เมื่อปีที่แล้วโซนี่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการกล้องถ่ายภาพครั้งยิ่งใหญ่ด้วยการให้กำเนิดกลุ่มผลิตภัณฑ์กล้องดิจิตอลใหม่ Lens-style (QX10 และ QX100) หรือภาษาไทยก็คือกล้องสไตล์เลนส์ ไร้หน้าจอเพราะการควบคุมและพรีวิวภาพควบคุมจากสมาร์ทโฟนทั้งหมด
ผู้อ่านที่ยังไม่เห็นภาพการใช้งานของ Sony Lens-style แนะนำให้ชมคลิปวิดีโอนี้ก่อนอ่านบทความรีวิวทั้งหมด
มาในปีนี้กล้องสไตล์เลนส์ถูกพัฒนาปรับปรุงครั้งใหม่ด้วยการดึงเซ็นเซอร์รับภาพจากกลุ่มผลิตภัณฑ์มิร์เรอร์เลสตระกูล NEX ที่เป็น APS-C มาติดตั้งลงใน Lens-style ILCE-QX1 เป็นครั้งแรกพร้อมความสามารถในการเปลี่ยนเลนส์และใช้เลนส์ร่วมกับกล้องมิร์เรอร์เลส NEX ได้
การออกแบบและสเปก
การออกแบบ QX1 เหมือนกับกล้องสไตล์เลนส์รุ่นก่อนหน้าทั้งหมด โดยชุดทดสอบที่ทีมงานได้รับมาจะมาพร้อมเลนส์ E-mount Power Zoom 16-50 f3.5-5.6
วัสดุงานประกอบส่วนใหญ่ทำจากพลาสติกเนื้อดี มาพร้อมปุ่มชัตเตอร์และไฟแฟลช ขนาดตัวกล้องอยู่ที่ 74x69.5x52.5 มิลลิเมตร น้ำหนักรวมแบตเตอรีและการ์ดความจำอยู่ที่ 216 กรัม
และด้วยการที่ QX1 ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Interchangeable lens digital camera ตระกูล Alpha ทำให้ตัวกล้องสามารถเปลี่ยนเลนส์ได้ โดยกลุ่มเลนส์ที่รองรับคือ E-mount รองรับเลนส์มือหมุนเพราะออโต้โฟกัสสามารถปรับเป็น Manual ได้
ในส่วนสเปกเซ็นเซอร์รับภาพใช้ขนาดเดียวกับ DSLR ทั่วไปคือ APS-C 23.2 x 15.4 มิลลิเมตร Exmor (เอ็กซ์มอร์) CMOS Sensor ชิปประมวลผลภาพตัวเดียวกับ NEX รุ่นใหม่คือ BIONZ X (ไบออนซ์ เอ็กซ์) ความละเอียดภาพสูงสุดอยู่ที่ 20.1 ล้านพิกเซล
ส่วนการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนสามารถทำผ่าน NFC หรือเชื่อมต่อผ่าน WiFi สำหรับอุปกรณ์ที่ไม่มี NFC ได้ โดยในสมาร์ทโฟนต้องติดตั้งแอปพลิเคชัน PlayMemories Mobile ซึ่งหาดาวน์โหลดได้จาก AppStore และ PlayStore ก่อน
จากนั้นผู้ใช้สามารถยึดเลนส์ติดกับด้านหลังของสมาร์ทโฟนผ่านฐานใส่เลนส์พร้อมขาหนีบที่รองรับขนาดหน้าจอใหญ่สุด 6 นิ้ว
ส่วนใครที่ใช้แท็บเล็ตที่มีหน้าจอใหญ่กว่า 7 นิ้ว ทางโซนี่ก็ได้ออกอุปกรณ์เสริมเป็นฐานยึดเลนส์ที่มาพร้อมขาหนีบที่ปรับความยาวได้มากกว่า รองรับแท็บเล็บที่มีขนาดหน้าจอใหญ่ถึง 10 นิ้วได้สบายๆ
ส่วนคนที่ใช้สมาร์ทโฟนตระกูล Xperia Z ทางโซนี่ก็มีเคสออกแบบพิเศษที่สามารถนำกล้องสไตล์เลนส์มาสวมใส่ได้เลยเพราะตัวเคสมีส่วนล็อคเลนส์ติดตั้งมาด้วย
โดยหลังจากเชื่อมต่อส่วนกล้องกับสมาร์ทโฟนแล้วจะเป็นตามภาพประกอบด้านบน ซึ่งการจับถือก็เหมือนเราจับถือกล้อง DSLR ทั่วไป และเมื่อเราเชื่อมต่อตัวกล้องกับสมาร์ทโฟน (ที่ติดตั้งแอปฯ PlayMemories Mobile ไว้แล้ว) เมื่อเราเข้าใช้งานแอปฯ ดังกล่าว สมาร์ทโฟนของเราก็จะทำหน้าที่แทน Live View หลังกล้องถ่ายภาพ ซึ่งผู้ใช้สามารถกดชัตเตอร์จากหน้าจอ เลือกจุดโฟกัสและปรับแต่งค่าต่างๆ ได้
มาถึงส่วนประกอบรอบตัวเครื่องและปุ่มกดสั่งงานที่สำคัญ เริ่มจากด้านขวาของตัวกล้องจะมีจอแสดงสถานะการทำงาน QX1 ได้แก่ ขีดบอกแบตเตอรี การเชื่อมต่อ WiFi และถ้าการ์ดความจำมีปัญหาระบบจะแจ้งผ่านหน้าจอนี้ด้วย
ส่วนด้านหลังของตัวกล้องจะเป็นช่องใส่แบตเตอรี NP-FW50 พร้อมช่องใส่การ์ด MicroSD (รองรับ Memory Stick Micro และ Memory Stick Micro (Mark2) ด้วย) และบริเวณฝาปิดจะมีกระดาษบอกชื่อ SSID และ Password ใช้เมื่อเชื่อมต่อ QX1 ผ่าน WiFi
อีกด้านของตัวกล้องจะเป็นปุ่มชัตเตอร์ (สามารถกดถ่ายได้แม้ไม่ได้เชื่อมต่อสมาร์ทโฟน) ส่วนด้านล่างจะเป็นช่อง MicroUSB สำหรับใช้ชาร์จไฟและโอนถ่ายข้อมูลจากคอมพิวเตอร์
สุดท้ายบริเวณด้านล่างจะมีช่องสำหรับต่อกับขาตั้งกล้องมาให้พร้อมช่องใส่สายคล้องข้อมือ และที่สำคัญคือ QX1 มาพร้อมไฟแฟลชตัวเดียวกับที่อยู่ใน NEX โดยผู้ใช้สามารถกดปุ่มเปิดใช้ไฟแฟลชได้จากบริเวณด้านบนของกล้อง
มาถึงสเปกอื่นๆ ของ Sony QX1 ด้านไฟล์ภาพจะรองรับทั้ง JPEG และ JPEG+RAW (ไม่มีให้เลือก RAW อย่างเดียว) สามารถเลือกความละเอียดภาพได้ตั้งแต่สูงสุด 20 ล้านพิกเซล (5,456x3,632 พิกเซล) ถึงต่ำสุด 4.2 ล้่านพิกเซล ความไวแสง (ISO) สามารถเลือกใช้ได้ตั้งแต่ ISO100-16,000 ในโหมดถ่ายภาพนิ่ง ส่วนวิดีโอจะรองรับรูปแบบการบันทึกแบบ MP4 แบบอัตโนมัติ (ไม่รองรับการบันทึกวิดีโอแบบ Manual) ความละเอียดวิดีโอแบบ FullHD 1080p 30 เฟรมต่อวินาที 16Mbps พร้อมไมโครโฟนรับเสียงแบบสเตอริโอ
นอกจากนั้นตัวชิปประมวลผลภาพที่ติดตั้งอยู่ใน QX1 ยังรองรับ Lens compensation เพื่อปรับแต่งภาพจากความผิดเพี้ยนของเลนส์ได้ถึง 3 ค่าหลักได้แก่ Chromatic Aberration, Distortion และ Peripheral Shading แบบเดียวกับระบบที่อยู่ในมิร์เรอร์เลส Alpha NEX
ส่วนระบบออโต้โฟกัสเป็นแบบ 25 จุด Contrast-detection AF รองรับโฟกัสจับวัตถุ โฟกัสตรวจจับใบหน้าและโฟกัสแบบสัมผัสหน้าจอ มาพร้อมฟีเจอร์ Clear Image Zoom 2 เท่า ความเร็วชัตเตอร์มีให้เลือกใช้ตั้งแต่ต่ำสุด 30 วินาที ถึง 1/4,000 วินาทีการทำงานของชัตเตอร์เป็นแบบ Electronic Front Curtaion สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องที่ความเร็วสูงสุด 3.5 ภาพต่อวินาที
ด้านระบบการเชื่อมต่อข้อมูลรองรับ NFC Type 3 Tag และ WiFi มาตรฐาน 802.11 b/g/n 2.4/5GHz
ฟีเจอร์และการใช้งาน
อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นแล้วว่า Sony QX1 เป็นกล้องสไตล์เลนส์ที่ต้องใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตควบคุมการทำงานผ่านแอปฯ PlayMemories Mobile โดยหน้าตาของส่วนควบคุมกล้องจะเหมือนกับ Live View หลังกล้องโซนี่ผสมแอปฯกล้องถ่ายภาพในสมาร์ทโฟนโซนี่ โดยผู้ใช้สามารถจิ้มหน้าจอเพื่อโฟกัสภาพและกดชัตเตอร์จากหน้าจอได้
ส่วนโหมดถ่ายภาพ ถึงแม้สเปกกล้องจะเทียบเท่ากับกล้องมิร์เรอร์เลสและ DSLR ระดับเริ่มต้น แต่ด้วยจุดประสงค์ของกล้องประเภทนี้ที่เน้นการใช้งานที่เข้าถึงง่าย เน้นความคล่องตัวเป็นหลักทำให้โหมดถ่ายภาพจะเน้นเฉพาะ Intelligent Auto และ Superior Auto เป็นหลักเพราะสองโหมดดังกล่าวมีการปรับปรุงในส่วนของซอฟต์แวร์จากเวอร์ชันเก่าให้ทำงานได้ฉลาดขึ้น โดยเฉพาะการเลือกค่ารูรับแสงและการกำหนด Scene Mode ทำได้ดีมาก
ส่วนผู้ใช้ที่ยังชื่นชอบการปรับแต่งแบบ Manual ทางโซนี่ก็ได้ให้โหมดเพิ่มเติมมาอีก 3 โหมด (ไม่มีโหมด M Manual) ได้แก่ P (Program Auto) สามารถปรับทั้งรูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์และ ISO ได้ A (Aperture Priority) ปรับเฉพาะรูรับแสงส่วน ISO กับความเร็วชัตเตอร์กล้องปรับให้เอง และ S (Shutter Priority) ปรับเฉพาะความเร็วชัตเตอร์ส่วน ISO กับรูรับแสงกล้องปรับให้เอง
สำหรับโหมดถ่ายวิดีโอจะไม่สามารถปรับแต่งค่ากล้องใดๆ ได้เลย เพราะทุกอย่างจะเป็นแบบอัตโนมัติ ผู้ใช้มีหน้าที่เพียงเล็ง ซูมภาพและกดปุ่มบันทึกเท่านั้น
มาถึงเรื่องระบบการบันทึกภาพที่ต้องทำความเข้าใจเล็กน้อย เพราะการถ่ายภาพด้วย QX1 ระบบจะบันทึกภาพที่ถ่ายแยกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกจะถูกบันทึกเก็บไว้ที่สมาร์ทโฟนที่ขนาดไฟล์ประมาณ 1080p และถูกจัดเก็บไว้ในพื้นที่ของสมาร์ทโฟนเพื่อเอาไว้พรีวิวภาพและแชร์ไปยังโซเชียลมีเดีย
ส่วนที่ 2 จะทำการบันทึกไว้บนการ์ดความจำที่ใส่ไว้ในตัวกล้อง โดยจะเป็นขนาดไฟล์ใหญ่สุดที่เราเลือกในส่วนตั้งค่าไว้ รวมถึง RAW ไฟล์จะถูกเก็บไว้ในส่วนนี้ด้วย
ทีนี้มีคำถามเกิดขึ้นว่า ถ้าผู้ใช้กล้องไม่ใส่การ์ดความจำ กล้องจะทำงานหรือไม่? คำตอบจากการทดลองคือทำงานได้ปกติแต่ภาพที่ถ่ายจาก QX1 จะถูกบันทึกแค่ไฟล์ 1080p ไว้ที่สมาร์ทโฟนเท่านั้น ส่วนโหมดวิดีโอจะไม่ทำงาน เนื่องจากไฟล์วิดีโอมีขนาดใหญ่ต้องบันทึกลงการ์ดความจำเท่านั้น
ขนาดไฟล์ภาพทั้ง RAW และ JPEG โดยประมาณ
และสำหรับผู้ใช้ที่อยากได้ไฟล์แบบเต็มความละเอียดจากการ์ดความจำในกล้องไปไว้บนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตจะทำอย่างไรในเมื่อตัวกล้องเลือกบันทึกไฟล์แค่ 1080p ลงในสมาร์ทโฟนเท่านั้น คำตอบคือ “สามารถทำได้โดยการกดเรียกเมนูขึ้นมาและกด See in-Camera Image จะเป็นการเข้าสู่หน้าพรีวิวภาพจากการ์ดความจำในกล้อง และผู้ใช้สามารถคัดลอกภาพจากการ์ดไปสู่สมาร์ทโฟนพร้อมเลือกขนาดภาพได้ในส่วนนี้”
นอกจากนั้นสำหรับคนชอบติด Tag สถานที่แอปฯ PlayMemories Mobile ก็ลองรับการบันทึกพิกัดลงในภาพถ่าย แต่ต้องเปิดใช้งานจากหน้า Settings > Location information > ON เสียก่อน รวมถึงผู้ใช้กล้องที่ชอบเล่นเลนส์มือหมุนหรือใช้สำหรับงานถ่ายวิดีโอ QX1 รองรับการโฟกัสแบบ Manual Focus ด้วยเช่นกัน
ทดสอบประสิทธิภาพ
ISO 3,200 f10 ความเร็วชัตเตอร์ 1/5, Superior Auto วิเคราะห์แล้วเปิดใช้โหมด Handheld Twilight
เริ่มทดสอบประสิทธิภาพกับค่าความไวแสงในแต่ละช่วง ISO ด้วยการที่สเปกกล้องหลายส่วนเหมือนกับ Alpha NEX รุ่นใหม่ที่ใช้ชิปประมวลผล BIONZ X เพราะฉะนั้นผลลัพท์ในเรื่องสัญญาณรบกวนในที่แสงน้อยถือว่าทำได้ค่อนข้างดี ไม่แตกต่างจากกล้องมิร์เรอร์เลสของโซนี่มากนัก โดยช่วง ISO ที่ให้ผลลัพท์ดีสุด ภาพคมชัดสุดจะอยู่ในช่วง ISO 100-6,400 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่ค่อนข้างกว้างและใช้งานกับสภาพแสงในชีวิตประจำวันตั้งแต่เช้าถึงกลางคืนได้ค่อนข้างดี
ส่วนเรื่องการควบคุมกล้องตั้งแต่เชื่อมต่อและเริ่มใช้งาน จากเดิมผมเคยทดลองตอน QX10 ออกเมื่อปีก่อนกับเฟริมแวร์แรกๆ ทั้งส่วนซอฟต์แวร์ควบคุม PlayMemories Mobile และตัวกล้องที่ยังใหม่อยู่ ยอมรับว่าช่วงนั้นปัญหาของกล้องสไตล์เลนส์จากโซนี่มีมากมายตั้งแต่ความล้าช้า NFC ต่อติดบ้างไม่ติดบ้างไปถึงโหมดกล้องที่ถ่ายได้แต่อัตโนมัติแถม Live View ที่แสดงผ่านสมาร์ทโฟนก็กระตุกจนเล็งภาพได้ยากมาก
มาในรุ่นใหม่นี้โซนี่ปรับปรุงหลายส่วนได้ดีมาก โดยเฉพาะการควบคุมและอัตราดีเลย์ที่ต่ำลงมาก โหมดถ่ายภาพมีให้ปรับแต่งมากขึ้น โดยเฉพาะโหมด P ที่สามารถปรับ ISO ความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสงได้ จะถ่ายชัตเตอร์ช้าเร็วแค่ไหนก็ปรับได้ ส่วนโหมดเด่นอย่าง Superior Auto โหมดนี้ขอชื่นชมจากใจจริงเลยว่า ฉลาดมาก โดยเฉพาะการถ่ายย้อนแสงหรือใช้ในสภาพแสงที่สับสน รูรับแสงปรับได้สัมพันธ์กับความเร็วชัตเตอร์และความต้องการมาก
ถ่ายด้วยโหมด Superior Auto กดถ่ายอย่างเดียว
ความแจ่มของโหมดนี้เป็นแบบเดียวกับตอนทดสอบ Alpha NEX อย่างใดอย่างนั้น ถ้าคุณประทับใจภาพที่ได้จาก NEX คุณก็จะประทับใจภาพที่ได้จาก QX1 เช่นกัน
อย่างภาพตัวอย่างที่ 2 ผมถือถ่ายด้วยมือเดียวและไม่ได้เล็งภาพจากหน้าจอสมาร์ทโฟน ซึ่งภาพที่ได้ถูกปรับจากระบบภายในจนออกมาดีและได้ดั่งใจมาก
(คลิกภาพที่ต้องการเพื่อชมภาพขนาดใหญ่)
(คลิกภาพที่ต้องการเพื่อชมภาพขนาดใหญ่)
หลักๆ ของการทดสอบถ่ายภาพจาก Sony QX1 กล้องสไตล์เลนส์รุ่นนี้ถือว่าให้อารมณ์ โทนภาพแบบเดียวกับ Sony Alpha NEX ที่อาจให้อารมณ์ดิบกว่าตัวมิร์เรอร์เลสนิดนึง โดยภาพทั้งหมดถ่ายด้วยโหมด Superior Auto ทั้งหมดเนื่องจากทดสอบแล้วถือว่าโหมดดังกล่าวทำงานได้ฉลาดทุกสภาวะแสงและช่วยให้การถ่ายภาพในลักษณะนี้ทำได้เร็ว เพราะแค่หยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมา แตะ NFC (ทดสอบโดย Nexus 5) เท่านั้น แอปฯ PlayMemories ในสมาร์ทโฟนจะเด้งขึ้นมาให้อัตโนมัติ จากนั้นทีมงานก็มีหน้าที่กดชัตเตอร์อย่างเดียว ระบบทุกอย่างทำงานได้ลื่นไหลดี
ส่วนการทดสอบบันทึกวิดีโอ อย่างที่บอกไปแล้วว่าในรุ่นนี้ดีเลย์น้อยลงแล้ว ทำให้การเล็งถ่ายวิดีโอทำได้ดีขึ้น แต่ด้วยการที่ตัวกล้องไม่สามารถปรับค่าได้เมื่ออยู่ในโหมดวิดีโอทำให้การใช้บันทึกวิดีโอแบบจริงจังไม่สามารถทำได้ วิดีโอใน QX1 มีไว้แค่บันทึกเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันแบบเดียวกับคอนเซปโหมดกล้องวิดีโอบนสมาร์ทโฟน
และถึงแม้ตัว QX1 จะปรับปรุงคุณภาพการเชื่อมต่อมาค่อนข้างดีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีบางสถานการณ์ โดยเฉพาะคนที่พกดีไวซ์มากกว่า 1 ชิ้นแล้วเคยเชื่อมต่อกับ QX1 ไว้ทั้งหมด บางครั้งเมื่อเปิดใช้งานกล้อง QX1 อาจเกิดอาการเชื่อมต่อ WiFi ไม่ได้ NFC แปะไม่ติด เพราะระบบ Wireless LAN เกิดเชื่อมต่อชนกัน ทำให้ผู้ใช้ต้องปิดกล้องทิ้งไว้สักครู่และต้องไปไล่กด Forget WiFi ของดีไวซ์ที่อยู่ใกล้ๆ กล้อง QX1 ทิ้งก่อน ระบบถึงจะกลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม
ส่วนอีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ถึงแม้ภายใน Sony QX1 จะมีแบตเตอรีที่ถ่ายได้มากถึง 300-400 รูปอยู่ แต่การเชื่อมต่อ WiFi กับสมาร์ทโฟนซึ่งมีการรับส่งข้อมูลขนาดใหญ่ตลอดเวลา ก็ทำให้แบตเตอรีสมาร์ทโฟนหมดลงอย่างรวดเร็วได้เช่นกัน
ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป?
ข้อดี
- เซ็นเซอร์รับภาพขนาดใหญ่ มิติภาพดี
- เปลี่ยนเลนส์ได้ รองรับเลนส์มือหมุน
- ปรับปรุงระบบภายในมาดีกว่ารุ่นก่อนหน้า อาการดีเลย์เวลาสั่งงานน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
- มี NFC
- น้ำหนักเบา สร้างมุมมองการถ่ายภาพใหม่ๆ ได้ดีกว่ากล้องดิจิตอลรูปแบบเดิม
ข้อสังเกต
- ปัญหา NFC และ WiFi ยังมีให้เห็นบ้างโดยเฉพาะคนมีสมาร์ทดีไวซ์หลายตัว
- ชุดคิทเลนส์ Power Zoom กระบอกเลนส์เวลาซูมภาพระหว่างบันทึกวิดีโอจะได้ยินเสียงกลไกลภายในเคลื่อนตัวชัดเจน
- ยังมีปัญหาการเชื่อมต่อ WiFi ไม่เสถียรเมื่อทำงานบนระบบปฏิบัติการ Android 5.0 Lollipop (ทดสอบโดย Nexus 5)
จากแนวคิดต้องการขยายความสามารถของกล้องบนสมาร์ทโฟนให้เทียบเท่า DSLR หรือมิร์เรอร์เลส โซนี่ทำได้สำเร็จแล้วกับ QX-Series รุ่นก่อนหน้าและ QX1 ก็เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในการทำให้กล้องสไตล์เลนส์ทำงานได้สมบูรณ์มากขึ้น QX1 สามารถสร้างมุมมองการถ่ายภาพที่แปลกใหม่ในขณะที่คุณภาพไฟล์ไม่ต่างจาก DSLR แถมยังเปลี่ยนเลนส์หรือเล่นเลนส์มือหมุนก็ได้ โดยถ้ามองโดยภาพรวม QX1 มีทิศทางที่ดีขึ้นมากในยุคที่สมาร์ทดีไวซ์ครองเมือง แต่ทั้งนี้ข้อจำกัดที่ทำให้กล้องประเภทนี้ไม่โตในตอนนี้ก็คือ ลักษณะการใช้งานที่ถึงแม้โซนี่จะเลือกวิธีการเชื่อมต่อที่ง่ายสุดด้วย NFC และปรับให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นมากแล้วก็ตาม แต่เมื่อใช้งานจริง ช่องว่างที่เกิดขึ้นก็คือการเชื่อมต่อที่ต้องใช้ WiFi ระหว่างกล้องกับสมาร์ทโฟนตลอดเวลาแทบเป็นไปได้ยากมาก ทั้งเรื่องแบตเตอรีสมาร์ทโฟนที่หมดเร็วมาก ปัญหาเรื่องความร้อนและปัญหาที่มาจากสมาร์ทโฟนบางรุ่นที่แตกต่างกันยากจะแก้ไขได้หมดในปัจจุบัน
อีกทั้งตัวแอปพลิเคชัน PlayMemmories เองที่มักจะดีด WiFi ให้หลุดจากกล้อง QX1 ทุกครั้งที่ออกจากแอปฯหรือพักหน้าจอไว้ ทำให้ต้องเชื่อมต่อใหม่ทุกครั้งที่ใช้งานซึ่งถือว่าไม่สะดวกและทำให้การถ่ายภาพทำได้ช้าลงมาก
เพราะฉะนั้นถ้าจะให้สรุปความน่าใช้กับราคาค่าตัว 16,990 บาทสำหรับ QX1+ Kit Lens 16-50 ก็คงต้องเรียนตามตรงว่าด้านคุณภาพไฟล์อันนี้ไม่ขอวิจารณ์เพราะทำได้ดีมากแล้ว แต่เรื่องการใช้งานเป็นสิ่งที่คุณผู้อ่านต้องพิจารณาให้มาก ถ้าคุณตั้งใจซื้อมาใช้กับสมาร์ทโฟนที่ใช้ในชีวิตประจำวันเครื่องเดียวและคิดว่าเงิน 16,990 บาทจะให้ทุกสิ่งเหมือนกล้องดิจิตอลมิร์เรอร์เลส ขอให้คิดใหม่ครับ เพราะปัญหาที่กล่าวไปจะทำให้คุณเสียอารมณ์ระหว่างใช้งานแน่นอน
แต่ทั้งนี้ถ้าคุณมีสมาร์ทโฟนที่ไม่ใช้แล้วอยู่หนึ่งเครื่องการนำ QX1 มาเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนเครื่องนั้นไว้ใช้งานเฉพาะถ่ายภาพโดยตรงถือเป็นเรื่องที่ดีและจบปัญหาน่ารำคาญใจคุ้มเงินหมื่นขึ้นมาแน่นอน
ลองพิจารณาข้อดีข้อเสียให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อเพราะกลุ่มผลิตภัณฑ์ Lens-style QX-Series ยังถือเป็นกลุ่มกล้องแนวทางใหม่ที่ยังอยู่ในจุดเริ่มต้นและเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้ใช้ต้องปรับตัวและเรียนรู้การใช้งานมากกว่ากลุ่มกล้องทั่วไปถึงจะใช้งานได้คล่องตัว
Company Related Link :
Sony