำนัลเราก็ไปกับพวกเขา เขาเตรียมขนม เตรียมคุกกี้ ส่วนหมอก็เตรียมยา ฉะนั้น ทีมในวังก็มีพร้อมทั้งยา ทั้งขนม เวลาท่านเสด็จเยี่ยมราษฎร ท่านทรงเห็นว่าทำไมชาวบ้านยากจน เพราะอาชีพไม่มี ดินก็เปรี้ยว และน้ำก็ไม่ค่อยมี จึงกลายเป็นโครงการพระราชดำริ คือ เหมือนท่านทรงวางนโยบายไว้ในพระทัยลึกๆ ว่า เดี๋ยวจะปรับปรุงพื้นที่ตรงนี้ จะเอาชนะธรรมชาติ เพื่อจะให้ชาวบ้านได้ทำมาหากินได้ด้วยการทำการเกษตร จะต้องปลูกอะไร เพื่อให้มีเงิน อันนี้คือจุดเริ่มต้นก่อนที่จะเป็นโครงการหลวงค่ะ”

 
คุณหญิงหนิง ยังเล่าอีกว่า ช่วงนั้นเป็นช่วงแรกๆ ที่ท่านพ่อของคุณหญิงเข้าถวายงานในหลวง รัชกาลที่ ๙ ในตอนนั้น “ท่านภี” ไม่มีความรู้ทางด้านเกษตรเลย แต่พระองค์ก็ให้ดูแลจัดการปลูกต้นไม้ให้ชาวบ้านให้ได้ “อันนี้พ่อก็มาพูดให้ฟังทีหลังว่า เป็นราชกุศโลบายของพระองค์ท่าน ที่ใช้วิธีการปกครองแบบของรัฐบาลอังกฤษ คือรัฐมนตรีไม่มีความรู้ อยู่กระทรวงไหนก็ไม่มีความรู้ แต่ถ้ามีความฉลาด มีไหวพริบ ไปหาคนที่รู้ มันก็เกิดบุคคลที่เป็นงาน กรณีของพ่อเช่นกัน พ่อเป็นลีดเดอร์หาคนที่เต็มใจมาถวายงาน ส่วนมากเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรฯ เข้ามาช่วย พัฒนาที่ดินตรงนั้นจากเดิมที่ทำอะไรไม่ได้ ตอนหลังมีป่า มีต้นไม้ ชาวบ้านก็เริ่มมีของที่จะนำไปขายสร้างรายได้”
 

หลังจากทอดพระเนตรเห็นปัญหาของประชาชนที่เขาเต่า จนแก้ไขได้แล้ว ครั้นถึงหน้าหนาว ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ก็แปรพระราชฐานไปประทับที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ และทรงออกเยี่ยมราษฎรของท่านตลอด

“บนดอยสมัยก่อนอย่างที่พ่อบอกคือกันดารมาก คนธรรมดาไปไม่ได้ ถนนไม่มีต้องขึ้นเฮลิคอปเตอร์และเดินเท้าเข้าไป เวลาท่านเสด็จได้พูดคุยกับชาวบ้าน ได้รู้วิถีชีวิตและปัญหา ว่าคล้ายกับเขาเต่า ก็เลยรับสั่งให้พ่อ ซึ่งก็เป็นข้าราชบริพารตามเสด็จไปด้วย แต่ไม่รู้ ไปทำอะไร เพราะเรือก็ไม่มีจะเล่น ท่านบอกให้ “ท่านภี” ไปจัดการหาพืชผักและดอกไม้เมืองหนาว มาให้ชาวเขาได้เพาะปลูก ซึ่งตอนนั้นนอกจากฝิ่นแล้ว ไม่มีใครทราบว่ามีพืชอะไรบ้างที่ปลูกได้ ดังนั้น ท่านภีก็เชิญอาจารย์ที่เชี่ยวชาญมาทำการวิจัย คือ ทดลองมากมายหลายโครงการ โครงการปลูกพืชทดแทนฝิ่น โครงการแรกของโลกจึงเกิดขึ้น แล้วก็พัฒนาไปเรื่อยๆ ก็เกิดมาเป็นโครงการหลวงทีละเล็กทีละน้อย” คุณหญิงหนิง กล่าวพร้อมรอยยิ้ม

 
จากคำบอกเล่าของคุณหญิงหนิง ทำให้เราเห็นภาพชัดเจนว่า เป็นโครงการที่เข้ามา “ชุบชีวิต” ชาวเขา จากมีชีวิตยากจนแร้นแค้น ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ยังริเริ่มสิ่งใหม่ในเมืองไทยมากมาย ตั้งแต่การนำผักผลไม้เมืองหนาวที่ไม่เคยมีในเมืองไทย มาปลูกและจัดจำหน่าย ทั้งยังใช้วิธีการเพาะปลูกแบบออร์แกนิก ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมสำหรับคนรักสุขภาพในเวลานี้ หรือการอนุรักษ์ป่าไม้ให้ชาวบ้านอยู่ร่วมกับป่าได้อีกด้วย

“เพราะฉะนั้น เรื่องโครงการหลวงจะไปพูดแค่โครงการเฉยๆ เนี่ย มันไม่ได้ เพราะต้นกำเนิดมันมาจากการที่ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่นอกจากทรงคิดแล้ว ท่านยังรู้จักเลือกคนที่ท่านไว้วางพระราชหฤทัยให้ทำงานถวาย สไตล์ของท่านคือ ท่านคิด ท่านทำ และพระราชทรัพย์ของท่าน เราก็ควรจะต้องเชิดชูว่าท่านคือ ผู้ปิดทองหลังพระ จริงๆ ค่ะ”
ม.ร.ว.ภวรี สุชีวะ ธิดาใน ม.จ. ภีศเดช รัชนี
 
และเมื่อถามถึงความประทับใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คุณหญิงหนิงตอบด้วยน้ำเสียงชัดเจนว่า ประทับใจในเรื่องหลักการทรงงานของพระองค์ท่าน โดยจะใช้โอกาสที่ทรงจัดเลี้ยงตั้งแต่ นายอำเภอ ผู้ว่าฯ แม่ทัพ ตำรวจ และตำรวจตระเวนชายแดน มาร่วมโต๊ะเสวย

“ข้าราชบริพาร ที่ได้เข้าเฝ้า ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบ้านเมือง หรือทหาร พระองค์ท่านทรงอยากรู้เรื่องอะไร จะรับสั่งถามกับพวกนี้โดยตรง ก็ได้ทรงทราบว่า บ้านเมืองเวลานี้เป็นอย่างไร แล้วมีอะไรที่ท่านจะทรงแนะ ทั้งหมดเกิดขึ้นที่โต๊ะเสวยหมดเลย ท่านไม่ได้แบ่งนะคะ ว่าคนไหนจะต้องใหญ่โต บางทีตัวเล็กนิดเดียว แต่ท่านก็รับสั่งให้ขึ้นมานั่ง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ประทับใจว่า ท่านทรงพระปรีชาสามารถในการดูแลทุกข์สุขของพสกนิกร”

เรื่องของในหลวงของเรา เล่าอย่างไรก็ไม่หมด ทุกเรื่องราวของพระองค์ท่าน ทั้งผู้เล่าและผู้ที่ได้อ่านมีความสุขเสมอ ประชาชนในประเทศอื่นฟังแล้วไม่อยากเชื่อ และไม่มีวันที่จะเข้าใจถึงความรักและความผูกพัน ระหว่างพสกนิกรและในหลวงของเราอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น