xs
xsm
sm
md
lg

เสือพร้อมลุย : แอชลีย์ วินเซนต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : Nature Impressions  โดย   แอชลีย์ วินเซนต์
Sizing Up The Situation
คุณเคยนึกสงสัยบ้างไหมครับ ว่ามันจะมีความรู้สึกอย่างไรถ้าหากถูก "เสือโคร่ง" ย่องเข้าหาและกระโจนเข้าใส่ตัวคุณ

ผมขออนุญาตเล่าถึงประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับตัวผมให้ทุกคนได้รับรู้ มันไม่ได้น่าตระหนกตกใจหรือน่ากลัวเท่าไหร่หรอกครับ มันออกจะเป็นเรื่องราวที่น่ารักน่าเอ็นดูซะด้วยซ้ำ เพราะเสือโคร่งที่เข้าจู่โจมผม มีอายุเพียงแค่สี่เดือนเท่านั้น

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2011 มีลูกเสือโคร่งไซบีเรียเพศเมียถือกำเนิดขึ้นสองตัวที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว มันถูกตั้งชื่อว่า “ข้าวหอม” กับ “มะลิ” และภาพถ่ายของลูกสาวเจ้าป่าตัวน้อยที่คุณเห็นอยู่ทั้งหมดนี้เป็นภาพของมะลิครับ
Crouching Tiger
Siberian Stealth Mode
หลังจากที่พวกมันเกิดได้เกือบสามเดือนและเริ่มแข็งแรงดี ผมมีโอกาสได้เก็บภาพการเปลี่ยนแปลงของการเจริญเติบโตและพัฒนาการของพวกมันหลายครั้งภายใต้ความร่วมมือและการดูแลของผู้ช่วยสัตวแพทย์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของสวนสัตว์เปิดเขาเขียวสองคนชื่อ “คุณนก” และ “คุณนุ้ย”

บ่ายวันหนึ่งคุณนกและคุณนุ้ยพาข้าวหอมกับมะลิไปออกกำลัง และผมได้ตามไปดูด้วย ผมยืนมองสาวๆวิ่งเล่นไล่ตามกัน ผมรู้สึกเป็นสุขที่มีโอกาสได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์นั้น ผมคอยตามเก็บภาพอยู่ห่างๆ พยายามจะถ่ายภาพคู่ของทั้งสองให้ได้ ซึ่งยากมากที่จะจับภาพให้ทั้งสองอยู่ในกรอบเดียวกัน อ้อ..ผมหมายถึงข้าวหอมกับมะลินะครับ ไม่ใช่คุณนกกับคุณนุ้ย 555

เวลาผ่านพ้นไปได้พักใหญ่ จนดูเหมือนลูกเสือโคร่งน้อยทั้งสองตัวเริ่มจะเหนื่อยอ่อน คุณนกก็เดินนำทางโดยมีข้าวหอมวิ่งเหยาะๆตามหลังเพื่อกลับที่พัก และตามปรกติแล้วไม่ว่าข้าวหอมจะก้าวย่างไปทางไหน เจ้ามะลิก็มักจะรีบวิ่งตามติดเสมอ

แต่บ่ายวันนั้น ไม่รู้ว่ามะลิรู้สึกหมดแรงหรือตัดสินใจจะขอพักต่ออีกสักหน่อย เธอไม่ได้ลุกวิ่งตามใคร ได้แต่นอนหมอบมองตามพี่สาวของเธอที่เดินสี่ขาจากไป

วินาทีที่ผมเห็นมะลิอยู่ในอิริยาบถนั้น หัวของผมก็มองเห็นจังหวะที่น่าเป็นโอกาสสำหรับเก็บภาพสวยๆจากเธอได้ ผมค่อยๆย่อตัวลง แล้วนอนราบกับพื้นเพื่อให้หน้ากล้องอยู่ระดับเดียวกับสายตาของมะลิ เธอมองตามการเคลื่อนไหวของผมทุกอย่าง เมื่อจับภาพแรกจากเธอได้แล้ว ผมก็ได้แต่นอนรอจนกว่าเธอจะลุกและจู่โจม

ผมชอบภาพถ่ายชุดนี้มากครับ ดูทีไรก็อดยิ้มไม่ได้สักที เพราะมันทำให้ผมระลึกถึงความสุขของวันนั้น มันเป็นประสบการณ์พิเศษระหว่างผมกับมะลิ และผมรู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจของคุณนกกับคุณนุ้ยเป็นอย่างยิ่ง

หากนับกันตามขนาดของสัตว์ที่โตเต็มวัยแล้ว เสือโคร่ง, สิงโต, เสือจากัวร์ และเสือดาว เป็นสัตว์ตระกูลแมวที่มีขนาดใหญ่มาก เราเรียกสัตว์กลุ่มนี้ว่า แมวใหญ่ (Big Cats) นอกเหนือจากขนาดตัวแล้ว คุณลักษณะอีกอย่างที่แยกสัตว์สี่ชนิดนี้ออกจากแมวทั่วไปคือ ความสามารถของพวกมันในการส่งเสียงคำราม เสือพูมาร์, ชีต้าร์ และเสือดาวหิมะ ก็อยู่ในกลุ่มตระกูลแมวใหญ่เหมือนกัน แต่เสือกลุ่มหลังนี้จะไม่คำรามนะครับ

ยังมีแมวอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกจัดให้อยู่ในพวก แมวเล็ก(Small Cats) ยกตัวอย่างเช่น แมวป่าสีทอง, แมวดาว, คาราเคิ้ล, แมวป่าลิงค์, มาร์เบิ้ลเค็ท และเสือลายเมฆ เสือลายเมฆนี่เป็นสัตว์ตระกูลแมวที่ผมยกตำแหน่งสัตว์โปรดที่สุดในดวงใจของผมให้ครอบครองด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง มันมีขนาดตัวใหญ่ที่สุดในกลุ่มแมวเล็กครับ

สัตว์กินเนื้อที่อาศัยอยู่บนบก มีเพียง หมีโพล่าและหมีสีน้ำตาล เท่านั้นครับที่มีขนาดตัวใหญ่กว่าเสือโคร่ง และกลุ่มเสือโคร่งที่ยังมีชีวิตเหลืออยู่ตามธรรมชาตินี่ ยังถูกแบ่งย่อยออกไปอีกหกสายพันธุ์นะครับ พันธุ์ที่มีขนาดตัวใหญ่ที่สุดก็คือ เสือโคร่งไซบีเรีย

เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจมาก ที่โลกนี้ยังมีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า บุกรุกพื้นที่อยู่อาศัยของเหล่าสัตว์ป่า และยังมีการลอบล่าสัตว์เพื่อแยกชิ้นส่วนไปเพื่อเป็นส่วนผสมของ “ยา”

ตามบันทึกของ สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) มีการขึ้นบัญชีแดง (Red list of threatened species) ประเมินระดับความเสี่ยงของสปีซี่ส์ไว้ว่า เสือโคร่งเบงโกล, (อยู่ในอินเดีย, เนปาล, บรูตัน และบังคลาเทศ) เสือโคร่งอินโดจีน, (อยู่ในไทย, เวียดนาม, เขมร, ลาว, พม่า และจีน) และเสือโคร่งมาลายัน (มีเฉพาะที่ทางทิศใต้ของแหลมมาเลย์) อยู่ในกลุ่ม สิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์ (EN) ความหมายคือ มีระดับความเสี่ยงขั้นสูงต่อสูญพันธุ์จากที่อาศัยตามธรรมชาติ

เสือโคร่งสุมาตรา(มีอยู่ในเกาะสุมาตราเท่านั้น), เสือโคร่งไซบีเรีย(อยู่ทางตะวันออกของรัสเชีย), และเสือโคร่งจีนใต้ (มีพื้นเพอยู่ในหลายจังหวัดทางภาคใต้ของเมืองจีน) อยู่ในกลุ่ม สิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (CR) ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับ สิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์จากธรรมชาติ(EW) เพียงขั้นเดียวเท่านั้น

หากการรุกล้ำป่าไม้และการเบียดเบียนสัตว์ป่ายังดำเนินต่อไปเรื่อยๆแบบนี้ ผมว่าพวกเราคงเหลือสิทธิ์ได้รู้จักและเห็นเสือโคร่งกันแค่จากในสวนสัตว์ คงจะไม่มีพันธุ์ไหนเหลือรอดพ้นจากการสูญพันธุ์ก่อนเวลาอันสมควรแน่ๆ เหมือนกับที่ เสือโคร่งบาหลี (เคยมีอยู่ในเกาะบาหลี),เสือโคร่งเคสเปี้ยน (เคยมีอยู่ในตอนกลางของทวีปเอเชีย) และเสือโคร่งชวา (เคยมีอยู่ในเกาะชวา) ที่ได้สูญพันธุ์กันไปจนหมดสิ้นแล้ว
Siberian Attack!
หลายคนอาจจะคิดว่า หากเราสามารถอนุรักษ์สัตว์ป่าไว้ได้ ดูแลพวกมันอย่างดีในสวนสัตว์ เพื่อให้ลูกหลานของเราได้รู้จักและสามารถบอกต่อลูกหลานของพวกเขาไปอีกหลายรุ่น ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีเสืออยู่ในป่า ไม่เห็นจะต้องคิดมากกันเลย แต่มันมีเรื่องให้คิดต่อได้อีกนะครับ หากคุณรู้สึกเป็นห่วงและรู้คุณค่าของสภาวะแวดล้อมในโลกของเรา

เสือทุกชนิดเป็นสัตว์นักล่าที่มีความสำคัญต่อห่วงโซ่อาหารของธรรมชาติเป็นอย่างมากนะครับ พวกมันช่วยสร้างความสมดุลไม่ให้ประชากรของพวกสัตว์กินพืชมีมากจนเกินพอดี หากเสือทุกชนิดสูญสิ้นไป สัตว์กินพืชทั้งหลายก็จะทวีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และพวกมันก็จะแย่งกันกัดกินต้นไม้ใบหญ้าพืชพรรณทั้งหมดจนเหลือแต่ความแห้งแล้ง

สิ่งมีชีวิตทุกอย่างบนโลกใบนี้ต่างก็มีบทบาทที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งต่อสิ่งแวดล้อม หากโลกเราจะต้องสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ใดไปก่อนอย่างฝืนกลไกของธรรมชาติ ผมว่า พวกเรากำลังไปทำให้ระบบความสัมพันธุ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อมรวน และระบบอาจจะพังเร็วกว่าที่จะมีใครคาดคิดถึงก็เป็นได้

พวกเราคงไม่ต้องการให้ลูกหลานของเราต้องเห็นแต่ป่าคอนกรีต หรือหันหน้าไปทางไหนก็มองเห็นแต่ความแห้งแล้ง พวกเราต้องมาช่วยกันระดมความคิดและร่วมมือกันบำรุงรักษาธรรมชาติที่ยังพอเหลืออยู่ เพื่อส่งมอบให้เป็นมรดกโดยชอบธรรมต่อลูกหลานของเราต่อไปนะครับ

ขอบคุณทุกท่านมากครับที่สละเวลาเยี่ยมชมคอลัมน์นี้ และผมหวังว่าคุณจะกลับเข้ามาอีกในอาทิตย์หน้า พบกันใหม่นะครับ

รู้จัก...แอชลีย์ วินเซนต์

ชาวอังกฤษเชื้อสายอิสราเอล ที่ผันตัวเองจากการทำธุรกิจด้านเรียลเอสเตท มาทำงานเป็นช่างภาพถ่ายภาพสัตว์ป่าอย่างเต็มตัว เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

ปัจจุบัน นอกจากเปิดร้าน Nature Impressions จำหน่ายผลงานของตัวเอง ณ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่กล่าวกันว่า เป็นสวนสัตว์เปิดที่ใหญ่อันดับ 1 ของโลก เขายังทำงานให้กับสวนสัตว์แห่งนี้ ในฐานะอาสาสมัครเก็บภาพสัตว์ป่าไปพร้อมกันด้วย

ล่าสุดผลงานภาพถ่าย “บุษบา” เสือโคร่งเพศเมีย ถ่ายจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว เพิ่งได้รับการประกาศให้เป็น สุดยอดภาพถ่าย National Geographic 2012

เสมือนบอกย้ำให้กำลังใจช่างภาพหลายๆคนว่า “ภาพถ่ายสัตว์ป่าที่ดี ไม่ต้องไปถึงเคนย่า”

ติดตามอ่าน ...Nature Impressions โดย  แอชลีย์ วินเซนต์  ได้ทุกอาทิตย์ ทาง  ART EYE VIEW

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
กำลังโหลดความคิดเห็น