Nikon D750 ถือเป็นกล้อง DSLR จับกลุ่มผู้เริ่มต้นและผู้ใช้ระดับกลางที่กำลังคิดขยับมาเล่นฟูลเฟรม โดย D750 เข้ามาแทรกกลางระหว่าง D610 และ D810 โดยเฉพาะบอดี้กล้องที่นิคอนยอมลดความเป็นมืออาชีพจับบอดี้ D610 มาใส่พร้อมอัดฟีเจอร์อัตโนมัติและฟีเจอร์บางส่วนจาก D810 จนทำให้แฟนๆ รหัสเลขสามหลัก (เช่น ผู้ใช้ D700 D610) ที่กำลังคิดเปลี่ยนกล้องตามเทคโนโลยีใหม่ๆ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งรักทั้งเกลียดอย่างมากมาย
แต่ประเด็นหลักของการเป็นกล้องถ่ายภาพที่ดีคงไม่สามารถตัดสินแค่เฉพาะรูปทรงและการออกแบบ แต่ประสิทธิภาพภายในคือหัวใจหลักที่ต้องมาทดสอบกันอย่างจริงจังเพื่อหาข้อสรุปที่แท้จริงอีกครั้ง
โดยหลังจากการทดสอบพรีวิว Nikon D750 นำโดยผม @dorapenguin กับทริปนิคอนที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในบทความ ชมคลิป “ดาบปะทะดาบ” และได้ร่วมทดสอบฟูลเฟรมใหม่ Nikon D750 พร้อมลงรายละเอียดของ D750 ไปบางส่วน วันนี้ด้วยกระแส D750 ที่กำลังโด่งดังและผู้อ่านหลายท่านจับตารออยู่นั้น ผมจึงได้รับ Nikon D750 กลับมาทดสอบรีดประสิทธิภาพเพื่อหาข้อสรุปคุณภาพของตัวกล้องแบบจัดเต็มอีกครั้งตามคำขอของหลายๆ ท่าน
สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพในครั้งนี้ผมจะเน้นเจาะลึกเฉพาะคุณภาพไฟล์ภาพและการจับถือใช้งานตามที่ผู้อ่านหลายท่านสงสัยจากบทความที่แล้วที่ยังลงรายละเอียดได้ไม่มากพอ โดยชุดทดสอบที่ผมได้รับมานั้นประกอบด้วยกล้อง Nikon D750 ตัวจำหน่ายจริงพร้อมเลนส์ระยะ 24-85 f3.5-4.5 VR และเลนส์มุมกว้าง 17-35 f2.8
มาถึงเรื่องแรกที่ผมขอยกเป็นประเด็นพูดถึงกันก่อนก็คือเรื่องการออกแบบ การจับถือและการควบคุมตั้งค่าระหว่างถ่ายภาพ ที่ดูหน้าตาภายนอกแล้วเหมือน D610 อย่างมาก แต่ภายในนิคอนได้ออกแบบโครงสร้างกล้องใหม่คือใช้วัสดุแมกนีเซียมเฉพาะฝาครอบด้านบนและด้านหลังเท่านั้น ส่วนตัวกล้องและฝาครอบด้านหน้าจะทำจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์แบบใหม่ ทำให้น้ำหนักตัวกล้องเบาเหลือเพียง 840 กรัม ขนาดตัวกล้องกว้าง x สูง x ลึกอยู่ที่ 140.5 x 113 x 78 มิลลิเมตร เรื่องการออกแบบสำหรับผมมองค่อนข้างสอบผ่านเพราะตัวกล้องมีขนาดเล็กลงมากในขณะที่คุณสมบัติเด่นอย่างซีลยางกันน้ำ กันฝุ่นก็ยังใส่มาให้เหมือนเดิม
แต่ที่นี้เรื่องของการติดตั้งวางตำแหน่งปุ่มควบคุมที่นิคอนอยากปรับให้ D750 เป็นกล้องสำหรับผู้เริ่มต้นใช้ฟูลเฟรม แตกต่างจากสมัย D700 ที่นิคอนวางกลุ่มเป็นกล้องมืออาชีพเริ่มต้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้ใช้งานกล้องระดับบนจะไม่ถูกใจกับรูปแบบปุ่มควบคุมลักษณะนี้ที่ปรับค่ากล้องได้ยากกว่าแบบเดิม คนใช้ฟลูเฟรมทั้ง D810 D4s และผู้ใช้ D700 เก่า ที่กำลังมอง D750 จะงงกับปุ่มคำสั่งลักษณะนี้มากต้องอาศัยการปรับตัว แต่ถ้ามองในมุมของนักถ่ายภาพที่ใช้กล้องในกลุ่ม D7xxx และกำลังขึ้นมาเล่นฟูลเฟรม คนกลุ่มนั้นน่าจะถูกใจ D750 มากกว่า
ส่วนสเปกกล้องก็ถือว่าครั้งนี้นิคอนยกเซ็นเซอร์รับภาพรองรับความละเอียดสูงสุด 24.3 ล้านพิกเซลชุดเดียวกับ D610 แบบมี AA Filter มาติดตั้งแต่เปลี่ยนหน่วยประมวลผลภาพเป็น Expeed 4 ที่ปรับแต่งใหม่อีกครั้งจาก D810 พร้อมใส่ระบบออโต้โฟกัส 51 จุด Advanced Multi-CAM 3500 FX II พัฒนาใหม่ให้สามารถจับโฟกัสในที่แสงน้อยได้เร็วขึ้นที่ค่าแสง -3EV ซึ่งทำได้ดีกว่า D810 พอสมควร และปรับแต่งหน้าจอ LCD ด้านหลังให้ปรับองศาได้ รวมถึงฟีเจอร์หลายส่วนก็ยกมาจาก D810 ยกเว้น RAW S ไม่มีมาให้ พร้อมปรับยกระบบวิดีโอสามารถทำได้ดีกว่า D810 โดยเฉพาะโฟกัสผ่าน Live View ที่ D750 ทำได้เร็วกว่าทุกรุ่นในกลุ่มฟูลเฟรม
อีกส่วนที่น่าสนใจสำหรับ Nikon D750 ก็คือมาพร้อม WiFi Built-in ที่สามารถใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟนผ่านแอปฯ Wireless Mobile Utility ที่นอกจากจะใช้เป็น Live View จากตัวกล้องและคัดลอกไฟล์ภาพเข้าสู่สมาร์ทโฟนได้แล้ว แอปฯ ยังรองรับการถ่ายชัตเตอร์ B (Bulb) แทนรีโมทอินฟาเรดได้ด้วย
แม้ภาพรวมในส่วนแรกของ D750 จะไปในทิศทางของผู้ใช้งานทั่วไปที่ต้องการกล้อง DSLR คุณภาพสูงและมีความคล่องตัวในการใช้งานมากกว่าความเป็นมืออาชีพ โดยเฉพาะรูปลักษณ์ การจัดวางปุ่มควบคุมและฟีเจอร์ใช้งานหลายส่วนที่เหมือนกล้องจะเน้นให้ถ่ายแบบอัตโนมัติมากกว่าผู้ใช้ที่ชอบ Manual ปรับค่ากล้องเอง ที่ยอมรับว่าจากการใช้งานจริง ความรู้สึกแบ่งได้เป็นสองรูปแบบชัดเจนแบบเดียวกับคำกล่าว “ไม่รักก็เกลียดเลย” เพราะถ้ามองในมุมผู้ใช้มืออาชีพที่กำลังมองหากล้องฟูลเฟรมขนาดเล็กและต้องการส่วนควบคุม ไปถึงจอ LCD ตั้งค่ากล้องแบบเดียวกับระดับบนในตอนนี้ ผู้ใช้เหล่านั้นจะต้องผิดหวังถึงขนาดกร่นด่าอย่างแน่นอน เพราะ D750 ตัดปรับลดฟีเจอร์สำคัญไปหลายอย่าง เช่น RAW-S หรือความเร็วชัตเตอร์ใช้ได้สูงสุดแค่ 1/4,000 วินาที (ส่วนใหญ่ช่างภาพบุคคลที่ชอบละลายหลังน่าจะชอบชัตเตอร์ที่ยิงได้สูงกว่านี้)
แต่สุดท้ายแล้ว Nikon D750 จะดีหรือไม่ดีอย่างไร อยากฟันธงตัดสินใจอีกครั้งต้องไม่ลืมส่วนการทดสอบประสิทธิภาพจริงที่ไม่แน่อาจเปลี่ยนใจใครหลายคนได้
ทดสอบประสิทธิภาพ
ถึงแม้การออกแบบและฟีเจอร์บางส่วนของ D750 จะโดนใจและไม่โดนใจใครหลายๆ คน แต่เรื่องหน่วยประมวลผลภาพ Expeed 4 ปรับแต่งใหม่ถึงขนาดดึงให้เซ็นเซอร์รับภาพชุดเก่าจาก D610 แสดงประสิทธิภาพได้ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสัญญาณรบกวน (Noise) ที่ทำได้ยอดเยี่ยมมากกว่า D810 เสียอีก โดยจากเดิม ISO แค่ 12,800 ภาพก็เริ่มแตกเพราะสัญญาณรบกวนมากแล้ว แต่ครั้งนี้ผู้ใช้สามารถดัน ISO ได้มากถึง 25,600 สัญญาณรบกวนถึงค่อยเริ่มเกิดขึ้น ซึ่งถ้าผู้ใช้ไม่พอใจก็ยังสามารถใช้ซอฟต์แวร์ตกแต่งรูปหรือใช้ Capture NX-D ลดสัญญาณรบกวนได้อีก ไปถึง ISO 51,200 ที่แสดงสัญญาณรบกวนออกมาไม่มากเหมือนก่อนแล้ว
นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดกับการที่นิคอนปรับเปลี่ยนหน่วยประมวลผลภาพไปใช้ Expeed 4 แน่นอนว่าการปรับปรุงพัฒนาส่วนสำคัญนี้เคยสร้างความประทับใจให้กับผมมาแล้วตอนทดสอบ D810 และใน D750 ความประทับใจนั้นก็กลับมาอีกครั้ง
อีกเรื่องจากการที่นิคอนนำพันธุกรรมบางส่วนจาก D810 และ D610 มารวมกัน เรื่องคุณภาพไฟล์ RAW ระดับ 14bit (ตกขนาดไฟล์ละประมาณ 20MB) ถูกอัปเกรดให้ดีขึ้นมาก แม้จะไม่สามารถสู้การเก็บรายละเอียดของเซ็นเซอร์แบบ No AA Filter เช่นใน D810 ได้ แต่คุณภาพไฟล์ที่ได้ถือว่าไม่ขี้เหร่และดีกว่า D610 เดิมไปหลายเท่าตัวมาก
เพราะผมจำได้ตอนทดสอบ D600, D610 ที่ใช้หน่วยประมวลผลภาพ Expeed 3 รวมถึงกล้องนิคอนหลายตัวที่ทำงานร่วมกับหน่วยประมวลผลรุ่นนั้น ไฟล์ภาพที่ได้จะติดคอนทราสต์จัดและแสงเงาแข็งไม่เป็นธรรมชาติจนต้องมานั่งจูน Picture Control ไปถึงปรับโทนภาพผ่านซอฟต์แวร์กันใหม่ แต่ ณ ปัจจุบัน นิคอนแก้ปัญหาตรงจุดนี้แล้วทำให้คุณภาพไฟล์ที่ได้เป็นธรรมชาติมากขึ้น
Nikon D750 Lens 24-85mm f3.5-4.5 / ถ่ายที่ระยะ 85 มิลลิเมตร f4.5 ISO 400 ความเร็วชัตเตอร์ 2.5 วินาที
มาเริ่มต้นทดสอบภาคสนามจริงที่ในครั้งนี้ผมเลือกไปเก็บภาพที่ภูทับเบิก จังหวัดเพชรบูรณ์ และภาพแรกผมต้องการจะทดสอบ Picture Control: Flat กับการถ่ายในที่แหล่งกำเนิดแสงซับซ้อน จนมีเงาเกิดขึ้นมากมาย แต่โปรไฟล์แบบ Flat ก็ทำหน้าที่ได้ดีพร้อมข้อสังเกตเล็กน้อยในเรื่องการควบคุมมิติและความกว้างของโทนสีและแสงที่ใน D750 จะมีสูงกว่า D810 เล็กน้อย
Nikon D750 Lens 24-85mm f3.5-4.5 / ถ่ายที่ระยะ 85 มิลลิเมตร f22 ISO 125 ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 8 นาที (B)
ลองดูคุณภาพไฟล์แบบใกล้ชิดด้วยการครอปซูมจาก 24 ล้านพิกเซลเหลือประมาณ 12 ล้านพิกเซลและเปิดหน้ากล้องนาน 8 นาที ปิดออปชันลบสัญญาณรบกวนทั้งหมดและมาจัดการเองผ่านซอฟต์แวร์ Capture NX-D ผลที่ได้ค่อนข้างน่าประทับใจมากโดยเฉพาะไฟล์ RAW 14 บิตที่กว้างพอจะปรับแต่งแยกเลเยอร์สีซ้อนทับกันหลายเลเยอร์ได้โดยที่ไม่สูญเสีบรายละเอียดภาพลงแม่แต่น้อย
Nikon D750 Lens 24-85mm f3.5-4.5 / ถ่ายที่ระยะ 85 มิลลิเมตร f9 ISO 160 ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 1/320 วินาที
Nikon D750 Lens 17-35mm f2.8 / ถ่ายที่ระยะ 19 มิลลิเมตร f9 ISO 160 ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 1/250 วินาที
สองภาพนี้ไม่ผ่านการตกแต่งใดๆ จะพบว่าไฟล์ภาพที่ได้ค่อนข้างคมชัด การไล่โทนสีต่างๆ ถือว่าทำได้ดีมาก
Nikon D750 Lens 24-85mm f3.5-4.5 / ถ่ายที่ระยะ 62 มิลลิเมตร f4.5 ISO 1250 ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 1/400 วินาที
ภาพนี้ใช้ Picture Control: Portrait ธรรมดา ไม่มีตกแต่งเพิ่มเติม โหมดถ่ายก็ใช้ P กึ่งอัตโนมัติ ผลลัพท์ที่ได้คือโทนสีและคอนทราสต์เปลี่ยนไปจากนิคอนยุคก่อนมาก ภาพบุคคลมีความนุ่มนวลมากขึ้น ผิวสีถูกปรับให้เป็นไปตามธรรมชาติ แม้ ISO จะเข้าหลักพันแต่ภาพที่ได้ยังสดใสอยู่
Nikon D750 Lens 24-85mm f3.5-4.5 / ถ่ายที่ระยะ 85 มิลลิเมตร f7.1 ISO 100 ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 1/2500 วินาที
Nikon D750 Lens 24-85mm f3.5-4.5 / ถ่ายที่ระยะ 85 มิลลิเมตร f9 ISO 100 ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 1/400 วินาที Picture Control : Neutral
Nikon D750 Lens 17-35mm f2.8 / ถ่ายที่ระยะ 17 มิลลิเมตร f9 ISO 100 ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 1/25 วินาที
Nikon D750 Lens 24-85mm f3.5-4.5 / ถ่ายที่ระยะ 85 มิลลิเมตร f4.5 ISO 640 ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 1/200 วินาที
Nikon D750 Lens 24-85mm f3.5-4.5 / ถ่ายที่ระยะ 85 มิลลิเมตร f4.5 ISO 500 ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 1/640 วินาที
Nikon D750 Lens 24-85mm f3.5-4.5 / ถ่ายที่ระยะ 45 มิลลิเมตร f4.2 ISO 500 ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 1/160 วินาที
Nikon D750 Lens 17-35mm f2.8 DX Crop Mode / ถ่ายที่ระยะ 17 มิลลิเมตร ระยะที่ได้ประมาณ 25 มิลลิเมตร f8 ISO 100 ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 25 วินาที ไม่ใช้ระบบลบสัญญาณรบกวนเมื่อเปิดหน้ากล้องนาน
Nikon D750 Lens 24-85mm f3.5-4.5 / ถ่ายที่ระยะ 85 มิลลิเมตร f4.5 ISO 2500 ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 1/30 วินาที
Nikon D750 Lens 24-85mm f3.5-4.5 / ถ่ายที่ระยะ 85 มิลลิเมตร f4.5 ISO 1000 ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 1/15 วินาที
Nikon D750 Lens 24-85mm f3.5-4.5 / ถ่ายที่ระยะ 55 มิลลิเมตร f11 ISO 400 ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 1/200 วินาที
Nikon D750 Lens 17-35mm f2.8 / ถ่ายที่ระยะ 17 มิลลิเมตร f9 ISO 160 ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 1/400 วินาที Picture Control: Flat ปรับเพิ่ม Clarity +2
Nikon D750 Lens 17-35mm f2.8 / ถ่ายที่ระยะ 35 มิลลิเมตร f7.1 ISO 400 ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 1/100 วินาที ปรับเพิ่ม Clarity +2
Nikon D750 Lens 24-85mm f3.5-4.5 / ถ่ายที่ระยะ 24 มิลลิเมตร f3.5 ISO 800 ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 1/100 วินาที
Nikon D750 Lens 24-85mm f3.5-4.5 / ถ่ายที่ระยะ 85 มิลลิเมตร f4.5 ISO 500 ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 1/320 วินาที Picture Control: Standard ปรับเพิ่ม Clarity +2 Contrast +1
ขอปิดท้ายด้วยภาพจากโหมดอัตโนมัติที่ถือว่าทำงานใช้ได้ การเลือกซีนโหมด การปรับ ISO แบบแัตโนมัติและความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสงทำงานได้สัมพันธ์กันดี
ส่วนการทดสอบวิดีโอ อย่างที่ทราบกันว่า D750 ให้สเปกส่วนวิดีโอมาแบบเดียวกับ D810 ทั้งความละเอียดของวิดีโอสูงสุด 1,920x1,080 พิกเซลที่ความเร็ว 60 เฟรมต่อวินาทีไปถึงรองรับการฟีเจอร์ Power Aperture, Exposure Smoothing ความสามารถในการต่อไมโครโฟนภายนอกและมีช่องเสียบหูฟังสำหรับมอนิเตอร์เสียง พร้อมสิ่งที่เพิ่มเข้ามาอย่างจอ Live View ปรับองศาได้และโฟกัสที่ทำได้แม่นยำกว่าฟูลเฟรมทุกรุ่นของนิคอน ทำให้ D750 เป็นกล้องที่ถ่ายวิดีโอได้ดีที่สุดตั้งแต่นิคอนเคยมี DSLR มาและเหมือนจุดขายนี้จะทำให้ D750 น่าจะถูกใจขาคนสร้างภาพยนตร์ขนาดสั้นหรือใช้ถ่ายทำรายการต่างๆ ได้อย่างจริงจังเสียทีหลังจากคู่แข่งแย่งตลาด DSLR Movie ไปนาน
สำหรับบทสรุปสุดท้ายจาก 20 ภาพที่ผมได้นำเสนอไป ต้องยอมรับว่าถึงแม้ Nikon D750 จะมีข้อสังเกตในเรื่องการออกแบบ การจัดวางปุ่มและฟีเจอร์บางตัวที่อาจไม่ถูกใจผู้ใช้หลายคนนัก แต่ในเรื่องประสิทธิทภาพก็ยอมรับว่า D750 ทำได้ดีมาก ทั้งในเรื่องการจับโฟกัสที่แม่นยำขึ้นสอดคล้องกับความเร็วถ่ายภาพต่อเนื่อง 6.5 ภาพต่อวินาทีที่เคยทดสอบ ไปถึงขนาดตัวกล้องเล็ก น้ำหนักเบา หน้าจอพับเปลี่ยนองศาได้และ WiFi Built-in ที่เหมาะสมกับผู้ใช้ถ่ายงานสตรีทหรือติดตัวไปท่องเที่ยวอย่างมาก
ในเมื่อ D810 คือกล้องที่เก็บรายละเอียดเพื่องานสถาปัตยกรรมและงานที่เน้นรายละเอียดเพื่อสิ่งพิมพ์ที่ดีที่สุด D4s คือกล้องฟูลเฟรมท็อปฟอร์มเพื่องานสไตล์ลุยๆ แบบมืออาชีพและ D610 คือฟูลเฟรมเพื่อมือสมัครเล่น D750 ก็คือกล้องที่เน้นการใช้งานกึ่งมืออาชีพ จะถ่ายเล่นก็ได้ถ่ายจริงจังก็ได้ทุกรูปแบบและเป็นกล้องคุณภาพสูงปรับปรุงสิ่งที่ขาดหายไปจาก D610 และมาพร้อมความคล่องตัวสูงสุดในกลุ่มฟูลเฟรมราคาในเพดานราคาตั้งแต่ 5 หมื่นบาทขึ้นไป แน่นอนว่า D750 อาจสามารถเปิดกลุ่มผู้ใช้ฟูลเฟรมกลุ่มใหม่ได้เพราะฟีเจอร์อำนวยความสะดวก ความคุ้มค่าของเลนส์คิท 24-120 f4 และคุณภาพไฟล์ภาพคือจุดขายสำคัญที่จะดึงลูกค้ากลุ่มดังกล่าวไว้ได้
ถึงแม้ราคาค่าตัวจะเริ่มต้นที่ 72,900-89,900 บาทพร้อมเลนส์คิทและสัมผัสแรกที่ได้เห็นจะทำให้หวนนึกถึงกลุ่มกล้องราคาไม่เกิน 4 หมื่นบาท แต่อยากให้ลองสัมผัสถึงประสิทธิภาพด้านในก่อนว่าเป็นอย่างไร เพราะอย่างที่บอก D750 คือกล้องที่เมื่อจับแล้วชอบคุณจะรักและยอมรับในข้อสังเกตทั้งหมดได้ในทันทีส่วนใครที่จับแล้วไม่ชอบก็จะเกลียดได้ในทันทีเช่นกัน ผมเองก็มีหน้าที่ทดสอบและใช้ความสามารถทั้งหมดรีดประสิทธิภาพของทั้งไฟล์ภาพและวิดีโอจาก D750 มาให้ผู้อ่านได้สัมผัสเท่านั้น ส่วนที่เหลือทั้งหมดคุณผู้อ่านต้องตัดสินใจเอง
ภาพทั้งหมดถ่ายโดย พศวัต ศิริจันทร์ ติดตามผลงานภาพถ่ายได้ที่ https://500px.com/potsawat
Company Related Link :
Nikon
CyberBiz Social