xs
xsm
sm
md
lg

แชร์ลูกโซ่ตะเกียงหอม คัมแบ็ก! ระบาดหนักพื้นที่อีสาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไม่เข็ด! เภสัชกรชนบทเผยตะเกียงหอมแบบแชร์ลูกโซ่ อ้างรักษาสารพัดโรค กลับมาระบาดในอีสานอีกครั้ง หลังถูกดีเอสไอจับครั้งใหญ่เมื่อปลายปีที่แล้ว ชี้มีฤทธิ์เพียงปรับอากาศเท่านั้น แฉมีรถเร่ลิงขายยามากกว่า 150 คณะทั่วประเทศ เตือนระวังยาอันตราย

ภก.ชาญชัย บุญเชิด เภสัชกรโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ส้มผ่อ จ.ยโสธร เปิดเผยว่า ภายหลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จับกุมครั้งใหญ่และดำเนินคดีแชร์ลูกโซ่ตะเกียงหอมในภาคอีสานเมื่อเดือน ต.ค.2555 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เสียหายจำนวนมากนั้น พบว่า ยังมีการหลอกขายตะเกียงหอมดังกล่าวในลักษณะแชร์ลูกโซ่อยู่ และอวดอ้างสรรพคุณรักษาได้สารพัดโรค ทั้งความดัน เบาหวาน มะเร็ง ทำให้ชาวบ้านหลงเชื่อทั้งใช้และสมัครเป็นสมาชิก ทำให้เกิดความสูญเสียจำนวนมาก โดยชมรมเภสัชกรชนบท พบว่า มีคนนำไปใช้โดยจุดตะเกียงและคลุมผ้าเพื่อสูดดม จนทำให้ช็อกเพราะขาดอากาศหายใจ 2 ราย และเมื่อพิสูจน์แล้วไม่พบว่า น้ำมันหอมดังกล่าวมีตัวยาใดๆ มีเพียงเอธิลแอลกอฮอล์ 90% และหัวน้ำหอมเล็กน้อย ซึ่งส่วนผสมลักษณะดังกล่าวมีฤทธิ์เพียงปรับอากาศเท่านั้น
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ภก.ภาณุโชติ ทองยัง เภสัชกรชำนาญการ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สมุทรสงคราม กล่าวว่า การหลอกประชาชนลักษณะแชร์ลูกโซ่ มีการเปลี่ยนรูปแบบโดยนำผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าดีต่อสุขภาพหรือสามารถรักษาโรคได้มาแอบอ้าง ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่หากเห็นว่าอะไรจะสามารถรักษาโรคได้ก็มักจะทดลอง ซึ่งบางครั้งผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักจะมียาที่เป็นอันตรายและห้ามใช้ใส่อยู่ ทำให้ได้ผลในการใช้ช่วงแรกๆ จึงทำให้ประชาชนเชื่อว่าจะสามารถรักษาโรคได้จริง ประกอบกับการสร้างแรงจูงใจว่าจะได้รับผลตอบแทนจำนวนมากหากเข้าร่วม ทำให้มีประชาชนหลงเชื่อเป็นจำนวนมาก โดยชาวบ้านได้นำที่ดินจำนองกับบริษัทที่มาพร้อมกับบริษัทที่หลอกขายตะเกียง ซึ่งอยากให้ภาครัฐให้ความช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าว เพราะบางรายเสียเงินถึงล้านบาทพร้อมกับที่ดินด้วย

“จากการสำรวจของชมรมเภสัชกรชนบท พบปรากฏการณ์ลักษณะดังกล่าวหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และที่กำลังเป็นที่นิยมมาก คือ รถเร่ลิงขายยา ซึ่งพบว่ามีกว่า 150 คณะทั่วประเทศ โดยใช้ความสนุกมาชักชวนให้ชาวบ้านสนใจและขายยา โดยมีการขายแบบเงินเชื่อ และส่งยาให้ถึงบ้าน ที่สำคัญคือพบการลักลอบผสมสเตียรอยด์ลงในยาอาจทำให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้ยาด้วย” ภก.ภาณุโชติ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น