xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ ชีวิตหลังรัฐประหาร “อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” คุณชายนักไฮด์ปาร์กแห่ง กปปส.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


>>“ต่อให้นานเพียงใด รักแท้ก็ยังคงเป็นรักแท้ ไม่มีวันจะแปรหรือน้อยลงไปตามเวลา” ได้ยินเสียงเพลงนี้ดังขึ้น คนทั่วไปอาจจะนึกถึงภาพคุณชายทั้ง 5 ราชสกุลจุฑาเทพจากละครซีรีส์ย้อนยุคเรื่องดัง แต่สำหรับใครๆ อีกหลายคน เพลงนี้กลับทำให้เขานึกถึงอีกชายหนุ่มอีกท่าน ที่มากับภาพลักษณ์สวมแว่นผมเสยกับมาดเนี้ยบๆ ทุกครั้งที่ก้าวขึ้นเวทีปราศรัย อย่างคุณชายนักไฮด์ปาร์กแห่ง กปปส. “อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี

วันนี้ “คุณเอ๋-อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” เปิดบ้านเรือนไทยหลังงามย่านรัชดา ต้อนรับ Celeb Online เข้าไปพูดคุยกันอย่างเป็นกันเอง ถึงเรื่องราวในหลากหลายแง่มุมที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดของนักการเมืองรุ่นใหม่ กิจกรรมสุดโปรดที่แสนจะเข้ากับมาดคุณชาย และที่สำคัญคือ แนะนำให้เรารู้จักแหล่งกำลังใจสำคัญอย่างภรรยาสาวสวย “คุณบี-พิณ (บูรพชัยศรี) สุวรรณภักดี” และน้องพริม ลูกสาววัย 4 ขวบ กับน้องพร้อม ลูกชายวัยเพียง 1 ขวบ 7 เดือน สมาชิกครอบครัวที่แสนน่ารักผู้คอยสนับสนุนและเอาใจช่วยในทุกย่างที่ก้าวเดิน

ชีวิตหลังการรัฐประหาร

“ช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่ว่างที่สุดตั้งแต่ก้าวเข้ามาสู่อาชีพนักการเมืองมากว่า 8 ปีก็ว่าได้ ผมจึงมีเวลาให้กับครอบครัวมากหน่อย เดือนที่ผ่านมาเรียกได้ว่าเป็นเดือนแห่งการเที่ยวเลย ทั้งเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ เป็นช่วงเก็บเกี่ยวประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนี้อย่างเต็มที่” อรรถวิชช์กล่าวเมื่อเราเริ่มเปิดประเด็นถึงชีวิตหลังการรัฐประหาร

“โดยนอกจากเที่ยวแล้วก็มองแผนระยะไกลไว้ด้วย เริ่มคุยๆ กับภรรยาเรื่องหันมาพัฒนาที่ดินที่ถือครองอยู่ เพราะก่อนหน้านี้ผมกับภรรยาหาซื้อที่เก็บไว้เรื่อยๆ แต่ยังไม่ได้ทำอะไรเพราะงานทางการเมืองผมก็ยุ่งมาก ตอนนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะเอามาปัดฝุ่น ดูว่าจะไปพัฒนาเป็นอะไรได้บ้าง จะทำตึกหรือคอนโดมิเนียม หรือโครงการอะไร แต่อีกใจหนึ่งก็กลัวเหมือนกันว่า สถานการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เพราะก็ต้องยอมรับว่า เหตุการณ์บ้านเรามันยังไม่นิ่งสงบจริงๆ ถ้าเกิดลงมือทำโครงการไปแล้ว มันมีการเปลี่ยนแปลงอีกก็จะลำบาก

คือถ้าเมื่อไรกลับมาสู่ระบบเลือกตั้งอีก ผมก็ต้องกลับมาโฟกัสทางการเมือง ซึ่งเรื่องของธุรกิจก็อาจจะต้องหยุดไป เพราะจะให้ผมทำงานการเมืองไปพร้อมกับการทำธุรกิจนี่ผมไม่อยากทำ เพราะแค่งานการเมืองอย่างเดียวก็หนักอยู่แล้ว มันต้องทุ่มเทเวลาและพลังงานค่อนข้างมาก ทำงานเต็ม 7 วัน แบบไม่มีวันหยุด อย่างที่ทำมาตลอด 8 ปี”

ถึงแม้ช่วงนี้ที่เกิดการรัฐประหาร แต่อดีตผู้แทนคนนี้ก็ไม่ได้หยุดทำงานเหมือนกับสถานการณ์การเมืองที่ยุดนิ่งไปด้วย แต่ก็ยังมีภาระหน้าที่ให้ทำอยู่ทุกวัน

“การเป็น ส.ส. มันไม่มีวันหยุดครับ เราต้องดูแลประชาชนในพื้นที่อยู่ตลอด และอีกอย่าง ในเขตผมนี่ ทั้ง ส.ก. และ ส.ข. ก็เป็นทีมงานของเรา ก็ต้องมีการประชุมพูดคุย ช่วยกันแก้ปัญหาต่างๆ อย่างโครงการก่อสร้าง หรือพวกทำถนนอะไรที่เราเคยเริ่มไว้ตอนอยู่ในตำแหน่ง เราก็ต้องคอยตามงาน คอยดูความคืบหน้า ดูแลให้งานต่างๆ ดำเนินการได้สำเร็จและรวดเร็ว ไม่ใช่หมดหน้าที่ก็ไม่สนใจ เพราะที่ผมทำไม่ใช่ทำเพราะตำแหน่ง แต่เราทำเพราะอยากให้ความเป็นอยู่ของคนในชุมชนเราดีขึ้นอย่างแท้จริง

อย่างช่วงหน้าฝนนี้ พอมีการทำถนนมันก็ดินเละ เป็นหลุมบ่อ เดินทางลำบาก เราก็ต้องเข้าไปช่วยร้องเรียนให้ผู้มีอำนาจลงมาดูแลแก้ไขปัญหา เพราะเราก็เป็นคนที่พอจะเป็นปากเป็นเสียงให้เขาได้ รู้ว่าต้องเข้าไปคุยกับใคร หน่วยงานไหน และยังมีคนเกรงใจบ้าง ถ้าปล่อยให้ชาวบ้านไปร้องเรียนเองมันสำเร็จยาก

หรืออย่างในเรื่องมหภาค ผมก็ยังติดตามอยู่ ทั้งเรื่องพลังงาน และโครงการจำนำข้าว เราก็เข้าไปช่วยให้ข้อมูลทีมงานของ คสช. ที่ทำเรื่องเหล่านี้ เพราะผมตามเรื่องนี้มานาน มีข้อมูลเยอะ แต่จะให้เข้าไปช่วยเต็มตัวก็คงไม่ เพราะยังไงผมก็เป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้าจะให้กลับเข้าไปทำงานก็จะเข้าไปด้วยวิธีเลือกตั้งเท่านั้น นั่นคือสิ่งที่ตั้งใจ ตอนนี้เลยทำได้แค่ให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ช่วยประคองไป อย่างปัญหาจำนำข้าว ก็เข้าไปแนะนำว่าในทางการคลังแล้ว ควรจะจ่ายเงินชาวนาอย่างไรให้เร็ว ช่องทางไหนเหมาะสม จากประสบการณ์ที่เราศึกษาและทำงานด้านนี้มา”

กปปส. จุดเปลี่ยนของความคิด

“ตั้งแต่เป็นนักการเมืองมา ผมเป็น ส.ส.รัฐบาล 1 ครั้ง และเป็นฝ่ายค้าน 3 ครั้ง โดยผมก็ได้รับหน้าที่ให้เป็นผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจทุกครั้ง สิ่งไหนไม่ดีหรือรัฐบาลทำเกินเลยไป เราก็เอามาตีแผ่ในการไม่ไว้วางใจซึ่งผมทำเต็มที่ทุกครั้ง แต่ผลตอบรับที่ได้คือการโดนด่าว่า ดีแต่พูด ดีแต่ค้าน ผมก็งงว่า อ้าว... ก็นั่นมันหน้าที่ผมอ่ะ คุณจะให้ผมไปทำอะไร ผมไม่ได้มีอำนาจ แต่เป็นฝ่ายตรวจสอบให้การดำเนินงานมันเป็นไปด้วยความสุจริต

แล้วเราก็อดนึกไม่ได้ว่า คนที่พูดว่าเรานี่เขารู้หรือเปล่าว่า ทุกครั้งที่เปิดเผยเรื่องทุจริตพวกนี้ เราได้รับผลเสียกลับมาที่ธุรกิจครอบครัวเราขนาดไหน อย่างโดนกลั่นแกล้งจากระบบราชการ เพราะเหมือนเราประกาศเป็นศัตรูกับเขา ไปขัดขาคนมีอำนาจนี่มันไม่ง่ายนะครับ แต่ผมก็สู้เต็มที่ทุกครั้ง ไม่ว่าจะโดนผลกระทบอะไรหนักแค่ไหน ยังคงตั้งมั่นว่า “กูจะสู้กับมึง”

แต่ทำไมสิ่งที่ได้กลับมาคือการโดนด่า เริ่มคิดว่าเราเหมือนคนบ้าพูดอยู่คนเดียว เริ่มเกิดคำถามกับตัวเองว่า อาชีพนี้มันใช่เราหรือเปล่าเนี่ย การเมืองมันเหมาะกับเราไหม อายุเราก็ยังน้อย ไปทำอย่างอื่นดีกว่าไหม ยิ่งช่วงท้ายรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ในการอภิปรายพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ผมอภิปรายเป็นคนสุดท้าย ได้พูดตอนตี 3 แต่ก็สู้สุดฤทธิ์ ใส่เต็มเกียร์เลย แต่ผลก็อย่างที่เห็น มันทำให้กลับมานั่งนึกว่า นี่กูบ้ารึเปล่าวะ ทำเต็มที่ขนาดนี้แล้วมันได้อะไร? เขาก็โหวตชนะตามฟอร์ม

จุดที่ทำให้เรากลับมามุ่งมั่นได้อีก ก็ตอน กปปส. นี่แหละ มันทำให้เรารู้ว่า มีคนอีกมากมายที่อยากเห็นบ้านเมืองเราดีขึ้น คนที่พร้อมจะสู้ไปกับเรามันมีอีกเยอะ คือ You’ll never walk alone จริงๆ

เวลาเดินขบวนไปกับกำนันสุเทพเนี่ย ริมทางมีคนมารอยื่นแบงก์พันให้เป็นปึก 100,000 บาทใส่ถุง เราก็ถามเขาว่าพี่ชื่ออะไรครับ จะได้จดชื่อประกาศให้ เขาบอกไม่ต้อง ไม่เป็นไรครับ ช่วยๆ กันครับ เจอแบบนี้ไม่รู้กี่ราย ภาพแบบนี้ผมไม่เคยเห็นมากก่อน เคยแต่ได้ยินในทางกลับกัน คือนักการเมืองเป็นฝ่ายจ่าย แต่อันนี้คือประชาชนเป็นคนเอาเงินมาให้ มันทำให้เราตระหนักชัดเลยว่ามีคนอีกเยอะที่พร้อมจะเสียสละ พร้อมที่จะยื่นมือมาช่วย ซึ่งที่จริงมันมีอยู่แล้ว แต่เรามองไม่เห็น เพราะมันไม่มีโอกาสให้แสดงออก ทำให้เราไม่ได้รับรู้ว่าจริงๆ มันมีพลังตรงนี้มากมายขนาดไหน

เมื่อได้สัมผัสการชุนนุม หรือการเคลื่อนไหวภาคประชาชนแบบจริงจัง มันรู้สึกโอ้โหเลยนะ เป็นกำลังใจดีๆ ที่อยากให้เราทำงานต่อ ไม่ใช่สิ... ไม่ใช่แค่ “อยาก” แต่เป็น “ต้อง” ทำต่อเลยแหละ เพราะเราเห็นแล้วว่า การเมืองที่ดีของประเทศไทย มันมีโอกาสเกิดแน่ๆ ประเทศไทยเรามีโอกาส มันเป็นจุดชาร์จพลังให้เรามีความหวัง และมีกำลังใจในการทำงานต่อไป”

กำลังใจสำคัญจากภรรยาข้างกาย

แม้คุณเอ๋จะทำงานหนัก ทำให้มีเวลาทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัวได้น้อยอย่างนี้ แต่ภรรยาอย่างคุณบีก็ไม่เคยน้อยใจ ไม่มีเรียกร้องแถมยังสนับสนุนอย่างเต็มที่อีกด้วย

บี : “คนทำอาชีพนี้ต้องเสียสละมากนะคะ ช่วงการเมืองปกติ คุณเอ๋เขาทำงาน 7 วัน เวลาครอบครัวเรามีน้อยมาก แต่บีก็เข้าใจเขา ไม่เคยขอ ไม่เคยเรียกร้องว่าต้องวันนั้นวันนี้เป็นวันครอบครัว อย่างวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ครอบครัวปกติเขาก็จะแบบเป็นวันหยุด ต้องเวลาของครอบครัว แต่ของเราก็ไม่มีตรงนี้”

เอ๋ : “เพราะงานอย่างผม มันไม่มีวันหยุด เรากำหนดไม่ได้ บางทีต้องไปงานศพ ไปงานนั่นนี่ ยิ่งรู้จักคนเยอะขึ้น ตารางเวลาส่วนตัวของเราก็ยิ่งน้อยลง ซึ่งมันเป็นธรรมดาของคนทำงานการเมืองนะครับ ผมโชคดีมาก ที่ได้ภรรยาน่ารัก และเข้าใจสุดๆ”

บี : “นั่นเพราะว่าเรารู้จักกันมานาน คบกันมา 16 ปีก่อนแต่งงาน และนี่ก็แต่งงานมาได้ 5 ปีแล้ว เข้าใจในความเป็นคนมุ่งมั่นของเขา และเมื่อเขาอยากทำงานตรงนี้ เรารู้ว่าเขาต้องทำมันสำเร็จแน่ เราก็ปล่อยให้เขาลุยไปเลย เพราะบีเองก็เป็นหนึ่งในคนที่อยากเห็นประเทศดีขึ้น ดังนั้น ถ้าคนของเรามีหนทางที่จะทำ เราก็ต้องคอยสนับสนุนให้เขาทำงานได้อย่างเต็มที่ ส่วนเรื่องครอบครัว เรื่องลูกๆ เนี่ยเราจะช่วยดูแลให้เอง”

ที่จริงแล้วภรรยาคนสวยของคุณเอ๋ ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการก้าวเข้าสู่แวดวงการเมืองสักเท่าไร “บีมีความรู้สึกด้านลบกับนักการเมืองมาตั้งแต่เด็กแล้ว ไม่ชอบและไม่คิดอยากเข้าไปยุ่งเกี่ยว เพราะครอบครัวบีทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องจักรหนัก จึงต้องมีการติดต่องานกับนักการเมือง ข้าราชการตลอด เราก็เห็นการกินหัวคิว แบ่งเปอร์เซ็นต์ เรื่องคอร์รัปชันอยู่ตลอด

พอคุณเอ๋เขามีความตั้งใจอยากเข้ามาทำงานการเมือง แรกๆ ก็แอบมีกังวลบ้าง คือ ด้วยตัวเขาเองเรามั่นใจว่าเขาเป็นคนดี แต่ก็กลัวว่าถ้าเขาไปอยู่ในแวดวงที่มีการคอร์รัปชันมากๆ อย่างนั้น แล้วเขาจะคงความดีอยู่ได้ไหม แต่พอเราได้เห็นเขาทำงานเป็นข้าราชการกระทรวงการคลัง เห็นความตั้งใจที่อยากช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างจริงจัง ทั้งเรื่องกฏหมายบัตรเครดิต เรื่องหนี้ครัวเรือน เห็นความมุ่งมั่นที่อยากทำเพื่อประโยชน์ของสังคมและประเทศชาติจริงๆ เราก็เริ่มมั่นใจที่จะสนับสนุนให้เขามาทางสายการเมือง เพราะถึงอย่างไรก็ต้องยอมรับว่า การเป็น ส.ส. มันสามารถทำอะไรได้มากกว่า มีอำนาจในการตัดสินใจ และมีบทบาทในการทำงานมากกว่าข้าราชการประจำ สามารถผลักดันโครงการให้ออกมาเป็นรูปธรรม

พร้อมกับที่เขาเคยสัญญาไว้ว่า ถึงแม้ว่าสิ่งแวดล้อมหรือคนรอบข้างจะเป็นอย่างไร เขาก็ยังคงเป็นเขา จะไม่มีอะไรมาเปลี่ยนสิ่งที่เขายึดมั่นหรือตั้งใจให้กลายเป็นอื่นไปได้ ให้รอดูไป ซึ่งผ่านมา 8 ปีแล้ว เขาก็พิสูจน์ให้เห็นว่า ได้ทำตามที่สัญญาไว้จริงๆ บีสามารถพูดได้อย่างภาคภูมิใจว่า คุณเอ๋เขามือสะอาดจริงๆ ไม่ทำอะไรทุจริต หรือคอร์รัปชันแม้แต่น้อย”

เมื่อเห็นถึงความตั้งใจจริงแบบนี้ ทำให้คุณบีพร้อมที่จะสู้ไปด้วยกันกับคุณเอ๋แบบไม่ย่อท้อ ทั้งที่ผลกระทบจากอาชีพการงานของสามี กระทบกับครอบครัวเล็กๆ นี้ไม่น้อย ยิ่งตอนชุมนุม ที่บ้านหลังนี้ก็โดนปาระเบิดถึง 2 ครั้ง

“บางครั้งก็รู้สึกกลัวนะคะ เพราะอย่างที่บ้านโดนระเบิดแม้มันจะไม่ได้ทำความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือผู้คนในบ้าน แต่มันก็ระเบิดอยู่ข้างๆ รั้วบ้านเราเลย เสียงดังสนั่นกลางดึก ทุกคนตื่นตกใจกับเสียงระเบิด ลูกๆ ก็ร้องไห้ เราไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นอีกบ้าง แล้วก็เป็นห่วงคุณเอ๋ด้วย เกรงจะเกิดอันตราย

ก็ได้นั่งคุยกันบ้าง แล้วก็ลงความเห็นตรงกัน ตราบใดที่ทุกคนยังโอเค สภาพจิตใจโอเค เราก็สู้ต่อ เพราะคนอื่นที่โดนมากกว่าเราก็มีนะ เขาก็ยังสู้ต่อนะ เรื่องของเรามันเล็กน้อยมาก เป็นสิ่งที่ควรเสียสละเมื่อเทียบกับสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่ารอเราอยู่ข้างหน้า ถ้าสิ่งที่ตั้งใจไว้สำเร็จ เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีกับประเทศก็คุ้มค่า”

ครอบครัวแสนสุข

แม้จะมีเวลาให้กับครอบครัวน้อย แต่คุณเอ๋ก็ตั้งใจทำให้ทุกนาทีเป็นเวลาที่มีค่า โดยคุณบีกล่าวว่า “กิจกรรมครอบครัวเราก็เรียบๆ ถ้ามีเวลามากหน่อยก็จะไปค้างต่างจังหวัดกันสักคืน ไปหัวหิน พ่อพาลูกไปวิ่งเล่น ว่ายน้ำ หรือเวลาน้อยหน่อยก็ออกไปหาอะไรอร่อยๆ กินกัน เรื่องจะไปเที่ยว หรือทำกิจกรรมอะไรมากมายนี่ยาก เพราะเราไม่รู้ตาราง หรือวันว่างคุณเอ๋ล่วงหน้าขนาดนั้น และพอเราเห็นเขาทำงานมาหนักๆ ถ้าเขาว่างก็อยากให้เขาได้พักผ่อนมากกว่า”

คุณเอ๋เสริมว่า “ครอบครัวเราไม่เคยจองตั๋วเครื่องบินล่วงหน้ายาวๆ ได้เลย เพราะมันจะมีอะไรเข้ามาตลอด ถ้าจะไปเที่ยวกันนี่คือต้องแบบพรุ่งนี้ว่าง คืนนี้เก็บกระเป๋าแล้วก็ไปกันเลย อย่างนี้ถึงจะได้ไป เวลามันไม่ได้แน่นอน คิดแล้วต้องทำเดี๋ยวนั้น ไม่งั้นไม่ได้ไปแน่”

โดยคุณเอ๋มีการใช้เวลาอย่างมีคุณค่ากับลูก ด้วยบทสนทนาที่แฝงการสอนไว้ในทุกคำ “ผมจะชอบพูดยอกย้อนกับเขา เป็นการถามย้อน ฝึกให้เขาคิด คือถ้าลูกถามอะไรมา ผมจะไม่ตอบ แต่จะเป็นการโยนคำถามกลับไปให้เขาตอบ เป็นการสอนทางอ้อม

อย่างเขาถามว่า “คุณพ่อคะ กิ่งไม้บ้านข้างๆ ยื่นมาบ้านเรานี่ ตัดได้ไหมคะ” ผมก็จะถามกลับว่า “แล้วลูกว่าเราตัดได้ไหมละ” เขาก็จะได้คิดหาคำตอบว่า “น่าจะตัดได้นะคะ แต่ข้างบ้านเขาคงไม่พอใจ” ผมก็จะถามต่อ “ถ้างั้นลูกว่าทำไงดี ไปคุยกับเขาก่อนดีไหม” อะไรแบบนี้ คือฟังดูเหมือนกวนๆ แต่นั่นคือฝึกให้รู้จักคิดวิเคราะห์ ใช้เหตุและผล”

คุณแม่ช่วยเสริมว่า “มันเป็นการฝึกที่ดีมากนะคะ อย่างบางที พ่อลูกเขานั่งในรถกัน อยู่ๆ คุณเอ๋พูดว่า สีเขียว สีน้ำตาล สีดำ พูดสิ่งที่มองเห็นอยู่รอบด้าน ลูกก็จะต่อได้ทันที สีเหลือง สีฟ้า คือเขาจะทันกัน โดยบางทีบีเองยังงงๆ ว่าเขาพูดอะไรกัน (หัวเราะ)”

หนุ่มวินเทจหลงใหลของเก่า

หนุ่มคนนี้รักรถโบราณมาตั้งแต่ยังเล็ก แล้วก็ค่อยๆ ศึกษาและเก็บสะสมมาเรื่อยๆ จนทุกวันนี้แม้งานยุ่งอย่างไร คุณเอ๋ก็ยังเจียดเวลาช่วงกลางคืน ไปนั่งต่อ นั่งประกอบรถโบราณในโรงรถอยู่เสมอ

“มันคือเวลาแห่งความสุขของผม โดยผมจะมีช่างประจำอยู่ 3 คน ไว้คอยซ่อมรถเก่าด้วยกัน ซึ่งเวลาต้องประกอบอุปกรณ์สำคัญๆ ที่ละเอียดอ่อนนี่ผมจะลงมือเองทั้งหมด นั่งทำช่วงกลางคืน เหมือนเป็นการผ่อนคลาย โดยเป็นเลขาธิการสมาคมรถโบราณแห่งประเทศไทยต่อเนื่องมา 10 ปีแล้ว พอหมดวาระก็ได้รับเลือกเข้ามาใหม่ทุกครั้ง จะลาออกเขาก็ไม่ให้ออก (หัวเราะ)”

ทุกวันนี้ประเทศไทยเรามีกลุ่มรถโบราณใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ในฐานะคนรักรถโบราณ อรรถวิชช์บอกว่ายินดีมากที่มีคนหันมาสนใจเรื่องนี้กันมากขึ้น “ผมอยากให้สังคมมันโตกว่านี้ แต่ประเทศเรามีปัญหาและอุปสรรคเยอะ ทั้งกฏหมายที่ห้ามนำเข้ารถมือสองจากต่างประเทศ แต่กลับไม่มีกฏหมายห้ามนำรถออก รถสวยของไทยจึงถูกต่างชาติซื้อไปเยอะมาก เพราะคนไทยไม่อยากเก็บรถไว้ เนื่องจากโดนคิดภาษีป้ายวงกลมแพงมาก เพราะเขานับตาม CC ซึ่งรถสมัยก่อน CC สูงทั้งนั้น คนเก็บรถเก่าก็จะโดนเรื่องภาษีหนักหน่อย เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้หลายคนไม่อยากสะสมรถโบราณ”

รถที่จอดอยู่ในโรงรถคุณเอ๋ขับได้จริงทุกคัน วันไหนว่างๆ คุณเอ๋ก็จะเอาออกไปขับไปร้านอาหาร ไปซื้อของ หรือบางครั้งก็ถึงขั้นไปเที่ยวต่างจังหวัด อย่างพวกหัวหิน กาญจนบุรี ไกลเป็นร้อยๆ กิโลเมตรก็ไปมาแล้ว

“ขับไปก็มีเสียกลางทางบ้าง แต่ด้วยความที่เราพอมีความรู้เรื่องช่าง และประกอบรถเอง ก็พอจะรู้ว่า คันไหน แบรนด์ไหน มีจุดอ่อนตรงไหน ก็จะเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือไปพร้อม เสียปุ๊บซ่อมเองได้เลย ดังนั้น เวลาผมขับรถโบราณไปไหน แม้จะแต่งตัวเนี้ยบอย่างไร ก็จะไม่มีทางใส่กางเกงสีขาวเด็ดขาด เตรียมพร้อมไว้เพราะมีโอกาสมอมแมมสูง

รถเสียครั้งที่ประทับใจที่สุด คุณเอ๋ยกให้ครั้งที่ใส่ Black Tie ทักซีโด กำลังจะไปงาน นั่งลีมูซีน เดมเลอร์คันยาว ไปอย่างโก้เลย แล้วดันไปเสียกลางทาง ซึ่งเสียที่ไหนไม่เสีย ดันไปเสียหน้าสยามเซ็นเตอร์ ที่มีคนนั่งกันอยู่เต็มขั้นบันไดริมถนน ผมต้องถอดสูทลงไปเข็น เพราะคนขับต้องจับพวงมาลัย อายมากนะ โดนน้องๆ วัยรุ่น นักศึกษาแถวนั้นแซวเอา แต่เขาก็น่ารักนะ ลงมาออกแรงช่วยเราเข็นด้วย”

ทั้งงานอดิเรกอย่างการชอบสะสมรถโบราณ การแต่งกายและทรงผมสไตล์เนี้ยบ รวมไปถึงบ้านที่อยู่อาศัยที่เป็นเรือนรัตนโกสินทร์ที่สร้างขึ้นแบบถูกต้องตามตำรา เรียกได้ว่าทุกอย่างรายล้อมรอบกายหนุ่มคนนี้เป็นความคลาสสิกของยุคสมัยโบราณ

“ผมชอบสไตล์ย้อนยุคนิดๆ ผมว่าคนยุคนั้นเขาโชคดี การออกแบบทุกอย่างมันดูอ่อนช้อย สวยงาม สำหรับบางคนอาจจะชอบแบบเรียบๆ แบบโมเดิร์น แต่ผมจะชอบใส่ใจในรายละเอียด”

เห็นชอบบรรยากาศคลาสสิกแบบนี้ เราจึงแอบถามว่าได้ดูละครเรื่องดังอย่าง สุภาพบุรุษจุฑาเทพ ที่เป็นเรื่องราวของยุคสมัยที่น่าจะเป็นยุคโปรดของเขาหรือไม่ ซึ่งอรรถวิชช์บอกว่าได้เปิดดูย้อนหลัง พร้อมเผยว่ารถยนต์ในละครเรื่องนี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นรถโบราณของเขาที่ถูกยืมไปประกอบฉาก พอมาในช่วงการชุมนุม เพลงประกอบละครเรื่องนี้ก็ยังกลายมาเป็นซาวด์แทร็กประจำตัวอรรถวิชช์ทุกครั้งที่ขึ้นเวทีปราศรัยอีกด้วย

“ที่มาของเพลงเนี่ย มันเกิดตั้งแต่ตอนเราตั้งเวทีอยู่ที่ราชดำเนิน เวลาที่ผลัดคิวคนขึ้นเวทีเขาจะมีเปิดเพลงคั่น ซึ่งตอนแรกก็เปิดเพลงปกติทั่วไป จนมาวันหนึ่งขณะที่นั่งคุยกันอยู่หลังเวที คุณกรณ์ก็พูดขึ้นว่า เฮ้ย... ลองมาเปลี่ยนใช้เพลงขำๆ กันดูไหม โดยคุณกรณ์เลือกเอาเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Rocky มาใช้ แล้วน้องคนคุมเครื่องเสียง ก็เลยเริ่มคิดเพลงให้กับทุกคน ซึ่งของผม เขาก็เลือกเพลงนี้ให้ เริ่มจากเรื่องขำๆ สนุกๆ กันหลังเวที เปิดไปเปิดมากลายเป็นรู้กันไปเลยว่าเป็นเพลงประจำตัวผม ที่จะเปิดทุกครั้งที่ขึ้นเวที”

สำหรับอนาคตในเส้นทางอาชีพนี้ อรรถวิชช์บอกว่า “อาชีพการเมืองมันไม่มีจุดสิ้นสุดนะ มันบอกไม่ได้หรอกว่าจะเลิกเมื่อไร หรือจุดสำเร็จอยู่ตรงไหน ผมไม่ได้มองที่ตำแหน่งเป็นจุดหมาย ผมมองว่าถ้าบ้านเมืองยังมีสิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไขดูแล เราก็ยังต้องทำต่อไป สิ่งเดียวที่จะทำให้หยุดได้ คือ เมื่อใดที่ชาวบ้านเขาไม่เอาเราแล้ว ไม่มีใครเลือกเราแล้ว นั่นแหละเราถึงจะหยุด!

แต่ถ้าเขายังต้องการเราอยู่ ผมทำเต็มที่นะ ใส่เกียร์ 5 เลย ไม่มีถอย ทำทุกอย่าง ไม่กลัวด้วยถ้าใครจะบอกว่าเรื่องนี้มันยาก ต้องใช้เวลาหลายปีนะถึงจะสำเร็จ ผมไม่กลัวเลยนะ ยิ่งอยากทำ เพราะผมอายุยังไม่เยอะ เริ่มเป็นนักการเมืองตอนอายุยังไม่ 30 เลย ตอนนี้ผมก็เพิ่งจะ 36 ปี ดังนั้น แม้ว่าโครงการที่ยั่งยืนจะใช้เวลานานถึงจะเห็นผล ผมก็รอได้ เราฉาบฉวยกันมามากแล้ว

อาจจะเรียกได้ว่า เราเป็นนักการเมืองอีกสายพันธุ์หนึ่ง เป็นการเมืองยุคใหม่ ที่เข้ามาเริ่มงานตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้เรามีเวลาในการตั้งใจทำงาน ไม่ต้องไปรีบแข่งเอาตำแหน่งกับใคร ทำงานให้เต็มที่ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ถ้ามีผลงานให้คนเห็น มันก็มีโอกาสเข้ามาเองแหละ ดังนั้น เรื่องอยากนั่งเก้าอี้ตำแหน่งนั้น ตำแหน่งนี้ ไม่ต้องไปสนใจ มาสนใจทำงานเพื่อประชาชนและประเทศชาติดีกว่า”

นักการเมืองพันธุ์ใหม่

อรรถวิชช์บอกว่าไม่เคยคิดว่าจะก้าวมาทำอาชีพนักการเมืองได้เร็วขนาดนี้ “แม้จะมีใจอยากทำงานด้านการเมืองมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว แต่ไม่เคยนึกว่าจะก้าวเข้ามาด้วยวัยยังไม่ 30 ปี คิดว่าชีวิตคงไปตามสเต็ป คือรับราชการ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ เติบโตตามสายงานไปจนอายุ 40-50 ปี เป็นตำแหน่างรองอธิบดี หรือ อธิบดี แล้วค่อยก้าวเข้ามาทำงานการเมือง เหมือนอย่างที่คนส่วนใหญ่เขาเป็นกัน แต่ด้วยจังหวะที่ดี เมื่อมีการรัฐประหารปี 49 ขึ้น นักการเมืองยุคเก่าถูกล้างบางออกไปจำนวนมาก ก็เป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ๆ อย่างผมเข้ามาทำงาน”

เนื่องจากเข้าทำงานที่กระทรวงการคลังในยุคที่ประเทศไทยออกจากการควบคุมนโยบายการเงินจากทาง IMF เป็นช่วงที่ประเทศเราสามารถกำหนดนโยบายการเงินและการคลังได้ด้วยตัวเอง จึงต้องมีการร่างกฏหมาย วางนโยบายใหม่แทบทั้งหมด อรรถวิชช์ซึ่งตอนนั้นเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย ที่จบมาทางกฏหมายการธนาคารและการเงินโดยตรง จึงถูกเรียกไปรับผิดชอบช่วยดูแลกฏหมายการเงินในช่วงนั้นเกือบทุกฉบับ

“ผมต้องเข้าไปช่วยชี้แจงรายละเอียด ทั้งกับกฤษฎีกา หน่วยงานการเมือง แล้วก็ได้ทำงานกับ ส.ส.ที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง การที่เราได้ทำงานร่วมกัน ทำให้เรารู้สึกเลยว่า ทำไมพูดเท่าไร อธิบายเท่าไร เขาก็ไม่เข้าใจ นั่นเพราะเขาไม่ชอบอ่านหนังสือ ไม่ทำการศึกษา และบางคนก็ไม่ได้มีความรู้ในสายงานที่รับผิดชอบ

ผมเป็นคนที่ชอบอ่าน ยิ่งเรียนกฏหมายยิ่งต้องอ่านเยอะ และกว่าจะเขียนกฏหมายแต่ละฉบับได้นั้นเราศึกษา ค้นคว้า หาข้อมูล อ่านหนังสือมาไม่รู้กี่เล่มต่อกี่เล่ม แต่นักการเมืองกลับไม่ชอบอ่านหนังสือกัน ยิ่งกฏหมายรัฐธรรมนูญเนี่ย เรื่องที่ต้องรู้ก็ยังไม่อ่านกันเลย มันทำให้เราเห็นว่า เราน่าจะเข้าไปช่วยอุดจุดบกพร่องของนักการเมืองไทยตรงนี้ได้”

โดยอรรถวิชช์ตั้งใจที่จะเป็นนักการเมืองยุคใหม่ที่ไม่ทุจริต “อยากทำให้การเมืองดี มันต้องเริ่มที่ตัวเรา ทำตัวเองให้ดี ทำงานให้เต็มที่ในทุกๆ วัน ทำไปเรื่อยๆ เป็นตัวอย่างให้คนอื่นเห็น เราอาจจะไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงหรือเห็นผลเร็วในวันนี้หรือพรุ่งนี้ มันอาจจะเป็นในรุ่นต่อๆ ไปก็ได้ ขอแค่เริ่มลงมือทำเถอะ

ผมว่าปัญหาทุกวันนี้ส่วนหนึ่ง คือเราไปสนใจ ไปวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นมากเกินไป โดยลืมหันกลับมามองตัวเอง ว่าเราเองนี่แหละทำดีแล้วหรือยัง ผมยึดเอาหลักศาสนามาใช้คือทำตัวเองให้ดี ไม่ต้องไปสนใจอิจฉาคนอื่น ซึ่งจากการเป็นผู้แทนมา 2 สมัย เราได้เห็นหลายคนที่เดินเข้ามาพร้อมๆ กับเรา ทุกวันนี้ฐานะเขาเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเยอะแยะ แต่ไม่เคยคิดเปรียบเทียบนะ เพราะรู้ว่าคุณทำแบบนี้ไป วันหนึ่งมันก็จะส่งผลเสียเอง แล้วก็ไม่เก็บเอามาหงุดหงิด อารมณ์เสียว่าทำไมเขาโกงอย่างนั้น ทุจริตอย่างนี้

ถ้าผมคิดอย่างนั้นรับรองว่าบ้ากันพอดีครับ เพราะวงการนี้อย่างที่รู้ๆ เรื่องคอร์รัปชันมันเยอะ เจอเรื่องเหล่านี้ ถ้าไม่มีหลักฐานแน่ชัด ก็ต้องปล่อยมันไป ให้กลไกการตรวจสอบภาครัฐเขาทำงาน เราไม่มีอำนาจตรงนั้น ตั้งใจทำในส่วนของเราให้ดี

คิดแค่ว่าทำงานของเราให้เต็มที่และสุจริต สิ่งที่ทำไป อาจจะไม่ได้รับผลอะไรกลับมา แต่อย่างน้อยเราก็สามารถนอนหลับสนิท ขอให้เราซื่อสัตย์กับตัวเอง กลับบ้านส่องกระจกแล้วไม่อายเงาตัวเอง” :: Text by FLASH








กำลังโหลดความคิดเห็น