ของเล่นยอดฮิตของบรรดาอภิมหาเศรษฐีของเมืองไทย ตอนนี้คืออะไร ?
ไม่ใช่นาฬิกา ไม่ใช่รถสปอร์ตคันโก้ และไม่ใช่เรือยอชต์ลำหรู แต่กลายเป็น เครื่องบินส่วนตัว หรือ Private Jet ที่เดี๋ยวนี้ใครที่ได้เป็นเจ้าของ สามารถเอาไปกอสซิบตามคอลัมน์สังคม ให้คนที่ไม่มีหรือไม่ซื้อ อิจฉาแกมหมั่นไส้กันเล่นๆ
ในประเทศที่ร่ำรวยนั้น มหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งต่างนิยมซื้อหาPrivate Jet เอาไว้ใช้เป็นพาหนะในการเดินทาง เพราะสะดวก รวดเร็ว และที่สำคัญมีความเป็นส่วนตัวสูง
สำหรับเมืองไทยนั้น มีอภิมหาเศรษฐีหลายคนที่ร่ำรวยติดอันดับทั้งเอเชียและอันดับโลก เรื่องการมี Private Jet จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็มีใช้กันอยู่ในวงแคบๆ เมื่อสิบกว่าปีก่อนเท่านั้น
ซีพีกรุ๊ปน่าจะเป็นกลุ่มแรกๆ ของเมืองไทยที่มี Private Jet ใช้เมื่อหลายปีก่อน โดยเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ มีเครื่องบินเจ็ทลำเล็กๆ ไว้ใช้ส่วนตัว ขณะเดียวกัน ก็มีลำเล็กอีก 2-3 ลำ สำหรับบริการผู้บริหารระดับสูงหรือลูกค้าคนสำคัญ และปัจจุบันเจ้าสัวธนินท์ก็เปลี่ยนเป็น Private Jet ลำใหญ่ 14 ที่นั่ง ส่วนเครื่องบินเจ็ทที่เหลือนอกจากใช้เองแล้ว ยังให้บริการเช่าเหมาลำด้วย
เฉลิม อยู่วิทยา บิ๊กบอสกลุ่มกระทิงแดง ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ชื่นชอบความเร็ว และหนึ่งในพาหนะที่กำลังโปรดปรานก็คือ เครื่องบินเจ็ท ซึ่งเดิมมีลำหนึ่งขนาด 8 ที่นั่ง ขณะนี้กำลังรอลำใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม อีกคนที่มีเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวใช้เหมือนกันคือ เจ้าของกระดาษดับเบิลเอ
นักการเมืองหลายคนก็เป็นกลุ่มที่กำลังเห่อของเล่นใหม่นี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น อนุทิน ชาญวีรกุล เจ้าพ่อชิโนไทย ที่ขณะนี้มีเครื่องบินเจ็ทอยู่ 2 ลำ และให้บริการเช่าเหมาลำสำหรับเพื่อนฝูงและพาเพื่อนๆ บินเล่น ด้วยสมรรถนะที่ขับง่าย ทำให้นักการเมืองอีกหลายคนเริ่มติดใจและกำลังมองหาสักลำสองลำมาเป็นเจ้าของเช่นกัน
แต่ที่น่าแปลกใจมากคือ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี แห่งแบรนด์ช้าง มีข่าวว่าไม่มีนิยมซื้อเครื่องบินส่วนตัวใช้ แต่ไม่มีข่าวยืนยันว่า เจ้าสัวเจริญไม่ได้ใช้บริการเช่าเครื่องบินเหมาลำ เพื่อเดินทางไปทำธุรกิจหรือไปเที่ยวส่วนตัว
แต่ถ้าเศรษฐีคนไหนไม่ซื้อเครื่องบินส่วนตัวไว้ใช้เองก็ไม่เป็นไร เพราะขณะนี้เมืองไทยเริ่มมีบริษัทที่ให้บริการเครื่องบินเช่าเหมาลำเหมือนต่างประเทศแล้ว ล่าสุด น้องใหม่ของวงการอย่าง บริษัท แอ็ดวานซ์ เอวิเอชั่น ซึ่งผู้บริหารบุกเบิกคือ 2 สามีภรรยา ไชย ณ ศีลวันต์ และ นพภาภรณ์ โดยถอยเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวยี่ห้อ Gulfstream เป็นเจ้าแรกในเมืองไทยมาให้บริการ เครื่องบินรุ่นนี้เปรียบเหมือนกับRolls Royce สนนราคา 300 ล้านบาท สมรรถนะสามารถบินต่อเนื่องถึง 6 ชั่วโมง
หลี-นพภาภรณ์ เล่าว่า แต่เดิมทำธุรกิจให้บริการเช่าเหมาลำเฮลิคอปเตอร์แบบวีไอพี และอยู่ในตลาดนี้มานานกว่า 5 ปี “ สมัยที่หลีเริ่มธุรกิจเมื่อ 5 ปีก่อนนั้น ทุกคนบอกว่าแปลกนะ เพราะยังไม่เคยได้ยินว่าใครทำมาก่อน”
ปัจจุบันทางบริษัทมีเฮลิคอปเตอร์ที่ซื้อจาก บริษัท ยูโรคอปเตอร์ ให้เช่าทั้งสิ้น 4 ลำ โดยปีแรกซื้อเฮลิคอปเตอร์ รุ่น EC 135 จำนวน 5 ที่นั่ง ด้วยเงินสดในราคา 160 ล้านบาท ให้บริการเช่าเหมาลำแก่นักธุรกิจทั้งในและต่างประเทศไปยังที่ต่างๆ ในปีต่อมาได้ถอยลำที่ 2 เพื่อใช้สำหรับการท่องเที่ยวชมทัศนียภาพโดยจอดไว้ที่ภูเก็ต ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ส่วนลำที่ 3 นำไปให้บริการย่านเชียงใหม่ และลำที่ 4 เก็บไว้ให้บริการที่กรุงเทพฯ
สมรรถนะของเครื่องเฮลิคอปเตอร์นั้น ถ้าบินจากกรุงเทพฯ ไปหัวหิน ใช้เวลาไม่เกิน 45 นาที ราคาค่าเช่าตกชั่วโมงละ 87,500 บาท ส่วนราคาเช่าของPrivate Jet ตกชั่วโมงละ 200,000 บาท
ตลอดช่วงเวลาที่ทำธุรกิจบริการเช่าเหมาลำเฮลิคอปเตอร์นั้น หลีเล่าว่ามีลูกค้าคนไทยทั้งระดับผู้บริหาร, คอร์ปอเรท รวมถึงนักธุรกิจ เศรษฐีจากต่างประเทศ มาใช้บริการจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ลักษมี มิตตาล อภิมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยอันดับต้นๆ ของโลก ก็เคยมาใช้เช่าเหมาลำเฮลิคอปเตอร์ของเธอ เพื่อติดต่อธุรกิจเหล็กที่เมืองไทย, ไทเกอร์ วูดส์ ตอนมาแข่งกอล์ฟ มหาเศรษฐีอเมริกัน เดวิด ร็อกกี้เฟลเลอร์ ซึ่งเดินทางมาเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯลฯ
นอกจากนี้ หลี ยังเล่าถึงประสบการณ์ที่ตื่นเต้นในธุรกิจนี้ให้ฟังว่า “เฮลิคอปเตอร์ลำที่ 3 ซึ่งอยู่ที่เชียงใหม่ เคยไปช่วยชีวิต “เทย์ ซา” มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของพม่า ที่เครื่องบินเสียอยู่ที่ทางตอนเหนือของพม่า บนภูเขาสูง เขาเรียกเฮลิคอปเตอร์จากหลายบริษัท รอบๆ บ้านเรา เข้าไปปฏิบัติการช่วยชีวิต 2 ครั้งแต่ไม่สำเร็จ ติดอยู่เกือบ 72 ชั่วโมง ในที่สุดเขาตัดสินใจเลือกเราเพราะอยู่ใกล้พม่าที่สุด คุณไชย ลงปฏิบัติการวางแผนด้วยตัวเอง เราเลือกนักบินที่ชำนาญที่สุดของเรา 2 คนบินเข้าไปยังที่เกิดเหตุ แล้วก็สามารถช่วยชีวิตทุกคนกลับมาได้อย่างปลอดภัย”
หลายคนอาจจะมองว่า การทำธุรกิจเครื่องบินเช่าเหมาลำเช่นนี้ จะมีคนมาใช้บริการมากน้อยเพียงใด หลีบอกว่า อาจจะเป็นโชคดีที่ในช่วงนี้พม่ากำลังเปิดประเทศ ดังนั้น จึงมีนักธุรกิจทั่วโลกแย่งกันเดินทางมาติดต่อค้าขายกับพม่า ซึ่งหลายคนใช้วิธีมาลงเครื่องบินที่เมืองไทย และเช่าเครื่องบินของเธอไปทำธุรกิจที่พม่า ซึ่งใช้เวลาบินเพียงชั่วโมงกว่าๆ ก็ถึงแล้ว
“เราจะบริการให้ดี จะต้องลงดูแลทุกรายละเอียดจริงๆ” นั่นคือปรัชญาการให้บริการของค่ายนี้ ดังนั้น หลี จึงคัดเลือกทุกอย่างด้วยตัวเอง เพื่อให้ลูกค้าได้มีความสุขที่มาใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการต้อนรับ-ส่งที่สนามบิน แอร์สาวสวย การตกแต่งภายในเครื่องบินให้เสมือนนั่งสบายๆ อยู่ในห้อง รวมไปถึงอาหารและเครื่องดื่มที่เธอเป็นผู้ลงมือสรรหาของอร่อยๆ มาเสิร์ฟกันบนเครื่องบิน สุดแต่ว่าลูกค้าจะต้องการรับประทานอาหารแบบไหน แม้แต่หูฉลาม สปาเก็ตตี้ หรือโจ๊กร้อนๆ เธอก็วิ่งไปเสาะหาร้านอร่อยที่สุดในกรุงเทพฯ เพื่อมาเสิร์ฟให้กับลูกค้า
“หลีเชื่อว่าจะสามารถสร้างดีมานต์สำหรับคนไทย ที่อยากจะใช้เครื่องบินเพื่อความสะดวกสบายส่วนตัว”