“พระสงฆ์เหล่านี้คือพระอาจารย์ที่ผมศรัทธา
ผมเข้าใจพุทธศาสนามากขึ้นจากพวกท่าน”
ART EYE VIEW---ในห้วงเวลาที่สังคมกำลังวิพากวิจารณ์ต่อกรณี “วัดพระธรรมกาย” ขณะเดียวกัน พระสงฆ์ในภาพถ่ายของช่างภาพ เอกรัตน์ ปัญญะธารา ก็กำลังจัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปได้ชม
ไม่ใช่บนพื้นที่ทางศิลปะเช่นที่เราต่างคุ้นชิน แต่เป็นในรั้ววัด !?
วิถีชีวิตพระไทยที่นิวยอร์ก
เอกรัตน์ เป็นช่างภาพของ นิตยสาร National Geographic Thailand เรียนจบด้านการถ่ายภาพจากวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ
เคยลงใต้ไปบันทึกภาพวิถีชีวิตชนเผ่าซาไกที่ภาคใต้ และขึ้นเหนือไปบันทึกภาพวิถีชีวิตล้านนา
เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาเดินทางไปกรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อที่จะถ่ายภาพ หาลู่ทางทำงานต่อ และเรียนภาษาไปด้วย
“ระหว่างนั้นก็พยามหาเรื่องเพื่อทำส่งกลับมาให้ NG ไทยด้วย”
และวันหนึ่งสังคมของคนไทยในต่างแดนที่โน่น ได้นำพาเขาให้ไปรู้จักวัดไทยชื่อ “นิวยอร์ก ธรรมาราม”
วิถีชีวิตของพระสงฆ์และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับฆราวาสไทยที่นู่น ซึ่งแตกต่างจากในประเทศไทย ทำให้เขาสนใจที่จะทำงานภาพถ่ายขึ้นมาสักชุด
“ผมตามถ่ายพระสงฆ์ที่นู่นตลอดหนึ่งปี เริ่มถ่ายตั้งแต่ปี 2009 จนถึง 2010 ประมาณปีนึง แล้วผมก็กลับมาเมืองไทย
ตามถ่ายโดยที่ไม่รู้ว่าจุดจบมันเป็นยังไง แค่เห็นว่าสังคมตรงนั้นมันค่อนข้างจะแตกต่างจากสังคมไทยด้วยบริบถต่างๆ
ตัวผมเองพักอยู่ข้างนอก ไม่ได้อาศัยอยู่ที่วัด จะมีบางวันที่ไปถ่ายจนดึก หรือมีหิมะตก พระอาจารย์ก็จะให้นอนที่วัดบ้าง
พยายามใช้ชีวิตอยู่กับพระให้มากที่สุด เหมือนเป็นเด็กวัดคนหนึ่ง ตามพระไปหลายๆที่ เวลาที่เด็กวัดคนอื่นๆช่วยยกของ ผมก็ได้ช่วยบ้าง แต่เน้นถ่ายภาพเป็นหลัก"
เอกรัตน์ยกตัวอย่างวิถีชีวิตของพระสงฆ์ที่นู่นที่แตกต่างจากสังคมไทย ซึ่งเขาได้สัมผัสระหว่างที่ติดสอยห้อยตามพระสงฆ์ไปยังสถานที่ต่างๆ
“ตัวอย่างเช่น พระที่นู่นเป็นพระธรรมฑูต ถูกไหมครับ ก่อนจะไปอยู่ที่นู่น ต้องอบรมเรื่องการก่อสร้างด้วย เวลาที่ต้องก่อสร้างอะไร ท่านต้องเทปูน ต้องทำอะไรเอง ผมได้สัมผัสกับภาพพระที่ต้องทำงานเหล่านี้ หรือแม้แต่เวลาไปซื้อของในห้างสรรพสินค้า ที่เป็นเหมือนแมคโคร และร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้าง ภาพเหล่านี้มีให้เห็นน้อย สำหรับพระที่มีวิถีชีวิตในสังคมบ้านเรา
ดังนั้นภาพถ่ายชุดนี้ของผม ส่วนหนึ่งจึงนำเสนอวิถีชีวิตของพระที่ต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอดให้ได้ในสังคมมที่นิวยอร์ก ในขณะเดียวกันท่านก็ต้องรักษาความเป็นพระ ตามธรรมวินัยไปด้วย”
อย่ารีบประนาม พระกินสตาร์บัค
ขณะเดียวกัน วิถีชีวิตของสงฆ์ที่ปรากฎในภาพถ่ายของเขาบางส่วน อาจจะขัดแย้งกับ ความรู้สึกของไทยจำนวนหนึ่งที่ในสมองบันทึกภาพวิถีชีวิตของพระสงฆ์ในรูปแบบที่ตนเห็นว่าควรจะเป็น ไว้แบบนั้นแบบนี้
“อาจจะทำให้รู้สึกว่าแบบนี้ไม่ได้นะ แบบนี้ไม่ถูก วัดต้องเป็นแบบนี้ พระต้องแต่งตัวแบบนี้ มันเหมือนเป็นมายาคติที่หลายคนรู้สึก
ที่อ่อนไหวที่สุดในภาพถ่ายชุดนี้ของผม น่าจะเป็นภาพพระกำลังนั่งกินกาแฟในสตาร์บัค แต่ผมอยากให้ข้อมูลนิดนึงครับว่า กาแฟสตาร์บัคที่นู่น ถ้าเปรียบกับค่าแรงขั้นต่ำ ราคาพอๆกับกาแฟอาแปะที่บ้านเราเลยครับ ธรรมดามาก
แต่คนไทยจะรู้สึกว่ากินสตาร์บัค ค่อนข้างไฮโซ พอเห็นภาพของผมก็อาจจะรู้สึกว่าพระกินสตาร์บัคเลยเหรอ แต่เขาไม่ได้คิดก่อนเลยว่า อาจจะมีญาติโยมมาถวายไม๊ พอเห็นอะไรนิดอะไรหน่อย เราก็ประนามพระก่อนแล้ว
และถ้าพระกินสตาร์บัคแล้วผิด แล้วญาติโยมที่ถวายสตาร์บัค ไม่ผิดเหรอ เพราะมันก็เป็นเหมือนการเอากิเลสไปล่อพระหรือเปล่า”
เรื่องส่วนตัว
ภาพถ่ายชุดนี้ของเอกรัตน์มีชื่อว่า “เรื่องส่วนตัว” มีที่มาจาก มุมมองและความรู้สึกของแต่ละคนที่แตกต่างกันไปเวลาเห็นพระสงฆ์ปรากฎตามสถานที่ต่างๆ รวมไปถึงตัวพระสงฆ์เองว่ารับรู้ถึงการกระทำและการมีอยู่ของตนเองอย่างไร
“ผมก็เหมือนคนทั่วไปที่สมัยก่อนเวลาเห็นพระเดินห้าง จะรู้สึกว่าไม่เหมาะสมเลยนะ ซึ่งตัวอย่างความรู้สึกแบบนี้เป็นเรื่องภายในของผม ผมจึงตั้งชื่องานภาพถ่ายชุดนี้ว่า”เรื่องส่วนตัว” เพราะมันเป็นเรื่องส่วนตัวของผม
และผมอยากแลกเปลี่ยนว่าเวลาเราเห็นภาพพระที่กำลังเดินห้างอยู่ ท่านอาจจะไปทำอะไรโดยมีจุดประสงค์ที่ดีก็ได้ และท่านจะเป็นพระที่บรรลุหรือยังไม่บรรลุก็เป็นเรื่องภายในของท่าน เป็นเรื่องส่วนตัวของท่าน
ขณะเดียวกันคนที่ได้เห็นภาพลักษณะนี้ แล้วประนาม มันก็เป็นเรื่องภายในของเขาที่จะรู้สึกไม่ดี หรือมีใจขุ่นมัว
พอผมทำงานชุดนี้เสร็จ ผมไม่ได้รู้สึกกับพระเหมือนเมื่อก่อน เวลาที่เห็นพระเดินห้าง เราเริ่มเข้าใจว่ามันมีปัจจัยแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย คนที่รู้สึกไม่ดีก็เป็นตัวเราเอง”
จัดแสดงในรั้ววัด เพื่อผู้ชมระดับชาวบ้าน
ภาพถ่ายชุดนี้เคยนำเสนอผ่านนิตยสารออนไลน์ของต่างประเทศ,บางส่วนถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร National Geographic Thailand
และเคยจัดแสดงเป็นนิทรรศการภาพถ่ายในสองแกลเลอรี่เล็กๆ ที่ คัดมันดู แกลเลอรี่ (กรุงเทพฯ) และ ART ASIA (จ.เชียงใหม่)
แต่เอกรัตน์ยังอยากจะเห็นภาพถ่ายชุดนี้ได้มีโอกาสจัดแสดงในที่สาธารณะ ที่ซึ่งผู้ชมระดับชาวบ้านสามารถเข้าถึงหรือคุ้นเคย โดยเฉพาะในรั้ววัด
“ผมมีไอเดียว่าอยากเอางานชุดนี้ ไปจัดแสดงในห้องที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนกราบไหว้ มีบรรยากาศของพุทธแบบที่คนเขาเข้าใจ ซึ่งมันจะแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งกัน ระหว่างภาพถ่ายและบรรยากาศของสถานที่ ผมก็เลยพยายามหาว่าจะมีวัดไหนที่จะยอมให้ผมจัดนิทรรศการบ้าง”
จนในที่สุดสถานที่มาลงเอยที่ วัดป่าบ้านค้อ จ.อุดรธานี ช่วงเวลาที่กำลังมี “งานสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ”
เอกรัตน์บอกถึงเหตุผลที่ต้องเป็นวัดทางภาคอีสานวัดนี้ว่า
“เพราะเป็นวัดต้นสังกัด ของวัดไทยที่นิวยอร์กที่ผมไปถ่ายภาพ และที่ผ่านมาไม่มีวัดที่ไหนให้จัดเลย
อย่างที่เชียงใหม่ผมเคยไปขอแล้วแต่ไม่ได้ ที่พระท่านไม่ยอมให้ใช้สถานที่ ผมเข้าใจว่า น่าจะเป็นเรื่องของความอ่อนไหว
หรือวัดบางที่ก็จะถามก่อนเลยว่าพระในภาพท่านรู้ตัวไม๊ว่าเราจะถ่ายท่าน แล้วท่านรู้ไม๊ว่าเราจะเอามาใช้ หรือแม้แต่จะขอดูก่อนว่าจะใช้ภาพอะไรบ้าง และ caption ว่าอะไร
นอกจากนี้ผมยังเคยเอาไปให้พระผู้ใหญ่ที่ท่านมีชื่อเสียงดู ท่านแนะนำว่าถ้าจะแสดงก็ให้ไปปรึกษากระทรวงวัฒนธรรมก่อนนะ
แต่บังเอิญว่าวัดป่าบ้านค้อ เนื่องจากเป็นวัดต้นสังกัด จึงง่ายที่จะทำความเข้าใจ
แต่ว่าพระท่านก็ยังเป็นห่วงนะครับ แม้แต่พระในภาพของผมเอง”
คนไทยเข้าวัด แต่ห่างพระ
สิ่งที่เอกรัตน์คาดหวังจากการจัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้ นอกจากอยากนำเสนอวิถีชีวิตของพระสงฆ์ที่ทำหน้าที่สืบทอดและเผยแพร่พุทธศาสนาในต่างแดน ที่ต้องมีการปรับตัวตามหลังทางสายกลางเพื่อให้อยู่ให้ได้โดยมีความยากคือปัจจัยทางสังคม วัฒนธรรม ภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกำหนด
ภาพถ่ายของเขายังเพื่อกระตุ้นให้คนเข้าวัดพูดคุยกับพระสงฆ์ และสร้างความเข้าใจให้กับผู้ชมต่อพระสงฆ์ในมุมมองของความเป็นมนุษย์ผู้เลือกที่จะเดินตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
“ผมรู้สึกว่าเวลาที่คนเราเห็นภาพพระแล้วรู้สึกไม่ดี ผมรู้สึกว่า เป็นประสบการณ์ส่วนตัวนะครับ อาจเป็นเพราะว่าเราอยู่ห่างพระ เราไม่ได้เข้าไปพูดคุย ไม่ได้ไปแลกเปลี่ยนข้อมูล ไม่ได้รู้จักว่าพระในมุมมองของความเป็นมนุษย์เป็นอย่างไร
มีหลายคนพูดกับผมว่าถ้าตัดกิเลสไม่ได้ก็ไม่ต้องบวชสิ คือผมคิดว่าคนที่คิดแบบนี้ เค้ามองว่าพระเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปแล้ว และเวลาเราเข้าวัด เราก็ไปขอหวย เอาบุญอย่างเดียว แล้วก็กลับ
ซึ่งแตกต่างจากที่นิวยอร์ก คนไทยที่นู่นน้อยใช่ไม๊ครับ แล้วเวลาเข้าวัดเนี่ย เขาจะใช้เวลาเป็นครึ่งวันอยู่กับพระ พาลูกมาวัด เหมือนกับมองว่าวัดเป็นพื้นที่ๆทำให้รู้จักความเป็นไทยด้วย ผมก็เลยรู้สึกว่า การที่คนเห็นภาพพระ เช่นพระเดินห้าง แล้วรู้สึกไม่ดี เป็นเพราะว่าเขาห่างพระ”
นิทรรศการภาพถ่าย เรื่องส่วนตัว (It's Personal) โดย เอกรัตน์ ปัญญะธารา จัดแสดงใน งานสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ ระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม พ.ศ. 2558 ณ พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อทูล ชั้น2 วัดป่าบ้านค้อ จ.อุดรธานี
วันที่ 1- 4 มีนาคม นอกจากเอกรัตน์จะไปคอยแลกเปลี่ยนและตอบคำถามผู้ที่สนใจเรื่องการถ่ายภาพ
วันที่ 4 มีนาคม เวลา 09.30 น. ยังมีกิจกรรมเสวนาพิเศษในหัวข้อ "มุมมองต่อพระสงฆ์กับโลกวัตถุนิยม" ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนทัศนคติกันระหว่าง พระสงฆ์ ,ช่างภาพ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ
“ว่าไปแล้วเสวนาคือสิ่งที่อยากจัดที่สุด คือผมได้ไอเดียมาจากตอนที่นำภาพถ่ายไปจัดแสดงในแกลเลอรี่ที่เชียงใหม่ ซึ่งที่นั่นมีวิทยาลัยสงฆ์อยู่ด้วย แล้วเราก็ไปเชิญพระที่มาบวชเรียนที่นั่น ทั้งมาจากต่างประเทศอย่าง พม่า ลาว ฯลฯ และ เชิญอาจารย์ที่เป็นฝรั่ง ทำหน้าที่สอนพระในวิทยาลัยสงฆ์มาร่วมด้วย
ผมว่ามันจะเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ระหว่างคนกับพระซึ่งสำคัญมาก ถ้าคนบอกว่าเรารู้สึกไม่ดีกับพระ เพราะว่าเราห่างกับพระ ถ้าอย่างนั้นกิจกรรมก็จะเป็นพื้นที่ให้เขาได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกัน อาจจะดีกว่าดูภาพถ่ายของผมด้วยซ้ำครับ เพราะว่ามันถามกันได้เลย”
ธรรมกายในมุมมองช่างภาพ
แต่เมื่อถูกถามว่า เขามีความเห็นต่อกรณีข่าววัดธรรมกาย อย่างไร เอกรัตน์ตอบว่า
“สำหรับผม ผมรู้สึกว่า หากพระท่านจะถึงไม่ถึง บรรลุหรือไม่บรรลุ มันก็เป็นเรื่องของท่าน แต่คงจะบอกสังคมไทยว่าไม่ให้ไปตรวจสอบก็ไม่ได้ เพราะมันก็มีขั้นตอนของมันอยู่แล้ว
ผมคิดว่าเราคนไทย คาดหวังว่าพระของเราจะบรรลุ จะปฏิบัติดี เป็นที่เลื่อมใส ซึ่งสุดท้ายท่านจะตัดอะไรได้ทั้งหมดหรือไม่ได้มันอยู่ที่ท่าน
ผมไม่ได้มีข้อมูลมากพอในเรื่องธรรมกาย ผมก็เหมือนคนทั่วไปที่เคยได้ยินว่าธรรมกายอย่างนู้น อย่างนี้ อย่างนั้น
ผมทำงานสื่อก็จริง แต่ไม่ใช่สื่อกระแสหลักที่จะคอยจับประเด็นที่มันรุนแรงหรือว่าร้อนมากๆ และผมคิดว่าประเด็นแบบนั้นมีคนทำเยอะแล้ว ผมก็เลยทำอย่างอื่นที่มันแตกต่างออกไป แล้วโยนคำถามเข้าไปในสังคมดีกว่า
ผมคงไปบอกใครไม่ได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ถ้าเกิดว่าเขาทำแล้วสบายใจ ผมว่ามันก็เป็นผลดีต่อตัวเขานะครับ แต่ถ้าทำแล้วไม่สบายใจก็ไม่ต้องทำ ก็แค่นั้นเองครับ”
TEXT : อ้อย ป้อมสุวรรณ
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews