xs
xsm
sm
md
lg

มือปราบโบท็อกซ์! “ญาณินี เกียรติไพบูลย์” หน้าแบ๊ว แต่แซ่บทั้งบู๊และบุ๋น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

By Lady Manager

สัมภาษณ์เดี่ยววันนี้ ไม่ใช่เซเล็บดารา หากเป็นสาวสวยรวยความสามารถแห่ง DSI

เวลากรมสอบสวนคดีพิเศษแถลงข่าวผลงานการจับกุมและยึดสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้า โดยเฉพาะพวกเวชภัณฑ์ยาปลอมต่างๆ มักจะเห็นสาวน้อยหน้าเด่นเด้งราวกับพริตตี้จับไมค์ชี้แจงรายละเอียด เธอคนนี้ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์หรือโฆษก

หากเป็น “รักษาการตำแหน่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ชำนาญการพิเศษ (8) สังกัด สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา” ที่มักกินซีน ออกทีวีขึ้นหน้าหนึ่งนสพ.รายวัน จนได้รับฉายาว่า “มือปราบโบท็อกซ์”


เธอชื่อ ญาณินี เกียรติไพบูลย์ หรือ เคที่ ชื่อเล่นที่ใครๆ เรียก จบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ และระดับปริญญาโท สาขากฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ (หลักสูตรภาคภาษาอังกฤษ)

“ตอนเรียนเป้าหมายคือ ไปทำงานที่ law firm แต่ต่อมามีความรู้สึก ‘เงิน’ ไม่ใช่สิ่งสำคัญ อยากทำงานในองค์กรของรัฐที่มีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมให้กับสังคมมากกว่า”

แนวคิดนี้จึงเป็นที่มาของการเลือกเข้าไปเป็นข้าราชการในกระทรวงยุติธรรม เป็นนักวิชาการยุติธรรม สังกัด สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ประมาณ 1 ปี ก่อนโอนย้ายมาสังกัดดีเอสไอ

“ก่อนหน้านี้เคยทำงานที่สำนักคดีอื่นมาก่อน เช่น สำนักคดีอาญาพิเศษ สำนักกิจการต่างประเทศ และคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ ฯลฯ ซึ่งก็ได้มีโอกาสทำคดีหลากหลายประเภท อย่าง คดีฮั้วประมูล คดีแชร์ลูกโซ่ คดีค้ามนุษย์ คดีฆ่าคนตายที่มีผู้มีอิทธิพลเกี่ยวข้อง เป็นต้น ก็ได้มีโอกาสเรียนรู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากพี่ๆ ที่เชี่ยวชาญการสืบสวนสอบสวนมาโดยตลอด เห็นเทคนิคการสืบสวนสอบสวนในหลายๆ รูปแบบแตกต่างกันออกไป” เธอเล่าถึงลักษณะงานในอดีต

DSI Super Unit ทำงานสืบสวนสอบสวนคดีละเมิดฯ

8 ปีมาแล้วที่เคที่ย้ายเข้ามากรมสอบสวนคดีพิเศษ เธอเผยเหตุจูงใจให้ฟังว่า

“ภารกิจหลักดีเอสไอคือ มุ่งเน้นปราบปราม และควบคุมอาชญากรรมพิเศษ หมายถึง อาชญากรรมที่มีความสลับซับซ้อน มีผลกระทบร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ

ดีเอสไอจึงถูกดีไซน์ให้ทำงานแบบ Super Unit โดยจะทำงานในลักษณะของทีมเวิร์ค ที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ มาบูรณาการการทำงานร่วมกัน และนโยบายของผู้บริหารที่นี่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ทุกคนไม่ว่าจะชายหรือหญิง ได้มีโอกาสในการทำงานอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน”

เธอทำงานอยู่ในสำนักทรัพย์สินทางปัญญา มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีที่เกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า และสิทธิบัตร

“สำนักนี้มี 3 ส่วน แต่ละส่วนก็มีหน้าที่เหมือนกันหมด จะไม่ได้แบ่งว่าคนนี้รับผิดชอบเครื่องหมายการค้า คนนี้ลิขสิทธิ์ คนนี้สิทธิบัตร คือ ทั้งสามส่วนจะดูทั้งสามหน้างานนี้เหมือนกันหมด แต่ว่าเราทำงานกันเป็นทีม ในส่วนหนึ่งก็มีหลายทีม

แต่ละทีมประกอบด้วยสหวิชาชีพ ทุกสำนักเป็นอย่างนี้หมด จะเป็นนักกฎหมาย สรรพากร คนตรวจสอบภาษี ตรวจสอบการเงิน คือ จะมีผู้เชี่ยวชาญเยอะแยะไปหมดเลย และบางคนก็เก่งเรื่องไอที บางคนก็เก่งในเรื่องของการตรวจสอบการใช้โทรศัพท์ หรือบางคนเก่งในเรื่องสืบสวนสะกดรอย

ก็จะแบ่งหน้าที่กัน งานนี้ใครเป็นตัวหลัก ใครเป็นตัวรอง ใครเป็นฝ่ายสนับสนุน และเวลาไปจับ บางทีก็ไปสนธิกำลังกับฝ่ายสำนักปฏิบัติการพิเศษ พวกนี้จะเข้ามาคุ้มกันให้เราเวลาที่ไปจับในจุดที่เสี่ยงอันตราย ดังนั้นก็ค่อนข้างปลอดภัย ไม่อันตรายเท่าไร”

สาวนักสืบสวนสอบสวนสินค้าเถื่อนแจงขอบข่ายงานที่แตกต่างกับตำรวจ

“แต่ที่เราแบ่งกับตำรวจตรงที่เราทำในจุดที่เป็นแหล่งผลิตใหญ่ๆ แหล่งเก็บสินค้า แหล่งกระจายสินค้า เป็นเรื่องของความซับซ้อน การสืบสวนที่ซับซ้อนก็เข้ามาเป็นคดีพิเศษ รวมถึงการสืบสวนคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งก็สามารถเป็นคดีพิเศษที่อยู่ในอำนาจของดีเอสไอได้"

"หากพฤติการณ์การกระทำความผิดมีความสลับซับซ้อนยากในการสืบสวน จำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนพิเศษ"

ในการทำงานก็จะมีทั้งความสนุกและความเครียดคละปนกันไปค่ะ อย่างบางสถานการณ์บางคดีที่ สืบสวนยากๆ เช่น คดีละเมิดลิขสิทธิ์ คดีละเมิดเครื่องหมายการค้า คดีซื้อขายของผิดกฎหมาย ไม่อาจใช้วิธีจับทั่วไปได้ก็อาจต้องมีการแฝงตัว เพื่อทำการล่อซื้อ เพื่อให้ได้พยานหลักฐานการกระทำความผิดจากบุคคลเป้าหมายให้ชัดเจน ซึ่งการล่อซื้อถือเป็นวิธีจับผู้ร้ายที่ได้ผลดีและชัดเจนที่สุดในเวลานี้ แต่ต้องพึงระวังในการใช้มันให้อยู่ในกรอบที่กฎหมายยอมรับด้วยเช่นกัน”

ลงทุนแฝงตัวล่อซื้อ จับโบท็อกซ์เถื่อนเจ้าใหญ่

ดั่งที่เกริ่นตอนต้นแล้วว่า เคที่เป็นที่รู้จักออกสื่อ ก็เนื่องมาจากผลงานแฝงตัวล่อซื้อโบท็อกซ์เก๊

“เคสนี้เริ่มจากบริษัทซึ่งเป็นผู้เสียหายจากอเมริกา ตัวแทนบริษัทผู้เสียหายในประเทศไทยร้องมาว่ามีการปลอมเครื่องหมายการค้าของเขาระบาดเต็มเลยในประเทศไทยตอนนี้ เป็นยี่ห้อฮอตฮิต และมีข่าวที่อเมริกาว่าคนไปฉีดของปลอมแล้วเสียชีวิต

คนไทยไปซื้อเยอะกับพวกเซลล์ใต้ดิน เราก็สืบ และพบเว็ปไซต์หนึ่งเป็นแหล่งใหญ่ในการจำหน่าย ตามต้นตอว่ามีใครเป็นผู้ร่วมขบวนการบ้าง ต้องไปค้นพบแหล่งเก็บ ก็มีการวางแผนกันล่อซื้อ เพื่อที่จะจับกุมพร้อมของกลาง

คือบางครั้งบางสถานการณ์ เราก็ต้องมีการแฝงตัวล่อซื้อ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลลับ ตัวละครที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตามกระแสเงิน และข้อมูลการใช้โทรศัพท์ ซึ่งเคสนี้เราได้สืบสวนจนทราบว่าจะมีการลักลอบจำหน่ายสินค้าโบท็อกซ์ล็อตใหญ่ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง จึงวางแผนนำกำลังจับกุม”

ความที่เคที่สนใจรู้เรื่องแฟชั่น เครื่องสำอางต่างๆ เธอจึงแฝงตัวทำเนียนเข้าไปเป็นผู้บริโภคได้ไม่ยากเย็นนัก แม้ต้องใช้เวลาถึง 3-4 เดือน

“ค่ะ เป็นผู้เชี่ยวชาญสินค้าความงาม (หัวเราะ) คือ เราจะรู้สินค้าเป็นอย่างนี้ๆ คุยกับเขาได้ เพราะพวกนี้จะระวังตัวมาก อย่างสไตล์ตำรวจไป เขาไม่เปิดประตูให้ หรือเป็นผู้หญิงแต่ไม่รู้เรื่องเครื่องสำอาง ก็เข้าไม่ถึง

เวลาเข้าไปแฝงตัวตอนแรกๆ ต้องเก็บภาพอะไรเยอะแยะไปหมด ก็ต้องใช้เทคนิคอะไรเยอะแยะ ซึ่งในคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การที่จะขอหมายศาลจะต้องมีพยานที่ชัดเจนมากพอสมควรที่ศาลจะอนุมัติหมาย ฉะนั้นเทคนิคและกระบวนการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานจึงเป็นเรื่องสำคัญ”

งานสืบสวน ยากแต่ท้าทาย

“เวลาที่เราทำคดีจนจนสามารถนำผู้กระทำความผิดที่แท้จริงมาดำเนินคดีได้ ก็รู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนในการอำนวยความยุติธรรมให้กับสังคม ทำให้รู้สึกหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง” เคที่เผยความรู้สึก พร้อมบอกว่า

“มันเป็นการค้นหาความจริง โดยใช้องค์ความรู้ของเรามาจับแต่ละคดี ซึ่งพฤติการณ์ของแต่ละคดีไม่เหมือนกัน

ความยากอยู่ตรงที่เราต้องจะวางกลยุทธ์การดำเนินการสืบสวนสอบสวนยังไงให้ สามารถได้พยานหลักฐานที่เพียงพอที่จะพิสูจน์การกระทำความผิด และได้ตัวผู้กระทำความผิดที่แท้จริงมาลงโทษได้อย่างปราศจากข้อสงสัย ซึ่งถือเป็นงานที่ท้าทายแต่ก็สนุกค่ะ”

ล่อซื้อจนหน้าช้ำ ต้องผันไปอยู่เบื้องหลัง

ความที่ทำงานสืบสวนสอบสวน แฝงตัวล่อซื้อมาแล้วหลายคดีจนหน้าช้ำ ปัจจุบันเคที่มีหน้าที่วางแผนการสืบสวนสอบสวนปากคำ วางแผนบริหารคดี และจัดวางกำลังพล โดยจะสืบสวนข้อมูลต่างๆ อยู่เบื้องหลัง

“ตอนแฝงตัวไป และถึงเวลาต้องจับ เราบอกเราเป็นเจ้าหน้าที่ บางทีเขาตกใจควักโทรศัพท์มาถ่ายรูปเรา เขาเป็นผู้ต้องหาแต่มาถ่ายรูปเรา บอกไม่คิดจริงๆ ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ ตอนนี้ออกไปไม่ได้แล้ว สืบสวนบ่อยจนหน้าช้ำแล้ว จำหน้าเราได้หมดแล้ว คือ พวกนี้สืบได้สักพักหนึ่ง ต้องเปลี่ยนหน้า ตัดสินใจไปทำเบื้องหลัง ฝ่ายปราบปรามดีกว่า

ล่าสุดไปเดินห้างสรรพสินค้า อ้าว นี่ไงที่ออกทีวี แล้วปิดร้านเลย ที่ออกทีวีก็ตัดสินใจแล้วว่า จะไปทำด้านปราบ ในจุดที่สืบก็ทำได้ อาจสืบทางเน็ต ทางโทรศัพท์”

เธอเล่าว่า ในการทำงานจะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซน(Zone) ได้แก่ Red Zone เป็นพื้นที่ที่มีการละเมิดสูง ต่อไปก็ Yellow Zone ระดับการละเมิดปานกลาง และ Green Zone ไม่มีสินค้าเถื่อนเลย

“เป้าหมายคือ ทำ Red Zone ให้เป็น Yellow Zone และก็พยายามทำ Yellow Zone ให้เป็น Green Zone นี่คือเป้าหมายการทำงานค่ะ ซึ่งเราไม่ได้ดูแค่โบท็อกซ์ เราดูกระเป๋าปลอม แผ่นผีซีดีเถื่อนด้วย แต่โดยส่วนตัว ใจจริงอยากดูเรื่องยา เครื่องสำอาง เพราะมันกระทบสุขภาพร่างกาย ถึงชีวิตได้”

ฝากเตือนผู้บริโภค อย่าเห็นแก่ราคาถูก อยากสวยใสจนลืมชีวิต

“สินค้าประเภทยาฉีดต่างๆ อย่าง โบท็อกซ์ ฟิลเลอร์ ฉีดกลูต้าผิวขาว ฯลฯ แพทย์เท่านั้นที่จะสามารถซื้อตัวยาประเภทนี้ได้ และแพทย์จะต้องมีใบประกอบวิชาชีพและใบประกอบสถานพยาบาล บริษัทยาถึงจะขายให้ ฉะนั้นพวกหมอเถื่อน หมอกระเป๋าทั้งหลายจึงไม่สามารถซื้อได้ จึงต้องไปซื้อยาจากพวกเซลล์ใต้ดิน ซึ่งก็คือ ยาปลอม เป็นยาอันตรายที่ไม่ผ่านการรับรอง ไม่มีการันตรีความปลอดภัยใดๆทั้งสิ้น นับว่าอันตรายมาก

และเดี๋ยวนี้ มีหมอเถื่อนยาปลอมจำนวนเยอะมาก มักแอบอ้างว่าเป็นแพทย์บ้าง หรือแอบอ้างว่าเป็นยาของจริง ซึ่งตัวอย่างก็มีให้เห็นเยอะมากตามข่าวหนังสือพิมพ์ที่เห็นกันอยู่ปัจจุบัน” เคที่ให้ข้อมูลเท็จจริง เพื่อฝากถึงผู้อ่าน


“อยากฝากเตือนประชาชนผู้บริโภคว่าต้องระมัดระวังในการใช้บริการเพื่อเสริมความงาม หรือการซื้อผลิตภัณฑ์ยาหรือเครื่องสำอางค์ อย่าเห็นแก่ราคาถูก แต่ต้องเสี่ยงอันตราย ซึ่งหากต้องการที่จะใช้ยาฉีด ก็ควรคำนึงถึงความปลอดภัยให้มากที่สุด โดยควรเลือกฉีดในคลินิกที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำอยู่

ที่สำคัญ ควรสอบถามและขอดูตัวยาที่ใช้ว่ามีการอนุญาตขึ้นทะเบียนถูกต้องตาม กฎหมายจาก อย.หรือไม่ เพราะหากฉีดยากับบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์ หรือใช้ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน และสถานที่ฉีดยาไม่น่าเชื่อถือ ผลที่ได้อาจไม่คุ้ม นอกจากไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบแล้ว ยังอาจเสียเงินทองจำนวนมากในการรักษาร่างกายด้วย

และก็อยากฝากเตือนเจ้าของเว็ปไซต์ทุกราย รวมทั้งคลินิกสถานเสริมความงามทุกแห่ง หรือแหล่งใดๆ ที่โฆษณายาฉีดฟิลเลอร์ หรือยาใดๆก็ตาม ที่ไม่ได้ขออนุญาตขึ้นทะเบียนตามกฎหมายจะต้องถูกดำเนินคดี ที่สำคัญผู้ประกอบการควรมีคุณธรรม จริยธรรม และมีความรับผิดชอบต่อสังคม”

เธอขอแนะวิธีสังเกตหมอเก๊คลินิกเถื่อน

“เวลาไปคลินิก อย่างแรกที่ต้องดูเลยคือ ป้ายหน้าร้าน จะต้องมีการแสดงใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล และใบอนุญาตให้ดำเนินสถานพยาบาล ซึ่งโดยปกติจะต้องแสดงไว้โดยเปิดเผยและเห็นได้ง่าย และผู้เป็นแพทย์จะต้องมีใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพ หรือผู้ประกอบโรคศิลปะ

สุดท้ายนี้ นอกจากระมัดระวังตัวเองแล้ว หากพบการลักลอบผลิตและจำหน่ายยาปลอม หรือเครื่องสำอางค์ปลอม ผ่านสื่อต่างๆ ก็สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อที่จะได้ดำเนินคดีต่อไปค่ะ”
 


>>
อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ 
 http://www.celeb-online.net
 
กำลังโหลดความคิดเห็น