xs
xsm
sm
md
lg

พระจริยวัตรอันเรียบง่ายของ ร.๙ เรื่องเล่าจากหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เมื่อครั้งถวายงานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
 
แม้ในวันนี้ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี หรือ "ท่านภี" จะมีชันษาเกือบร้อยปี แต่ ก็ยังคงมีสุขภาพแข็งแรง และมีความจำดีเยี่ยม โดยเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ท่านยังทรงจดจำได้แม่นยำ พร้อมทรงถ่ายทอดเรื่องราวพระราชกรณียกิจ และความซาบซึ้งเมื่อครั้งถวายงานให้ได้ฟังราวกับเหตุการณ์นั้นเพิ่งผ่านพ้นมาได้ไม่เพียงไม่กี่วัน โดยหวังให้ประชาชนได้ทราบและจดจำพระจริยวัตรอันงดงามของพระองค์ท่านไว้ในความทรงจำ

ถึงเราจะยังคงอยู่ในความโศกเศร้า แต่เชื่อว่าเมื่อได้อ่านแล้ว ทุกคนจะมีรอยยิ้มและอิ่มใจกับเรื่องของพระองค์ท่านอย่างแน่นอน
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงต่อเรือในช่วงเวลาว่าง
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ท่านทรงงานได้หนัก ละเอียด และทรงงานได้นานด้วยนะ ผมทราบเรื่องนี้ได้ดีเลย เพราะว่าผมเห็นด้วยตาตัวเอง จุดเริ่มต้นที่มาถวายงานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น มาจากเรื่องเรือใบ” ท่านภี เริ่มต้นเล่าเรื่อง

ด้วยความที่ชอบเล่นเรือใบ เมื่อท่านภีสเด็จกลับจากเมืองนอกแต่มีเงินน้อย จึงไปซื้อตำราและไม้มาต่อเองจนสำเร็จจึงนำไปเล่นที่ทะเลหัวหิน เวลานั้นในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเรือกรรเชียงเพื่อทรงออกพระกำลังในตอนเช้า เมื่อพระองค์ท่านทอดพระเนตรเห็นเรือใบที่ต่อเองของท่านภี ก็มีรับสั่งให้เข้าเฝ้าฯและรับสั่งว่า อยากทรงเรือใบ และต่อเรือเอง

 
ตั้งแต่นั้น “ท่านภี” ก็ได้เข้าเฝ้าฯที่วังสวนจิตรลดา เพื่อร่วมต่อเรือใบกับพระองค์ท่านจนเรือใบลำแรกสำเร็จ ทรงพระราชทานนามว่า “ราชปะแตน”
“ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเป็นช่างฝีมือดี หลังกลับจากทรงงานข้างนอกเข้ามาก็จะรีบเปลี่ยนฉลองพระองค์จากชุดเครื่องแบบ เป็นเสื้อยืด เวลาทรงต่อเรือ ท่านก็ต่ออยู่ตั้งนาน และจะทำงานเรียบร้อยไม่เลอะสีหรือกาวเลย…ขณะที่ผมเองเลอะเต็มตัวไปหมด” ท่านภี ย้อนรำลึกความหลังด้วยรอยยิ้มแห่งความศรัทธาและชื่นชม

เมื่อเรือเสร็จ ท่านภีก็ต้องเล่นเป็นลูกเรือของในหลวงรัชกาลที่ ๙ โดยรับสั่งว่าท่านภีนั้นเป็นทั้ง ‘ครู’ ภาษาไทย (Teacher) และ ‘ครูว์’ ภาษาอังกฤษ (Crew ลูกเรือ) ของพระองค์ท่าน

ท่านภี ทรงเล่าว่า ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระปรีชาสามารถในเรื่องการแข่งเรือมาก โดยการแข่งครั้งแรก ทรงเรือพระที่นั่งราชปะแตน แล่นออกไปก็นำเพื่อน ลำอื่นจะขึ้นหน้าท่านก็ลำบากเพราะว่าอยู่ใต้ลม “ท่านได้ที่หนึ่ง ไม่ใช่ว่าพวกฝรั่ง หรือพวกไทยจะยอมแพ้ให้ท่านนะครับ ท่านชนะเพราะพระปรีชาจริงๆ พระหัตถ์ถือท้ายเรือท่านละเอียดถี่ถ้วนมาก ท่านถือท้ายเก่งโดยธรรมชาติ อย่างเวลาเล่นเรือ เจอลมแรง เราต้องเอนตัวเอาเท้าใส่ตรงท้องเรือ แล้วก็เอนลงไป เพื่อไม่ให้เรือเอียง ขาเนี่ยจะปวดมากเลย ยิ่งเวลาแล่นไปไกลๆ ผมเจ็บขา ผมจะเลี้ยวเปลี่ยนไปนั่งอีกทางหนึ่ง เพื่อให้เรือแล่นช้าลง แต่พระเจ้าอยู่หัวท่านทนไปได้ไกลมากเลย อีกอย่างหนึ่งคือ ท่านมีความสังเกตมากเลย อย่างพวกเราอยู่ในทะเล ก็ไม่ได้นึกถึงกระแสน้ำว่าเป็นยังไง แต่ท่านทรงทราบนะ มีตอนนึงที่วิ่งอยู่น้ำมันวิ่งไปทางนี้แรงกว่าอยู่ทางนี้ เพราะฉะนั้นอย่างเวลาแข่งกัน ท่านก็พยายามหนีไปอีกทาง”

 
ชื่อ “ราชปะแตน” ไม่เพียงแต่เป็นชื่อเรือใบลำแรกที่พระองค์ต่อเองเท่า หากแต่ยังเป็นชื่อขนมเค้กทรงโปรดของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อีกด้วย ซึ่งหากใครเคยทานขนมเค้กร้านกัลปพฤกษ์ ก็คงคุ้นเคยกับเค้ก “ราชปะแตน” เค้กผลไม้กาแฟหน้าอัลมอนด์เป็นอีกหนึ่งเค้กที่ขึ้นชื่อของที่นี่

“ตอนที่ต่อเรือใบราชปะแตน เสร็จ ท่านก็จะเอาไปลงน้ำ ท่านก็ทรงแบกไปด้วย มีมหาดเล็กช่วยกันแบกไปวางแล้วก็แล่นเป็นครั้งแรก โดยพระองค์ท่านทรงถือท้าย ซักพักนึง ท่านก็รับสั่งว่า ท่านจะเข้าฝั่งเพื่อจะทอดพระเนตรเรือที่ท่านต่อ ในเวลาที่แล่นในน้ำ แล้วท่านก็ขึ้นไปให้ผมแล่นไปคนเดียว แล่นไปซักแป๊ปเดียว เรือล่ม เสาล้มลงไปเลย ท่านก็บอกว่าเรือไม่น่าจะล่ม คนในวังที่อายุมากๆ ก็จะบอกว่าคงเป็นเพราะธงประจำพระองค์ไม่ได้เอาขึ้น คือผมแล่นไป โดยมีธงของพระเจ้าอยู่หัว เสาล้มเลย แต่อย่างไรก็ตามพอขึ้นมา มีการเลี้ยงน้ำชาที่ริมบ่อนั้นเลย และภรรยาผมก็ทำขนมเค้กมาอันนึง ท่านเสวยก็โปรดมาก และทรงเรียกว่าเค้กนั้นว่า เค้กราชปะแตน ก็เลยเป็นที่มาของชื่อเค้กอันนี้” ท่านภี เล่าถึงที่มาของชื่อขนมเค้กและเรื่องราวอันลึกลับให้ได้ฟัง

 
ด้วยบุคลิกความเรียบง่ายและเป็นกันเองที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีให้กับประชาชนของพระองค์เองนั้น ก็เป็นอีกเรื่องที่ท่านภี  ทรงเล่าว่า ได้ตามเสด็จไปในหลายๆที่ ก็มีเรื่องราวให้ประทับใจทุกครั้ง แต่ที่ตราติดในใจ ก็เมื่อแปรพระราชฐานไปเชียงใหม่เพื่อทรงตากอากาศ  แต่พระองค์ท่านไม่ได้ทรงพักแต่กลับเสด็จดั้นด้นไปทอดพระเนตรชีวิตของคนบนดอย เสด็จไปเยี่ยมดูชาวเขา ว่าทำอะไรกัน

“30 กว่าปีก่อนข้างบนภูเขา บนดอยจะมืดมน  ถนนหนทางก็ไม่มี เจ้าหน้าที่ไม่มี ชาวเขาปลูกฝิ่น ตัดต้นไม้ตามใจชอบ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไป ท่านก็ไปคุยกับพวกเค้า การเสด็จพระราชดำเนินแต่ละครั้ง พระเจ้าอยู่หัว ท่านทำพระองค์เป็นเพื่อนกับชาวเขา  เวลาชาวเขาเค้านั่งอยู่ ก็ทรงนั่งกับเค้าด้วย ชาวเขาชวนขึ้นไปบนบ้านที่คับแคบ ท่านก็ประทับ มีอยู่ครั้งหนึ่งเค้าเอาเหล้าเถื่อนใส่ถ้วยสกปรกมาถวายท่าน ผมก็เลยทูลบอกให้ท่านทำเป็น "กรึ๊บ" แล้วส่งถ้วยมา แต่ท่านทรงดื่มหมดเลย แล้วบอกว่าไม่เป็นไรเหล้านี้มันแรงมาก เชื้อโรคตายหมดแล้ว ท่านเป็นเพื่อนกับเค้า เวลาเค้านั่งกับพื้น ท่านก็นั่งอยู่กับพื้น”

 
"เวลาที่ในหลวง รัชกาลที่ ๙ มีพระปฏิสันถานยกับชาวเขา ก็จะคุยเรื่องชีวิตของพวกชาวเขา ว่าปลูกฝิ่นขายได้เงินเท่านั้นเท่านี้ สรุปได้ว่า คนรวยไม่ใช่คนปลูกฝิ่น แต่คือคนที่เข้าไปซื้อฝิ่น ฝิ่นต้องออกจากที่ปลูก ยิ่งไกลมากเท่าไร ราคาของมันก็ยิ่งจะสูงขึ้น เมื่อท่านทรงทราบความทุกข์ของชาวเขา ท่านก็หาหนทางช่วย โดยนำ ดอกไม้ พืช ผัก ผลไม้เมืองหนาว ขึ้นไปให้ชาวเขาปลูกบนดอย เพราะว่าของพวกนี้ ถ้าเอาลงมาขายข้างล่าง ราคาจะสูง " ท่านภี กล่าว

 
ตลอดระยะเวลาการครองราชย์สมบัติอันยาวนาน 70 ปี พระองค์ทรงดูแลทุกข์สุขราษฏรของพระองค์อย่างเต็มที่และเต็มใจ “ท่านไม่ค่อยถือพระองค์ อย่างที่ผมเล่าให้ฟัง เวลาที่ท่านเสด็จไปเยี่ยมชาวบ้าน ชาวบ้านจะนั่งกับพื้นดิน ถ้าท่านจะทักทายใคร ก็จะประทับลงกับพื้นเช่นกัน และอย่างกับพวกเราทรงให้ความเป็นกันเอง อย่างในเวลาแข่งเรือใบกับท่าน ท่านให้เราซัดเต็มที่เลย ผมจำได้แม่นเลย ท่านผิดผมชนเลย ผมไม่หลบ ผมชนะท่านต้องออกไป พอเราขึ้นบกปั๊บ มหาดเล็กถือเบียร์แช่เย็นให้ดื่ม ทุกคนขึ้นมาก็ดื่ม พระเจ้าอยู่หัวก็คุยเรื่องเรือลำนั้น ลำนี้แล่นไปอย่างนั้นอย่างนี้ และท่านก็สอนเทคนิคของท่านไปด้วย ท่านสนุกครับ” หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนีทรงย้อนความหลังครั้งเมื่อเคยถวายงานกับในหลวง รัชกาลที่ 9

ด้วยบุคลิกที่เป็นบุคลิกพิเศษของพระองค์ท่าน นี่เอง ท่านจึงถือเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ครองดวงใจคนไทยทั้งชาติได้อย่างเหนียวแน่น ไม่เสื่อมคลาย
หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี
กำลังโหลดความคิดเห็น