xs
xsm
sm
md
lg

เหมือนฝัน สิริกรณ์ คุณาวงศ์ ร่วมสร้างสวนสนุกปลูกจินตนาการ “อิเมจิเนีย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


>>จากสาวน้อยนักประวัติศาสตร์ศิลป์ ที่มีผลงานหนังสือและนิทรรศการศิลปะเต็มรูปแบบครั้งแรกในชื่อ “กาลครั้งหนึ่งกับเด็กหญิงนักประวัติศาสตร์ศิลป์” ที่ได้แรงบันดาลใจและมุมมองด้านศิลปะจากคุณพ่อ ถึงวันนี้ “เหมือนฝัน สิริกรณ์ คุณาวงศ์” ทายาทในวัย 26 ปี ของ “เสริมคุณ คุณาวงศ์” ได้เติบโตไปอีกขั้นกับบทบาทของการเป็นผู้บริหารโครงการสวนสนุกปลูกจินตนาการ “อิเมจิเนีย” (Imaginia-The Playland of Imagination)

“เหมือนฝัน สิริกรณ์ คุณาวงศ์” สาวน้อยติดดินที่เพื่อนๆ และคนสนิทเรียกเธอง่ายๆ ว่า “ดรีม” ทายาทคนโตของ “เสริมคุณ คุณาวงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซีเอ็มโอกรุ๊ป และผู้อำนวยการศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพฯ อีกหนึ่งลูกไม้ใต้ต้นของตระกูลคุณาวงศ์ ที่รู้กันว่าเป็นครอบครัวที่เสพและรักงานศิลป์เป็นชีวิตจิตใจ จนกลายเป็นนักสะสมและนักอนุรักษ์งานศิลป์ตัวยง ซึ่งลูกสาวคนนี้ได้รับอิทธิพลมาแบบเต็มๆ

จึงไม่แปลกใจที่มรดกทางความคิดนี้ จะผลักดันให้ดรีมหันมาสนใจศาสตร์แห่งศิลปะอย่างจริงจัง จากการศึกษาปริญญาตรี สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยวอริค เมืองโคเวนทรี ประเทศอังกฤษ ซึ่งในขณะนั้นเธอเป็นเด็กนักเรียนไทยเพียงคนเดียวในสาขานี้ของชั้นปี ระหว่างนั้นก็มีโอกาสกลับมาเมืองไทยเพื่อถ่ายทอดสิ่งที่เธอได้เรียนรู้ผ่านหนังสือและนิทรรศการในชื่อ “กาลครั้งหนึ่งกับเด็กหญิงนักประวัติศาสตร์ศิลป์” ก่อนกลับไปศึกษาต่อปริญญาโท สาขาบริหารจัดการทัศนศิลป์ (Visual Art Administration) มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

“ดรีมโตมาตอนที่คุณพ่อเริ่มสะสมงานศิลปะ อายุ 10 กว่าขวบก็ติดตามคุณพ่อไปแนะนำตัวเองกับศิลปินเพื่อของานเขามาเก็บ เวลาไปฟังศิลปินอธิบายผลงานของเขา ทำให้รู้ว่าผลงานเหล่านั้นมีเรื่องราว มีเบื้องหลังมากมาย จึงอยากเรียนรู้วิธีการที่จะมองศิลปะและถ่ายทอดให้คนอื่นฟัง ระหว่างเรียนดรีมก็สนใจวิธีการที่เด็กๆ มองศิลปะ ผ่านการทำงานพิเศษตอนที่เรียนอยู่ ดรีมเลยเน้นหาประสบการณ์เกี่ยวกับเด็กและศิลปะมาตลอด”

“พอเรียนจบก็ยังไม่แน่ใจว่าจะกลับมาประเทศไทย จึงลองเปลี่ยนวิธีมองศิลปะในอีกโลกหนึ่งคือ นิวยอร์ก โดยไปศึกษาด้านบริหารจัดการทัศนศิลป์ ไปเรียนรู้โลกพาณิชย์ของศิลปะ ได้ไปเจอตัวละครอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่ศิลปะกับนักวิจารณ์ หรือศิลปะกับโปรเฟสเซอร์อีกต่อไป แต่ศิลปะมีส่วนประกอบอย่างไรบ้างในวงการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทประมูล, อาร์ตดีลเลอร์, ที่ปรึกษาในการซื้อศิลปะ”

นับเป็นการเลือกเรียนรู้โลกแห่งศิลปะที่มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะการศึกษาโลกพาณิชย์ของศิลปะ เป็นสิ่งที่ดรีมไม่ได้ชื่นชอบนัก แต่ตัดสินใจศึกษาเพราะต้องการคลายความสงสัยที่มีอยู่ในใจว่าตัวเองอคติไปเองหรือเปล่า? เมื่อไปสัมผัสจริงจึงค้นพบว่าไม่ใช่ทางของเธอ หากแต่ก็เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ในอีกมุมของโลกศิลปะมากมาย

จากนิวยอร์กถึงกรุงเทพฯ ดรีมบินกลับมาเมืองไทยได้ไม่ทันไร โอกาสพิสูจน์ความสามารถก็จู่โจมมาแบบไม่ทันตั้งตัว เมื่อคุณพ่อให้เธอมาดูแล “อิเมจิเนีย” โครงการที่ให้นิยามว่าเป็นสวนสนุกปลูกจินตนาการแบบดิจิตอลอินเตอร์แอกทีฟ

“ที่นี่เริ่มต้นจากการได้รับโอกาสความเชื่อใจจากเดอะมอลล์กรุ๊ป ที่ให้พื้นที่บน ดิ เอ็มโพเรียมมาพัฒนาไอเดีย โจทย์แรกเริ่มคืออยากให้เด็กมีพื้นที่เรียนรู้ศิลปะที่ต่างจากที่อื่น คือมีเด็ก มีศิลปะ ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ สามารถให้เด็กเล็กได้พัฒนาทางร่างกาย สมอง และจิตใจ 3 มิติไปพร้อมๆ กัน และต้องเป็นแบบที่ในห้างสรรพสินค้าไม่เคยมี คือโจทย์กว้างมากนะ”

“สำหรับดรีมถือเป็นการทำงานเหน็ดเหนื่อยแสนสาหัส เพราะจากแบ็กกราวนด์เราเรียนบริหารจัดการองค์กรที่มีความชัดเจนว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ มูลนิธิ หรือบริษัทประมูล แต่นี่คืออะไร นี่คือแพลตฟอร์มใหม่ เป็นสวนสวนสนุกหรือเปล่า เป็นพิพิธภัณฑ์หรือเปล่า หรือเอ๊ะ! เป็นที่ให้คุณพ่อคุณแม่มาทิ้งเด็กๆ หรือเปล่า (หัวเราะ) ก็เป็นอะไรที่ท้าทายมาก เพราะสิ่งที่เราทำ เราไม่นิยามตัวเองว่าเป็นแค่พิพิธภัณฑ์ หรือสวนสนุกที่วิ่งเล่นเท่านั้น แต่เราพยายามเป็นส่วนผสมที่มากกว่านั้น”

หลังระดมสมองทั้งจากทีมงานและที่ปรึกษาในหลากหลายศาสตร์ ในจำนวนนั้นรวมถึงอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, ครูโต-ม.ล.จิราธร จิรประวัติ, มุก-เพลินจันทร์ รุ่นประพันธ์ มาช่วยแชร์ไอเดีย ในที่สุดก็ตกผลึกออกมาเป็นกิจกรรมมากถึง 19 โซน บนพื้นที่ 1,400 ตารางเมตร ออกแบบมาให้ตอบโจทย์พัฒนาการเด็ก 4 ด้าน ตั้งแต่อายุ 1-12 ปี ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ความรู้สึก กระบวนคิด และความคิดสร้างสรรค์ ผ่านการเรียนรู้จากการเล่นในกิจกรรมศิลปะ ดนตรี วรรณกรรม และเล่นแบบคิดวิเคราะห์ ผสมผสานรากฐานการเล่นแบบคลาสสิกและร่วมสมัย

แต่ที่ทำให้อิเมจิเนียแตกต่างคือการสอดแทรกเทคโนโลยีแบบดิจิตอลอินเตอร์แอกทีฟ (Digital Interactive) มาไว้ในทุกกิจกรรม นั่นจึงเป็นไฮไลต์ที่สร้างความสนุกสนานและส่งเสริมจินตนาการ ไม่เพียงแต่เด็กๆ เท่านั้น แม้แต่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ก็พลอย ‘ตื่นเต้น’ ไปด้วย

“เป็นงานที่ต้องทำการบ้านเยอะ แต่ทุกอย่างสำเร็จได้เพราะทีมงานทุกๆ คนมีใจให้กับเรา ต้องการสร้างแพลตฟอร์มใหม่ เราไม่อยากให้เฉพาะครูศิลปะหรือนักพัฒนาเด็กมาสร้างตรงนี้ แต่เราได้ทั้งนักเขียน, ดีไซเนอร์, นักออกแบบซอฟต์แวร์ เรียกว่าเราได้บุคลากรจากซีเอ็มโอทุกส่วนมาทำงานและเรียนรู้ไปด้วยกัน ดรีมเป็นเหมือนแค่ตัวต่อให้ทุกคนไปด้วยกัน

...นอกจากหน้าที่ประสานงานระดมสมองแล้ว อีกเรื่องที่ดรีมต้องทำคือการสร้างจินตนาการอย่างไรให้เด็กเข้าใจเรามากขึ้น มาเป็นเนื้อเดียวกับเรา นั่นทำให้ดรีมแต่งนิทานเกี่ยวกับเมืองแห่งจินตนาการขึ้น เพื่อเชื่อมโยงทุกกิจกรรมให้เป็นเรื่องเดียวกัน” ดรีมเล่าถึงการทำงานกว่าจะเป็นอิเมจิเนียที่ยกเครดิตให้กับทีมงานที่มีใจให้กับโครงการนี้อย่างพร้อมเพรียง

ระยะเวลาปีกว่าในการเตรียมงาน จากแรกเริ่มที่เข้ามานั่งทำงานในฐานะครีเอทีฟ วันนี้ดรีมก้าวมาสู่นักบริหารรุ่นใหม่ ในฐานะผู้บริหารโครงการอิเมจิเนียเต็มตัว ทุกพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ที่ทีมงานทุกคนลงแรงแข็งขัน ก็มาถึงช่วงเวลาเก็บเกี่ยวที่สร้างความเซอร์ไพรส์ให้กับทุกคน รวมถึงตัวดรีมด้ว

“เรารู้อยู่แล้วว่าต้องมีลูกค้าชาวต่างชาติปนกับลูกค้าคนไทยจำนวนหนึ่ง แต่กลับกลายเป็นว่ามีชาวต่างชาติที่ไม่คาดคิดว่าจะเข้ามาจอยกับเราด้วย หลักๆ คือ ชาวญี่ปุ่น แต่ว่าตอนนี้เรามีชาวตะวันออกกลาง ที่มาใช้บริการและแฮปปี้มาก บางคนเดินทางมาเมืองไทยอาทิตย์เดียว แต่มาเล่นตั้ง 3 วัน เป็นกระแสตอบรับที่เซอร์ไพรส์เหมือนกัน ก็รู้สึกดีใจ เพราะมันทำให้บรรยากาศสนุก ใหม่ และเป็นพื้นที่ให้เด็กๆ มารู้จักกันจริงๆ”

“แต่ถามว่าพอใจหรือยัง ถ้าหากฟังข่าวตั้งแต่เปิดให้บริการมาจะเห็นว่าเรามีการปรับเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ เพราะถือว่าเราสร้างอะไรที่แม้แต่ต่างประเทศก็ไม่เคยมีส่วนผสมในลักษณะนี้ เราจึงเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับลูกค้า วิธีการเล่นของลูกค้าจะแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์ว่าเครื่องเล่นสื่อสารอย่างที่เราเข้าใจไหม? เครื่องเล่นบางเครื่องเขาเล่นแบบที่เราไม่ได้คิดว่าเล่นแบบนี้ก็มี หรือเครื่องเล่นบางเครื่องที่เราคิดว่าน่าสนใจ แต่มันอาจจะมีบางส่วนที่ดึงดูดเด็กๆ มากกว่านี้ เราก็ปรับทิศทางจากตรงนั้น”

แม้จะเป็นภาระที่หนักและมีการปรับตัวตลอดเวลา แต่ดรีมก็สนุก เมื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ที่ได้รับการกล่าวถึงว่าใหญ่ที่สุดในอาเซียนในฐานะพื้นที่เสริมสร้างจินตนาการ ถือเป็นก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่มากในชีวิตของสาวน้อยคนนี้ และเธอโชคดีที่ไม่ได้เดินไปบนเส้นทางนี้โดยลำพัง เพราะได้คุณพ่อมากประสบการณ์เป็นกุนซือส่วนตัว

“ดรีมขอเปรียบเทียบนะ สมมติว่ามีร้านอาหาร 1 ร้าน ดรีมก็แค่อยากเป็นคนย่างหมู แต่เราก็เรียนรู้ว่าถ้าจะทำร้านอาหารทั้งร้าน เราสามารถที่จะศึกษาไปกับลูกค้ามากขึ้น แม้ว่ามันต้องแลกมากับความยากหรือเรื่องที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมมากขึ้น โปรเจกต์นี้เป็นงานที่ทำให้เราสนุก แต่ก็ยาก แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เราโตขึ้นในแง่การทำงานกับคนหลากหลายอาชีพ หลากหลายประเทศ และหลายๆ ท่านก็อาวุโสกว่า ซึ่งดรีมชั่วโมงบินยังน้อยในเรื่องการบริหาร แต่มีคุณพ่อเหมือนเป็นคุณครูและเป็นที่ปรึกษาหลัก”

ดรีมในฐานะผู้บริหารมือใหม่กล่าวถึงบทบาทตัวเองอย่างถ่อมตัว พร้อมแง้มว่าแม้จะได้ทำงานที่ท้าทาย แต่ก็ยังคงคิดถึงงานเขียนอยู่ และถ้ามีโอกาสก็จะศึกษาบริบทเกี่ยวกับเด็กและศิลปะให้มากขึ้น เพื่อหันมาจับปากกาถ่ายทอดเรื่องราวอีกครั้ง

About Experience เหมือนฝัน สิริกรณ์ คุณาวงศ์

:: เจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูลนิทรรศการปฐมฤกษ์ประวัติศาสตร์ศิลปะไทยร่วมสมัย จากศิลป์ พีระศรี ถึงประติมากรรมร่วมสมัย

:: ผู้ช่วยผู้ประสานงานด้านติดตั้งและคำบรรยายใต้ภาพในงาน Passion of Thai Modern Art ณ สยามพารากอน

:: หัวหน้านำชมเส้นทางประติมากรรม (Sculpture Trail Leader) มีต แกลเลอรี่ มหาวิทยาลัยวอริค

:: นักศึกษาฝึกงาน หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ

:: ประสานงานการวิเคราะห์อายุศีรษะพระพุทธรูปสำริดให้กับคอลเลกชันศิลปะบาร์เบอร์ มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม

:: ฝึกงานหน้าที่ Special Event co-ordinator ที่ Art Dealers Association of America (ADDA)


:: เขียนบล็อกเกี่ยวกับผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์โดยผู้หญิง ที่ www.sftpwr.com


:: ฝึกงานที่ ART 21 รายการโทรทัศน์เกี่ยวกับศิลปะที่มีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกา :: Text by FLASH

กำลังโหลดความคิดเห็น