ถือเป็นการปลุกตลาดกล้องดิจิตอลคอมแพกต์ให้คึกคักหลังตลาดกล้องขนาดเล็กโดนกลุ่มสมาร์ทโฟนกล้องเด่นแย่งชิงไป หลายค่ายสร้างจุดขายด้วยการเลือกใช้เลนส์ซูมครอบจักรวาลที่ให้ภาพคมชัดมากขึ้นหรือแม้แต่การเลือกใส่ NFC WiFi ไปถึงการกำเนิดกลุ่มกล้องแอนดรอยด์ก็ถือเป็นการช่วยปลุกตลาดดิจิตอลคอมแพกต์ไม่ให้ล้มหายตายจากไปอย่างรวดเร็ว
มาวันนี้ก็ถึงคิวของค่ายใหญ่อย่างนิคอนที่หลังจากปรับไลน์กล้อง DSLR ไปแล้วก็มาถึงคิวของกล้องเล็กตระกูล COOLPIX กันบ้างกับ “Nikon COOLPIX S9900” ที่นอกจากจะเป็นกล้องคอมแพกต์พร้อมเลนส์ซูมออปติคอล 30 เท่าครอบจักรวาลพร้อมรองรับการเชื่อมต่อไร้สาย NFC/WiFi เหมือนคู่แข่งแล้ว นิคอนสร้างความแตกต่างด้วยการใส่ GPS และเข็มทิศดิจิตอลมาให้ภายในตัวกล้องเพื่อเอาใจสาวกโซเชียลที่ชอบติดแท็กสถานที่ อีกทั้งยังเอาใจสาวสวยหนุ่มหล่อที่ชอบเซลฟีด้วยจอหมุนได้และโหมดรีทัชใบหน้าแบบพิเศษ
ทั้งหมดนี้นิคอนจัดเต็มมากับ COOLPIX S9900 เพื่อดึงตลาดกล้องขนาดเล็กให้น่าสนใจ เข้ากับไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ยิ่งขึ้น
การออกแบบและสเปก
Nikon COOLPIX S9900 ถูกจัดกลุ่มให้เป็นกล้องคอมแพกต์ระดับกลางค่อนไปทางระดับบนของกลุ่ม COOLPIX ด้านการออกแบบดูย้อนยุค (Retro-style) คล้าย COOLPIX A โครงสร้างยังคงเอกลักษณ์ของนิคอนไฮเอนด์คือเป็นแมกนีเซียม-อลูมิเนียมครอบด้วยพลาสติกบางส่วน ส่วนซีลรอยต่อถูกออกแบบและประกอบมาได้แน่นหนาและแข็งแรง สามารถป้องกันละอองน้ำ ฝุ่นและการตกกระแทกได้บ้างเล็กน้อย
ด้านขนาดตัวเครื่องกว้างxสูงxลึก อยู่ที่ 112.0x66.0x39.5 มิลลิเมตรหรือเทียบง่ายๆก็คือประมาณหนึ่งฝ่ามือ ด้านน้ำหนักตัวเครื่องรวมแบตเตอรีและการ์ดความจำอยู่ที่ 289 กรัม
ลักษณะเลนส์ที่ยื่นออกมาเมื่ออยู่ในระยะกว้างสุด
ลักษณะเลนส์ที่ยื่นออกมาเมื่ออยู่ในระยะซูมสุด 30 เท่า
ในส่วนเลนส์กล้อง (ไม่สามารถถอดเปลี่ยนได้) นิคอนใช้เลนส์ NIKKOR Zoom Lens ที่ภายในมาพร้อมกระจก ED 3 ชิ้น กระจายแสงต่ำเป็นพิเศษเป็นครั้งแรกพร้อมกลุ่มชิ้นเลนส์ Aspherical ลดความผิดเพี้ยนของภาพ โดยเลนส์สามารถซูมแบบออปติคอล (ซูมโดยเลนส์ยืดออก) ได้สูงสุด 30 เท่าหรือเทียบระยะกล้องฟิล์ม 35 มิลลิเมตร (คูณ 5.53) อยู่ที่ 25-750 มิลลิเมตร) นอกจากนั้นยังรองรับระบบซูมด้วยเทคโนโลยี Dynamic Fine Zoom 60 เท่า (1,500 มิลลิเมตร) ด้วยการใช้ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ทำงานร่วมกัน
รูรับแสงเป็นแผ่นไดอะแฟรมแบบม่านรูรับแสง 3 กลีบควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่ระยะไวด์สามารถตั้งรูรับแสงกว้างสุด f3.7 และเมื่อซูมค่ารูรับแสงกว้างสุดจะไหลไปที่ f6.4 ส่วนค่ารูรับแสงแคบสุดจะปรับตั้งได้แค่ f8.0 ตามแบบฉบับเลนส์ซูมครอบจักรวาลทั่วไปและสำหรับระยะมาโครใกล้สุดอยู่ที่ 1 เซนติเมตร
มาดูสเปกเซนเซอร์รับภาพ CMOS มีขนาด 1/2.3 นิ้ว ความละเอียดภาพสูงสุด 16 ล้านพิกเซล (4,608x3,456 พิกเซล) อัตราส่วนภาพ 4:3 ระบบป้องกันภาพสั่นไหวเป็นแบบ Hybrid VR 5 แกนคือใช้ทั้ง Lens Shift VR รวมกับ Electronic VR
ส่วนหน่วยประมวลผลภาพนิคอนเลือกใช้ EXPEED C2 รุ่นปรับปรุงใหม่ให้ทำงานได้เร็วขึ้น ด้านไฟล์ภาพเลือกได้เฉพาะ JPEG Fine/Normal เท่านั้น ไม่มีไฟล์ RAW ให้เลือกใช้ วิดีโอเลือกคุณภาพได้สูงสุด 1,920x1,080@60i ในรูปแบบไฟล์ MOV (วิดีโอ: H.264/MPEG-4 AVC, เสียง: สเตอริโอ LPCM)
สำหรับค่าความไวแสง ISO ที่สามารถเลือกใช้ได้จะอยู่ในช่วง ISO 125-6,400 แต่แนะนำให้ตั้งค่าเป็น Auto ISO ได้เลยเนื่องจากชิปประมวลผลรุ่นใหม่นี้ทำงานได้เร็วและฉลาดกว่ารุ่นก่อนหน้ามากแล้ว
ด้านระบบโฟกัสอัตโนมัติจะเป็นแบบตรวจจับคอนทราสต์ พื้นที่โฟกัสมีให้เลือก 99 จุด รองรับระบบตรวจจับใบหน้า โฟกัสแบบติดตามวัตถุอัตโนมัติและออโตโฟกัสค้นหาวัตถุ ส่วนความไวชัตเตอร์สามารถตั้งได้ตั้งแต่ 1/2,000 - 8 วินาที
มาพลิกดูด้านหลังของกล้องกันบ้าง จะพบหน้าจอ Live View TFT LCD ขนาด 3 นิ้ว ความละเอียด 921,000 จุด (RGBW) หน้าจอสามารถปรับหมุนได้แบบเดียวกับ DSLR Nikon D5500 ที่เคยรีวิวไป ส่วนด้านขวามือจะเป็นปุ่มคำสั่งและวงแหวนที่สามารถหมุนเพื่อปรับค่ากล้องได้
จุดที่น่าสนใจและควรรู้คือปุ่มเปิด WiFi (รูปเสาสัญญาณ) ที่เมื่อกดลงไปหนึ่งครั้งตัวเครื่องจะปล่อย SSID ให้เราสามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนที่ไม่มี NFC ได้โดยไม่ต้องใช้รหัสผ่าน
ด้านบนของตัวเครื่องจากซ้ายสุดบริเวณชื่อรุ่นของกล้องจะเป็นไฟแฟลช ถัดมาใต้โลโก้ GPS/WiFi จะเป็นสวิตซ์เปิดไฟแฟลช มาดูด้านขวาเริ่มจากวงแหวนแรกสุดจะเป็นวงแหวนปรับเปลี่ยนโหมดถ่ายภาพมีให้เลือกตั้งแต่ M/A/S/P, Auto, Scene Mode, Smart Portrait และโหมดวิดีโอสั้นแบบสร้างสรรค์ ถัดไปเป็นปุ่มชัตเตอร์ล้อมรอบด้วยวงแหวนซูมภาพเข้าออก ปุ่มเปิดปิดตัวเครื่องและวงแหวนปรับแต่งค่าเพิ่มเติม
สำหรับช่องใส่สายคล้องข้อมือจะติดตั้งอยู่ทั้งด้านซ้ายและขวา สามารถเลือกใส่สายได้ตามความถนัดของผู้ใช้
ด้านข้างขวาของตัวเครื่อง จุดที่ต้องสังเกตคือสัญลักษณ์ NFC สามารถใช้สมาร์ทโฟนที่รองรับแตะสัมผัสบริเวณนี้ ส่วนพอร์ตเชื่อมต่อ USB และ HDMI จะมีฝาปิดไว้ป้องกันฝุ่นและละอองน้ำ ส่วนอีกด้านจะเป็นปุ่มกดเพื่อเปิดแผนที่สำหรับคนที่ต้องการแก้ไขพิกัดรูปภาพ
ส่วนช่องใส่แบตเตอรีและการ์ดความจำจะติดตั้งอยู่ด้านใต้สุด โดบแบตเตอรีที่ใช้ร่วมกับ COOLPIX S9900 เป็นรหัส EN-EL12 ก้อนเล็กขนาด 1,050mAh ชาร์จเต็มหนึ่งครั้งสามารถถ่ายภาพนิ่งได้ต่อเนื่องประมาณ 300 ภาพ นอกจากนั้นนิคอนได้ออกแบบระบบชาร์จไฟผ่านพอร์ต MicroUSB ให้สามารถชาร์จไฟและใช้งานพร้อมกันได้ (เหมาะแก่คนถ่าย Timelapse)
ฟีเจอร์เด่น
เริ่มจากเรื่องแรกที่ขอยกให้เป็นข้อเด่นด้านการออกแบบของ COOLPIX S9900 ก็คือบริเวณกริปและแผ่นรองนิ้วโป้งด้านหลังที่นิคอนเลือกใช้วัสดุเป็นยางแกะลายเลียนแบบหนังเทียม ซึ่งจับกระชับ ช่วยให้การถือกล้องเป็นไปอย่างมั่นคงไม่หลุดล่วงหล่นจากมือได้ง่าย
มาดูหน้าจอ Live View หลักๆก็ใช้แสดงสถานะการตั้งค่ากล้องทั้งหมดรวมถึงพรีวิวภาพถ่าย พร้อมสิ่งที่เพิ่มเข้ามาเฉพาะ COOLPIX S9900 ก็คือเข็มทิศดิจิตอลและพิกัดแบบแสดงเป็นชื่อสถานที่ที่อยู่ใกล้บริเวณที่ถ่ายภาพ โดยระบบจะดึงข้อมูลจาก HERE Maps เป็นหลัก
นอกจากนั้นผู้ใช้ยังสามารถเรียกแผนที่ HERE Maps ขึ้นมารับชมจุดพิกัดที่เราถ่ายภาพไปแล้วได้โดยการกดปุ่มรูปลูกโลกข้างกล้อง
ในส่วนไฟล์ภาพที่ถ่ายออกมาจาก COOLPIX S9900 จะมาพร้อมเลขพิกัด ทิศทางที่ถ่ายภาพและความสูงจากระดับน้ำทะเล ซึ่งผู้ใช้ที่ชื่นชอบการโพสต์รูปแล้วติดแท็กสถานที่น่าจะรักฟีเจอร์นี้เป็นพิเศษ
ตัวอย่าง Timelapse > ทิวทัศน์ 20 นาทีเมื่อประมวลผลเรียบร้อยแล้วจะเหลือวิดีโอความยาว 8 วินาที
มาดูฟีเจอร์ต่อไป Timelapse ที่มาในรูปแบบสำเร็จรูปไม่ต้องปรับตั้งค่าให้ยุ่งยาก โดยการใช้งานต้องเปลี่ยนเป็น Scene Mode > Timelapse แล้วจะพบกับโหมด Timelapse สำเร็จรูปสามารถเลือกได้ตั้งแต่ถ่ายทิวทัศน์ 20 นาทีไปถึงถ่ายหมู่ดาวยามค่ำคืน 150 นาที
สำหรับ NFC ก็ถือว่าช่วยอำนวยความสะดวกเวลาเราต้องการจะแชร์ภาพหรือใช้หน้าจอสมาร์ทโฟนเป็น Live View เพราะเพียงแค่นำสมาร์ทโฟนที่รองรับ NFC ไปแตะที่สัญลักษณ์ด้านข้างกล้องเท่านั้น ระบบ WiFi จะเชื่อมต่อกันและเรียกแอปพลิเคชัน Wireless Mobile Utility ขึ้นมาใช้งานในขั้นตอนเดียว
ฟีเจอร์เด่นอีกหนึ่งหมัดเด็ดที่เกริ่นไปแล้วข้างต้นกับโหมด Smart Portrait ที่ระบบจะทำหน้าขาวนวลให้ระดับหนึ่ง ถ้าผู้ใช้ต้องการปรับแต่งส่วนอื่นอีกก็สามารถกดเข้าไปรีทัชภาพได้
โดยระบบรีทัชจะรองรับการปรับแต่งใบหน้าตั้งแต่ลดขนาดแก้ม เพิ่มขนาดดวงตา ทำหน้าใส ปรับสีผิว ลบสิว ปัดแก้ม ใส่ขนตา และอีกมากมายที่นิคอนออกแบบมาเอาใจคุณผู้หญิงเป็นพิเศษ คุณภาพของโหมดรีทัชก็ประมาณน้องๆกล้องฟรุ้งฟริ้งเลย
สุดท้ายมาดูอีกหนึ่งฟีเจอร์เด่นกับระบบป้องกันภาพสั่นไหว Hybrid VR แบบ 5 แกนที่จะให้ผลลัพท์ที่โดดเด่นมากในโหมดถ่ายวิดีโอ ยิ่งเมื่อผู้ใช้ซูมภาพระหว่าง 30-60 เท่า ระบบ Hybrid VR จะยิ่งให้ผลลัพท์ที่ดีมากยิ่งขึ้น อย่างวิดีโอตัวอย่างที่ผม @dorapenguin แอบถ่ายนกที่ระยะ 60 เท่า (1,500 มิลลิเมตร) ปกติถ้าเป็นกันสั่นออปติคอลธรรมดาภาพจะสั่นมากกว่านี้ แต่เมื่อเปิดใช้ Hybrid VR จะถือถ่ายได้ง่ายขึ้น ภาพไหวน้อยลงแต่เล็งยากพอสมควร เพราะเมื่อเคลื่อนไหวมือตามวัตถุที่ไม่อยู่นิ่งภาพที่ปรากฏบน Live View จะเกิดอาการดีเลย์เล็กน้อยเนื่องจากซอฟต์แวร์ภายในต้องมีการประมวลผลเรื่องการสั่นไหวมากกว่าปกติ
ในส่วนการถ่ายวิดีโอปกติ ก็เป็นไปตามสไตล์นิคอนยุคใหม่ก็คือโหมดวิดีโอทำงานได้ลื่นไหล ไมโครโฟนรับเสียงภายในเป็นแบบสเตอริโอ การปรับแสงสี สมดุลแสงสีขาวต่างๆทำได้ดี ภาพที่ได้ค่อนข้างคมชัดมาก ระบบซูมทำงานร่วมกับ Hybrid VR ได้อย่างยอดเยี่ยม ถือได้ว่า COOLPIX S9900 เป็นกล้องคอมแพกต์ราคาไม่เกิน 15,000 บาทที่ถ่ายวิดีโอได่้สวยติดอันดับต้นๆของตลาดตอนนี้
ทดสอบประสิทธิภาพ
ต้องบอกว่า Nikon COOLPIX S9900 เป็นกล้องที่เกิดมาเพื่อเน้นถ่ายสนุก ออกแนวแชะ แท็ก แชร์กับสมาร์ทโฟน เอาใจวัยรุ่นขาเที่ยวและผู้ใช้ระดับเริ่มต้นที่ต้องการกล้องราคาเทียบสเปกแล้วคุ้มค่ามากกว่าต้องการกล้องคอมแพกต์ที่เน้นการปรับแต่งแบบมืออาชีพ โดยนิคอนเลือกตัด RAW ออกเหลือแค่ JPEG เพราะมองว่ากลุ่มคนที่ใช้กล้องแนวนี้ไม่จำเป็นต้องถ่ายด้วยไฟล์ดิบคุณภาพสูง
แต่ใช่ว่านิคอนจะไม่สนใจเรื่องคุณภาพไฟล์ภาพเลย เพราะก็ได้มีการปรับปรุงคุณภาพไฟล์ JPEG ให้เก็บรายละเอียดภาพได้ดีขึ้นเหมือนกล้อง DSLR Nikon ยุคหลังทั้งหมด เป็นผลทำให้ไฟล์ JPEG คุณภาพสูงความละเอียด 16 ล้านพิกเซลหนึ่งไฟล์มีขนาดประมาณ 7-9MB และเมื่อทดลองแชร์ภาพไปตกแต่งบนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ภาพที่ได้จาก S9900 จะมีความยืดหยุ่นในการปรับแต่งสูงมาก
ทีนี้ลองมาทดสอบค่าความไวแสงในช่วงต่างๆกันบ้าง ต้องเรียนตามตรงว่าถ้ามองเผินๆ ไม่ได้ใส่ใจรายละเอียด ISO ตั้งแต่ 125-6,400 แทบแยกความแตกต่างกันไม่ออกเลย เพราะเนื้อไฟล์ สีสันเนียนตาด้วยอานิสงส์จากชิป EXPEED C2 จนต้องลองซูมเทียบแบบ 100% ถึงจะเห็นความแตกต่างและการเกิดสัญญาณรบกวน (Noise) ที่เริ่มมีให้เห็นตั้งแต่ ISO 3,200 และมากสุดที่ ISO 6,400
จบเรื่องการทดสอบ ISO มาเริ่มทดสอบคุณภาพไฟล์ภาพจาก COOLPIX S9900 กันบ้าง เริ่มจากภาพแรกสุดที่ผมต้องการแสดงให้เห็นถึงคุณภาพชิ้นเลนส์ที่นิคอนเลือกใช้ ส่วนใหญ่ภาพที่ถ่ายย้อนแสงด้วย f8.0 รวมถึงแสงไฟยามค่ำคืนมักให้แฉกแสงที่สวยงามมากและน่าจะเป็นจุดเด่นของชุดเลนส์ที่ติดตั้งใน S9900 เลยทีเดียว
ในส่วนการทดสอบระยะเลนส์ซูมครอบจักรวาล ผมขอคอนเฟริมว่าทุกช่วงซูม ใช้งานได้จริงหมด ภาพคมชัด ขอบภาพไม่เบลอเหมือนหลายแบรนด์ ส่วนนี้คงต้องยกความดีความชอบให้กับชุดชิ้นเลนส์ที่นิคอนเลือกใช้ส่วนหนึ่ง หน่วยประมวลผลปรับใหม่อีกส่วนหนึ่ง ยกตัวอย่างภาพที่ผมนำมาให้ชม 3 ภาพบน ผมเลือกซูมที่ระยะตั้งแต่ 30 เท่าถึงช่วง Dynamic Fine Zoom 60 เท่า (ภาพนกพิราบปากแหลม) ผลลัพท์ที่ได้คือภาพคมชัดทั้งหมด โดยเฉพาะช่วงเข้า Dynamic Fine Zoom ที่ใช้การทำงานของฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์และคุณภาพไฟล์ JPEG ที่ดีผสมกัน ทำให้ภาพที่ได้สามารถนำไปใช้งานได้จริง
ระยะ(เทียบฟิล์ม 35 มิลลิเมตร): 24 มิลลิเมตร / f3.7 / ISO 280 / Shutter: 1/30 วินาที
ระยะ(เทียบฟิล์ม 35 มิลลิเมตร): 24 มิลลิเมตร / f3.7 / ISO 500 / Shutter: 1/8 วินาที
ระยะ(เทียบฟิล์ม 35 มิลลิเมตร): 136 มิลลิเมตร / f6.0 / ISO 250 / Shutter: 1/30 วินาที
ระยะ(เทียบฟิล์ม 35 มิลลิเมตร): 49 มิลลิเมตร / f4.5 / ISO 125 / Shutter: 1/125 วินาที
ระยะ(เทียบฟิล์ม 35 มิลลิเมตร): 746 มิลลิเมตร / f6.4 / ISO 125 / Shutter: 1/250 วินาที
ระยะ(เทียบฟิล์ม 35 มิลลิเมตร): 24 มิลลิเมตร / f3.7 / ISO 320 / Shutter: 1/30 วินาที
ระยะ(เทียบฟิล์ม 35 มิลลิเมตร): 24 มิลลิเมตร / Macro Mode / f3.7 / ISO 400 / Shutter: 1/25 วินาที
ระยะ(เทียบฟิล์ม 35 มิลลิเมตร): 24 มิลลิเมตร / Macro Mode / f6.3 / ISO 125 / Shutter: 1/60 วินาที
ระยะ(เทียบฟิล์ม 35 มิลลิเมตร): 115 มิลลิเมตร / f5.6 / ISO 125 / Shutter: 1/500 วินาที
ระยะ(เทียบฟิล์ม 35 มิลลิเมตร): 35 มิลลิเมตร / f6.4 / ISO 125 / Shutter: 1/50 วินาที
ระยะ(เทียบฟิล์ม 35 มิลลิเมตร): 24 มิลลิเมตร / f4.8 / ISO 125 / Shutter: 1/2,000 วินาที
ระยะ(เทียบฟิล์ม 35 มิลลิเมตร): 24 มิลลิเมตร / f3.7 / ISO 125 / Shutter: 1/640 วินาที
สำหรับภาพรวมด้านคุณภาพไฟล์ที่ได้รับจาก Nikon COOLPIX S9900 ถือว่าเป็นไปตามมาตรฐานกล้องคอมแพกต์เซนเซอร์เล็ก การจะทำโบเก้ฉากหลังละลายทำได้ยากพอตัว ส่วนไฟล์ภาพส่วนใหญ่ที่ได้รับจาก S9900 มีคุณภาพสูงตามหน่วยประมวลผลภาพที่ปรับปรุงใหม่ เลนส์ซูมไว้ใจได้ คมชัดทุกระยะออปติคอล 30x ระบบวัดแสงและจัดการต่างๆทำงานมีประสิทธิภาพจนทำให้ S9900 เป็นกล้อง Point and Shoot ที่ถ่ายสนุกตัวหนึ่ง
เสียดายอย่างเดียวจอไม่ใช่ระบบสัมผัส ไม่อย่างนั้นการใช้ซอฟต์แวร์ตกแต่งภาพและการจับโฟกัสด้วยการจิ้มหน้าจอจะทำให้การใช้ S9900 สะดวกสบายมากขึ้น
ในส่วนลูกเล่นพวก GPS NFC รีทัชโหมดต่างๆ ใช้งานได้จริงและทำได้ดีมาก โดยเฉพาะรีทัชโหมดสำหรับขาเซลฟีที่ออกแบบส่วนซอฟต์แวร์ตกแต่งมาได้ละเอียดและดึงความสามารถของระบบตรวจจับใบหน้ามาใช้งานได้สมบูรณ์แบบมาก ในขณะที่ลูกเล่นอื่นๆ เช่น Timelapse หรือเอ็ฟเฟ็กต์ตกแต่งภาพก็มีให้เลือกใช้งานครบครัน
ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป?
ข้อดี
- งานประกอบดี แข็งแรง กริปจับถนัดมือ
- หน้าจอปรับหมุนได้
- ซอฟต์แวร์รีทัชภาพเซลฟีและถาพถ่ายบุคคลสามารถปรับแต่งได้ละเอียด
- เลนส์ซูมครอบจักรวาลคุณภาพสูง คมชัดทุกระยะ
- ระบบป้องกันภาพสั่นไหว Hybrid VR 5 แกนทำงานได้ดีมาก
- ฟีเจอร์ครอบคลุมทุกการใช้งาน เช่น Timelapse, เอ็ฟเฟ็กต์ภาพ, วิดีโอ 1080@60i พร้อมไมโครโฟรสเตอริโอ
- สามารถชาร์จแบตเตอรีและใช้งานกล้องพร้อมกันได้
ข้อสังเกต
- หน้าจอ Live View ไม่มีระบบสัมผัส
- ไม่มีไฟล์ RAW ให้เลือกใช้
- ถึงแม้ Hybrid VR จะทำงานได้ดี แต่เมื่อซูมเกิน 20 เท่าขึ้นไปจะเล็งภาพผ่าน Live View ยากขึ้นเพราะภาพจะหน่วงไม่เป็นธรรมชาติ ทำให้การจัดองค์ประกอบภาพให้ถูกใจทำได้ยาก
สำหรับราคาเปิดตัว Nikon COOLPIX S9900 อยู่ที่ประมาณ 12,900 บาท ถือเป็นกล้องคอมแพกต์ระดับกลางค่อนสูงที่มีฟังก์ชันใช้งานครบครันคุ้มค่าคุ้มราคาตัวหนึ่ง จุดเด่นของกล้องรุ่นนี้อยู่ที่เลนส์ซูมครอบจักรวาล พร้อม GPS NFC และโหมดรีทัชภาพเซลฟีที่น่าจะถูกใจผู้ใช้ที่กำลังมองหากล้องถ่ายภาพที่เน้นความคุ้มค่าเป็นหลัก
ถ้าเป็นเมื่อก่อนกล้องครอบจักรวาลลักษณะนี้มักให้คุณภาพไม่ว่าจะเป็นไฟล์ภาพหรือคุณภาพของเลนส์ซูมที่ไม่ดีนัก แต่ปัจจุบันจากที่ได้ทดสอบ COOLPIX S9900 เป็นเวลานานร่วมอาทิตย์ทำให้ความเชื่อเก่าๆกับกล้องครอบจักรวาลลักษณะนี้ต้องเปลี่ยนไปทั้งหมด จนทำให้ผมพูดได้เต็มปากเลยว่า “ถ้าคุณจ่ายเงิน 12,900 บาทไปสิ่งที่ได้ผมรับรองว่าคุ้มค่ากว่าราคาที่จ่ายออกไปแน่นอน”
Company Related Link :
Nikon