xs
xsm
sm
md
lg

Review : Nikon D810 ปรับใหม่ให้สมบูรณ์แบบ เน้นงานวิดีโอมากขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




เมื่อปีที่แล้ว DSLR ระดับมืออาชีพระดับกลางจากนิคอนในรุ่น D800 สร้างเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ใช้ทั่วโลกตั้งแต่สเปกเซ็นเซอร์กล้องที่รองรับความละเอียดภาพสูง 36.3 ล้านพิกเซลจนถูกจัดให้เป็นกล้องถ่ายภาพที่เด่นเรื่องการเก็บรายละเอียดภาพจนต้องมีรุ่นย่อย D800E ที่เน้นงานด้านภาพสถาปัตยกรรมออกมาเฉพาะ

แต่ทั้งนี้ด้วยตลาด DSLR ปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนไป ผู้ใช้ทั่วไปเริ่มหันมาสนใจกล้อง DSLR ฟูลเฟรมมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ใช้ยุคใหม่เริ่มเน้นการถ่ายวิดีโอและใช้ลูกเล่นสำเร็จรูปมากขึ้น ทำให้นิคอนต้องเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนากล้อง DSLR ฟูลเฟรมยุคใหม่ทั้งหมด และ D810 ก็ถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนครั้งที่สมบูรณ์แบบและอลังการมากที่สุดนับตั้งแต่ D800/D800E เคยสร้างปรากฏการณ์ความอลังการมาแล้วเมื่อปีก่อน

การออกแบบ




หน้าตา วัสดุที่ใช้ผลิต Nikon D810 ยังคงเป็นแบบเดียวกับ D800/D800E โครงสร้างบอดี้กล้องยังคงเป็นแมกนิเซียมอัลลอยด์พร้อมซีลยางกันฝุ่นกันน้ำทุกส่วน ตัวกล้องมีขนาด 146x123x81.5 มิลลิเมตรเท่ากับ D800/D800E แต่น้ำหนักมีการปรับลดลงจากรุ่นเดิม 1000 กรัมเหลือ 980 กรัม (น้ำหนักรวมแบตเตอรีและการ์ดหน่วยความจำ SD ไม่รวมเลนส์)

ด้านกริปจับถือกล้องมีการปรับรูปทรงด้านลึกให้จับกระชับมือมากขึ้นและยางถูกออกแบบให้เนื้อยางจับสบายกว่า D800/D800E

ส่วนเรื่องที่เปลี่ยนแปลงจาก D800/D800E จนเป็นข้อสังเกตถึงขนาดบางคนบอกชอบบางคนบอกไม่ชอบก็คือ ปุ่มชัตเตอร์ที่เบาและไวกว่าทุกรุ่นที่นิคอนเคยผลิตออกมา (แค่แตะสัมผัสเบาๆ ก็เท่ากับเรากดปุ่มลงไปครึ่งหนึ่งของปุ่มชัตเตอร์กล้องทั่วไป) แน่นอนว่าการออกแบบปุ่มชัตเตอร์ให้เบาและไวแบบนี้คาดว่านิคอนต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายภาพชัตเตอร์ช้าเมื่อต้องตั้งกล้องบนขาตั้งกล้องให้นิ่งขึ้น และจากการทดสอบก็ถือว่าทำได้ดีมาก เพราะปกติถ้ายึดกล้องบนขาตั้งกล้องเพื่อถ่ายภาพ Slow Shutter เวลากดชัตเตอร์ลงไป ด้วยน้ำหนักมือที่กดลงมากจะทำให้กล้องไหวจนต้องแก้ด้วยรีโมทชัตเตอร์ไร้สาย แต่สำหรับ D810 ด้วยชัตเตอร์ที่เบาและไวทำให้สามารถกดถ่ายได้โดยกล้องไม่ไหวแต่อย่างใด



ด้านปุ่มคำสั่งที่ซ่อนอยู่ด้านข้างของกล้องยังคงจัดวางตำแหน่งปุ่มกดไว้เหมือนรุ่นก่อนหน้า เริ่มจากบนสุดเป็นปุ่มกดเปิดไฟแฟลชหัวกล้อง ไล่ลงมาเป็น BKT สำหรับถ่ายคล่อมแสง ปุ่มปรับโหมดไฟแฟลช ปุ่มกดเพื่อถอดเลนส์กล้อง สวิตซ์ปรับออโต้โฟกัสและแมนวลโฟกัส โดยตรงกลางวงแหวนจะเป็นปุ่มกดสามารถกดเพื่อเปลี่ยนรูปแบบออโต้โฟกัสได้



มาถึงด้านหลัง D810 จะมาพร้อมหน้าจอ LCD ขนาด 3.2 นิ้วความละเอียด 1,228,800 จุด (VGA 640x480 พิกเซล) ครอบคลุมมุมมองภาพ 100% พร้อมปุ่มคำสั่งจัดวางแบบเดียวกับ D800/D800E ส่วนช่องมองภาพ (Viewfinder) มีการปรับไปใช้ OLED Panel สีขาวเพื่อความชัดเจนเมื่อใช้ในช่วงแดดจัด



ส่วนด้านบนตัวกล้อง ด้านซ้ายจะเป็นวงล้อปรับรูปแบบการถ่ายภาพและปุ่มปรับความละเอียดภาพ White Balance, ISO และระบบวัดแสง โดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการถ่ายจะเป็นวงล้อถูกล็อกไว้ ต้องกดปุ่มปลดล็อกค้างไว้แล้วหมุนปรับรูปบบการถ่ายตั้งแต่ S ถ่ายภาพเฟรมเดียวปกติ CL ถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วต่ำ 1-5 ภาพต่อวินาที CH ถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง 5 ภาพต่อวินาที Q ชัตเตอร์เงียบ QC ถ่ายภาพต่อเนื่องแบบชัตเตอร์เงียบ 3 ภาพต่อวินาที Self-timer (รูปนาฬิกา) ตั้งเวลาถ่ายและสุดท้าย MUP หรือยกกระจกสะท้อนภาพขึ้น

ถัดมาตรงกลางจะเป็น Hot Shoe ด้านขวามือสุดจะเป็นจอแสดงการตั้งค่ากล้องทั้งหมด เหนือจอภาพขึ้นไปจะเป็นปุ่มปรับโหมดถ่ายภาพมีให้เลือก 4 โหมดตามแบบกล้องมืออาชีพของนิคอน ได้แก่ Program (P) shutter-priority auto (S) aperture-priority auto (A) และ manual (M) ถัดไปจะเป็นปุ่มบันทึกวิดีโอ ปุ่มชดเชยแสงและชัตเตอร์ที่ถูกล้อมรอบด้วยสวิตซ์ปิด-เปิดกล้อง



ด้านพอร์ตเชื่อมต่อกลายเป็นจุดขายหลักของนิคอนยุคใหม่ที่เน้นถ่ายวิดีโอมากยิ่งขึ้นเพราะนอกจากจะให้ช่องเชื่อมต่อไมโครโฟนขนาด 3.5 มิลลิเมตรมาให้เหมือน DSLR ทุกแบรนด์แล้วทางนิคอนยังให้ช่องเชื่อมต่อหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตรสำหรับใช้มอนิเตอร์เสียงไว้ด้วยพร้อมปรับพอร์ต USB 2.0 เดิมให้เป็น USB 3.0 สำหรับการส่งข้อมูลได้เร็วขึ้น



ในส่วนช่องใส่การ์ดความจำรองรับทั้ง SD Card (SDHC SDXC มาตรฐานสูงสุด UHS-I) และ CF (CompactFlash) Type 1 พร้อมความสามารถในการใช้แบบ Dual Card slots โดยใช้การ์ดหนึ่งเก็บภาพและอีกการ์ดสำรองข้อมูลหรือการ์ดแรกใช้เก็บไฟล์ดิบ RAW การ์ดสองใช้เก็บไฟล์ JPEG เป็นต้น



ส่วนสุดท้ายด้านใต้ของตัวกล้องจะมีการติดตั้งยางที่ทำหน้าที่ทั้งกันลื่นเวลาเชื่อมต่อกับขาตั้งกล้องและเมื่อใส่กริปแบตเตอรีจะช่วยกันน้ำเข้าและทำให้กริปกับตัวกล้องเชื่อมต่อกันสนิทมากขึ้น พร้อมช่องใส่แบตเตอรีรหัส EN-EL15 1900mAh ที่สามารถใช้ร่วมกับแบตเตอรีกล้องตั้งแต่ D7000 - D800 รุ่นก่อนหน้าได้

สเปกและฟีเจอร์เด่น



สเปกหลักของ Nikon D810 ยังใช้เซ็นเซอร์ CMOS FX Format ขนาด 35.9 x 24 มิลลิเมตร พร้อมตัด Optical low pass filter (ไม่มี Anti-Aliasing Filter) ออกเพื่อให้ภาพที่ได้มีความคมชัดสูงแบบเดียวกับ D800E รองรับความละเอียดภาพสูงสุด 36.3 ล้านพิกเซล (7,360 x 4,912 พิกเซล) ค่าความไวแสงต่ำสุดสามารถตั้งได้ตั้งแต่ ISO 31-64 สูงสุด ISO 51,200 (ISO มาตรฐานของกล้องอยู่ที่ 64-12,800) ประกบด้วยหน่วยประมวลผลภาพ EXPEED 4 ไฟล์ดิบ RAW 14 บิตที่สามารถไล่โทนสีได้ละเอียดถึง 16,384 ระดับได้รับการปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้นโดยเฉพาะความกว้างของเม็ดสีและรายละเอียดภาพจะโดดเด่นมากเพราะเป็นจุดขายหลักของ D810 ทำให้ขนาดไฟล์ RAW จะใหญ่มากถึง 70-80MB ต่อหนึ่งไฟล์ (การ์ดความจำที่ใช้ถ้าเป็น SD Card ควรเป็นมาตรฐานใหม่ UHS-I) แต่สำหรับผู้ใช้ที่เคยบ่นถึงขนาดไฟล์ที่ใหญ่โตและบริโภคทรัพยากรเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างหนักหน่วง ใน D810 ทางนิคอนได้เพิ่มไฟล์ดิบ RAW-S ขนาด 9 ล้านพิกเซล (12-bit uncompressed) มาให้เลือกใช้ด้วย

ส่วนเรื่องระบบออโต้โฟกัสทางนิคอนก็ได้มีการเพิ่มโฟกัส group-area AF (5 จุดในกลุ่ม) จาก D4s เข้ามาเพื่อช่วยเรื่องการโฟกัสติดตามวัตถุจะทำได้รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น โดย group-area AF สามารถเคลื่อนย้ายจุดโฟกัสทั้ง 5 จุดเพื่อติดตามวัตถุบนเซ็นเซอร์ออโต้โฟกัส 51 จุด อีกทั้งด้วยหน่วยประมวลผล Expeed 4 ยังทำให้ระบบออโต้โฟกัสผ่าน Live View ทำได้รวดเร็วขึ้น สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องได้เร็วสุด 5 ภาพต่อวินาที

นอกจากนั้นทางนิคอนยังได้ปรับเพิ่มกลไกกระจกใหม่ โดยเพิ่มกลไกชัตเตอร์แบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเพื่อช่วยลดการสั่นไหวของภาพเมื่อต้องใช้ช่วงเลนส์ซูมสูงๆ เช่นถ่ายภาพดวงจันทร์ที่ระยะ 400 มิลลิเมตร ถึงแม้เราจะตั้งกล้องบนขาตั้งแล้วแต่โอกาสที่ภาพสั่นไหวจากแรงสั่นสะเทือนของทั้งกระจกที่กระดกขึ้นและม่านชัตเตอร์ที่ทำงานพร้อมกันก็ยังมีอยู่บ้างเล็กน้อย แต่สำหรับกลไกชัตเตอร์แบบอิเล็กทรอนิกส์จะไม่เกิดปัญหาเหล่านั้นและทำให้ภาพที่ได้มีความคมชัดสูงมาก



อีกส่วนที่นิคอนทำได้ดีมากและกลายเป็นอีกหนึ่งจุดขายหลักที่ทำให้ D810 น่าสนใจมากในตลาดฟูลเฟรมปัจจุบันก็คือ Picture Control ใหม่ในชื่อ Flat ที่จะช่วยลดสีสันและคอนทราสต์ที่สูงมากเกินไปเพื่อการปรับแต่งภาพในภายหลังที่ง่ายขึ้น พร้อมเพิ่มส่วนปรับแต่งภาพ Clarity หรือตัวเลือกปรับเพิ่มความคมชัดของภาพโดยไม่รบกวนส่วนที่เป็นรายละเอียดและสีสันของภาพ โดยสามารถปรับได้ละเอียดถึง 0.25 สเตปเข้ามา

อีกทั้งทางนิคอนยังได้เพิ่มระบบวัดแสงใหม่ล่าสุด Highlight-Weighted metering ขึ้นมาเพื่อใช้ร่วมกับการถ่ายภาพที่มีความต่างของแสงที่มาก เช่น ถ่ายภาพนักร้องในงานคอนเสิร์ตที่พื้นหลังมืดและแสงจากไฟบนเวทีมีความซับซ้อนสูง โดยปกติถ้าตั้งระบบวัดแสงเป็น Matrix เมื่อกดถ่ายภาพไม่ใบหน้านักร้องหรือเสื้อผ้ามักจะติดโทนมืดหรือไม่ก็สว่างจนเกินไปและส่วนใหญ่จะแก้ไขได้ด้วยการวัดแสงแบบ Spot ที่ต้องใช้ความแม่นยำและรวดเร็วในการควบคุมกล้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากจนอาจทำให้พลาดซ็อตสำคัญไป แต่สำหรับโหมดวัดแสงแบบ Highlight-Weighted metering ภาพจะถูกปรับสมดุลของแสงในภาพให้พอดีกันทุกส่วน



และด้วยอานิสงส์ของชิป Expeed 4 รุ่นใหม่ล่าสุดทำให้ D810 สามารถพัฒนาการถ่ายวิดีโอ (D-Movie) ได้สมบูรณ์มากขึ้นจนลบข้อด้อยที่เคยมีมาในรุ่นก่อนหน้าจนหมดตั้งแต่จำนวนเฟรมเรตต่อวินาทีที่เพิ่มเป็น 60 เฟรมต่อวินาทีที่ความละเอียด 1,920 x 1,080 พิกเซลในรูปแบบ H.264/MPEG-4 Advanced Video Coding รูรับแสงความเร็วชัตเตอร์ที่สามารถปรับได้อย่างอิสระในโหมดวิดีโอ ไมโครโฟนในตัวที่สามารถเลือกความไวได้ตั้งแต่ Wide range สำหรับบันทึกเสียงธรรมชาติทั่วไปแบบสเตอริโอ Vocal range สำหรับบันทึกเสียงสนทนา



นอกจากนั้น HDMI ใน D810 ยังปรับปรุงให้สามารถใช้ส่งข้อมูลเพื่อนำไปจัดเก็บในฮาร์ดดิสก์ภายนอกสำหรับรุ่นที่รองรับได้หรือจะเชื่อมต่อออกเป็นมอนิเตอร์ภาพเพื่องานวิดีโอขนาดใหญ่ก็ได้รวมถึงมี Zebra stripes สำหรับช่วยเช็คโฟกัสภาพอีกด้วย


Time-lapse ใน Nikon D810 พร้อมฟีเจอร์ใหม่ Exposure smoothing

และที่น่าสนใจมากที่สุดสำหรับโหมดวิดีโอก็คือ Exposure smoothing หรือพูดง่ายๆ ก็คือตั้ง ISO อัตโนมัติในโหมด Manual ได้โดยสามารถใช้ได้ทั้ง Time-lapse หลังกล้องและโหมดวิดีโอในชื่อ Power Aperture ที่จะช่วยให้การปรับค่ารูรับแสงระหว่างถ่ายวิดีโอทำได้นุ่มนวลมากเพราะกล้องคำนวณค่าแสงเอง ส่วนโหมด Time-lapse จะลดอาการแสงกระโดดช่วงเวลาเปลี่ยนจากกลางวันเป็นกลางคืนได้นุ่มนวลและเป็นธรรมชาติมากขึ้น



ส่วนคนที่บ่นเรื่องหน้าจอ Live View สีเพี้ยนอยากปรับแต่งเอง ใน Nikon D810 ก็ได้ติดตั้ง Monitor color balance มาให้ปรับแต่งได้ตามใจชอบ และนอกจากนั้นตัวกล้องยังสามารถตั้งระบบให้ทำความสะอาดเซ็นเซอร์รับภาพได้ทั้งปิดและเปิดกล้องอัตโนมัติเหมือนกับคู่แข่งแล้ว

สุดท้ายสำหรับฟีเจอร์เด่นอื่นๆ ที่น่าสนใจใน Nikon D810 ได้ปรับปรุงระบบซูมเพื่อพรีวิวภาพใหม่ในชื่อ Split screen zoom ที่ผู้ใช้สามารถซูมภาพเพื่อดูรายละเอียดทั้งสองส่วนได้พร้อมกันในเฟรมภาพเดียวเพื่อใช้เช็คระยะชัดและความคมของขอบภาพได้สะดวกขึ้น แบตเตอรีและระบบจัดสรรพลังงานในตัวปรับปรุงให้บริโภคพลังงานน้อยลงทำให้แบตเตอรีหนึ่งก้อนสามารถถ่ายภาพได้มากถึง 1,200 ภาพ ส่วนผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพต่อเนื่อง D810 ปรับให้สามารถกดถ่ายภาพต่อเนื่อง (ต้องไม่ใช่ RAW) ได้ไม่จำกัดจนกว่าการ์ดความจำจะเต็มหรือแบตเตอรีหมด และในส่วนของช่องมองภาพแบบออปติคอลยังรองรับ Face Detection หรือระบบตรวจจับใบหน้าบุคคลได้ด้วย

ทดสอบประสิทธิภาพ

ISO31 ISO64 ISO100 ISO200 ISO400 ISO800 ISO1600 ISO3200 ISO6400 ISO12800 ISO16000 ISO25600 ISO51200
กดที่ภาพเพื่อรับชมรูปขนาดใหญ่

ISOCUT-TEST

เริ่มทดสอบแรกกับสัญญาณรบกวนที่ค่าความไวแสง (ISO) ช่วงต่างๆ พบว่า Nikon D810 มีการปรับปรุงเรื่องการจัดการสัญญาณรบกวนหรือ Noise ลงไปพอสมควรโดยเฉพาะไฟล์ JPEG จากหน่วยประมวลผล Expeed 4 รุ่นใหม่ทำให้ที่ช่วง ISO 100-6,400 ไม่มีปัญหาเรื่องสัญญาณรบกวนเลย แต่เมื่อดัน ISO เข้าสู่หลักหมื่นเมื่อใด Noise จะเริ่มเกิดขึ้นมากตามแบบฉบับนิคอนที่ยังไม่สามารถจัดการจุดอ่อนตรงนี้ได้สนิทเสียที แต่โดยภาพรวมก็ถือว่า Noise ที่เกิดขึ้นถูกทดแทนด้วยไฟล์ RAW คุณภาพสูงที่ช่วยให้การนำไฟล์ไปตกแต่งภายหลังทำได้ยืดหยุ่นและง่ายดายมาก

D810-fieldtest-FULL1
D810-fieldtest-FULL2
RMN_0346-FULL3

ไฟล์ภาพ 36.3 ล้านพิกเซล #ไฟล์ที่ 1
ไฟล์ภาพ 36.3 ล้านพิกเซล #ไฟล์ที่ 2

มาถึงการทดสอบความละเอียดภาพระดับ 36.3 ล้านพิกเซลกับไฟล์ดิบขนาด 80MB ต่อไฟล์และเมื่อแปลงเป็น JPEG จะมีขนาดใหญ่ถึง 10MB ต่อไฟล์ (ใครที่อยากชมขนาดไฟล์จริงสามารถคลิกชมจากลิงก์ด้านบนได้) ด้านคุณภาพไฟล์นับว่านิคอนทำได้ดีมากจน D810 (ความจริงดีมาตั้งแต่ D800/D800E แล้ว) กลายเป็นกล้องที่เก็บรายละเอียดของทั้งโทนสี น้ำหนักของแสงได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุดแห่งยุคนี้และตอบจุดประสงค์การเป็นกล้องฟูลเฟรมระดับมืออาชีพเพื่องานภาพที่เน้นรายละเอียดได้ดีมากๆ จนผม เป๋า @dorapenguin เชื่อว่าถ้าผู้อ่านที่ทำงานสายอาชีพช่างภาพเห็นคุณภาพไฟล์จาก D810 แล้วจะสามารถตัดสินใจได้ทันทีว่าเราเหมาะสมกับกล้องรุ่นนี้หรือไม่เพราะนิคอนแบ่งไลน์กล้องมืออาชีพรุ่นใหม่ตั้งแต่ D610 ถึง D4s ได้ชัดเจนมากทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์และการตลาด

D810-fieldtest-1

และนอกจากตัวกล้องและประสิทธิภาพภายในที่มีความน่าสนใจแล้ว เรื่องของ Picture Control ใหม่ในชื่อ Flat และระบบวัดแสง Highlight-Weighted metering ที่นิคอนคุยและโชว์เป็นไฮไลท์ตั้งแต่งานเปิดตัว โดยผมได้ทดลองใช้งานจริงตลอด 3 วันที่ได้จับ D810 พบว่าทั้งโปรไฟล์ภาพใหม่และระบบวัดแสงใหม่ทำงานสอดประสานได้ยอดเยี่ยมจริงๆ ยกตัวอย่างภาพที่ผมถ่ายพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่วัดศรีชุม สุโขทัย ผมตั้งใจหลอกให้กล้องสับสนกับแสงอาทิตย์ที่ยิงตรงเข้ามายังกล้องเพื่อพยายามให้ระบบวัดแสงใหม่และโปรไฟล์ภาพใหม่ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ และแล้วผลลัพท์หลังยิงชัตเตอร์แค่ครั้งเดียวในแบบโหมดกึ่งอัตโนมัติแบบง่ายๆ (อารมณ์กดถ่ายกดถ่ายสไตล์นักท่องเที่ยว) พบว่า “กล้องให้ภาพที่ยอดเยี่ยมมาก” โดยเฉพาะโทนสีที่ให้อารมณ์ฟิล์มลุคสูงและการจัดค่าแสงที่ให้น้ำหนักดีมาก

D810-fieldtest-3
D810-fieldtest-2

และด้วยการที่ผมยังไม่เชื่อสายตากับ Picture Control : Flat และ Highlight-Weighted metering ผมเลยต้องลองกดอีกภาพในแบบภาพ Landscape สไตล์เรียบๆ ที่ผู้อ่านทุกท่านหาถ่ายได้ทั่วไปพบว่าทั้งสองส่วนยังทำงานสอดประสานได้ดี โดยเฉพาะระบบวัดแสง Highlight-Weighted โดนใจมาก เนื่องจากสมดุลของแสงและภาพทำได้ค่อนข้างดี รวมถึง Dynamic Range (จากหลังกล้องไม่ผ่านการตกแต่ง) ที่กว้างกว่าเดิมจนฉีกสไตล์นิคอนไปสู่ภาพสไตล์ใหม่ได่อย่างน่าสนใจมาก

RMN_0347cutscreen
D810-fieldtest-9
D810-fieldtest-7
D810-fieldtest-12

ส่วนผู้อ่านที่ยังถวิลหาโทนภาพสไตล์นิคอนอยู่ ใน D810 ก็ยังคงมีโปรไฟล์ภาพและระบบวัดแสงแบบเดิมไว้อยู่ทั้งหมด โดยไฟล์ภาพที่ได้ให้ความรู้สึกแบบเดียวกับ D800/D800E แต่สิ่งที่แตกต่างจะเป็นเรื่องความรวดเร็วจากชิปประมวลผลตัวใหม่โดยเฉพาะโฟกัสและโหมดวิดีโอทั้งหมดทำได้ดีกว่า D800 ค่อนข้างมาก

D810-fieldtest-4 D810-fieldtest-5 D810-fieldtest-6 D810-fieldtest-8 D810-fieldtest-10 D810-fieldtest-11
กดที่ภาพเพื่อรับชมรูปขนาดใหญ่

สรุป


ภาพยนตร์สั้นที่ถ่ายทำด้วย Nikon D810 จากทีม Nikon Motion

และทั้งหมดคือ Nikon D810 ฟูลเฟรมยุคใหม่ที่นิคอนปรับปรุงได้สมบูรณ์แบบสมราคาค่าตัว 109,000 บาทมาก จุดที่กล้องรุ่นเก่าเกิดปัญหา เช่น ความช้า โทนสีที่เน้นคอนทราสต์และคมชัดมากจนจะกลายเป็นกล้องเน้นถ่ายงานสถาปัตยกรรมเพียงอย่างเดียวและฟีเจอร์ที่สู้คู่แข่งไม่ได้หลายส่วน กลับมาในครั้งนี้ นิคอนปรับจนผลลัพท์ที่ได้ยอดเยี่ยมมากและถือเป็นงานมาสเตอร์พีซอีกหนึ่งชิ้นของนิคอนที่น่าภาคภูมิใจและน่ายินดีที่นิคอนจะกลับมาสู้ในตลาดฟูลเฟรมได้โดดเด่นกว่าคู่แข่งมากหลังจากเมื่อปีก่อนคู่แข่งนำหน้านิคอนไปหลายก้าว โดยเฉพาะโหมดวิดีโอที่ปรับปรุงไปมากจนลบข้อด้อยเก่าๆ ออกไปจนหมด

Picture Control Flat และระบบวัดแสง Highlight-Weighted คือจุดเด่นใหม่ที่นิคอนปรับให้เข้ากับ D810 มากด้วยการปรับตั้งและเข้าถึงได้ง่ายและไฟล์ภาพที่ให้ผลลัพท์ที่ดีเหมาะกับอาชีพถ่ายภาพที่เน้นรายละเอียดภาพมากๆ

ถ้าสู้ราคาบอดี้ไหว Nikon D810 ถือเป็นกล้องฟูลเฟรมระดับมืออาชีพที่มีคุณภาพไฟล์ยอดเยี่ยม มีเอกลักษณ์ใหม่ที่โดดเด่นเป็นที่ 1 ของตลาดในระดับเดียวกันในตอนนี้ ผู้ใช้ฟูลเฟรมมืออาชีพที่มองผ่านแบรนด์นิคอนมาตลอดควรจะได้ลองจับ D810 แล้วคุณอาจเปลี่ยนใจหลงรักได้ไม่ยาก

Company Related Link :
Nikon

Instagram

CyberBiz Social







อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับกล้อง DSLR นิคอนก็คือ Retouch Menu หลังกล้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น