แม้จะเป็นคนในแวดวงโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ต้องวิ่งตามความเปลี่ยนแปลงของโลกให้ทัน แต่ชีวิตอีกมุมหนึ่งของราชนิกูลหนุ่มอ๊าร์ต-หม่อมหลวงอภิชิต วุฒิชัย ผู้นี้กลับมีความสุขอยู่ในโลกของบรรพชนคนรุ่นเก่า และมรดกทางวัฒนธรรมที่กำลังจะเลือนหายไปจากสังคมไทย
วันนี้หนุ่มอ๊าร์ตเริ่มบทบาทใหม่ด้วยการเดินตามรอบพ่อหลวง พร้อมลุกขึ้นชวนเหล่าเพื่อนพ้องที่มีแนวคิดเหมือนกัน เดินสายทำงานเพื่อสังคม วัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ให้ลูกหลานได้เห็นถึงคุณค่าความเป็นไทยที่ไม่มีประเทศใดจะทัดเทียมได้เลย
ในวันที่อุณหภูมิร้อนแรง หม่อมหลวงอภิชิต วุฒิชัย หรือที่ใครๆเรียกติดปากว่า “อ๊าร์ต” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดอต ดอต ดอต จำกัด เปิดโอกาสให้เราได้พูดคุยถึงเรื่องราวชีวิตของเขาฟังอย่างเป็นกันเอง จนแทบไม่น่าเชื่อว่าหนุ่มล้ำสมัยอย่างเขาจะมีแนวคิดที่ส่วนทางกับภาพลักษณ์ที่ได้เห็น อ๊าร์ตเริ่มต้นเล่าถึงงานบริษัท ดอทดอทดอท ที่ให้คำปรึกษาเรื่องแบรนด์ดิ้งโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่า ทุกอย่างยังเดินหน้าต่อไปแม้สภาพเศรษฐกิจจะไม่คล่องตัวนัก แต่ก็ไม่กระทบ ด้วยผลงานที่ปรากฏทำให้มีงานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง มีการขยายบริษัทลูกชื่อ “ลิมิเต็ดดี” เข้ามาช่วยงานบริษัท ดอต ดอต ดอต และล่าสุดก็เตรียมเปิดบริษัทเล็กๆอีกแห่งเพื่อทำหน้าที่ดูโรงแรมอาทิตย์ธารา ริมแม่น้ำบางประกง และโรงแรมวิมาลาสวีท สุขุมวิท 26
“ชีวิตตอนนี้ไม่มีอะไร งานทุกอย่างขยายตัวไปได้ดี และครอบครัวราบรื่นลูกๆ เริ่มโตกันหมดแล้ว ไม่มีอะไรต้องห่วงมาก ชีวิตที่เหลือหลังจากนี้ผมอยากทำอะไรคืนสังคมบ้างในฐานะคนไทยที่เกิดมาทันได้เห็นภาพพระราชกรณีกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถที่ทรงงานหนักเพื่อคนไทยมาตั้งเด็ก ก็คิดว่าเราควรทำอะไรบ้าง” อ๊าร์ตเล่าด้วยน้ำเสียงที่มุ่งมั่นและชัดเจน
สำหรับงานเพื่อสังคมของเขาเริ่มตั้งแต่ปี 2553 จากเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง การชุมนุมครั้งนั้นทำให้เขาได้เห็นภาพของความขัดแย้งที่รุนแรง ไม่มีใครทำงานได้ ประชาชนเดือดร้อน เขาจึงชวนเพื่อนๆจัดงานคอนเสิร์ต จัดตลาดเปิดท้ายขายของเพื่อนำเงินไปบริจาคให้คนที่เดือดร้อน “เราทำเพราะอยากช่วยสังคม ตอนนั้นมีคนมาร่วมกันมากมาย ไม่มีการแบ่งค่ายแบ่งอะไรเลย เสร็จจากงานนั้นพวกผมก็มานั่งคิดว่าทุกปีควรทำอะไรเพื่อประเทศชาติบ้าง ก็เลยตั้งกลุ่ม MAYDAY CHARITY EVENT ขึ้นมาวัตถุประสงค์คือจัดกิจกรรมหารายได้ช่วยในจุดที่ประชาชนเดือดร้อน”
ส่วนกิจกรรมของ MAYDAY CHARITY EVENT ของคนกลุ่มเล็กๆในบริษัทดอต ดอต ดอต จำกัด จัดไปแล้ว 4 ครั้ง โดยครั้งแรก วันที่ 29 พฤษภาคม 2553จัดกิจกรรมหารายได้ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุมและความรุนแรงในกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2552 ครั้งที่ 2วันที่ 28 พฤษภาคม 2554ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ข้อพิพาทเขาพระวิหารและการปะทะบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 3 วันที่ 19 พฤษภาคม 2555 หารายได้มอบให้มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เยาวชนเห็นความสำคัญของป่าไม้ หลังกรุงเทพมหานคร ประสบอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554ครั้งที่ 4วันที่ 18 พฤษภาคม 2556หารายได้มอบกองทุนเงินสวัสดิการพิเศษช่วยเหลือครอบครัวของทหาร-ตำรวจที่เสียชีวิตและทุพลภาพจากการปฎิบัติหน้าที่ที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
และ MAYDAY CHARITY EVENT 2557 ถือเป็นครั้งที่ 5 แล้ว โดยอ๊าร์ตบอกว่าตั้งใจจัดกิจกรรม “SOUND ข้าว” ทำเรื่องข้าวเพื่อหาเงินช่วยชาวนา แต่เนื่องด้วยสภาพบ้านเมืองยังไม่ปกติ ซึ่งจากเดิมกำหนดจัดปลายเดือนพฤษภาคมนี้จึงต้องเลื่อนไปเป็นประมาณเดือนพฤศจิกายนนี้แทน
“ปีนี้ก็เหมือนทุกปีคือรวบรวมจิตอาสาที่มีแนวคิดเหมือนกัน อย่างเรื่องข้าวก็มีจิตอาสาหลายกลุ่มที่สนใจเข้ามาช่วยกัน ซึ่งผมดีใจมากเลยที่มาเจอกัลยาณมิตรที่ดีหลายคน ส่วนใหญ่เป็นเด็กรุ่นใหม่อายุ 23-24 ปี บางคนทำงานดีๆก็มาช่วยงานชนิดที่ผมคิดไม่ถึง เพราะเขามาด้วยใจ ทุกคนเสียสละเวลางานของตัวเองมาเพื่อประชุมวางแผนว่าเราจะทำอะไรอย่างไร?? ทุกงานที่เราทำมีการลงพื้นที่ได้สัมผัสคนที่เขาเดือดร้อนจริงๆ เราทำกันเองไม่ต้องรอรัฐบาล ตรงนี้ทำให้เริ่มมีความหวังว่าสังคมเราจะดีขึ้นครับ”
กับงานจิตอาสาที่ราชนิกูลหนุ่มและเพื่อนๆของเขาทุ่มเทช่วยคนเดือดร้อน ทำให้เราอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าสนใจงานด้านการเมืองหรือไม่ ซึ่งอาร์ตบอกว่า ไม่เคยสนใจ เพราะการเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ ทำให้มีเงื่อนไขมีการต่อรอง มีปัญหาการคอร์รัปชั่นทำทุกอย่างพังหมด
“หากคิดจะทำเพื่อประเทศต้องไม่คิดเรื่องการเมือง งานที่ผมทำอยู่นี่เป็นงานช่วยเหลือคนที่ได้รับความเดือดร้อนจริงๆ นักการเมืองนำระบบทุนนิยมเข้ามา ทำให้วิถีชีวิตคนไทยเปลี่ยนไปหมด ผมเองโตมากับสุภาษิตไทยที่ว่าในน้ำมีปลาในนามีข้าว เดี๋ยวนี้ไม่มีภาพพวกนั้นให้เห็นแล้ว ผมกับเพื่อนๆก็คิดว่าถ้ายังเป็นแบบนี้อยู่ต่อไป ลูกหลานเราแย่คือความงดงามมันหายไป ถ้าเราอยากได้สังคมดีๆกลับมาก็ต้องไม่ไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ อย่างพวกผมที่มาทำงานตรงนี้เพราะหน้าที่การงานของเราดีแล้ว ครอบครัวเราดีแล้ว พวกเรายึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามที่ในหลวงทรงวางไว้ถึงมาทำกัน”
หนุ่มอ๊าร์ตยังพูดถึงเมืองไทยในยุคดิจิตอลว่า แม้จะเป็นเมืองที่น่ารักแต่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ก้าวล้ำทันสมัยทำให้ทำสังคมต้องปรับตัวตาม วัฒนธรรมไทยที่ควรจะรักษาไว้จึงค่อยๆเลือนหายไป “ความสวยงามตรงนี้ผมเสียดายจริงๆ ประสบการณ์ชีวิตที่เราเคยเห็น เคยได้รับมาในสมัยเด็กๆ ผมก็อยากจะเก็บไว้ให้ลูกหลานได้เห็นแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร พอดีได้มาทำ “อาทิตย์ธารา” ริมแม่น้ำบางประกง ผมก็พยายามกลับไปให้ใกล้ชิดธรรมชาติมากที่สุด ตอนนี้มาคิดถึงท่านย่า(พระวงวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร)ก็บอกคุณพ่อคุณแม่ขอลองทำโรงแรมขนาดเล็กอีกแห่งชื่อ “วิมาลาสวีท””
“วิมาลาสวีท” เป็นโรงแรมขนาดเล็ก 9 ห้อง ใช้ชื่อ ตามพระนามของพระวงวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร แม้จะไม่ใช่โรงแรมหรูหรา แต่เสน่ห์ของโรงแรมแห่งนี้แฝงกลิ่นอายของวิถีชีวิตคนโบราณซึ่งบอกเล่าด้วยภาพขาวดำเก่า ๆ อันทรงคุณค่าและหายากของครอบครัววุฒิชัย พร้อมกับบรรยากาศการบริการแบบไทย ๆ “ผมทำโรงแรมนี้ขึ้นมาเพราะอยากให้ฝรั่งและคนที่มาพักได้รู้วิถีชีวิตของคนโบราณสมัยก่อนว่า เจ้านายอยู่อย่างไร? ซึ่งตอนนี้ก็ใกล้จะเสร็จแล้วครับ”
แนวคิดอนุรักษ์วัฒนธรรมของเขาที่สรุปให้เราได้ฟัง ทำให้ดีใจแทนเด็กรุ่นหลังทันทีเพราะอย่างน้อยโรงแรมเล็กๆของเขาก็ยังพอเป็นตำนานให้ลูกหลานได้รู้ได้เห็นของจริง โดยไม่ต้องหลับตาจินตนาการตามหนังสือเรียน