xs
xsm
sm
md
lg

“นุ่งเหลืองสโลว์ไลฟ์” ไม่อาบัติ แต่ไม่เหมาะสม!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นั่งชิลชิลในร้านกาแฟ ค่อยๆ ละเมียดดื่มด่ำบรรยากาศอยู่ในนั้นทั้งวัน... จะไม่น่าแปลกใจเลยหากพฤติกรรมเหล่านี้มาจากคนทั่วๆ ไป แต่ดันเป็นพระสงฆ์องค์เจ้าที่ควรกราบไหว้ เล่นเอาหลายต่อหลายคนถึงกับส่ายหัวด้วยความไม่เข้าใจว่า เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย แต่ที่แน่ๆ ไม่น่าใช่เทรนด์ใหม่ของผู้นุ่งเหลืองห่มเหลืองที่ควรปฏิบัติตาม!




เมื่อ “พระ” อยาก “สโลว์ไลฟ์”
...ชายสูงวัยก้าวเท้าเข้ามาในร้านด้วยภาวะสงบ นุ่งเหลืองห่มเหลืองดูเมนูเครื่องดื่ม จากนั้นจึงเอื้อยเอ่ยสั่งออเดอร์กาแฟที่ชื่นชอบ เวลาผ่านไปชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่าไม่มีผลต่อความรู้สึก หยิบมือถือขึ้นมาเชื่อมต่อ Wi-Fi ฟรี ค่อยๆ เสพข้อมูลบนโลกออนไลน์ไปอย่างไม่เร่งรีบ จนเมื่อความง่วงเข้าครอบคลุมก็ปล่อยให้ร่างกายได้พักผ่อน กระทั่งชักเท้าจากไปโดยที่เจ้าของร้านไม่กล้าคิดสตางค์...

นี่คือเรื่องเล่าจากปากเจ้าของร้านกาแฟแห่งหนึ่งใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เขาต้องพบเจอพระรูปนี้ทุกวัน โดยเฉพาะช่วง 10.00-13.00 น.จะเป็นช่วงฮิตฮอตที่ท่านมักจะมาเยี่ยมเยือนเสมอ ถึงแม้จะรู้สึกตะขิดตะขวงใจต่อพฤติกรรมของพระรูปนี้มาสักพักใหญ่ๆ แต่เจ้าของร้านก็พยายามทำใจและปล่อยไป กระทั่งภาพพระสงฆ์รูปดังกล่าวถูกนำไปโพสต์และเผยแพร่บนโลกออนไลน์ให้ว่อน และกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดในเวลาต่อมา เจ้าของพื้นที่จึงยอมออกมาให้ข้อมูล แต่กระนั้นก็ยังคงย้ำชัดว่า พระรูปนี้ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนอะไร เพียงแต่ท่านมักจะนั่งนานแบบนี้บ่อยๆ จนอาจส่งผลให้ลูกค้ารายอื่นๆ รู้สึกแปลกๆ ที่จะเข้ามาใช้บริการ จะให้เข้าไปเชิญออกจากร้านก็จะดูไม่เหมาะสม สุดท้ายจึงได้แต่ปล่อยให้ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องเข้ามาจัดการเอง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สังคมต้องส่ายหัวไปกับพฤติกรรมของผู้นุ่งเหลืองห่มเหลือง ลองย้อนกลับไปดูข่าวคราวที่คล้ายกันนี้ในอดีต จะเห็นว่าเคยมีพระภิกษุไปต่อแถวซื้อกาแฟสตาร์บัคส์ มีผู้ถ่ายภาพมาโพสต์ลงโซเชียลมีเดียพร้อมคำบรรยายว่า "พระโคกินอะไรไม่รู้ แต่พระสงฆ์กินสตาร์บัคส์ครับ" จนทำให้ภาพดังกล่าวกลายเป็นภาพที่แชร์มากที่สุดในช่วงนั้นและกลายเป็นประเด็นร้อนให้คนในสังคมเข้ามารุมวิจารณ์ ไหนจะภาพที่มีกลุ่มพระเข้าไปฉันอาหารในร้านอาหารเอ็มเคนั้นอีก แม้ภายหลังจะมีข้อมูลออกมาแก้ต่างว่าเป็นการนิมนต์พระไปฉันเพล แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าภาพหลายๆ ภาพที่เกิดขึ้นส่งผลต่อ “ศรัทธา” ในใจชาวพุทธไม่ใช่น้อยทีเดียว

(กาลครั้งหนึ่ง ณ สตาร์บัคส์)

(สงฆ์... สุขที่เอ็มเค)

โดยเฉพาะกรณีล่าสุด ถึงขั้นถูกหลายๆ คนบนโลกออนไลน์แซวกันว่าพระรูปนี้คือ “พระสโลว์ไลฟ์” เมื่อลองถามความคิดเห็นของผู้มีความรู้เรื่องพระธรรมวินัย รศ.ดร.ธวัช หอมทวนลม หัวหน้าภาควิชาปรัชญา คณะศาสนาและปรัชญา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย จึงได้คำตอบว่าจริงๆ แล้ว ถึงพระสงฆ์อยากจะสโลว์ไลฟ์ขนาดไหนก็ควรรำลึกถึงคำว่า “ความเหมาะสม” เอาไว้ด้วย

“กรณีนี้คล้ายๆ กับครั้งหนึ่งที่มีพระท่านเข้าแถวซื้อกาแฟของสตาร์บัคส์ แต่กรณีนี้ท่านไปนั่งตั้งแต่เช้าแล้วก็กลับตอนเย็น เป็นแบบนี้หลายวันติดกัน ผมก็ยังไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับท่านมาก แต่ดูแล้วคิดว่าท่านน่าจะเป็นพระที่บวชตอนอายุมากแล้ว และไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมอะไรมากมาย ท่านอยากจะไปนั่งท่านก็ไป ก็เลยออกมาอย่างที่เห็น ซึ่งก็ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

ปกติแล้ว พระสงฆ์ท่านสามารถไปสถานที่แบบนี้ได้ ถ้าเป็นการแวะเวียนไปชั่วคราวก็ไม่น่าเกลียดอะไร แต่ในกรณีนี้ทราบมาว่าท่านมาตั้งแต่เช้ายันเย็น บางทีนั่งหลับด้วย พอเด็กๆ เลิกเรียนมา มาเจอพระนั่งหลับ และแสดงพฤติกรรมไม่ค่อยเหมาะสม ทำให้ลูกค้าไม่กล้าเข้า มันจะกลายเป็นว่าส่งผลกระทบต่อทางร้าน หรือแค่เวลาญาติโยมจะคุยธุระอะไรกัน เห็นพระท่านนั่งอยู่ใกล้ๆ จะทำอะไรก็เกรงใจ ทำอะไรก็ไม่สะดวกแล้ว

เทียบกับกรณีที่เวลาพระไปฉันในเอ็มเค ถ้านานทีปีหนไปทีหนึ่ง ก็พอจะอนุโลมได้ เพราะอาจจะไปในฐานะที่ญาติโยมนิมนต์ไป แต่โดยทั่วไปพระที่ตั้งใจจะไปฉันเพลจริงๆ ในร้านมันจะไม่ค่อยมีหรอก หรือถ้าเป็นพระที่เดินทางไปต่างจังหวัด จะแวะเข้าไปฉันในร้านอะไรแบบนี้ มันก็คงไม่เป็นอะไรถ้าไม่ใช่กิจวัตรที่ทำบ่อยๆ

สำหรับเจ้าของร้าน ถ้าพบว่าพระท่านมานั่งที่ร้านก็ให้ดูว่าท่านมาบ่อยไหม ถ้ามาแค่ชั่วครั้งชั่วคราวก็อาจจะปล่อยท่านไป แต่ถ้ามานั่งตั้งแต่เช้ายันเย็นหรือมานั่งประจำ ก็อาจจะต้องหาคนมาช่วยพูดหรือลองถามดีๆ เพราะหลายๆ คนคงกลัวว่าเข้าไปคุยแล้วมันจะเป็นบาปหรือเปล่า เหมือนไปไล่ท่าน แต่จริงๆ แล้วในฐานะชาวพุทธคนหนึ่ง เราสามารถช่วยกันเตือนได้ เพราะถือว่าเราก็เป็นพุทธบริษัท (ภิกษุ, ภิกษุณี, อุบาสก, อุบาสิกา) เหมือนกัน อย่าไปคิดว่าชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ ทุกคนต้องช่วยๆ กันดูแลศาสนาครับ อาจจะลองถามท่านดูว่าท่านอยู่วัดไหน แล้วลองไปหาคนคุยในวัดของท่านก่อน อาจจะเป็นผู้ปกครองหรือเจ้าอาวาสของวัด ถ้าวัดไม่ทำอะไร ก็อาจจะต้องติดต่อสำนักพุทธจังหวัดซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลเรื่องนี้โดยตรง แล้วเดี๋ยวเขาจะส่งคนมาคุยกับท่านเอง

จริงๆ แล้ว การกระทำแบบนี้ไม่ถึงขั้นอาบัติอะไรเลย เพราะที่ตรงนี้เป็นเพียงร้านกาแฟ แต่ถ้าเป็นสถานที่อโคจร อย่างผับบาร์ แบบนั้นไปแล้วถึงจะอาบัติ เพราะในพระธรรมวินัยห้ามเอาไว้เพียงแค่ว่าอย่าไปสถานที่อโคจรในยามมืดค่ำ หรืออย่าไปสถานที่ท่องเที่ยวที่ฆราวาสเขาเที่ยวกันเท่านั้นเอง ส่วนสถานที่สาธารณะอื่นๆ อย่างห้างสรรพสินค้าที่อาจจะเจอพระท่านมาเดินซื้อของบ้าง แบบนั้นก็พอจะอนุโลมกันได้เพราะท่านน่าจะมีกิจจริงๆ บางกรณีใช้ลูกศิษย์ไปซื้อแทนอาจจะไม่สะดวก เช่น เข้าไปซื้อยาในร้านขายยาที่เป็นยาเฉพาะ ถ้าใช้คนอื่นไปซื้อแทนอาจจะไม่สะดวก

แต่ก็ต้องระวังนิดหนึ่งเพราะของบางอย่าง ถึงพระท่านไม่ได้คิดอะไรมาก แต่ญาติโยมคนอื่นอาจจะมองว่าไม่เหมาะสม สมมติว่าท่านอยากได้ตุ๊กตาหมีสักตัวไปให้เด็กๆ แต่ถ้าท่านไปซื้อเองและเดินหิ้วมาเอง มันก็อาจจะไม่เหมาะสมเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นหนังสือหรือตำรับตำราหิ้วกลับมาเอง มันก็ไม่ได้น่าเกลียดอะไร หรืออย่างการเข้าร้านอาหาร ถ้าเป็นช่วงกลางคืน จริงๆ แล้วพระเข้าไม่ได้เลยครับเพราะมันเลยเวลาฉันเพลมาแล้ว ถึงแม้จะแค่จะไปนั่งก็ดูไม่เหมาะแล้วครับ ถ้าเป็นร้านกาแฟก็ต้องดูว่ามีคนพลุกพล่านไหม โดยทั่วๆ ไปแล้ว พระสงฆ์ทั่วๆ ไปจะพอวินิจวิเคราะห์เองได้อยู่แล้ว




การบวชทุกวันนี้ เคร่งครัดน้อยเกินไป!

(ญาติโยมโลกออนไลน์เสื่อมศรัทธา วิจารณ์ให้ว่อน)
พระเดินห้างฯ, พระฉันในร้านอาหาร, พระเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ และแสดงอากัปกิริยาไม่ต่างไม่จากฆราวาสทั่วๆ ไป ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือภาพซ้ำๆ ที่หลายๆ คนเคยพบเจอในชีวิตประจำวัน จนชวนให้สงสัยในคำว่า “พระภิกษุสงษ์” ทุกวันนี้ว่ามีวิถีปฏิบัติและกิจวัตรในรั้วแห่งธรรมะมากน้อยแค่ไหน ลองให้อาจารย์ที่สอนด้านศาสนาให้แก่ทั้งพระภิกษุและฆราวาสอย่าง รศ.ดร.ธวัช ช่วยวิเคราะห์ จึงได้คำตอบว่า...

“ถ้าเป็นเมื่อก่อน เทียบกับตอนผมยังเป็นเด็ก อยู่ จ.กาญจนบุรี คนที่จะมาบวชได้ ต้องมาอยู่วัดเป็นเดือนๆ เลยนะ บางวัดให้โกนหัวก่อนด้วยซ้ำทั้งๆ ที่ยังไม่บวชให้เลย แต่พระท่านให้มาฝึกเตรียมตัวที่จะบวชก่อน แม้กระทั่งสายวัดหลวงพ่อชา วัดหนองป่าพงษ์ ฝรั่งมังค่าที่มาบวช ไม่ใช่ปุ๊บปั๊บจะอนุญาตให้บวชเลยนะครับ แต่ท่านจะให้ลองถือศีล 8 ให้ได้ก่อน ไม่ทานอาหารเย็น ประพฤติปฏิบัติให้ได้ก่อน 2 ปี แล้วหลังจากนั้นเขาถึงจะอนุญาตให้บวช อันนี้ผมเคยไปคุยกับเจ้าอาวาสวัดเลย เขาบอกต้องดูความตั้งใจในการบวชว่าอยากบวชจริงๆ หรือเป็นฝรั่งที่แค่เข้ามาอยากทดสอบเพื่อเอาเรื่องราวไปเผยแพร่เฉยๆ

เมื่อก่อน การบวชเป็นเรื่องยากมาก เป็นเรื่องของคนที่อยากจะบวชจริงๆ หรืออยากบวชเพื่อสนองบุญคุณของพ่อแม่ แต่ยุคสมัยปัจจุบัน คนที่เข้ามาบวชแทบจะไม่มีเวลาที่จะเตรียมตัวก่อนมาบวชด้วยซ้ำ เป็นเพราะปัจจัยหลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องการทำงานด้วย บางที่บอกจะมาบวช อนุญาตให้ลางานได้ 1 พรรษา (3 เดือน) บางที่ให้แค่ 1 เดือน บางที่ให้ 15 วัน บางที่ให้แค่ 7 วัน ซึ่งคนที่ขอบวช 7 วัน 15 วันแบบนี้ มันแทบจะไม่ได้อะไรเลยนะ เพราะบางคนก็บวชเอาใจพ่อแม่ อยากสนองคุณพ่อแม่ แต่เวลามันสั้นไป มันเลยแทบไม่ได้อะไรเลยซึ่งมันก็น่าเป็นห่วง เพราะบวชระยะสั้นๆ การอ่านหนังสือศึกษาเกี่ยวกับพระธรรมวินัยแทบจะไม่มีเลย พระอาจารย์ก็แทบจะไม่ได้สอนกันเลย

ให้ลองวิเคราะห์สภาพปัจจุบัน ผมว่าทุกวันนี้บางวัดก็มีการคัดกรองของเขาอยู่เหมือนกัน บางแห่งต้องให้ไปเอาใบรับรองจากสถานีตำรวจก่อนเลยว่า บุคคลคนนี้มีประวัติอาชญากรรมไหม เคยต้องคดีอะไรหรือเปล่า ถ้าบางคนเคยมีประวัติไม่มี พระอุปัชฌาย์มีสิทธิจะไม่รับได้ ทุกวันนี้เขาเข้มขนาดนั้นนะ

เรื่องความเคร่งครัดในการควบคุมสงฆ์มันเป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาสอยู่แล้วครับที่จะต้องดู แต่ถ้ามีสงฆ์ออกไปข้างนอก ก็อาจจะต้องให้ชาวบ้านช่วยกันดูๆ เป็นหูเป็นตาว่าทำพฤติกรรมอะไรไม่เหมาะสมหรือเปล่าครับ อย่างผมเองก็เคยเตือนพระไปหลายรูปเหมือนกัน มีท่านหนึ่งเป็นพระต่างประเทศมาบวชในผ้าเหลือง ท่านอาจจะเพิ่งบวชเลยยังไม่รู้อะไรมาก มาเดินฉับๆ ซื้อลูกชิ้นแล้วก็เดินไปฉันไป ผมก็ต้องบอกกล่าวว่าธรรมเนียมไทยเป็นยังไง หรือถ้าอันไหนมันเกินความสามารถเราที่จะแนะนำ ก็ต้องให้ผู้ใหญ่ท่านอื่นเข้ามาแนะนำ หรือถ้าเป็นพฤติกรรมที่รุนแรงจริงๆ ก็ต้องอาศัยแรงตำรวจมาช่วยเหลือ หรือถ้าท่านทำผิดวินัยสงฆ์ ก็ต้องพึ่งคณะสงฆ์ระดับสูงหรือสำนักพุทธมาช่วยตัดสิน

จริงๆ แล้ว พระที่ปฏิบัติตามกฎของสงฆ์จริงๆ จะมีวิถีปฏิบัติของเขาเลย ต้องตื่นมาตั้งแต่ตี 4 ต้องทำวัตรเช้า พอสว่างท่านก็จะออกบิณฑบาตร เสร็จมาฉันเช้า ทำวัตรในโบสถ์อีกตอน 8 โมง แล้วก็มีการเทศน์สอนพระธรรมกัน แล้วก็ทำวัตรเย็น ไปจนถึง 6 โมงเย็น แล้วก็มานั่งกรรมฐานอีก ถ้าสงฆ์ทำกิจวัตรตามนี้อย่างเคร่งครัด ท่านก็จะไม่มีเวลาออกมาธุระที่อื่นหรอกครับส่วนใหญ่ แต่อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าอยู่วัดไหนและพระผู้ใหญ่ท่านถือกฎระเบียบขนาดไหน หรือถ้าท่านต้องออกมาทำธุระก็จะต้องสำคัญจริงๆ ไม่งั้นก็จะให้ลูกศิษย์ช่วยเป็นธุระให้แทน

สำหรับคำว่า “สงฆ์ที่แท้” นั้นจริงๆ แล้วก็ไม่มีอะไร เพียงแค่ท่านปฏิบัติตามพระธรรมวินัยเท่านั้น จบเลย ถือศีลทั้ง 227 ข้อ และเวลาไปไหนมาไหน พระท่านก็จำเป็นต้องดูสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย ถึงแม้จะไม่ได้ทำผิดวินัย อย่างกรณีนี้ไปนั่งฉันกาแฟและนั่งนานเป็นวัน ไม่ถือว่าผิดพระวินัย แต่ก็ถือว่าไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่เหมาะสมนานเกินไป เขาเรียกว่า “โลกวัชชะ” (โทษทางโลก, อาบัติที่เป็นโทษทางโลก, ข้อเสียหายที่ชาวโลกติเตียนว่าไม่เหมาะสมกับสมณะ) ชาวบ้านจะติเตียนได้ว่าทำไมท่านต้องทำอย่างนี้ทุกวัน ทำไมไม่อยู่ทำวัตรสวดมนต์อยู่ที่วัด

ถ้าจะดูว่าพระองค์ไหนปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหรือไม่ ก็ดูว่าท่านปฏิบัติตามพระธรรมวินัยหรือเปล่า เพราะถ้าปฏิบัติตามนี้ก็ไม่มีอะไรแล้ว ถ้าศึกษาพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด พอจะปฏิบัติอะไรที่ดูเข้าข่ายไม่เหมาะสม พระท่านก็จะพิจารณาได้เองว่าทำแบบนี้อาจจะไม่ดีมั้ง ไม่เหมาะสมมั้ง และก็จะเลือกที่จะไม่ทำได้ในที่สุด

ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live



มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...

Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015

รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"



มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น