xs
xsm
sm
md
lg

มนุษย์จำเป็นต้องตัดไม้ทำลายป่าอีกสักเท่าไร ? : แอชลีย์ วินเซนต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : Nature Impressions  โดย   แอชลีย์ วินเซนต์
ไม่มีปีกก็บินได้
ผมรู้สึกยินดีมากครับ ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้อ่านในอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าหลายท่านคงชื่นชอบเจ้าตัวลิเมอร์ อาทิตย์นี้ผมจึงขออนุญาตเอาภาพถ่ายลิเมอร์สายพันธุ์อื่นมาแบ่งปันให้ทุกท่านได้เห็นความน่ารักของพวกมันอีกครั้งนะครับ

เมื่อต้นปี 2011 ผมวางแผนเดินทางไปอัฟริกาใต้สามอาทิตย์ เป้าหมายหลักก็คือ เพื่อไปเก็บภาพเสือสักหลายชนิด และเมื่อใกล้ถึงวันเดินทาง ผมก็อดคิดไม่ได้ว่า มันน่าจะเข้าท่าอยู่เหมือนกัน หากผมจะถือโอกาสเดินทางข้ามเข้าไปในประเทศใกล้เคียงด้วยเสียเลย เพื่อเก็บภาพสัตว์ป่าสายพันธุ์อื่นรวมไว้เป็นงานสะสมของผม

ความคิดแรกที่สว่างวาบเข้ามาในหัวของผม คือการไปซุ่มดู กอลิล่าภูเขา สัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์เต็มทีแล้ว แต่มันยังคงพอมีเหลืออยู่บ้างในเขตป่าสงวนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก้ ราวันด้า และ ยูกันด้า
เล็งให้แม่น
ฉันคิดว่า ฉันทำได้
มันเป็นความใฝ่ฝันยาวนานของผมเลยครับ ที่อยากจะมีโอกาสได้เห็นกอลิล่าภูเขาตัวเป็นๆท่ามกลางสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติของพวกมัน และมันก็ยังคงเป็นเพียงแค่ความฝันต่อไป เมื่อผมสำนึกถึงความจริงที่ว่า ป่าในประเทศทั้งสามที่ยังมีพวกกอลิล่าภูเขาอาศัยอยู่นั้น ห่างไกลจากอัฟริกาใต้ไปอีกตั้งกว่า 3,000 กิโลเมตร

หลังจากเก็บภาพเสือแล้วเสร็จ ผมมีเวลาเหลืออีกแค่หกวัน ผมจะต้องใช้เวลาที่เหลืออยู่ให้คุ้มค่าที่สุด ผมเลยต้องนั่งพิจารณาแผนที่โลกใหม่อย่างละเอียด และเกาะมาดากัสก้าก็เด้งขึ้นมาให้ผมเห็น มันเป็นเกาะเล็กๆ ที่ใช้เวลาเดินทางไปและกลับเข้าอัฟริกาใต้ได้ภายในสองวัน ที่เกาะนี้มีลิเมอร์หลายสายพันธุ์อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ผมจึงเลือกเกาะมาดากัสก้าเป็นจุดหมายต่อไป

ผมมีเวลาสำหรับถ่ายภาพจริงๆประมาณสี่วัน ผมจึงเลือกไปสถานที่ที่รับประกันว่าผมจะได้เห็นลิเมอร์แน่นอน อย่างน้อยสามหรือสี่สายพันธุ์ มันเป็นเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าที่มีชื่อว่า เบอร์รันทีไปรเวตรีเซิร์ฟ (Berenty Private Reserve) ในเมืองทอลิอาร่า(Toliara) อยู่ตรงมุมทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะ

ผมท่องไปเลยล่ะครับ ว่าผมจะต้องเห็นและได้เก็บภาพลิเมอร์หางแหวน ลิเมอร์สีน้ำตาล และลิเมอร์ชิฟาการ์(Verreaux’s Sifaka) มาให้ได้ ยิ่งเจ้าพันธุ์หลังสุดนี่ ผมเคยเห็นแต่ในภาพถ่ายเท่านั้น หางแหวนกับสีน้ำตาลนี่ ได้เห็นบ่อยแล้วจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ผมหมายมั่นปั้นมือไว้เลยล่ะครับว่าผมจะต้องเก็บภาพสวยๆจากเจ้าชิฟาการ์ให้ได้

ภาพของลิเมอร์ชิฟาการ์เกือบทั้งหมดที่ผมได้เห็นคนอื่นถ่ายไว้ ส่วนใหญ่จะเป็นท่าทางที่พวกมันกำลังกระโดดโลดเต้นไปตามทุ่งหญ้าแห้งในเขตอนุรักษ์ แน่นอนว่าผมก็ได้ถ่ายภาพพวกมันในอิริยาบถพวกนี้ไว้หลายภาพเหมือนกัน เข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตาม 555

แต่ความปรารถนาของผม ผมอยากจะเห็นภาพที่เป็นพฤติกรรมดั้งเดิมของพวกมันมากกว่า ผมพูดคุยกับคนท้องถิ่นจนได้รู้เรื่องราวของชิฟาการ์ และจึงว่าจ้างเจ้าหน้าที่ในเขตอนุรักษ์ให้พาผมเดินทางเข้าป่าลึก เพื่อให้ผมมีโอกาสได้ไปซุ่มดูการใช้ชีวิตตามธรรมชาติของชิฟาการ์

พวกเราออกเดินทางกันตั้งแต่ก่อนรุ่งสาง เพื่อไปซุ่มรอในเขตที่ไกด์รู้ดีว่าฝูงชิฟาการ์จะต้องผ่านมา พวกมันใช้ชีวิตกันอย่างมีแบบแผนมากเลยครับ เมื่อแสงอาทิตย์แรกปลุกพวกมันจากการนอนหลับพักผ่อน พวกมันจะกระโดดตามจ่าฝูงไปเรื่อยๆตามต้นไม้ใหญ่ที่มีหนามอยู่มาก ต้นไม้พวกนี้มีใบและลำต้นฉ่ำไปด้วยน้ำที่เป็นอาหารของพวกชิฟาก้า พวกมันจะกระโดดตามกันไปเพื่อประกาศเขตแดนที่เป็นอาณาเขตของฝูงจนกว่าจะค่ำ

วันแรกผมใช้เวลาไปกว่าสี่ชั่วโมงกับการพยายามอย่างหนักที่จะเก็บภาพลิเมอร์ชิฟาการ์ แต่ก็ไม่มีภาพไหนที่พอจะดูได้เลย และพวกเราก็ต้องเดินทางกลับที่พักก่อนที่ตะวันจะหมดแสง

ผมจึงต้องกลับเข้าไปในป่าอีกเป็นวันที่สอง และแล้วหลังจากการเฝ้ารออยู่หลายชั่วโมงด้วยความอดทน ผมก็เริ่มมองเห็นมุมกล้องที่จะจับภาพชิฟาการ์ออกมาให้โลกได้เห็น ภาพการเคลื่อนไหวของพวกมันที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา

อย่างที่คุณเห็นในรูปภาพ ดูเหมือนว่าผมจะได้รับพรจากธรรมชาติด้วย ท้องฟ้าในวันนั้นเปิดอย่างแจ่มใส มีปุยเมฆเล็กๆแต้มเติมให้แต่ละภาพดูดีจนสามารถจินตนาการได้อย่างกว้างไกล
 ชั่วโมงรีบด่วน
เมื่อคุณอ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ อาจจะมีบางคนเริ่มสงสัยแล้วว่า หัวข้อของคอลัมน์นี้มันเกี่ยวอะไรกันกับที่ผมพรรณนามาข้างต้นบ้าง “มนุษย์จำเป็นต้องตัดไม้ทำลายป่าอีกสักเท่าไร?”

มีใครพอจะมองเห็นความเกี่ยวพันของเนื้อเรื่องนี้บ้างไหมครับ? เรื่องของเรื่องก็คือ เมื่อตอนแรกที่ผมเห็นพวกลิเมอร์เดินและกระโดดตามกันไปบนทุ่งหญ้าในเขตอนุรักษ์ ผมขอยอมรับเลยครับว่า พวกมันก็ดูอยู่ดีมีความสุขกันตามอัตภาพ ดูสงบนุ่มนวลและมองดูน่ารักน่าเอ็นดูกันจัง

แต่เมื่อได้ฟังเรื่องราวความเป็นมาของพวกลิเมอร์จากคนท้องถิ่นและได้เห็นชีวิตของพวกมันด้วยตาของผมเอง มุมมองและทัศนคติที่ผมมีต่อสัตว์พวกนี้จึงต้องเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

คุณเชื่อไหมครับว่า การดำรงชีวิตของชิฟาการ์แบบดั้งเดิมคือการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าเรื่อยๆ มันไม่ใช่การเดินทางเพื่อหาความสนุกเพลิดเพลินใส่ตัวอย่างที่นักท่องเที่ยวทั่วไปกระทำ แต่มันเป็นวิถีชีวิต
หลายปีก่อนตอนที่เกาะมาดากัสก้ายังเป็นเพียงเกาะเงียบสงบที่มีป่าไม้อย่างสมบูรณ์ พวกลิเมอร์ทั้งหลายใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนต้นไม้ พวกมันแทบจะไม่เหยียบพื้นดินกันเลย พวกมันหาเสบียงบนต้นไม้ เล่นสนุกหยอกล้อ แพร่พันธุ์ กิน และนอนอยู่บนยอดไม้ในป่าที่เคยเป็น บ้านของพวกมัน

พวกมันจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เมื่อมนุษย์เริ่มก้าวล้ำเข้ามาในเกาะและเริ่มตัดไม้ทำลายป่าเพื่อสร้างความเจริญให้กับชุมชน

ถึงชิฟาการ์จะเป็นลิเมอร์ที่มีความสามารถพิเศษในการกระโดดไกล สามารถกระโดดข้ามได้ไกลถึงสิบเมตรจากยอดไม้หนึ่งไปอีกยอดหนึ่ง แต่มันก็ไม่สามารถกระโดดได้ไกลข้ามเขตถนนหรือข้ามหมู่บ้านที่มนุษย์ก่อสร้างกันขึ้น พวกมันจึงต้องเรียนรู้ที่จะลงเดิน

พื้นที่ป่าจำนวนมากในเกาะมาดากัสก้าถูกเปลี่ยนให้เป็นไร่เกษตรกรรม และสร้างถนนเพื่อลำเลียงความเจริญเข้าหมู่บ้าน และนั่นคือเหตุผลที่พวกลิเมอร์ทั้งหลายต้องพากันลงเดินตามพื้นเพื่อหาอาหารและต้องอยู่ให้รอด

ผมได้เห็นฝูงลิเมอร์หางแหวนเดินสี่ขาตามกันเป็นกลุ่มเล็กๆบนถนน บางตัวก็เหมือนเด็กซนที่ชอบกระโดดมากกว่าเดิน แต่พวกชิฟาการ์นี่ดูจะชอบกระโดดไปด้านข้างด้วยขาทั้งสองข้าง พวกมันดูคล่องตัวจากการใช้มือทั้งสองและหางควบคุมการเคลื่อนไหว ผมนั่งมองดูพวกลิเมอร์และรู้สึกผิดในสิ่งที่เผ่าพันธุ์ของผมทำกับพวกมัน

แน่นอนที่สุด ที่ลิเมออร์ไม่ใช่แค่สัตว์เพียงตระกูลเดียวในโลกที่มีประชากรลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ตราบใดที่มนุษย์เรายังต้องตัดไม้ทำลายป่าและยังชอบล่าสัตว์ ความสูญเสียที่บรรดาสัตว์จะต้องได้รับผลกระทบโดยตรงจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมไม่กล้าคิดต่อเลยครับ ว่าหากมนุษย์เรายังเบียดเบียนธรรมชาติต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งแบบนี้ จะเกิดอะไรขึ้นกับป่าไม้และพวกสัตว์อีกบ้าง และพวกเราจะยังเหลืออะไรในอีก 20 30 หรือ 40 ปี ข้างหน้า

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชมภาพถ่ายของผมและอ่านความคิดเห็นของผมนะครับ ผมขอให้คุณมีวันและคืนที่งดงามตลอดอาทิตย์ และพบกันใหม่อาทิตย์หน้าครับ

รู้จัก...แอชลีย์ วินเซนต์

ชาวอังกฤษเชื้อสายอิสราเอล ที่ผันตัวเองจากการทำธุรกิจด้านเรียลเอสเตท มาทำงานเป็นช่างภาพถ่ายภาพสัตว์ป่าอย่างเต็มตัว เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

ปัจจุบัน นอกจากเปิดร้าน Nature Impressions จำหน่ายผลงานของตัวเอง ณ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่กล่าวกันว่า เป็นสวนสัตว์เปิดที่ใหญ่อันดับ 1 ของโลก เขายังทำงานให้กับสวนสัตว์แห่งนี้ ในฐานะอาสาสมัครเก็บภาพสัตว์ป่าไปพร้อมกันด้วย

ล่าสุดผลงานภาพถ่าย “บุษบา” เสือโคร่งเพศเมีย ถ่ายจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว เพิ่งได้รับการประกาศให้เป็น สุดยอดภาพถ่าย National Geographic 2012

เสมือนบอกย้ำให้กำลังใจช่างภาพหลายๆคนว่า “ภาพถ่ายสัตว์ป่าที่ดี ไม่ต้องไปถึงเคนย่า”

ติดตามอ่าน ...Nature Impressions โดย  แอชลีย์ วินเซนต์  ได้ทุกอาทิตย์ ทาง  ART EYE VIEW

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
กำลังโหลดความคิดเห็น