***ทุกการทดสอบในบทความนี้ใช้ได้เฉพาะ Camera FV-5 ที่ติดตั้งบน Android 5.0 Lollipop เท่านั้น ผู้อ่านท่านใดใช้แอนดรอยด์เวอร์ชันต่ำกว่าจะใช้ฟีเจอร์ได้ไม่ครบ***
เป็นที่ทราบดีว่าใน Android (แอนดรอยด์) 5.0 Lollipop ทางกูเกิลได้คลอดเอนจินกล้องพร้อม API (Application Programming Interface) ใหม่ในชื่อ “android.hardware.camera2” ที่มาพร้อมจุดเด่นในเรื่องความสามารถในการบันทึกภาพนิ่งในรูปแบบไฟล์ดิบ (RAW File) นามสกุล .DNG และสามารถควบคุมความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสง ความไวแสง (ISO) และการยิงไฟแฟลชในรูปแบบต่างๆ รวมถึงรองรับโค้ดวิดีโอ HEVC ความละเอียด 4K ได้สมบูรณ์แบบมากขึ้นพร้อมความคาดหวังจากผู้ใช้สมาร์ทโฟนตระกูล Nexus (เพราะได้รับอัปเดตเป็น Android 5.0 ก่อนแบรนด์อื่น) ว่าจะได้ใช้เอนจินกล้องใหม่ผ่าน Google Camera และช่วยยกระดับการถ่ายภาพจากสมาร์ทโฟน Nexus ให้ดียิ่งขึ้น
แต่แล้วทุกสิ่งก็ไม่เป็นดังหวัง Google Camera ที่ได้รับการอัปเดตล่าสุดยังไม่สามารถใช้ความสามารถใหม่ๆ เหล่านั้นได้ ทำให้ผู้พัฒนานามว่า FGAE Studios ไม่รอช้าคว้า API มาปรับปรุงเชื่อมให้แอปฯ “Camera FV-5” ของตนที่อยู่ใน PlayStore เดิมรองรับ Android 5.0 Lollipop ในรุ่น 2.32 และดึงความสามารถของเอนจิ้นกล้องใหม่มาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ Nexus 5 และ Nexus 6 จะสามารถใช้ฟีเจอร์กล้องใหม่ได้ครบถ้วนที่สุดตามตาราง ยกเว้นการปรับรูรับแสงที่ต้องใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟนหรือกล้องแอนดรอยด์บางรุ่น
สำหรับการดาวน์โหลดแอปฯ “Camera FV-5” สามารถค้นหาได้ใน PlayStore หมวดหมู่ Photography หรือค้นหาชื่อ Camera FV-5 โดยจะมีให้เลือกดาวน์โหลด 2 รุ่นได้แก่รุ่น Lite ฟรีเวอร์ชันที่จำกัดฟีเจอร์ใช้งาน ส่วนเวอร์ชันเต็มขายอยู่ที่ราคา 133.39 บาท
การใช้งานและฟีเจอร์เด่น
เริ่มต้นจากหน้าแรกจะจำลอง Live View ของกล้อง DSLR โดยด้านบนสุดจากซ้ายมือรูปฟันเฟืองสำหรับเข้าส่วนตั้งค่า ด้านบนทั้งหมดจะเป็นตัวหนังสือบอกค่ารูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ ความไวแสง (ISO) จำนวนรูปที่ถ่ายได้ ขีดแบตเตอรี สัญลักษณ์บอกขนาดภาพที่เลือกอยู่และปุ่มลัดไปแอปฯถ่ายวิดีโอ Cinema FV-5
ด้านขวามือจะเป็นปุ่มชัตเตอร์ ส่วนด้านล่างจะเป็นปุ่มคำสั่งปรับตั้งระบบถ่ายภาพ ได้แก่ สมดุลแสงขาว (White Balance) สามารถปรับเป็นแมนวลและล็อค White Balance ได้ ถัดไป AF เป็นส่วนปรับระบบโฟกัสอัตโนมัติ มีให้เลือกปรับแมนวลโฟกัส นอกจากนั้นระบบของแอปฯยังรองรับโฟกัสตรวจจับใบหน้าอัตโนมัติ มาโครโหมด Touch Focus และสามารถล็อคโฟกัสได้
ถัดไปเป็นระบบวัดแสงรองรับการวัดแสงแบบ Matrix, Center weighted และ Spot นอกจากนั้นยังสามารถล็อคค่าแสงได้ด้วย
ในส่วน ISO (ค่าความไวแสง) รองรับทั้งแบบอัตโนมัติและเลือกเองตามสเปกฮาร์ดแวร์ที่รองรับ เช่น Nexus 5 จะรองรับ ISO Manual ที่ 100-3,200 แต่ทั้งนี้สำหรับสมาร์ทโฟนบางรุ่นที่ยังใช้แอนดรอยด์ 4.4 Kitkat อยู่อาจไม่สามารถปรับ ISO เองได้ และส่วนสุดท้ายสัญลักษณ์ +/- เป็นแถบชดเชยแสงสามารถเลื่อนปรับได้ตั้งแต่ -2 ถึง +2
ส่วนการปรับโหมดถ่ายภาพ สำหรับแอนดรอยด์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Lollipop รุ่นล่าสุดจะสามารถเลือกใช้โหมดถ่ายภาพได้ 2 โหมดคือ P (Program) กึ่งอัตโนมัติและ S (Shutter Speed priority) ที่เปิดให้โอกาสให้ผู้ใช้สามารถปรับความเร็วชัตเตอร์ได้ตามฮาร์ดแวร์รองรับ เช่น Nexus 5 จะปรับความเร็วชัตเตอร์เร็วสุดที่ 1/8,000 วินาที ช้าสุด 0.8 วินาที แต่บางรุ่นสามารถปรับความเร็วชัตเตอร์ได้ช้าสุดถึง 4-30 วินาที
นอกจากนั้นแอปฯ Camera FV-5 ยังบรรจุความสามารถเพิ่มเติมให้ทัดเทียมกับกล้อง DSLR มืออาชีพ ได้แก่
BRK หรือ Exposure bracketing ถ่ายคร่อม โดยผู้ใช้สามารถตั้งจำนวนภาพได้ตั้งแต่ 3-7 ภาพและกำหนดช่วงค่าแสงที่ต้องการถ่ายแต่ละรูปได้ตามต้องการ
Intervalometer สำหรับถ่าย Timelapse โดยผู้ใช้สามารถเลือกระยะเวลาถ่ายระหว่างช็อตรวมถึงจำนวนภาพทั้งหมดที่ต้องการถ่ายได้ตามต้องการ โดยไฟล์ที่ถ่ายมาจะเป็นไฟล์ภาพ JPEG หรือ RAW ถ้าต้องการชมภาพเคลื่อนไหวต้องรวมผ่านโปรแกรมตัดต่อวิดีโอเอง
ตั้งเวลาถ่าย มีให้เลือกตั้งแต่ 2 วินาที 5 วินาทีและ 10 วินาที
ถ่ายภาพต่อเนื่อง สำหรับถ่ายภาพกีฬาที่มีการเคลื่อนไหวรวดเร็ว
Touch Shooting หรือสัมผัสหน้าจอเมื่อระบบล็อคโฟกัสแล้วชัตเตอร์จะเริ่มถ่ายภาพทันที
อีกหนึ่งความพิเศษเฉพาะผู้ใช้แอนดรอยด์ 5.0 Lollipop ก็คือสามารถเปิดใช้การบันทึกรูปแบบไฟล์ดิบ .DNG ได้ในรูปแบบ RAW+JPEG ที่ขนาดไฟล์ 16.2MB (DNG) และ 2.6MB (JPEG) ที่ความละเอียด 8 ล้านพิกเซล
ทดสอบประสิทธิภาพ
เรื่องแรกที่ทีมงานขอทดสอบประสิทธิภาพก่อนคือ ความยืดหยุ่นของไฟล์ RAW(DNG) ยอมรับว่าคุณภาพไฟล์ดิบที่ได้มีความยืดหยุ่นในการปรับแต่งพอใช้คล้ายกับไฟล์ดิบที่ได้จาก Nokia Lumia ที่เคยทดสอบไป โดยทีมงานทดลองนำไฟล์ดิบมาตกแต่งภาพผ่านซอฟต์แวร์ Lightroom พบว่า ด้านการดึงส่วน Shadow, Midtone ทำได้ดี จะติดปัญหาเดียวก็คือกล้องหลัง Nexus 5 ให้คุณภาพที่ไม่ดี แค่ความไวแสง ISO400 ก็พบสัญญาณรบกวนเม็ดสีแตกละเอียดแล้ว
มาถึงการทดสอบถ่ายภาพผ่านโหมด Shutter Speed priority พร้อมปรับ ISO ด้วยตัวเองทั้งหมดผลลัพท์ที่ได้เป็นตามภาพต่อไปนี้
ISO 100 ความเร็วชัตเตอร์ 1/100 วินาที
ISO 100 ความเร็วชัตเตอร์ 1/400 วินาที
ISO 800 ความเร็วชัตเตอร์ 1/25 วินาที
ISO 200 ความเร็วชัตเตอร์ 1/60 วินาที
ISO 200 ความเร็วชัตเตอร์ 0.5 วินาที
ISO 400 ความเร็วชัตเตอร์ 1/20 วินาที
ISO 100 ความเร็วชัตเตอร์ 1/60 วินาที
ISO 200 ความเร็วชัตเตอร์ 1/25 วินาที
ISO 100 ความเร็วชัตเตอร์ 1/11 วินาที
จากภาพทดสอบทั้งหมดจะเห็นว่าทีมงานสามารล็อคการใช้ ISO ให้ไม่เกิน 800 และใช้การปรับความเร็วชัตเตอร์ให้สัมพันธ์แทน แน่นอนว่าหลักการนี้ทำให้การถ่ายภาพในที่แสงน้อยทำได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น แต่ก็ต้องแลกด้วยความชำนาญในการปรับแต่งค่ากล้องและการจัดวางกล้องอย่างถูกวิธีด้วยถึงจะให้ผลลัพท์ภาพที่ดี
เพราะอย่างที่ทราบกันว่าลักษณะการถ่ายภาพแบบนี้ไม่ใช่การถ่ายภาพแบบอัตโนมัติแต่เป็นการถ่ายแบบกึ่งอัตโนมัติกึ่งปรับแต่งเอง และ Camera FV-5 ก็เป็นตัวกลางที่ทำให้ผู้ใช้สื่อสารกับระบบกล้องของแอนดรอยด์โฟนได้สมบูรณ์มากขึ้นเทียบชั้นคู่แข่งอย่าง Nokia ที่โดดเด่นเรื่องระบบกล้องที่สามารถควบคุมฮาร์ดแวร์ได้เองมาโดยตลอด ผู้ใช้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพระดับมืออาชีพและต้องการเอาชนะข้อจำกัดของกล้องถ่ายภาพบนสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์น่าจะชื่นชอบ
ส่วนคำถามที่หลายคนสงสัยถึงความแตกต่างระหว่างแอปฯช่วยเหลือการถ่ายภาพในเวลากลางคืนหรือแอปฯ จำพวก Slow Shutter ที่มีให้ดาวน์โหลดอยู่ก่อนหน้านี้จะมีความแตกต่างกับ Camera FV-5 อย่างไร คำตอบคือ Camera FV-5 คือการปรับความเร็วชัตเตอร์แบบฮาร์ดแวร์ด้วยเอนจิน API กล้องใหม่จากแอนดรอยด์ Lollipop สื่อสารไปยังกล้องของสมาร์ทโฟนที่รองรับไม่ใช่ซอฟต์แวร์เป็นตัวจัดการ เพราะฉะนั้นการปรับค่าทุกส่วนจะเหมือนการปรับค่าจากกล้องดิจิตอลจริง ขนาดภาพที่ได้ก็จะเต็มความละเอียดที่สมาร์ทโฟนรองรับ ในขณะที่การถ่ายภาพผ่านซอฟต์แวร์อื่นจะได้ความละเอียดสูงสุดที่ 1080p หรือประมาณ 2 ล้านพิกเซลเท่านั้น
แต่ทั้งนี้ตัวแอปฯก็ยังมีปัญหาอยู่บ้างโดยเฉพาะการปรับความเร็วชัตเตอร์และหลายฟีเจอร์ที่ต้องเรียกใช้ API กับระบบปฏิบัติการ Android 5.0 Lollipop อาจจะเกิดอาการแอปฯปิดตัวเองลงบ้าง ส่วนนี้น่าจะเป็นปัญหามาจากตัวระบบแอนดรอยด์ส่วนหนึ่งและจากแอปฯส่วนหนึ่ง ซึ่งทางผู้พัฒนาก็ทำการอัปเดตอยู่ตลอด