ART EYE VIEW---ในวันแรกของการเปิดนิทรรศการ Chihiro Iwasaki and Picture Book of Japan - from the Chihiro Art Museum Collection ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ใครหลายคนหยิบหนังสือเล่มโปรดของตัวเองติดใส่กระเป๋ามาด้วย
เพราะนิทรรศการนี้ไม่เพียงจัดแสดงประวัติหนังสือภาพของญี่ปุ่น ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงสมัยสงคราม และหลังสงคราม
แต่ยังมีส่วนที่จัดแสดงผลงานของ ชิฮิโระ อิวาซากิ( Chihiro Iwasaki) ผู้เป็นเจ้าของภาพวาด ที่ถูกนำมาใช้เป็นภาพประกอบ “โต๊ะ โตะ จัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง” วรรณกรรมเยาวชนของญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงโด่งดังและได้รับการแปลเป็นหลายภาษาทั่วโลก
วาดวัยเยาว์
คาซุฮิโระ ฟุคุดะ ผู้อำนวยการ เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ หน่วยงานซึ่งร่วมกับ พิพิธภัณฑ์ศิลปะชิฮิโระ ประเทศญี่ปุ่น นำผลงานของชิฮิโระ มาจัดแสดงครั้งนี้กล่าวว่า
คนไทยส่วนใหญ่อาจรู้จักผลงานของเธอผ่านหนังสือ เล่มดัง แต่ความจริงแล้วผลงานของเธอยังปรากฎอยู่ในหนังสือภาพและวรรณกรรมเยาวชนของญี่ปุ่นอีกหลายเล่ม รวมถึงเล่มอื่นๆที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยเช่นกัน อาทิ เก้าอี้กับเด็กหญิงอีดะ
“ชิฮิโระ มีชื่อเสียงโด่งดังมากในญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศ สิ่งที่ทำให้ผลงานของเธอเป็นที่จดจำและระลึกถึงเสมอคือ
ภาพวาดสีน้ำของเด็กๆในอากัปกิริยาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขณะที่กำลังเล่น หรือ มีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์ต่างๆ รวมถึงการเลือกใช้สีที่สดใสเหมือนกับวันเยาว์ของเด็กๆ
ไม่ต่างจากที่เธอเคยกล่าวไว้ว่า...ขณะที่กำลังวาดภาพของเด็กๆ ฉันรู้สึกราวกับกำลังวาดภาพวัยเยาว์ของฉันเอง
และขณะเดียวกันภาพวาดของเธอก็ซ่อนไว้ซึ่งความปรารถนาที่จะให้เกิดสันติภาพ ของเด็กๆในยุคสมัยสงคราม”
โลกของเด็กต้องไม่มีสงคราม
การจัดนิทรรศการแสดงผลงานของชิฮิโระ ครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมๆกับการมาเยือนของ ยูโกะ ทาเคะซาโกะ รองผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ศิลปะชิฮิโระ ที่นอกจากจะมาทำหน้าที่เล่าเรื่องหนังสือภาพของญี่ปุ่นในช่วงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาราว 1,300 ปี เธอยังทำให้เราได้ทำความรู้จักชิฮิโระ มากกว่าภาพวาดที่ถูกใช้ประกอบหนังสือ “โต๊ะ โตะ จัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง”
โดย 'ยูโกะ' ได้เล่าถึง 'ชิฮิโระ' ผู้จากโลกนี้ไปแล้วเมื่อปี 1974 แต่เสน่ห์แห่งวัยเยาว์ในภาพวาดของเธอยังคงร่าเริงอยู่ในหัวใจของหลายๆคนว่า
ชิฮิโระ มีคุณพ่อเป็นสถาปนิกของกองทัพบก มีคุณแม่เป็นครู สมัยสงคราม คุณแม่ของเธอรับหน้าที่เป็นผู้จัดหาเด็กสาว เพื่อส่งไปแต่งงานกับนักบุกเบิก ที่เดินทางไปประเทศจีน
ทำให้เธอเติบโตขึ้นมาในสภาพที่ถูกเลี้ยงดูมาในสังคมที่ไม่ลำบากในช่วงสงคราม มีชีวิตที่มีความสมบูรณ์พูนสุข ได้รับการศึกษาที่ดี
ในระหว่างสงคราม เธอเคยเป็นหนึ่งในบรรดาสุภาพสตรีญี่ปุ่น ในคณะบุกเบิก ที่เดินทางไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ในส่วนที่ติดกับชายแดนโซเวียต เพื่อทำหน้าที่ในฐานะครูสอนการเขียนพู่กัน
และในวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 ที่โตเกียวมีการทิ้งระเบิดทางอากาศขนาดใหญ่ ทำให้เธอต้องหนีหัวซุกหัวซุน ขณะที่บ้านก็ถูกเผา แต่เธอกลับรอดชีวิตมาได้อย่างปาฏิหารย์
กระทั่งสงครามสิ้นสุดลง ทำให้เธอย้อนนึกถึงสภาพความยากลำบากของการดำเนินชีวิตในช่วงสงคราม และตั้งคำถามว่าทำไมถึงได้เกิดสงครามขึ้น
รวมถึงเป็นช่วงที่ตัดสินใจที่จะมีชีวิตในฐานะนัดวาดภาพที่ต้องการถ่ายทอดด้วยความหวังว่า ต้องการให้สันติภาพเกิดขึ้น ไม่ต้องการให้เด็กทุกคนในโลก ได้พบกับสงครามอีก
ในความคิดของเธอนั้น ความสุขของเด็กๆจะส่องประกายในโลกที่ปราศจากสงคราม,เด็กๆ เป็นสัญลักษณ์ของความสงบสุข และเธอก็ได้ผลิตผลงานจากความหวังที่ฝันถึงสันติภาพ
แม้ว่าภาพวาดของเธอส่วนใหญ่จะเป็นภาพของเด็กๆที่น่ารัก แต่เธอก็มีผลงานหนังสือภาพ 3 เล่ม ที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับสงคราม
ได้แก่ When I was a Child(ตอนที่เราเป็นเด็ก) ผลงานภาพวาดที่เกี่ยวกับเด็กที่โดนกัมมันตภาพรังสี จากการทิ้งระเบิดปรมาณู ที่ฮิโรชิม่า ,Mother is not at Home (เมื่อแม่ไม่อยู่) เล่าเรื่องคุณแม่ที่ต้องไปเป็นทหาร ในสงครามเวียดนาม และChildren in the Flames of War (เด็กในไฟสงคราม)
“หนังสือภาพทั้ง 3 เล่ม ของเธอไม่ได้กล่าวออกมาตรงๆว่า คัดค้านสงคราม แต่จากภาพวาดแต่ละภาพของเธอ ทำให้รู้สึกได้ว่า เด็กๆต้องพบกับความลำบากยากเข็ญขนาดไหนเมื่อเกิดสงคราม”
ตัวอย่างเช่น ภาพใบหน้าของเด็กๆในกลีบดอกไม้สีแดง แต่ละกลีบที่ร่วงโรยไป เปรียบเหมือนชีวิตของเด็กๆที่ต้องสูญเสียไป ,ภาพของหนูน้อยที่จากไปอย่างรวดเร็วราวสายลม ,ภาพเช้าที่ระเบิดตกลงมาจากฟ้า ซึ่งเป็นภาพของพ่อแม่กำลังค้นหาลูกของตัวเอง
และภาพของแม่กับลูกที่อยู่ท่ามกลางเปลวไฟ ในอ้อมกอดของแม่มีเด็กทารกคนหนึ่งที่มีสีหน้าไร้เดียงสา โดยภาพนี้ปรากฎอยู่ใน Children in the Flames of War (เด็กในไฟสงคราม) ผลงานหนังสือภาพเล่มสุดท้ายในชีวิตของ ชิฮิโระ
“ผลงานเหล่านี้สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกเงียบๆของชิฮิโระ เวลามองภาพ เหมือนภาพได้ถามคนที่ดูภาพนี้ให้ได้คิดขึ้นมาว่า
พวกเราที่เป็นผู้ใหญ่ ควรจะมีชีวิตอย่างไรเพื่อเด็ก หรือเรามีหน้าที่อะไรต่ออนาคตของเด็ก”
อดีตนักข่าว ชอบเสเก็ตช์ภาพสิ่งที่สนใจรอบตัว
หลายคนที่เป็นแฟนผลงานชิฮิโระ และตั้งใจว่าจะไปชมผลงานของเธอซึ่งถูกนำมาจัดแสดง ขอแนะนำว่า ผลงานส่วนหนึ่งของเธอ ถูกจัดแสดงเพื่อเป็นการเชื้อเชิญผู้ชมพอหอมปากหอมคอ ณ บริเวณผนังโค้งของ ชั้น 3 หอศิลป์ กทม.(ใกล้กับทางเชื่อม BTS) ขณะที่ส่วนจัดแสดงหลักอยู่บริเวณผนังโค้ง ชั้น 5
ผลงานที่นำมาจัดแสดงไม่ใช่ผลงานต้นฉบับ แต่เป็นผลงานภาพพิมพ์เทคนิคไพโซกราฟ(Piezograph) ที่มีการจำลองสัดส่วนและสีให้ใกล้เคียงกับผลงานต้นฉบับมากที่สุด
ใครที่อยากชมผลงานต้นฉบับต้องไปชมที่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะชิฮิโระ ประเทศญี่ปุ่น นอกจากผลงานของชิฮิโระ ยังมีผลงานหนังสือภาพจากศิลปินทั่วโลกจัดแสดงอยู่ด้วย(เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2557 พิพิธภัณฑ์มีผลงานของชิฮิโระอยู่ราว 9,450 ชิ้น และผลงานอีก 17,300 ชิ้น ที่วาดโดยศิลปิน 203 คน จาก 33 ประเทศ)
บริเวณผนังโค้ง ชั้น 5 ไล่จัดแสดงนับตั้งแต่ประวัติของชิฮิโระ และผลงานภาพวาดที่ถูกนำประกอบหนังสือ “โต๊ะ โตะ จัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง” ฉบับที่ได้รับการตีพิมพ์มานานกว่า 35 ปี รวมถึงผลงานภาพวาดที่จะใช้สำหรับ “โต๊ะ โตะ จัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง” หนังสือภาพ 2 เล่ม ที่เพิ่งได้รับการตีพิมพ์ที่ญี่ปุ่น ล่าสุดในปีนี้ และกำลังถูกแปลเป็นภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ
ถัดมาเป็นส่วนที่จัดแสดงผลงานภาพสเก็ตช์ที่ชิฮิโระ สเก็ตช์ภาพตัวเอง ในขณะที่กำลังใช้มือกุมศรีษะ เพราะช่วงนั้นเธอกำลังเครียด
เนื่องจากเป็นช่วงที่สงครามกำลังจะสิ้นสุดลง ช่วงที่สับสนว่าจะสามารถดำรงชีวิตเป็นนักวาดภาพอย่างเดียวไปได้ตลอดไหม และก่อนที่จะมาเป็นนักวาดภาพ มีผลงานหนังสือภาพ เธอเคยทำงาน เป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์และเคยวาดภาพเป็นอาชีพเสริม
แม้เธอจะได้รับคำชมว่าเป็นคนที่วาดภาพเก่ง มาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ไม่เคยเข้าเรียนในโรงเรียนสอนศิลปะ
ทว่าในชีวิตประจำวัน เธอจะมีสมุดสเก็ตช์อยู่ในมือตลอด และลูกชายของเธอก็มักจะเล่าสมอว่า “แม่จะถือสมุดสเก็ตช์ และวาดภาพอยู่ตลอดเวลา”
ดังนั้นในนิทรรศการยังมีภาพที่เธอได้สเก็ตช์ภาพผู้คนที่กำลังเบียดเสียดอยู่ในรถไฟ มาให้ชมด้วย พร้อมกับภาพสามีที่กำลังนอนหลับและภาพของทาเคชิ ลูกชายคนเดียวของเธอ
กล่าวกันว่า ชิฮิโระ อิวาซากิ เป็นคนที่รักเด็กมาก แม้กระทั่งลูกชายคนเดียวของเธอ เธอยังไม่เคยดุไม่เคยด่า
ในภาพที่เธอสเก็ตซ์ภาพลูกชายจะมีตัวหนังสือตัวเล็กๆเขียนไว้ด้วยว่า “ทาเคชิ ที่น่ารักของฉัน”
ผลงานในส่วนนี้จึงต้องการบอกให้ทราบว่าก่อนที่เธอจะมีผลงานปรากฎอยู่ในหนังสือภาพกว่า 40 เล่ม เธอเริ่มจากการสเก็ตช์ภาพจากสิ่งที่เธอสนใจรอบตัวก่อน
อวดภาพวาดจากหนังสือภาพเล่มสำคัญ
จากนั้นในส่วนถัดมา จึงเป็นการจัดแสดงผลงานภาพวาดเทคนิคสีน้ำที่เลือกมาจากผลงานหนังสือภาพทั้งหมดในชีวิตของเธอ และเรียงให้ชมตามยุคสมัย
เริ่มตั้งแต่ผลงานที่ถูกใช้ประกอบในหนังสือภาพยุคแรกๆของเธอ อาทิ ภาพวาดในหนังสือภาพเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กชายคนหนึ่งซึ่งอยู่ในวัยใกล้เคียงกับลูกชายของเธอ ณ ขณะนั้น ผู้กำลังทดลองทำสิ่งต่างๆที่ง่ายๆในชีวิตประจำวันด้วยตัวเอง
ก่อนจะมาเป็นหนังสือภาพเล่มนี้ บรรณาธิการทราบมาว่า เธอสามารถวาดภาพเด็กได้ดี ก็เลยไปขอให้นักเขียนคนหนึ่ง ช่วยเขียนเรื่องที่เล่าเกี่ยวกับชีวิตของเด็ก และให้เธอทำหน้าที่วาดภาพประกอบ
จากเล่มแรก จากนั้นเธอก็ยังมีภาพวาดประกอบอยู่ในหนังสือภาพอีก 2 เรื่องของนักเขียนคนเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องของเด็กหลายคนที่อยู่ในโรงเรียนอนุบาล กระทั่งหนังสือภาพรวมทั้ง 3 เล่มนี้ ทำให้เธอมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากขึ้นในฐานะที่เป็นผู้วาดภาพเด็ก
ภาพแต่ละภาพมีการใช้สีที่มีความละเอียด และเธอได้ใส่ใจและทุ่มเท กว่าจะออกมาเป็นภาพหนึ่งภาพ
จากผลงานในยุคแรกเริ่ม ผู้ชมจะเริ่มได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในผลงาน เช่น ภาพที่ใช้ประกอบนิทานพื้นบ้านของญี่ปุ่นที่ชื่อ “เจ้าสาวนกกระเรียน” ซึ่งในการวาดสีน้ำมีการใช้น้ำมากเป็นพิเศษมาผสมสี และภาพที่วาดออกมาไม่เกิดเป็นเส้นขอบ
ถัดมาอีกเป็นผลงานที่ประกอบที่อยู่ในรวมวรรณกรรมแอนเดอร์สัน ไปจนถึงภาพที่ถูกใช้หนังสือภาพ ที่เธอเริ่มเป็นคนเขียนเนื้อเรื่องด้วยตัวเอง
ผลงานหนังสือภาพที่เธอวาดภาพเองและเขียนเรื่องเอง และมีตัวเอกเป็นเด็กผู้หญิง มีทั้งหมด 6 เล่มด้วยกัน
ตัวอย่างเช่น ภาพของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ใช้วิตอยู่คนเดียวในวันที่ฝนตก ทำนองถูกแม่ทิ้งให้อยู่ที่บ้านคนเดียว ในขณะที่มีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น เด็กผู้หญิงคนนี้ก็ตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับดี
ในส่วนนี้บอกถึงลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งในผลงานภาพวาดของเธอคือ จะทิ้งที่ว่างไว้ในผลงานเยอะๆ หรือวาดภาพลงไปเพียงส่วนเดียวของหน้ากระดาษทั้งแผ่น
หรือจะเป็นภาพวาดเด็กหญิงที่กำลังโทรศัพท์ ไปหาบุคคลต่างๆที่อยู่ในจินตนาการของเด็ก รวมถึงพระอาทิตย์ เป็นภาพที่เธอวาดให้กับเรื่องของนักเขียนมีชื่อเสียงคนหนึ่ง ซึ่งเธอสามารถวาดภาพประกอบเรื่องได้อย่างสมดุล
ถัดมาเป็นภาพที่เธอวาดประกอบเรื่องที่เธอเป็นคนเขียนเรื่องเอง เเกี่ยวกับสุนัขที่ชื่อ “โบ๊ะจิ” เป็นฉากตอนที่เด็กผู้หญิงในเรื่องไปเที่ยวบ้านยายที่อยู่ต่างจังหวัด แล้วเธอก็คาดหวังว่าจะได้เจอสุนัขตัวนี้ที่บ้านคุณยาย รอตั้งนานในที่สุดสุนัขก็ออกหมา ซึ่งทำให้เธอกรู้สึกมีความสุข รีบวิ่งไปเล่นกับสุนัข
เนื้อเรื่องไม่ได้มีความซับซ้อนอะไร เล่าชีวิตประจำวันทั่วไป แต่มีวัยเด็กของผู้วาดอยู่ในนั้นด้วย นั่นคือ การได้เฝ้ารอบางอย่าง และดีอกดีใจ เมื่อสิ่งเฝ้ารอนั้นได้เกิดขึ้น
จนมาสู่ผลงานที่แสดงให้เห็นว่าภาพวาดของเธอมีลักษณะการวาดที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น มีการใช้พู่กันที่มีขนาดใหญ่ขึ้น นำมาป้ายเพื่อให้เกิดเป็นภาพที่มีลักษณะเจือจาง
และสิ้นสุดที่ผลงานที่ปรากฎอยู่ในหนังสือภาพในช่วงสุดท้ายของชีวิต นั่นคือหนังสือภาพ 3 เล่มที่เกี่ยวกับสงครามดังที่กล่าวมา เป็นหนังสือภาพที่ไม่ได้มีการเล่าเรื่องใดๆ แต่มีข้อความสั้นๆใต้ภาพที่เป็นการสะท้อนความรู้สึกของเธอที่มีต่อสงคราม
ซึ่งผู้นำชมนิทรรศการบอกเล่าเพิ่มเติมาว่า "ในช่วงที่เธอทำหนังสือภาพเล่มที่ชื่อ Children in the Flames of War (เด็กในไฟสงคราม) เป็นช่วงที่เกิดสงครามเวียดนาม ความรู้สึกที่มีต่อสงครามเวียดนาม ถูกนำมาซ้อนกับประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีต นั่นคือช่วงที่เธอเคยมีประสบการณ์ที่เลวร้ายจากสงครามโลก ครั้งที่ 2 จนออกมาเป็นหนังสือภาพเล่มนี้"
มากกว่า “โต๊ะ โตะ จัง เด็กน้อยข้างป่องเยี่ยม”
ผุสดี นาวาวิจิต ผู้คลุกคลีกับผลงานด้านหนังสือเด็กมาตลอด และเป็นผู้แปลหนังสือ “โต๊ะ โตะ จัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง” มาเป็นภาษาไทย เมื่อ 30 ปีก่อน และเป็นผู้กำลังแปลหนังสือภาพ 2 เล่มล่าสุด ในชื่อเดียวกัน ได้เดินทางมาชมนิทรรศการครั้งนี้ด้วย
นอกจากบอกเล่าย้อนความหลังให้ฟังในช่วงเวลาที่แปลหนังสือ “โต๊ะ โตะ จัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง” ว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความสุข สนุกชนิดวางไม่ลงว่า
“ตอนนั้นยังไม่มีคอมพิวเตอร์ ใช้มือเขียนด้วยดินสอ ดินสอสวยๆ ต้องเหลาแหลมๆไว้เยอะๆเลย และแปลลงในสมุดที่ปกสีสวยๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง
แต่ละวันกว่าจะเสร็จงาน นิ้วกลางจะโดนดินสอเบียดจนกระทั่งเจ็บมาก แทบทนไม่ไหว และเมื่อกลับมาอ่านก็ยังสนุกทุกครั้ง”
ยังบอกถึงความน่าสนใจของภาพวาดของชิฮิโระ ที่ถูกมาใช้ประกอบเรื่อง “โต๊ะ โตะ จัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง” ซึ่งเขียนโดย เท็ตสึโกะ คุโรยานางิ ด้วยว่า
“เป็นเรื่องที่น่าประหลาด เพราะคนวาดภาพเสียชีวิตตั้งแต่ปี 1974 แต่หนังสือเล่มนี้เขียนปี 1981 นั่นแสดงว่าคนวาดภาพ เขาวาดภาพเกี่ยวกับเด็กไว้ได้อย่างสมจริงสมจังมากเลย และครบถ้วนมาก”
นั่นคือ เท็ตสึโกะ ผู้แต่งเรื่อง ไม่เคยเจอกับ ชิฮิโระ ผู้วาดภาพซึ่งเสียชีวิตไปก่อน แต่ได้ทราบว่า ชิฮิโระ วาดภาพเด็กเอาไว้มากมาย และในเวลาที่ เท็ตสึโกะแต่งเรื่อง ก็จะนึกถึงภาพวาดของ ชิฮิโระ ไปด้วย จากนั้นเมื่อแต่งเสร็จก็เลยไปขอภาพมาใช้ประกอบหนังสือ
“ภาพวาดเด็กของ ชิฮิโระ เป็นภาพที่วาดด้วยสีน้ำ โดยไม่ต้องร่างเลย ไม่มีร่องรอยของดินสอเลย และเป็นภาพที่สวยงาม มีอารมณ์ของอิริยาบถของเด็กอย่างแท้จริง และเป็นภาพที่ทำให้เห็นถึงความแตกต่างของเด็กต่างวัย
เหมือนกับเธอวาดภาพตัวเองในวัยต่างๆ ตั้งแต่ทารกจนถึงประถม ผลงานของเธอ ดิฉันคิดว่าหลายคนเคยเห็นมาบ้าง แต่นิทรรศการครั้งนี้ มีมาให้ดูเยอะแยะ”
ผุสดี เชิญชวนให้ทุกคนมาชม ที่ไม่เพียงแต่ภาพวาดที่ใช้ประกอบหนังสือเล่มดังที่เธอเคยทำหน้าที่เป็นผู้แปล ( ซึ่งนักเขียนลาว “เอื้อยดวงเดือน” เคยนำไปแปลเป็นภาษาลาว และตีพิมพ์ให้คนลาวอ่านเป็นตอนๆใน หนังสือชื่อ “วรรณศิลป์” ของ หอสมุดแห่งชาติลาว ในชื่อ "โต๊ะ โตะ จัง เด็กน้อยข้างป่องเยี่ยม" )
แต่ยังรวมถึงภาพวาดจากหนังสือภาพเล่มอื่นๆของ ชิฮิโระ อิวาซากิ ที่ถูกนำมาจัดแสดงที่ประเทศไทยครั้งนี้ ซึ่งทุกคนไม่ควรพลาดมาชม
นิทรรศการ Chihiro Iwasaki and Picture Books of Japan วันนี้ - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ณ ผนังโค้ง ชั้น 3 - 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
Text & Photo : : อ้อย ป้อมสุวรรณ
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews