Lenovo Yoga (เลอโนโว โยคะ) เคยสร้างชื่อเสียงให้กับเลอโนโวมาอย่างต่อเนื่องด้วยรูปแบบการใช้งานแบบ Multimode หรือชื่อเรียกอย่างเป็นทางการคือ “Convertible Laptop” สามารถพลิกหน้าจอ ปรับรูปแบบการใช้งานจากสไตล์แล็ปท็อปไปสู่แท็บเล็ตได้ง่ายด้วยหน้าจอที่พลิกได้ 360 องศา
มาวันนี้ Lenovo Yoga เดินทางมาถึงรุ่นที่ 3 และขอแตกไลน์ไปสู่กลุ่มโน้ตบุ๊ก(อัลตร้าบุ๊ก)ธุรกิจ ThinkPad กับ “Lenovo ThinkPad Yoga”
การออกแบบ
การออกแบบ Lenovo ThinkPad Yoga ยังคงเป็นตามเอกลักษณ์ของตระกูลนี้ คือเน้นตัวเครื่องสีดำ เคร่งขรึม พร้อมด้วยแนวทางใหม่ที่เลอโนโวต้องการให้ ThinkPad Yoga ถูกใจนักธุรกิจที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศหรือต่างจังหวัดบ่อยครั้ง จึงออกแบบตัวเครื่องมีน้ำหนักที่น้อยลงเหลือเพียง 1.8 กิโลกรัม และบางเพียง 19 มิลลิเมตร พร้อมวัสดุผิวนอกทั้งหมดเป็นอะลูมิเนียมและแม็กนีเซียมอัลลอยด์ ทนทานต่อแรงกระแทกเพื่อให้ ThinkPad Yoga สามารถใส่ในกระเป๋าเอกสารและพกพาได้สะดวกสบายขึ้น
และด้วยการเป็นอัลตร้าบุ๊กไฮบริดรวมกับตระกูล Yoga ด้วย ทำให้ ThinkPad รุ่นนี้สามารถพับหน้าจอเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้แบบ 360 องศา (Multimode) ตั้งแต่ใช้แบบสไตล์แล็ปท็อปตั้งโต๊ะ พิมพ์งาน วางบนตักปกติ พับเปลี่ยนเป็น Stand Mode หรือ Tent Mode สำหรับตั้งเพื่อรับชมวิดีโอหรือเล่นเกม และสุดท้าย Tablet Mode สำหรับใช้งานในรูปแบบแท็บเล็ต
ในส่วนหน้าจอแสดงผลเป็น IPS แบบมัลติทัช 10 จุด กระจก Gorilla Glass ขนาด 12.5 นิ้ว ความละเอียด FullHD (1,920x1,080 พิกเซล) 400 nits มาพร้อมปากกา Digitizer ที่ติดมาในตัวเครื่อง และปุ่ม Windows ใต้จอภาพสำหรับใช้งานเมื่อพับหน้าจอเป็นแบบแท็บเล็ต
นอกจากนั้นระหว่างที่เราพับหน้าจอเพื่อใช้งานในรูปแบบต่างๆ ส่วนของคีย์แป้นพิมพ์จะยุบตัวลงด้วยระบบ Lift and lock ป้องกันการสัมผัสโดนแป้นพิมพ์แบบไม่ตั้งใจเวลาใช้งานเครื่องในแบบแท็บเล็ตหรือ Stand Mode
ในส่วนคีย์บอร์ด จะมีไฟส่องสว่างด้านล่างสำหรับใช้งานตอนกลางคืน บริเวณแถวบนจะมาพร้อมปุ่มฟังก์ชันคีย์ตั้งแต่ F1-F12 พร้อมจุดแดง Trackpoint และทัชแพดขนาดใหญ่ รองรับ Gestures สำหรับใช้งานร่วมกับ Windows 8
มาถึงพอร์ตเชื่อมต่อและปุ่มกดรอบตัวเครื่อง จากขวาของเครื่องเริ่มจากจุดแดงเป็นช่องเก็บปากกา Digitizer ถัดไปเป็นปุ่มเปิดปิดเครื่อง ปุ่มเพิ่มลดระดับเสียง ปุ่มล็อคการหมุนของหน้าจอ ช่องอ่านการ์ด (4-in-1 card reader) พอร์ต USB 3.0 พอร์ต MiniHDMI และสุดท้ายช่องใส่สายล็อคป้องกันขโมย
ด้านซ้ายของตัวเครื่องจะเป็นช่องเชื่อมต่ออะแดปเตอร์ไฟบ้าน พอร์ต USB 3.0 แบบพิเศษ สามารถปล่อยกระแสไฟชาร์จสมาร์ทโฟนได้แม้ปิดเครื่องไปแล้ว และสุดท้ายช่องหูฟัง/เฮดเซ็ท/ไมโครโฟน ขนาด 3.5 มิลลิเมตร
ส่วนใครที่สงสัยว่าช่องลำโพงกระจายเสียงติดตั้งอยู่ส่วนไหน ลองรับชมภาพนี้จะเห็นว่าลำโพงทั้งสองตัวจะถูกติดตั้งอยู่บริเวณสันเครื่องเหนือแป้นคีย์บอร์ด เพื่อให้ลำโพงสามารถส่งเสียงได้มีประสิทธิภาพสูงสุดทั้งเมื่อใช้งานในแบบแล็ปท็อปและแท็บเล็ต
สเปก
สำหรับ Lenovo ThinkPad Yoga รุ่นที่ทีมงานได้รับมาทดสอบจะเป็นซีพียูสถาปัตยกรรม Haswell Ultra Low Voltage รุ่น Intel Core i5-4200U ความเร็ว 2.6GHz (จากรุ่นย่อยให้เลือกซื้อทั้งหมด 7 รุ่นตั้งแต่ Core i3-i7) จำนวนคอร์ประมวลผล 2 Cores 4 Threads แรม DDR3L ให้มา 4GB กราฟิก Intel HD Graphics 4400 พร้อมวินโดวส์ 8.1 Pro 64 บิต
ด้านหน่วยเก็บข้อมูลจะใช้ฮาร์ดดิสก์จานหมุนความจุ 1TB รอบหมุน 5,400 รอบต่อนาทีพร้อม mSATA 16GB สำหรับเก็บแคชไฟล์ทำให้วินโดวส์บู๊ตระบบได้เร็วขึ้น
ในส่วนสเปกเครื่องอื่นๆ ด้านซอฟต์แวร์เสียงเลอโนโวเลือกใช้ Dolby Home Theater v4 การ์ด Wireless LAN เลือกใช้ Intel Dual Band Wireless-11AC 7260 พร้อมบลูทูธ ส่วนพอร์ตแลน RJ45 ไม่ได้ติดตั้งมาให้แต่ผู้ใช้สามารถหาซื้อ Dongle มาเชื่อมต่อภายหลังได้
นอกจากนั้นตัวเครื่องยังรองรับการอัปเกรดเพิ่ม NFC และรองรับ OneLink Dock ได้ด้วย
ฟีเจอร์เด่น
ด้วยการที่ Lenovo ThinkPad Yoga ถูกจัดกลุ่มเป็น Business Ultrabook ราคาเกิน 3 หมื่นบาท นอกจากเรื่องวัสดุงานประกอบที่ดีและแถมวินโดวส์ 8.1 Pro ฉบับลิขสิทธิ์มาให้แล้ว ทางเลอโนโวยังจัดเต็มซอฟต์แวร์ช่วยเหลือภายในมาให้อย่างครบครันและน่าสนใจอย่างมาก
เริ่มจากซอฟต์แวร์ตัวแรก ThinkVantage Active Protection System หรืออีกชื่อคือ “Lenovo Airbag” ที่ทำงานควบคู่กับฮาร์ดแวร์ในการใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับแรงสั่นสะเทือนของตัวเครื่อง โดยเมื่อตัวเครื่องมีการสั่นสะเทือนไม่ว่าจะเกิดจากการกระแทกกับโต๊ะ ตกลงพื้น เมื่อระบบตรวจจับได้จะส่งผลการตรวจจับไปที่ซอฟต์แวร์ให้หยุดการทำงานของฮาร์ดดิสก์ด้วยการยกหัวอ่านขึ้นเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากแรงสั่นสะเทือน
อีกทั้งภายในซอฟต์แวร์ยังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถปรับแต่งความไวของเซ็นเซอร์ตรวจจับและระยะเวลาในการระงับการทำงานของฮาร์ดดิสก์ได้
มาดูอีกหนึ่งซอฟต์แวร์ที่น่าสนใจคือ “mobile hotspot” สำหรับใช้กระจายอินเตอร์เน็ตไปยังอุปกรณ์ต่างๆ บนความพิเศษคือชิป WiFi ใน ThinkPad Yoga สามารถรับสัญญาณอินเตอร์เน็ตไร้สายและส่ง hotspot แบบไร้สายพร้อมกันได้ ต่างจากระบบเก่าที่ต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่านสายแลนเท่านั้นถึงจะกระจายแบบไร้สายได้
นอกจากนั้นความสามารถของชิป WiFi ใหม่ยังครอบคลุมการทำงาน WiFi-Direct ให้อัจฉริยะและใช้งานได้ง่ายขึ้นผ่านแอปฯ ”QuickCast” ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถแชร์ไฟล์เอกสาร เพลงหรือรูปภาพไปยังอุปกรณ์ที่ติดตั้ง QuickCast ได้ง่ายๆ เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ตหรือโน้ตบุ๊กของเพื่อนที่ติดตั้ง QuickCast ไว้
ส่วนด้านซอฟต์แวร์ที่เลอโนโวแถมมาให้ใช้งานฟรีๆ ใน Lenovo ThinkPad Yoga ก็มีให้เลือกใช้งานค่อนข้างมาก แต่ทีมงานจะขอเลือกเฉพาะซอฟต์แวร์ไฮไลท์มานำเสนอ
เริ่มจากตัวแรก “Hightail” หรือคลาวด์สตอเรจสำหรับใช้เก็บข้อมูลส่วนตัว โดยลูกค้าเลอโนโวจะได้พื้นที่ใช้งานฟรี 5GB
”Lenovo Solution Center & Software Update” หรือส่วนกลางในการช่วยเหลือและช่วยตรวจสอบความผิดพลาดของระบบ โดยจะมีวิธีแก้ไขเบื้องต้นคอยแนะนำผู้ใช้รวมถึงมีระบบตรวจสอบอัปเดตเฟริมแวร์เครื่อง (BIOS) และซอฟต์แวร์ระบบแบบอัตโนมัติผ่านส่วนของ Software Update
นอกจากนั้น ThinkPad Yoga รุ่นนี้ยังมีอีกหนึ่งแอปฯ ที่ทำหน้าที่คล้าย Solution Center ก็คือ ”Lenovo Companion” ที่นอกจากจะเช็คสุขภาพอัลตร้าบุ๊กเครื่องนี้ได้แล้ว ยังสามารถเช็คระยะประกันและขอคำแนะนำการใช้งานกับเว็บบอร์ดที่เลอโนโวจัดทำไว้ให้รวมถึงการอัปเดตข่าวสารที่น่าสนใจกับเลอโนโวด้วย
ทดสอบประสิทธิภาพ
มาถึงส่วนของการทดสอบประสิทธิภาพโดยภาพรวมผ่านซอฟต์แวร์ PCMark 8 ตัวใหม่ล่าสุดกับชุดทดสอบ Home Conventional เน้นทดสอบแบบการใช้งานทั่วไป เช่น เว็บบราวเซอร์ ตัดภาพ พิมพ์งานและเล่นเกมฆ่าเวลากราฟิกไม่หนัก สามารถทำคะแนนทดสอบอยู่ที่ 2,267 คะแนน อยู่ในเกณฑ์กลางๆ โดยเมื่อประกอบกับการใช้งานในชีวิตประจำวัันจริงๆ ตลอดเวลา 1 อาทิตย์ สิ่งที่น่าชื่นชมก็คือการใช้งานด้านเอกสาร เล่นเว็บ โซเชียล ตัดภาพย่อภาพแล้วอัปโหลดขึ้นเว็บไซต์ผ่าน Lenovo ThinkPad Yoga นั้นทำได้คล่องตัวมาก โดยเฉพาะการพกพาและใช้งานในรูปแบบแท็บเล็ตถือเป็นไม้ตายที่เลอโนโวทำได้ดีมากกว่าหลายแบรนด์
ด้านความเร็วในการเข้าถึงข้อมูลของฮาร์ดดิสก์ อัลตร้าบุ๊กรุ่นนี้เลือกใช้ฮาร์ดดิสก์จานหมุนจาก Western Digital ขนาด 1TB มีความเร็วเฉลี่ยในการเข้าถึงข้อมูลอยู่ที่ 92.7MB/s ถือเป็นความเร็วที่ดี ใช้ทำงานออฟฟิซ ตัดต่อภาพรวมถึงตัดต่อวิดีโออัปโหลดขึ้นเว็บทำได้รวดเร็วดี
ส่วนปากกา Digitizer ในคราวนี้เลอโนโวออกแบบมาได้ดี ไม่หนักเหมือนรุ่นก่อน (คาดว่าไม่มีแบตเตอรีภายใน) จากการทดสอบใช้งานพบว่าเขียนได้ลื่นไหลระดับกลางๆ ยังมีอัตราการดีเลย์เล็กน้อยแต่ก็ถือว่าดีกว่ารุ่นก่อนหน้า
สุดท้ายกับการทดสอบแบตเตอรี ด้วยขนาดตัวเครื่องที่เล็กและน้ำหนักเบา แบตเตอรีภายในจึงมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก แต่ด้วยอานิสงส์ของชิป Haswell และระบบจัดสรรพลังงานที่ดีขึ้นของอินเทลยุคใหม่ทำให้แบตเตอรีของอัลตร้าบุ๊กรุ่นนี้อยู่ได้นานระดับ 8-9 ชั่วโมงตามการใช้งาน
ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป?
ข้อดี
- งานประกอบดี แข็งแรง
- การใช้งานตามแนวทาง Yoga (Multimode) ใช้ได้จริงและช่วยสร้างความสะดวกสบาย
- ปากกาใช้งานได้ดีขึ้น
- เอกลักษณ์ด้านการออกแบบของ ThinkPad ยังคงมีให้เห็นอยู่
- ThinkVantage Active Protection System ทำงานได้แม่นยำดี
ข้อสังเกต
- หน้าจอ Anti-glare แบบด้านทำให้ภาพไม่คมชัดเท่าที่ควร
- ยังมีข้อผิดพลาดให้พบเห็นอยู่บ้าง เช่น เวลา Sleep เครื่องแล้วปลุกให้ตื่นเครื่องขึ้นจอฟ้า
- ในขณะที่ ThinkVantage Active Protection System เป็นข้อดีในเรื่องการป้องกันฮาร์ดดิสก์ไม่ให้ได้รับความเสียหายจากการตกกระแทกระหว่างใช้งาน ซึ่งทำได้ดีมาก แต่บางครั้งระบบดังกล่าวก็สร้างความรำคาญให้ผู้ใช้เพราะทำให้ฮาร์ดดิสก์ไม่ยอมทำงานแม้จะไม่มีแรงกระแทกใดๆ เกิดขึ้น
ด้วยราคา 42,900 บาทกับอัลตร้าบุ๊ก Yoga ที่แข็งแรงทนทานตามแนวทาง ThinkPad ที่โดดเด่นตั้งแต่สมัย IBM ถือว่าถ้าคุณเป็นนักธุรกิจที่ต้องเดินทางบ่อยและกำลังมองหาแท็บเล็ต Windows 8 ไว้ใช้งานควบคู่กับการทำงานออฟฟิซทั่วไปด้วย Lenovo ThinkPad Yoga ก็เป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะคุณจ่ายเงินรวดเดียวได้ทั้งโน้ตบุ๊กสไตล์แล็ปท็อปวางตักและพับจอแปลงร่างเป็นแท็บเล็ตได้ตามต้องการในตัวเดียว
อีกทั้งด้วยฟีเจอร์ภายในที่ตอบรับกับการใช้งานสมบุกสมบันที่ถึงแม้จะมีข้อผิดพลาดให้เห็นบ้าง แต่ถ้าคุณไม่ไปจ้องจับผิดตลอดเวลาฟีเจอร์เหล่านั้นถือว่าตอบสนองได้ดี และถือเป็นอีกหนึ่งอัลตร้าบุ๊กที่คล่องตัว บางเบาแต่แข็งแรงสมราคาระดับ 4 หมื่นกว่าบาทแน่นอน
Company Related Link :
Lenovo