xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ร่วมดีเอสไอ ตั้งทีมกวาดล้าง คลินิก-หมอเถื่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.แนะ 4 ข้อสังเกตคลินิกเถื่อน หมอเถื่อน แอบตรวจสุขภาพ นร.-นศ.-พนักงาน พบการรักษาผู้ป่วย คลินิกมีปัญหามากกว่า รพ.เอกชน เผยมีการร้องเรียนแล้วกว่า 30 ราย พร้อมเซ็นเอ็มโอยูร่วมดีเอสไอ แพทยสภา กวาดล้างทุกพื้นที่
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (13 พ.ย.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ และ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การประสานงานเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันปราบปรามมาตรฐานการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อกวาดล้างคลินิกเถื่อน หมอเถื่อน และวิธีการรักษาพยาบาลที่ไม่ถูกต้อง ให้หมดไปทุกพื้นที่

นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า สธ.มีหน้าที่ควบคุมกำกับสถานพยาบาลภาครัฐในสังกัดที่มี 10,695 แห่ง และภาคเอกชนทั่วประเทศ ทั้งประเภทคลินิก และ รพ.เอกชนที่มีทั้งหมดเกือบ 18,000 แห่ง โดยเน้นหนัก 2 เรื่อง คือ การให้บริการตรวจสุขภาพ โดยทั่วไปจะมีการเจาะเลือดดูหมู่เลือด เอกซเรย์ดูความผิดปกติปอด จะไม่มีการรักษา แต่ที่ผ่านมาพบว่ามีบริษัทหรือสถานพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้รับอนุญาตตรวจสุขภาพนักเรียน นักศึกษาในสถานศึกษา พนักงานในสถานประกอบการ โดยที่ผู้ให้บริการไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว สธ.ได้กำหนดลักษณะของสถานพยาบาลที่สามารถให้บริการตรวจสุขภาพไว้ 4 ข้อ

นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า 1.ต้องเป็นสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตและต้องเป็นประเภทรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนเท่านั้น บุคลากรให้บริการ ทั้งแพทย์ พยาบาล เทคนิคการแพทย์ นักรังสีเทคนิค จะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในด้านนั้นๆ 2.รถเอกซเรย์เคลื่อนที่ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และ สธ.หากสถานพยาบาลไม่มีคุณสมบัติตามที่กล่าวมาก็ไม่ควรว่าจ้าง 3.ให้ผู้บริหารโรงเรียน ทำหนังสือแจ้งผู้ปกครองนักเรียนว่าจะทำการตรวจสุขภาพด้านใดให้แก่นักเรียน และทำแบบฟอร์มให้ผู้ปกครองอนุญาต โดยให้แจ้งผลการตรวจให้ผู้ปกครองทราบ และ 4.ให้ประชาชน ผู้ปกครองช่วยกันตรวจสอบถ้ามีการเอ็กซเรย์ ต้องมีฟิล์มหรือผลเอกซเรย์ให้ หากมีการเจาะเลือดก็จะต้องมีการแจ้งผลเลือดทุกครั้ง

"หากผลการตรวจผิดปกติ เช่น กรุ๊ปเลือด สายตา หรืออื่นๆ ไม่ตรงกับที่เคยตรวจมาแล้ว ให้สันนิษฐานก่อนว่า อาจได้รับบริการที่ไม่ถูกต้อง โดย สธ.ได้เผยแพร่ข้อมูลแนวทางการตรวจสุขภาพเคลื่อนที่สำหรับสถานศึกษา สถานประกอบการผ่านทางเว็บไซต์ www.moph.go.th ผู้ประกอบการหรือผู้บริหารสถานศึกษาสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นพ.ประดิษฐ กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องการรักษาผู้ป่วย ที่มีปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นคลินิกมากกว่า รพ.เอกชน ตั้งแต่ ต.ค. 2555 - ก.ย. 2556 สธ.ได้รับเรื่องร้องเรียนคลินิกเถื่อน 30 แห่ง ดำเนินการเสร็จแล้ว 15 แห่ง ที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ อย่างไรก็ตาม การสร้างความปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการคลินิกทุกประเภท ทั้งรักษาทั่วไปและคลินิกความงาม สธ.จะตั้งทีมเฉพาะกิจ ร่วมกับดีเอสไอ และแพทยสภา ดำเนินการตรวจสอบ ควบคุมมาตรฐานของคลินิกและผู้ประกอบวิชาชีพ เป็นการบูรณาการใช้กฎหมายดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด ประชาชนเห็นผลได้อย่างรวดเร็ว โดยผู้ฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษ 4 กระทง ดังนี้ 1.กรณีคลินิกเถื่อน ต้องระวางโทษตามมาตรา 57 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.กรณีหมอเถื่อน ต้องระวางโทษตามมาตรา 43 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3.กรณีการปลอมแปลงเอกสาร ใบปริญญา และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 4.กรณีผู้ใช้เอกสารปลอม มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 หรือ 268


กำลังโหลดความคิดเห็น