xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยไม่สำคัญ! สธ.เปิดระบบไกล่เกลี่ยเฉพาะผู้ป่วยต่างชาติ เลี่ยงฟ้องหมอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เปิดระบบไกล่เกลี่ยสำหรับชาวต่างชาติโดยเฉพาะ หากมีปัญหาข้อพิพาททางการแพทย์กับสถานพยาบาลในไทย หวังหลีกเลี่ยงการฟ้องร้อง พร้อมเพิ่ม 3 ช่องทางยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการ ด้าน รพ.เอกชนพร้อมหนุน ชี้ช่วยยกระดับความมั่นใจแก่ชาวต่างชาติ พร้อมแจงค่าบริการแพงขึ้นอยู่กับต้นทุน
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (8 ส.ค.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวแถลงข่าวเรื่อง “การพัฒนาระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการแพทย์ (Medical Mediator)” ว่า จากนโยบายเมดิคัล ฮับ (Medical Hub) ของรัฐบาล ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลในไทยเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลเรื่องการร้องเรียนเข้ามาเพิ่มขึ้นด้วย สธ.จึงพัฒนาให้มีระบบไกล่เกลี่ยกรณีข้อพิพาททางการแพทย์ ทั้งในด้านคุณภาพการรักษาพยาบาลและอัตราค่าบริการ ระหว่างผู้ใช้บริการชาวต่างชาติและสถานพยาบาลในประเทศทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งเป็นกลไกที่ได้ดำเนินการแล้วในต่างประเทศ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและสร้างความเชื่อมั่นให้ชาวต่างชาติที่เข้ามารักษาตัวในไทย

นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า ระบบดังกล่าวจะเน้นรองรับชาวต่างชาติส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ต้องจ่ายค่ารักษาเองทั้งหมดก่อน ส่วนการดำเนินงานจะใช้รูปแบบคณะกรรมการกลาง ซึ่งได้แต่งตั้ง 1 ชุด มี 18 คน โดยมีอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สมาคมโรงพยาบาลเอกชน แพทยสภา กระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล และ สบส.เป็นเลขานุการ รวมทั้งมีคณะอนุกรรมการวิชาการ คณะอนุกรรมการด้านการเงิน และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมแต่ละสาขาร่วมดำเนินการ

นพ.ประดิษฐ กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการจะทำหน้าที่พิจารณา เจรจาไกล่เกลี่ย ทบทวนให้ข้อคิดเห็น โดยยึดหลักความถูกต้องทางวิชาการทางการแพทย์ในระดับสากล ความสมเหตุสมผลด้านการเงิน ซึ่งหากผู้ร้องเรียนและผู้ถูกร้องยินยอมเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยและกำหนดระยะเวลาดำเนินการทั้งระบบไม่เกิน 90 วัน หากไม่ยินยอมจะส่งเรื่องให้สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะกรณีเป็นโรงพยาบาลเอกชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ สธ.ได้เปิดเพิ่มอีก 3 ช่องทางเฉพาะในการรับเรื่องร้องเรียนเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยจากปกติ 8 ช่องทาง ได้แก่ 1.Web Portal : www.thailandmedicalhub.net, E-mail : medicalhub702@gmail.com 2.Call Center สบส. หมายเลข 02-193-7999 ตลอด 24 ชั่วโมง และ 3.รับเรื่องร้องเรียนโดยตรงผ่าน สบส.

ที่ผ่านมาเมื่อมีปัญหาข้อพิพาททางการแพทย์ หากตกลงกันไม่ได้ ก็จะไปเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง ซึ่งเป็นการตั้งใจว่าจะไปรบกันในศาล ดังนั้น การมีระบบไกล่เกลี่ยจะช่วยลดความขัดแย้งได้มาก หากเจรจาแล้วไม่เข้าใจกันก็ให้มาที่ศูนย์ไกล่เกลี่ย ซึ่งจะต้องพูดกันด้วยข้อเท็จจริง เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม อยากให้แพทย์เข้าใจว่าระบบไกล่เกลี่ยไม่ได้เป็นการคุ้มครองแค่ผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังช่วยป้องกันแพทย์จากการถูกฟ้องร้อง และต้องไปต่อสู้กันในชั้นศาลด้วย จึงอยากให้ภาคเอกชนช่วยกันกระจายเรื่องระบบนี้ให้ชาวต่างชาติรับทราบ” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นพ.ไพศาล จันทรพิทักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ สายกิจกรรมพิเศษ กล่าวว่า เรื่องอัตราค่ารักษาพยาบาลที่มองว่า รพ.เอกชนมีการเรียกเก็บที่แพงเกินจริงนั้น อยากให้เข้าใจก่อนว่า โรงพยาบาลแต่ละแห่งมีต้นทุนที่ต่างกัน อย่างโรงพยาบาลขนาดใหญ่ซึ่งมีการลงทุนมากกว่าก็จะมีค่าบริการที่สูงกว่า รวมถึงเรื่องต้นทุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วย ซึ่งมีหลายระดับ ราคาการให้บริการจึงไม่เท่ากัน อย่างการตรวจเครื่อง MRI บางแห่ง 8,000 บาท บางแห่ง 12,000 บาท ก็เป็นเพราะเครื่องมีคุณภาพการอ่านค่าไม่เท่ากัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ก่อนให้การรักษาแพทย์จะต้องระบุประมาณการค่าใช้จ่ายก่อน เพื่อประกอบการตัดสินใจการรักษาของผู้ป่วย เช่น เมื่อตรวจพบเป็นมะเร็งเต้านม ก็จะต้องอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติรับทราบก่อนว่า ค่าใช้จ่ายโดยรวมราคาเท่าไร ยกตัวอย่าง 2 แสนบาท ก็ต้องอธิบายว่า เป็นค่าใช้จ่ายกี่วัน รวมค่าอะไรบ้าง ซึ่งรายการจ่ายแต่ละอย่างก็จะมีหลายระดับ เช่น การดมยา วิธีการดมต่างกันหรือยาคนละประเภทก็จะมีราคาต่างกัน เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ รพ.เอกชนทุกแห่งปฏิบัติ

นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นพ.ไพศาล กล่าวอีกว่า สำหรับการมีระบบไกล่เกลี่ย เชื่อว่าจะสามารถช่วยลดปัญหาการฟ้องร้องกันได้ และเป็นการยกระดับให้ต่างประเทศทราบว่า เมื่อมารักษาพยาบาลในไทยแล้วมีความมั่นใจได้ว่าจะได้รับการดูแลอย่างดี หากมีปัญหาข้อพิพาททางการแพทย์ก็จะมีหน่วยงานเข้ามาดูแล ตรงนี้โรงพยาบาลเอกชนก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือช่วยกระจายให้ชาวต่างชาติรับรู้ว่าประเทศไทยมีระบบดังกล่าว

อนึ่ง จากข้อมูลการร้องเรียนการให้บริการด้านการแพทย์ของไทย ปี 2555 พบว่า มีการร้องเรียนเกี่ยวกับโรงพยาบาลร้อยละ 59 และร้องเรียนเกี่ยวกับคลินิกร้อยละ 41 เรื่องที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดคือ ระบบการให้บริการของสถานพยาบาลร้อยละ 40 การรักษาพยาบาลร้อยละ 15 ค่ารักษาพยาบาลแพงร้อยละ 9 ร้องเรียนพฤติกรรมบุคลากรทางการแพทย์ร้อยละ 9 และคลินิกเถื่อน/หมอเถื่อนร้อยละ 8 รัฐบาลได้คุ้มครองผู้บริโภคคนไทยด้านสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน โดยเปิดช่องทางปกติเพื่อรับเรื่องร้องเรียน 8 ช่อง ดังนี้ 1.ตู้ ปณ. 1111 สำนักนายกรัฐมนตรี 2.สายด่วน 0-2193 -7999 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 3.เว็บไซต์ www.hss.moph.go.th 4.ไปรษณีย์ถึงศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ อาคาร 5 ชั้น 5 กระทรวงสาธารณสุข อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 5.ตู้รับเรื่องร้องเรียนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 6.ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สำนักกฎหมาย สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 7.โทรศัพท์หมายเลข 0 2149 5652 โทรสารหมายเลข 0 2149 5652 และ 8.อีเมล law_hss@hss.mail.go.th


กำลังโหลดความคิดเห็น