xs
xsm
sm
md
lg

รัฐสั่งฟันพวกขายสินค้าเถื่อนบนโซเชียลมีเดีย "หมอฟัน" เตือนติดลวดจัดฟันแฟชั่นเสี่ยง "โรคเอ๋อ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
สคบ.เตือนระวังสินค้า “เถื่อน-อันตราย”ขายบนเว็บไซต์และตามท้องถนนเกลื่อน โดยเฉพาะ “ลวดจัดฟันแฟชั่น” ยอดฮิต ด้านทันตแพทย์ชี้ “จัดฟันแฟชั่น” ผิดกฎหมาย วัยรุ่นซื้อลวดจัดฟันแฟชั่นมาติดเอง เสี่ยงฟันพัง-ใบหน้าเปลี่ยน-ติดเชื้อลามหัวใจและสมอง โอกาสเป็น “โรคเอ๋อ” ได้ ขณะที่ สคบ.ประสานกระทรวงไอซีที หาหลักฐานเตรียมฟันเว็บไซต์และเพจร้านขายสินค้าจัดฟันเถื่อน ส่วน สตช.เตือนผู้ประกอบการขายลวดจัดฟันแฟชั่นบนโซเชียลมีเดีย อาจผิดกฎหมาย 3 กระทงรวด

“ความใฝ่ฝันของเด็กสมัยนี้คือการได้ทำศัลยกรรมความงาม” อาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่งเล่าว่า การคลุกคลีอยู่กับเด็กๆ ทำให้มองเห็นความสนใจที่เปลี่ยนแปลงไปของเด็กวัยรุ่น จากสมัยก่อนที่ดารานักแสดงยังต้องแอบทำศัลยกรรมไม่ให้ใครรู้ แต่ปัจจุบันค่านิยมเปลี่ยนไป ศัลยกรรมเติมแต่งความงามกลายเป็นเรื่องเปิดเผย จนถึงขั้นคนทำก็อยากอวด อยากบอกต่อ เพราะทำมาแล้วดูดีขึ้น ขาวขึ้น หน้าเรียวเล็ก ดูเด็กลง งานและเงินก็ไหลมาเทมา

เมื่อค่านิยมความสวย ขาว ผอม หน้าเรียว ฯลฯ ได้รับการยอมรับจากกลุ่มวัยรุ่นทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ ธุรกิจเพื่อความงามจึงผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดเพื่อตอบสนองความต้องการตามกระแสแฟชั่น ซึ่งสินค้าแฟชั่นส่วนใหญ่มักมีราคาแพง โดยเฉพาะสินค้าและบริการด้านสุขภาพ ดังนั้นจึงมีธุรกิจผิดกฎหมายเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองตลาดล่าง โดยมีจุดเด่นที่ราคาถูกกว่าของจริงเป็นหลายสิบเท่า ทว่าไม่มีการรับรองคุณภาพมาตรฐานใดๆ เด็กวัยรุ่นที่ยังอยู่ในวัยไม่มีรายได้ จึงตกเป็นเหยื่อของสินค้าและบริการกลุ่มนี้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ตัวอย่างเช่น การฉีดสารกลูตาไธโอนเข้าเส้นเลือดเพื่อให้ผิวขาวขึ้น หากเด็กวัยรุ่นไปใช้บริการฉีดจากคลินิกเถื่อนก็มีความเสี่ยงต่อการแพ้สารกลูตาไธโอน ซึ่งทำให้เกิดอาการช็อก ความดันต่ำ หายใจไม่ออก และเสียชีวิตได้ หรือการติดลวดดัดฟันแฟชั่นที่เป็นสินค้าผิดกฎหมาย แต่ก็มีคลินิกเถื่อนจำนวนมากที่เปิดขึ้นเพื่อให้บริการโดยคนที่ไม่มีความรู้ทางทันตกรรม ซึ่งสินค้าและบริการความงามเหล่านี้ล้วนมีอันตรายถึงชีวิต และมีการนำเสนอข่าวเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเป็นประจำ แต่เมื่อข่าวเงียบลง ธุรกิจผิดกฎหมายก็ยังคงมีผู้มาใช้บริการต่อไป เหมือนไม่เคยเกิดเรื่องร้ายแรงขึ้น

ล่าสุด ลวดจัดฟันแฟชั่นเป็นสินค้าผิดกฎหมายที่ถูกนำมาขายทางโซเชียลเน็ตเวิร์กกันอย่างโจ๋งครึ่ม โดยผู้ค้ากล่าวอ้างว่าผู้ซื้ออุปกรณ์จัดฟันแฟชั่น สามารถนำไปทำเองที่บ้านได้ง่ายๆ โดยไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย มีจำหน่ายทั้งอุปกรณ์จัดฟันแบบแยกชิ้น, ชุดจัดฟันทำเองที่บ้าน และชุดอุปกรณ์จัดฟันสำหรับเปิดร้านด้วยตัวเอง ราคาเริ่มตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป โดยชุดจัดฟันอุปกรณ์ครบเซตสำหรับ 1 ปาก ราคาประมาณ 1,300 บาท

จ่ายเงินด้วยราคาเบาๆ เพื่อลุคสวยหรู ดูเป็นคุณหนู เด็กแนว แต่ต้องแลกกับความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในช่องปาก ล้วนเป็นปัญหาที่ทันตแพทย์ต่างให้ความเป็นห่วง!?!

“จัดฟัน” ทำเมื่อมีข้อบ่งชี้เท่านั้น
 
รศ.(พิเศษ) ทพญ.สมใจ สาตราวาหะ ประธานกรรมการที่ปรึกษาสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย ระบุว่า การจัดฟันคือการจัดเรียงฟันให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องทำให้การสบฟันถูกต้อง เพื่อให้อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการบดเคี้ยวสามารถทำหน้าที่ได้ดี โดยต้องมีข้อบ่งชี้หรือความจำเป็นที่ต้องจัดฟัน เช่น ฟันเก ฟันห่าง ฟันยื่น ฟันเหยิน เป็นต้น ซึ่งลักษณะดังกล่าวทำให้การสบฟันผิดปกติ บดเคี้ยวลำบาก หรือเคี้ยวแล้วเจ็บข้อต่อขากรรไกร หรือมีเศษอาหารไปติดยัด ทำให้แปรงฟันลำบาก เกิดฟันผุเหงือกอักเสบและอื่นๆ การจัดฟันจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ความสวยงามจะเป็นผลตามมาจากการเรียงตัวของฟันในตำแหน่งที่ถูกต้อง และที่สำคัญการจัดฟันต้องทำโดยทันตแพทย์จริงๆ เท่านั้น

“การติดเครื่องมือที่ฟันจะทำให้แปรงฟันลำบากโดยเฉพาะการจัดฟันชนิดติดแน่น เศษอาหารจะยิ่งติดง่าย การแปรงฟันก็ยากขึ้น ถ้าไม่แปรงฟันหรือทำความสะอาดฟันไม่ดีก็ย่อมทำให้เหงือกอักเสบและทำให้ฟันผุ เป็นอันตรายขั้นแรกๆ ดังนั้นถ้าไม่มีข้อบ่งชี้ ทันตแพทย์จะไม่แนะนำให้จัดฟัน” รศ.(พิเศษ) ทพญ.สมใจ กล่าว
 

 
“จัดฟันแฟชั่นมั่ว” เสี่ยงติดเชื้อเข้าหัวใจ-สมอง
 

ส่วนการจัดฟันแฟชั่นเป็นการใส่เครื่องมือจัดฟันเพื่อเลียนแบบการติดเครื่องมือจัดฟันที่ทันตแพทย์ใช้ในการรักษาผู้ป่วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความดูเด่นทันสมัย

“ทันตแพทย์จะไม่ทำการจัดฟันแฟชั่นทุกกรณี เพราะการจัดฟันแฟชั่นผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข หากจัดฟันโดยไม่มีข้อบ่งชี้ และมีการพิสูจน์ได้ว่าทำการจัดฟันแฟชั่นจริง จะต้องถูกถอนใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ”

รศ.(พิเศษ) ทพญ.สมใจระบุ และเล่าอีกว่า การจัดฟันแฟชั่นเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นตั้งแต่ช่วงปี 2547 โดยเริ่มจากการวางขายลวดจัดฟันเส้นเล็กในซองกระดาษราคาไม่แพง เป็นวัสดุคล้ายกำไลข้อมือที่มีปลาย 2 ข้างไว้ใช้ทาบกับฟัน และแหย่เข้าไปหักงอไว้ในซอกฟัน ทำให้เวลายิ้มเหมือนคนจัดฟัน อย่างไรก็ตาม การจัดฟันแฟชั่นดังกล่าวมีโอกาสที่จะติดเชื้อในช่องปากสูง เพราะวัสดุที่เอาเข้าไปในปากไม่ถูกสุขลักษณะ การทิ่มลวดอาจทิ่มไปโดนเหงือก หากเหงือกอักเสบอยู่แล้วยิ่งมีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น โรคติดเชื้อจากเหงือก สามารถแพร่ไปถึงหัวใจทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจได้ และเคยมีรายงานการเจาะลิ้นแฟชั่นทำให้ติดเชื้อในช่องปากแพร่ไปที่สมองทำให้เป็นโรคเอ๋อได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี ระยะหลังแฟชั่นจัดฟันพัฒนามาสู่การจำหน่ายอุปกรณ์จัดฟันที่มีลักษณะใกล้เคียงอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดฟันจริงมากขึ้น แต่รับจัดฟันโดยผู้ที่ไม่ได้เป็นทันตแพทย์ นอกจากนั้นยังมีการจำหน่ายบนโซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลาย โดยบอกว่าผู้ซื้อสามารถเอาไปทำเองได้ไม่ยาก ซึ่งการขายอุปกรณ์จัดฟันแฟชั่นดังกล่าวมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ตามคำสั่งคณะกรรมการที่ 1/2549 ห้ามขายสินค้าลวดจัดฟันแฟชั่น หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามมาตรา 56 ต้องระวางจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ลักลอบดำเนินการจัดฟันแฟชั่นจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรม พ.ศ. 2537 มาตรา 28 ซึ่งห้ามมิให้ผู้ใดที่มิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ทำการประกอบวิชาชีพทันตกรรม หรือแสดงด้วยวิธีใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่าหลงเชื่อร้านค้าออนไลน์ ระวัง “ติดเหล็กจัดฟันเอง” พังทั้งปาก
ขณะเดียวกันมีเพจร้านจำหน่ายลวดดัดฟันแฟชั่นในโซเชียลมีเดียจำนวนหลายร้านในปัจจุบัน มีการโฆษณาชวนเชื่อว่า ลูกค้าสามารถซื้ออุปกรณ์ไปจัดฟันเองที่บ้านได้ โดยไม่ต้องพึ่งหมอฟันหรือผู้เชี่ยวชาญอีกต่อไป และกล่าวอ้างว่าได้บอกข้อควรระวังแก่ลูกค้าทุกคนอย่างรอบคอบ

ทว่า ไม่มีใครทราบว่าหลังจากจัดฟันแฟชั่นไปเป็นเวลาแรมปี จะต้องเดินเข้าคลินิกทันตกรรมเพื่อพบหมอฟันตัวจริง ให้ช่วยแก้สภาพฟันที่มีปัญหาจากการใส่ลวดจัดฟันแฟชั่น

“การจัดฟันด้วยตัวเอง เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะทันตแพทย์จัดฟันต้องมีความรู้เกี่ยวกับกายวิภาคศาสตร์ของช่องปากและฟัน ซึ่งเป็นเรื่องของโครงสร้างในช่องปาก กระดูกขากรรไกรและฟัน ต้องรู้ว่าการเคลื่อนฟันโดยไม่ทำให้เกิดอันตรายจะทำได้อย่างไร ฯลฯ เนื่องจากสภาพความผิดปกติของการสบฟันของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นต้องใช้วิธีการและเครื่องมือจัดฟันที่แตกต่างกันออกไป ขณะที่ผู้รับจัดฟันแฟชั่นไม่มีความรู้ทางด้านนี้เลย ต่อให้ใช้เครื่องมือจัดฟันที่ถูกต้อง ไม่มีสารพิษเจือปน มีการทำความสะอาดที่ถูกต้อง การติดตรงตำแหน่งที่ถูกต้อง และแม้ติดตรงตำแหน่งที่ถูกต้องก็ยังมีอันตรายจากกรดทาเนื้อฟันก่อนการติดเครื่องมือจัดฟันเข้ากับตัวฟัน ซึ่งต้องเป็นกรดที่สามารถใช้ในช่องปากได้โดยไม่มีอันตราย ต้องทานานแค่ไหนจึงจะไม่เกิดอันตราย กาวที่นำมาใช้ติด เพราะมีโอกาสเกิดอันตรายได้ทุกขั้นตอน โดยเฉพาะลวดและยางที่มาใช้เคลื่อนฟัน ลวดจะทำให้เกิดแรงที่ไม่เท่ากัน ต้องใช้ในขั้นตอนที่ไม่เหมือนกัน รวมถึงยางด้วย ทุกอย่างทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เราไม่ต้องการและทำให้เกิดอันตรายในการเคลื่อนฟันได้ ซึ่งต้องรู้วิธีป้องกัน”

รศ.(พิเศษ) ทพญ.สมใจอธิบายต่อว่า การนำโลหะ ลวด และยางสีๆ ไปติดกับฟัน จะทำให้เกิดแรงเคลื่อนฟันขึ้น แต่ถ้าไม่รู้หลักการควบคุมที่ถูกต้อง เราจะไม่รู้ว่าฟันจะเคลื่อนไปทางไหน ส่งผลให้เคลื่อนกระจัดกระจายอย่างไม่มีทิศทาง เหมือนภาพถ่ายฟันที่เกิดปัญหาหลังจากมีการจัดฟันแฟชั่น ซึ่งถูกเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต

ผลงานจากการจัดฟันแฟชั่นที่ทันตแพทย์ต้องแก้ไขให้คนไข้ มีตั้งแต่ฟันผุ เหงือกอักเสบอย่างรุนแรง รากฟันละลาย ฟันยื่นแหงนออกมาจากแนวสันเหงือก ซึ่งหลายรายต้องถูกถอนฟันทิ้งหลายซี่ หากโชคร้ายอาจติดเชื้อลามไปสู่โรคอื่นๆ

รศ.(พิเศษ) ทพญ.สมใจแนะนำว่า หากฟันดีอยู่แล้ว ไม่มีข้อบ่งชี้ว่ามีความจำเป็นต้องจัดฟัน ก็ไม่ควรจัดฟัน เพราะความสวยที่ได้ไม่คุ้มกับผลเสียที่เกิดขึ้น เด็กอาจคิดว่าเรื่องฟันเป็นเรื่องเล็ก แต่ที่จริงแล้วการจัดฟันแฟชั่นโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจเป็นตัวร้ายเป็นอันตรายต่อชีวิตก็เป็นได้
นอกจากนั้นการทำฟันทุกอย่างควรปรึกษาทันตแพทย์ที่มีใบอนุญาตในการประกอบโรคศิลปะ ไม่ควรรับบริการจากคลินิกเถื่อน เช่น การใส่ฟันปลอมที่วางขายข้างถนน เพราะอาจเกิดแผลติดเชื้อได้เช่นกัน หรืออาจมีปัญหาในการบดเคี้ยว ส่งผลให้เป็นโรคปวดข้อต่อ หรือโรคปวดหัวที่เกิดจากการบดเคี้ยวไม่ถูกต้องก็ได้

 
สคบ.ประสานไอซีที เตรียมฟันเว็บไซต์ขายสินค้าเถื่อน
 

ขณะเดียวกัน นายจิรชัย มูลทองโร่ย เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เผยว่า ทาง สคบ.ได้มีคำสั่งห้ามขาย “ลวดดัดฟันแฟชั่น” มาตั้งแต่ปี 2552 เนื่องจากแพทยสภาเตือนว่าสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ไม่มีคุณภาพและไม่ปลอดภัยต่อผู้ซื้อ ซึ่งที่ผ่านมามีวัยรุ่นเสียชีวิตจากการจัดฟันแฟชั่นแล้ว 2 ราย ที่ จ.ขอนแก่น และชลบุรี อย่างไรก็ตาม สัปดาห์ที่ผ่านมา สคบ.ได้รับข้อมูลว่ามีการเสนอขายลวดดัดฟันแฟชั่นทางเว็บไซต์ จึงอยากขอเตือนว่าอย่าไปใช้บริการดังกล่าว หรือซื้ออุปกรณ์มาจัดฟันเองตามที่มีการโฆษณาชวนเชื่อ

อย่างไรก็ดี สคบ.ได้ประสานไปยังกระทรวงไอซีที เพื่อรวบรวมหลักฐานในการดำเนินการต่อเว็บไซต์ที่ขายอุปกรณ์ดัดฟันแฟชั่นผิดกฎหมายดังกล่าว และยังประสานไปยังโรงเรียนในสังกัด กทม.และ สพฐ. เพื่อเป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวังสินค้าห้ามขายในโรงเรียนด้วย เนื่องจากการแจ้งเบาะแสในเรื่องนี้ยังค่อนข้างน้อย

เลขาธิการ สคบ.บอกด้วยว่าจากการตรวจของ สคบ.ในเรื่องธุรกิจดัดฟันแฟชั่นที่ผ่านมา พบว่าอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดฟัน เช่น คีมจัดฟัน ก็เหมือนคีมของช่างไฟฟ้า ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่เหมาะสม นอกจากนั้นผู้ที่ทำการจัดฟันให้วัยรุ่นที่เคยพบมาก็เป็นเด็กจบ ม.6 ไม่มีความรู้ในการทำฟันเลย และแพทยสภาก็เตือนแล้วว่าการซื้อลวดดัดฟันแฟชั่นมาใส่ปากตนเอง อาจทำให้ 1. ลวดดัดฟันแฟชั่นจะทำให้ซี่ฟันห่างออกมา 2. อาจทำให้โครงสร้างใบหน้าเปลี่ยนไป 3. ลวดดัดฟันแฟชั่นใช้วัสดุที่ไม่มีคุณภาพ และมีความแหลมคม จึงอาจบาดเหงือก ทำให้เกิดแผลติดเชื้อ และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

นอกจากนี้ยังมีสินค้าและบริการอีกหลายประเภทที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น เลนส์ตาโต หรือการสักยันต์ ซึ่งใช้สีไม่มีคุณภาพ และเสี่ยงต่อการติดเชื้อเช่นกัน ผู้บริโภคจึงควรคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเอง ส่วนผู้ประกอบการก็ต้องตระหนักว่า ถ้าผู้รับบริการเกิดความเสียหายจากสินค้าหรือบริการของท่าน ผู้ประกอบการก็ต้องชดเชยความเสียหาย หรือรับโทษในกรณีที่ผู้รับบริการเสียชีวิตด้วย
 

ทั้งนี้ สินค้าที่ สคบ.ควบคุมมี 2 ประเภท คือ 1. สินค้าที่ห้ามขายแล้ว และ 2. สินค้าที่เฝ้าระวัง โดยสินค้าที่ห้ามขายแล้ว ได้แก่ ลูกโป่งวิทยาศาสตร์ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่ามีสารทินเนอร์ทำลายหลอดลม, ตัวเบบี้คริสตัล หรือตัวดูดน้ำ หรือเด็กๆ เรียกว่า น้ำตานางเงือก ซึ่งถ้าเด็กกลืนลงคอจะเข้าไปขยายในกระเพาะอาหารได้, หมากฝรั่งไฟฟ้าช็อต ที่เป็นอันตรายต่อเด็ก นอกจากนั้นในช่วงสงกรานต์นี้ก็ต้องจับตาดูกระบอกฉีดน้ำที่ใช้แรงอัดกระแทกน้ำในกระบอกสูบโดยตรงซึ่งเป็นสินค้าห้ามขายด้วย ดังนั้น หากพบเบาะแสสินค้ากลุ่มห้ามขาย สามารถแจ้ง สคบ.ได้ที่โทร.1166 ซึ่งผู้ขายจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนสินค้ากลุ่มเฝ้าระวัง ประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขายในตลาดล่าง ตลาดนัด เพราะสินค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นสินค้าลักลอบนำเข้ามาขาย อาทิ กระติกน้ำร้อนเสียบไฟ, หมวกอบผมสุภาพสตรี, ไม้ตบยุงไฟฟ้า, ที่ชาร์จแบตเตอรี่มือถือแบบแยกแบตเตอรี่ออกมาชาร์จนอกเครื่อง ซึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร 2. กลุ่มสินค้าที่ใช้ในครัวเรือน เช่น เสื้อผ้าที่แช่ฟอร์มาลิน หรือจานชามช้อนที่ทำจากพลาสติกเมลามีน ซึ่งอยู่ระหว่างการเก็บตัวอย่างมาพิสูจน์ว่ามีอะไรที่เป็นอันตรายบ้าง และ 3. กลุ่มสินค้าเกี่ยวกับเด็กเล็ก ซึ่งเด็กเล็กชอบไปซื้อมา ก็ต้องเฝ้าระวังเก็บตัวอย่างมาพิสูจน์และเตือนผู้บริโภคต่อไป

“ยุคนี้มีอันตรายรอบตัวเราหลายๆ เรื่อง ผู้บริโภคจึงต้องจัดการดูแลตัวเอง และคอยฟังข่าวสารการเตือนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องด้วย อย่างเช่น ในช่วงวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา ได้รับเรื่องเกี่ยวกับพวงมาลัยชุบฟอร์มาลิน จึงทำการสำรวจตามสี่แยก และตลาดในกรุงเทพฯ จำนวน 27 ตลาด ปรากฏว่ามีพวงมาลัยชุบฟอร์มาลินจริงถึง 17 ตลาด ซึ่งถ้าสูดดมมากๆ จะวิงเวียนศีรษะ คลื่นเหียนอาเจียน และคนที่แพ้อาจถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนั้น จากการสอบถามยังพบว่าแม่ค้าสามารถหาซื้อสารฟอร์มาลินจากร้านขายยาได้อย่างง่ายดาย จึงเท่ากับว่าร้านขายยาทำผิดกฎหมายเช่นกัน เพราะสารเหล่านี้อยู่ในความควบคุมดูแลโดยชัดเจน”

ขายลวดจัดฟันแฟชั่นบนเว็บ อาจผิด 3 กระทงรวด!
 

ด้าน นายชาตรี พินใย นิติกรชำนาญการ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมามีผู้ร้องเรียนเรื่องคลินิกจัดฟันเถื่อนซึ่งจัดฟันโดยคนที่ไม่ใช่ทันตแพทย์เข้ามาพอประมาณ และได้ดำเนินการตรวจสอบจับกุมมาหลายปี แต่ยังคงมีอยู่เรื่อยๆ เนื่องจากการจัดฟันแฟชั่นเป็นกระแสนิยมของวัยรุ่น แต่สินค้าจัดฟันแฟชั่นเป็นสินค้าผิดกฎหมาย และมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้ออย่างมาก

ดังนั้น หากพบเบาะแสเรื่องการจำหน่ายสินค้าจัดฟันแฟชั่น หรือคลินิกให้บริการจัดฟันแฟชั่นโดยหมอฟันเถื่อน หรือสินค้าสุขภาพเถื่อนอื่นๆ สามารถแจ้งเบาะแสทั้งที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สายด่วน อย. โทร.1556 และที่งานคุ้มครองผู้บริโภคกองการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข โทร.0-2193-7999 หรือส่งอีเมล พร้อมข้อมูลหลักฐานมาที่ medicalhub702@gmail.com

โดยผู้จำหน่ายสินค้าจัดฟันแฟชั่นถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค ตามคำสั่งคณะกรรมการที่ 1/2549 ห้ามขายสินค้าลวดจัดฟันแฟชั่น หากฝ่าฝืนก็จะมีโทษตามมาตรา 56 จะต้องระวางจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนผู้ลักลอบดำเนินการจัดฟันแฟชั่นจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรม พ.ศ. 2537 มาตรา 28 ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ทำการประกอบวิชาชีพทันตกรรม หรือแสดงด้วยวิธีใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และคลินิกที่ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก 3 ปี หรือปรับ 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ผู้บริโภคต้องคำนึงถึงการรักษาสิทธิของตัวเองให้มากที่สุด โดยเฉพาะการปกป้องตัวเองจากการรับบริการทางสุขภาพจากหมอเถื่อน ซึ่งอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ การรับบริการทางสุขภาพใดๆ ก็ตาม ควรรับบริการจากหมอจริงดีที่สุด” นายชาตรี กล่าว

ขณะที่ พ.ต.อ.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผบก.กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) กล่าวถึงการเปิดร้านจำหน่ายสินค้าจัดฟันแฟชั่นทางโซเชียลมีเดียว่า ผู้จำหน่ายอาจมีความผิดตามกฎหมายถึง 3 ฉบับคือ 1. พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรม 2. พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค และ 3. พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งหากข้อความที่ระบุในโซเชียลมีเดียเข้าข่ายผิดกฎหมายคอมพิวเตอร์ เช่น การนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ทำให้ประชาชนหลงเชื่อในข้อเท็จจริง ซึ่งถือเป็นการกระทำความผิดบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทาง ปอท. ก็สามารถทำหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิดได้

ปัจจุบันยังไม่พบผู้ร้องเรียนกรณีดังกล่าวมาทาง ปอท. เนื่องจากผู้บริโภคอาจจะไม่รู้ว่าควรดำเนินการร้องเรียนอย่างไรบ้าง ซึ่งหากพบเห็นการจำหน่ายสินค้าสุขภาพเถื่อนบนเว็บไซต์ สามารถแจ้งได้ถึง 3 ทาง ได้แก่ 1. โทร.0-2142-2555 2. เว็บไซต์ www.tcsd.in.th 3. แอปพลิเคชันสายตรวจอินเทอร์เน็ต Cyber Patrol รูปจ่าฮูกรับแจ้งเบาะแสในเว็บไซต์ของ ปอท. ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบไอโอเอส และระบบแอนดรอยด์

พ.ต.อ.พิสิษฐ์กล่าวอีกว่า การซื้อสินค้าเสริมความงามหรือสินค้าสุขภาพจากเว็บไซต์ควรใช้วิจารณญาณในการพิจารณาความถูกต้องเหมาะสม ผู้บริโภคไม่ควรคำนึงเรื่องราคาเพียงอย่างเดียว เพราะบางครั้งหากคำนึงถึงแค่ราคา อาจจะไม่ได้ของก็ได้ หรือ 1. ไม่ได้ของ 2. ได้ของจริง แต่ไม่มีคุณภาพ 3. นอกจากได้ของไม่มีคุณภาพแล้ว ยังเป็นพิษต่อสุขภาพอีกด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น