xs
xsm
sm
md
lg

เปลือยใจ “สาธิต เซกัล” ทั้งน้ำตา “ผมผิดเหรอที่ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทย” (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชื่อของ “สาธิต เซกัล” นักธุรกิจชาวอินเดียกลายเป็นที่รู้จักของคนไทยในเวลาชั่วข้ามคืน หลังจากที่ศรส.ประกาศเนรเทศสาธิตออกนอกประเทศ ในฐานะแกนนำของกปปส.

แม้วันนี้สถานการณ์จะคลี่คลาย เพราะกระทรวงมหาดไทยปฏิเสธลงนามเนรเทศสาธิตตามคำสั่งของศรส. แต่เราเชื่อว่าชื่อของชายคนนี้จะยังคงอยู่ในใจของใครหลายๆ คน

เขาคนนี้เป็นใครมาจากไหน? และเพราะอะไรทำให้สาธิตต้องเจอข้อหานี้? “ASTV ผู้จัดการ Live” พาเขามาเปิดใจที่นี่ในวันที่เกิดเรื่องราวใหม่ๆ

เปิดปูมชีวิต

สาธิตเล่าว่าครอบครัวของเขาอพยพมาอยู่ประเทศไทยตั้งแต่ปี 1932 โดยติดตามคุณลุงที่เข้ามาทำธุรกิจค้าผ้าในเมืองไทยจนประสบความสำเร็จ คุณพ่อของเขาจึงเข้ามาทำธุรกิจค้าผ้าตามพี่ชาย ดังนั้นแม้จะเกิดที่อินเดีย แต่เขาก็เติบโตที่เมืองไทยเป็นส่วนใหญ่ ก่อนที่คุณพ่อจะส่งสาธิตไปอยู่โรงเรียนกินนอนที่ประเทศอินเดียตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนถึงปริญญาตรี หลังเรียนจบได้เกียตินิยมอันดับหนึ่งด้านภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยเดลี เขาจึงกลับมาตั้งรกรากที่เมืองไทย

“พอเรียนจบกลับมา ผมก็ไม่ได้สนใจสานต่อธุรกิจของคุณพ่อ เพราะอยากเริ่มต้นทำงานของตัวเอง ตอนนั้นคุณพ่อเปิดร้านขายผ้าที่จังหวัดอุบลฯ ผมเลยมาอาศัยญาติๆ อยู่ที่กรุงเทพฯ เริ่มต้นทำงานด้วยการเร่ขายหนังสือเอ็นไซโคลพีเดียไปทั่วประเทศกับเพื่อนที่มีรถยนต์ ขายเสร็จก็แบ่งค่าคอมมิชชั่นกัน พอถึงเสาร์-อาทิตย์ ก็จะนั่งรถไฟกลับไปอยู่กับครอบครัวที่อุบล ผมจึงมีความผูกพันกับอุบลฯ เป็นพิเศษ ” สาธิตเล่า

จุดเปลี่ยนในชีวิตครั้งใหญ่ เกิดจากเขาเดินเข้าไปเสนอขายเอ็นไซโคลพีเดียให้แก่นายใหญ่ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

“วันนั้นผมเข้าไปขายหนังสือให้นายใหญ่ของบางกอกโพสต์ ซึ่งเป็นนายฝรั่ง คือ คุณแรดฟอร์ด เขาคุยกับผมแค่ 10 นาที ไม่ซื้อเอ็นไซโคลพีเดีย แต่ชวนผมให้ทำงานด้วยที่บางกอกโพสต์ โดยให้ผมเป็นพนักงานขายโฆษณา ยังจำคำพูดของแกได้ทุกวันนี้ แกบอกว่า “ถ้าคุณเก่งขนาดเจาะประตูผ่านเลขาผมและเข้ามาหาผมได้ คุณจะต้องมีพรสวรรค์ในการขาย มีทักษะการพูด ผมอยากให้คุณมาทำงานในการตลาด” แกให้เงินเดือนเริ่มต้นผม 2,500 บาท ถือว่าเยอะมาก เพราะตอนนั้นข้าราชการระดับผู้ใหญ่ยังได้เงินเดือน 3,000 บาท

“ทำงานได้ประมาณ 3 เดือน ก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นรองผู้จัดการฝ่ายการตลาด ได้เงินเดือนเพิ่ม 2 เท่า เพราะผมทำงานดี วันๆ นั่งมอเตอร์ไซค์ไปเยี่ยมลูกค้า 8- 10 ราย”

แม้จะมีเชื้อสายเป็นชาวอินเดีย แต่ด้วยสำนึกในบุญคุณของแผ่นดินที่ตัวเองอาศัยอยู่ ทำให้สาธิตคิดทำโปรเจกต์เพื่อช่วยสังคมมาตั้งแต่สมัยยังเป็นพนักงานกินเงินเดือน โดยการเชิญนักแสดงหญิงชาวอินเดีย “”อาชา ปาเรส” มาจัดคอนเสิร์ตที่โรงละครแห่งชาติ ซึ่งครั้งนั้นถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะสามารถหาเงินได้มากถึง 2 แสนบาท เขาจึงมอบเงินจำนวนนี้ผ่านกระทรวงพาณิชย์ เพื่อมอบต่อให้แก่มูลนิธิของโรงพยาบาลพระยุพราช

สาธิตยังบอกอีกว่าที่ผ่านมาเขาใช้เวลาหลายปีในการทำกิจกรรมเพื่อเทิดทูนสถาบันพระมหากษัติรย์มาโดยตลอด เพราะต้องการตอบแทนบุญคุณของประเทศไทย

คุณพ่อสอนผมว่าเรามาอาศัยแผ่นดินไทยอยู่ ก็ควรตอบแทนบุญคุณของแผ่นดินนี้ ด้วยจิตสำนึกนี้ทำให้ผมอยากตอบแทนคุณของแผ่นดินไทย ผมให้ความสำคัญกับสถาบันกษัตริย์ เพราะเห็นว่าประเทศไทยอยู่รอดมาได้โดยไม่เป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจ เพราะมีสถาบันพระมหากษัติรย์”

กิจกรรมเทิดทูนสถาบันฯ ที่เขาทำเช่น ทำสติกเกอร์และผ้าโพกหัว “เรารักในหลวง” ไปแจกฟรี ,เอาธงชาติไปแจกฟรี เรียกว่าที่ไหนมีการชุมนุม สาธิตจะนำสิ่งของเหล่านี้ไปแจกให้แก่ประชาชนชาวไทยเป็นประจำ
“บางครั้งไม่มีของ ผมก็จะซื้อภาพฉายาลักษณ์ของในหลวงหรือธงชาติไปแจก คือ ทำมาโดยตลอดไม่ได้ขาด ” สาธิตเล่า

นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ

หลังจากสาธิตทำงานที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ได้ 5-6 ปี เขาก็ได้ลาออกมาริเริ่มทำธุรกิจสิ่งพิมพ์ของตัวเองคือ ทำนิตยสารท่องเที่ยวฉบับแรกของประเทศไทย

“ผมมีประสบการณ์จากการขายโฆษณา เลยเอาตรงนี้มาเปิดนิตยสารใหม่และขายโฆษณา ถือเป็นนิตยสารท่องเที่ยวฉบับแรกของไทยและเป็นภาษาอังกฤษ สมัยนั้นคนอ่านภาษาอังกฤษยังน้อย เลยคิดว่าจะทำยังไง สุดท้ายได้ไอเดียว่าจะเอาไปแจกฟรี ผมจึงไปขอเอานิตยสารไปวางในโรงแรม คือ ให้โรงแรมฟรีๆ เลย แลกกับการที่เขาต้องวางในห้องให้แขกอ่าน โรงแรมก็โอเค แล้วพอเอานิตยสารไปขายโฆษณา ก็เลยขายได้ ทำให้ธุรกิจนี้อยู่รอดมาได้ จึงมาทำเรื่อยๆ

“นอกจากนิตยสารท่องเที่ยวแล้ว ผมยังทำหนังสือคู่มือต่างๆ เช่น คู่มือแพทย์ คู่มืออุตสาหกรรม คู่มือก่อสร้าง ฯลฯ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน นอกจากนั้นยังทำนิตยสารบอกตารางของสายการบิน ให้แก่สมาชิกรายเดือนด้วย”

ชีวิตที่อุทิศให้สังคมและประเทศไทย

สาธิตเคยแต่งงานกับภรรยาชาวอินเดีย แต่ปัจจุบันหย่าขาดจากภรรยาไปนานกว่า 20 ปีแล้ว โดยทั้งคู่ไม่มีลูกด้วยกัน ดังนั้นหลังจากที่เขาวางมือจากการทำธุรกิจ จึงได้น้องๆ และหลานๆช่วยสานต่อด้านธุรกิจสิ่งพิมพ์ ทำให้เขามีเวลาทำกิจกรรมเพื่อสังคมและประเทศชาติ โดยสาธิตเล่าว่า

”ตอนนี้ผมมีกิจกรรมสามอย่างที่ทำคือ อันดับหนึ่ง กิจกรรมเพื่อเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ อันดับที่สอง คือ ต้องการตอบแทนแผ่นดินนี้ด้วยการเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีมา 6 สมัย โดยเริ่มเป็นที่ปรึกษาของท่านอุทัย พิมพ์ใจชน ตั้งแต่สมัยท่านเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ รัฐบาลชวน 1 เรียกว่าไม่เคยเลือกพรรค ไม่มีความผูกพันกับพรรคใดพรรคหนึ่ง ผมเข้าไปเป็นที่ปรึกษาได้ เพราะผมเคยเป็นกรรมการของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และเป็นประธานหอการค้าอินเดีย-ไทย ปัจจุบันเป็นประธานสมาคมธุรกิจไทย-อินเดีย

“ช่วงที่ผมเป็นที่ปรึกษา ผมจะแนะนำรัฐบาลในการเจรจาการค้ากับอินเดีย ช่วยนำคณะจากประเทศไทยไปเยือนอินเดีย เพื่อเจรจาเรื่องการค้า ทำให้เศรษฐกิจของไทยและอินเดียดีขึ้น

ผมได้เปรียบตรงที่มีเพื่อนๆ หรือรุ่นน้องที่เคยเรียนด้วยกันในอินเดีย ซึ่งตอนนี้พวกเขาเป็นใหญ่เป็นโตและครองอำนาจในอินเดีย เช่น เป็นนักการเมือง ปลัด อธิบดี บางคนเป็นประธานหอการค้า จึงง่ายต่อการไปเจรจาการค้าหรือไปเข้าพบ เคยพารัฐมนตรีจากไทยไปพบรองนายกฯ ของอินเดีย ทั้งๆ ที่ไม่ได้นัดล่วงหน้าไว้ก่อน เพราะความสัมพันธ์ส่วนตัว ในมุมกลับกัน ผมก็ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวพาประธานรัฐสภาของอินเดียเข้าพบท่านอุทัย พิมพ์ใจชน เพราะท่านมาญี่ปุ่นและผ่านมาไทยโดยไม่ได้นัดหมาย” สาธิต เล่า

นับว่าสาธิตมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวระหว่างไทยและอินเดียอย่างมาก เพราะเขาเป็นคนสนับสนุนให้รัฐบาลมาเปิดสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยแห่งแรกในอินเดีย ทำให้นักท่องเที่ยวกระโดดจากหลักหมื่นมาเป็นหลักล้าน, ช่วยสนับสนุนให้อัครเศรษฐีชาวอินเดียมาจัดงานแต่งงานในไทย เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนั้นยังชักชวนให้นักธุรกิจชาวอินเดียจำนวนมากเข้ามาลงทุนในประเทศไทย สร้างเม็ดเงินให้แก่เศรษฐกิจจำนวนมหาศาล

นอกจากนั้น กิจกรรมที่สาม ที่สาธิตให้ความสำคัญ คือ “กิจกรรมสังคมสงเคราะห์” โดยเขาแจกผ้าห่มให้แก่ชาวเหนือและชาวอีสานมากว่า 20 ปีแล้ว นอกจากนั้นยังเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้เรื่องตลาดอินเดียให้แก่สถาบันการศึกษาต่างๆ จนนับไม่ถ้วน
 
“จะเห็นได้ว่างานทั้งหมดของผมคือ รักสถาบัน รักประเทศไทย รับใช้ประเทศชาติ ทำงานสังคมสงเคราะห์ ช่วยงานด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย เรียกว่าทำแต่ทำความดีมาโดยตลอด ไม่เคยมีศัตรู ไม่เคยไปด่าพ่อด่าแม่ใคร ผมได้รับพระราชทานให้เป็น “ดาโต๊ะ” จากรัฐโยโฮร์ ประเทศมาเลเซีย ทั้งที่ไม่เคยทำอะไรให้มาเลเซีย ทำแต่ความดีให้ประเทศไทย เพราะเห็นว่าผมเป็นคนอินเดียที่มาอาศัยประเทศไทยอยู่ แต่มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัติรย์ในประเทศไทย ประเทศมาเลเซียเลยมอบตำแหน่งนี้ให้ผม”

สาธิตยังตั้งเป้าว่าภายในปี 2557 นี้ เขาจะพิมพ์ฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจำนวน 1 ล้านฉบับเพื่อแจกฟรีให้แก่ประชาชนชาวไทย

“ผมจะเอาภาพฉายาลักษณ์ไปใส่กรอบและแจก ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มโครงการไปแล้ว โดยใช้เงินส่วนตัวของผมส่วนหนึ่ง และเงินเรี่ยไรจากเพื่อนๆ ที่มีบริษัทห้างร้านต่างๆ คิดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน โดยใช้เงินประมาณ 20 ล้าน” สาธิตเล่า

แก้ข้อกล่าวหา

วันที่ 4 ก.พ. 57 ชีวิตของสาธิตก็มีอันเปลี่ยนไป เมื่อ ศรส. สั่งเนรเทศสาธิตออกนอกประเทศ ในข้อหาเป็นแกนนำของกปปส.

ประเด็นนี้สาธิตชี้แจงว่าเป็นเรื่องไร้สาระ เขาไม่ได้เป็นแกนนำของกปปส. ส่วนข้อกล่าวหาที่บอกว่าเขาเป็นบุคคลต่างด้าว เพราะพาสปอร์ตหมดอายุกว่า 50 ปีแล้วนั้น เขายืนยันว่ามีเอกสารครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นพาสปอร์ต,ใบสำคัญประจำคนต่างด้าว, ใบอนุญาตทำงาน ซึ่งเอกสารเหล่านี้ไม่ได้หมดอายุแต่อย่างใด โดยสาธิตได้โชว์หลักฐานให้ทีมงาน ASTV ผู้จัดการ Live ดู ซึ่งก็เป็นจริงตามที่เขาว่า

พอถามเขาว่า เคยคิดบ้างไหมว่าทำไมรัฐบาลถึงเพ่งเล็งเขา สาธิตนิ่งไปพักหนึ่งก่อนตอบว่า “รัฐบาลคงจะให้ความสำคัญของผมมากไป...”

ผมเป็นคนบริสุทธิ์ ศรส.ส่งเรื่องเนรเทศผมไปมหาดไทย มหาดไทยยังบอกว่าไร้สาระ เลยไม่ลงนามสั่งเนรเทศ ทำให้ตอนนี้ผมยังอยู่ประเทศไทยได้ ไม่เข้าใจว่าตัวเองทำแต่ความดี ทำไมต้องมาเจอแบบนี้”

“ผมไม่เคยเป็นแกนนำของกปปส. เลยนะ ไม่เข้าใจจริงๆ ว่าทำไมคนมองว่าผมเป็นแกนนำ อาจจะเป็นเพราะผมเคยนำขบวนจากสีลม แต่มันก็ไม่ใช่ เพราะคนในสีลมอยากไปร่วมเดินขบวน ผมก็ไปร่วมเดินกับเขา อาจเพราะผมเป็นที่รู้จัก เนื่องจากมีมนุษยสัมพันธ์ดี รู้จักคนเยอะ คนเลยมองว่าเป็นแกนนำ 
 
"ผิดเหรอที่ผมปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ผมแค่หวังดี ช่วยไม่ให้มีการขัดแย้ง แล้วสิ่งที่ผมทำก็ไม่มีวาระซ่อนเร้น ผมทำเพื่อชาติ เพื่อในหลวง"

ทั้งนี้สาธิตชี้แจงสาเหตุที่ไม่ได้เปลี่ยนมาใช้สัญชาติไทยตั้งแต่แรกว่า
“ผมเกิดที่อินเดีย เลยได้สัญชาติอินเดีย ในขณะที่น้องๆ 4 คนของผมเกิดที่เมืองไทย เลยได้สัญชาติไทยตั้งแต่แรก ความจริงสามารถเปลี่ยนมาใช้สัญชาติไทยได้ แต่ไม่ได้เปลี่ยน เพราะไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นคนต่างด้าว คิดเสมอว่าเป็นคนไทยมาตลอด แล้วผมเป็นสมาชิกของราชกรีฑาสโมสร ตอนหลังสมัครเป็นกรรมการ แล้วเขามีนโยบายว่าอยากให้มีกรรมการหลากหลายสัญชาติ ชาติละไม่เกิน 4 คน ผมเลยสมัครในนามของอินเดีย เป็นกรรมการมา 18 ปี เลยเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมไม่ได้เปลี่ยนมาใช้สัญชาติไทยตั้งแต่แรก”

ส่วนบทบาททางการเมืองของเขานั้น สาธิตอธิบายว่าไม่ได้เกิดจากที่เขาไปช่วยกลุ่มของกปปส. แต่เกิดจากงานสังคมสงเคราะห์ที่เขาทำมากกว่า

“เวลามีงานชุมนุมที่ไหน ผมก็จะเอาภาพฉายาลักษณ์ของในหลวงไปแจก บางทีก็ไปแจกธงชาติไทย วันหนึ่งไปแจกที่เวทีสามเสน แล้วคุณอัญชะลี ไพรีรัก หรือคุณปองพูดขึ้นบนเวทีว่า “มีผู้ใหญ่คนหนึ่งหน้าตาไม่ใช่คนไทย ไปไหนก็จะเอาธงชาติไทย เอารูปในหลวงไปแจก อยากรู้ว่าคนนี้คือใคร มีคนรู้บ้างไหม” แล้วบังเอิญผมอยู่ที่นั่นพอดี เลยมีคนพูดขึ้นมาว่า “นี่ไง คนนี้ๆ” คุณปองเลยเชิญผมขึ้นบนเวที ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกที่ขึ้นเวทีกปปส.

“ตอนนั้นคุณปองถามว่าผมเป็นใครมาจากไหน ทำไมทำแบบนี้ ผมจึงตอบไปว่ารักสถาบัน อยากให้คนไทยภูมิใจในความเป็นไทยและรักสถาบัน พูดแค่สองประเด็นนี้ ฉะนั้นไม่มีวาระซ้อน ผมมีความผูกพันมากับทุกรัฐบาล มีบทบาทกับทุกพรรรค เคยไปอินเดียกับคุณทักษิณสองครั้ง ไม่ได้ไปเพราะคุณทักษิณ แต่ไปเพราะประเทศไทย เคยไปอินเดียกับคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดังนั้นไม่ได้ทำเพื่อพรรคใดพรรคหนึ่ง  ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา ผมยังไปอินเดียกับคุณยิ่งลักษณ์อยู่เลย”

ชีวิตหลังจากถูกสั่งเนรเทศ

“วันที่ผมทราบข่าวว่าถูกศรส.สั่งเนรเทศ ผมคิดไม่ถึงจริงๆ ตอนนั้นอ่านข่าวจากเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊คนี่แหละบอกว่า ศรส.จะเนรเทศ สาธิต เซกัล อ่านแล้วงงมาก เพราะคิดว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด ทำแต่ความดีมาโดยตลอด แล้วทำไมต้องมาเนรเทศเรา ไม่เคยทำอะไรเสียหาย จะมาเนรเทศเราเรื่องอะไร” เขาเล่าด้วยความอัดอั้นใจ

พอถามว่าหลังจากศรส.สั่งเนรเทศ เขาเจอผลกระทบอย่างไรบ้าง สาธิตตอบว่า

“นิตยสารของผมโดนถอนโฆษณา ทั้งที่ตอนนี้เป็นธุรกิจของครอบครัว คือเป็นของน้องๆ และหลานไปแล้ว ผมเลยเสียใจที่ทำให้น้องๆ ต้องมารับกรรมของการกระทำของผม แต่ด้านดีก็มี เพราะไปไหน คนก็อยากจะขอจับมือ เดินไปที่ไหน คนก็ยิ้มให้ ขอเข้ามากอด บอกว่าขอบคุณที่รักในหลวง เรียกว่ามีแต่คนส่งความรู้สึกดีๆ ให้มา เป็นความรู้สึกที่เงินมีเท่าไหร่ก็ซื้อไม่ได้ มีข้อความให้กำลังใจผมทางเฟซบุ๊คมาเป็นหมื่นๆ ข้อความ

“วันก่อนมียายคนหนึ่งอายุ 88 ปี บอกหลานว่าอยากมาหาคุณสาธิตให้ได้ ทั้งที่เขาเดินไม่ได้ หลานเขาต้องพานั่งรถเข็นมา เขาไปเช็กข่าวจากที่ไหนไม่รู้ว่าบ้านผมอยู่แถวสีลม บางทีจะเดินไปแถวเวทีสีลม เขาจึงมาดักรอพบผม บอกว่ามารออยู่สองชั่วโมงแล้ว พอคุณยายท่านนี้เห็นผมก็บอกว่า “คุณสาธิตเป็นคนดีนะ อย่าทิ้งพวกเรา เราไม่ให้คุณไป” (เริ่มตาแดง น้ำตาไหล) ผมซึ้งในน้ำใจคนแก่

“นอกจากนั้น ยังมีผู้ใหญ่บางคน อดีตรองนายกฯ อดีตรัฐมนตรี อดีตข้าราชการที่ผมเคยร่วมงาน หรือแม้นักธุรกิจที่ผมเคยเจอในประเทศอินเดีย ,อังกฤษ ,อเมริกา จำนวนร้อยๆ คนโทร.มาให้กำลังใจผมเยอะมาก เพราะทราบจากข่าวที่ออกไปทั่วโลก เขาบอกว่าคุณทำแต่ความดี ทำเพื่อประเทศชาติ แล้วทำไมคุณจะต้องมาเจออะไรแบบนี้ เขาไม่อยากเชื่อ

“ มีนักธุรกิจชาวอินเดียบอกว่าตั้งใจจะมาลงทุนในประเทศไทย แต่หลังจากนี้คงไม่มาแล้ว เขาบอกว่าถ้าปัญหานี้ยังเกิดขึ้นกับคุณได้ ซึ่งทำแต่ผลประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ เขาก็คงจะทำธุรกิจในไทยไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรรับประกันว่าถ้าเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เขาจะไม่โดนกลั่นแกล้ง ผมเลยบอกว่าอย่าเอาประเด็นของผมไปเกี่ยว ไม่อยากให้ประเทศชาติเสียผลประโยชน์ ยังไงก็มาเถอะ คือ ยังพยายามรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติอยู่

“ถ้าผมผิดจริง ผมจะยอมรับผิด แต่ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ (เสียงเครือและน้ำตาคลอ) จะมาเพ่งเล็งผมเรื่องอะไร คนเราเลือกเกิดไม่ได้ ถ้าผมเกิดในประเทศไทยก็คงจะไม่มีปัญหาใช่ไหม ผมเกิดในอินเดีย เลยต้องรับกรรมที่ไม่ได้เกิดเป็นคนไทย มันไม่ยุติธรรมเลย ผมไปขึ้นเวทีของกปปส. 2-3 ครั้ง ก็คุยแต่ประเด็นเทิดทูนสถาบัน ไม่เคยด่ารัฐบาล

“คุณพ่อผมเสียด้วยโรคมะเร็งปอดไปกว่า 20 ปีแล้ว ผมจึงเหลือแต่คุณแม่ที่ต้องดูแล ท่านป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ ต้องนอนอยู่แต่บนเตียง ไปไหนมาไหนไมได้ ดังนั้นจะให้ผมไปไหนได้ ผมต้องคอยดูแลท่าน ถ้าผมไม่อยู่ ใครจะดูแลคุณแม่ผม” สาธิตกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือ

อยากฝากบอกอะไรถึงรัฐบาลและประชาชนคนไทยบ้าง?

“ ขอให้รัฐบาลทำทุกอย่างเพื่อประเทศชาติเถอะ อย่ามองคนว่ามีนอกมีใน การแสดงความคิดที่บริสุทธิ์ใจน่าจะเป็นประโยชน์แก่เขา เพราะผมทำเพื่อประเทศไทย รักในหลวง อยากจะให้อนาคตของประเทศไทยสดใส อยากให้เศรษฐกิจไทยดี

“ผมอยากให้คนไทยสามัคคีกัน คิดถึงผลประโยชน์ของประเทศมากกว่าผลประโยชน์ตัวเอง รักและเทิดทูนสถาบันกษัตริย์เหมือนอย่างผม แล้วเชื่อเถอะว่าพระสยามเทวาธิราชจะไม่ทอดทิ้งเราแน่ๆ”

เรื่องโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก Michael Yon




ภาพเมื่อครั้งสาธิตทูลเกล้าถวายเงิน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สาธิตกับคุณแม่ซึ่งป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์มาหลายปีแล้ว
ถ่ายกับหมาสุดที่รักชื่อ ปุชชี่
ภาพที่ Michael Yon นักเขียนอเมริกันถ่ายไว้ในวันที่สาธิตเพิ่งถูกศรส.สั่งเนรเทศมาใหม่ๆ

สาธิตในคอนโดฯ ของตนเองย่านสีลม
ประชาชนมาให้กำลังใจสาธิต

ภาพที่  Michael Yon  ถ่ายไว้ในวันที่เขาได้ไปสัมภาษณ์สาธิต และกลายเป็นภาพที่มีชื่อเสียง
กำลังโหลดความคิดเห็น