xs
xsm
sm
md
lg

Android 5.0 VS. iOS 8 ปรับเพื่ออนาคตที่ดีกว่า?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถือเป็นสองระบบปฏิบัติการบนสมาร์ทโฟนที่ปัจจุบันมีผู้ใช้มากที่สุดในโลกและเป็น สองระบบปฏิบัติการที่ออกอัปเดตเพิ่มความสามารถทุกปีด้วยแนวความคิดที่คล้ายกันคือ “ต้องการสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ สมาร์ทโฟนของผู้ใช้ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา”

แต่ในปีนี้กลับมีสิ่งที่แตกต่างไปจากทุกครั้ง เพราะทั้งแอนดรอยด์ 5.0 Lollipop และ ไอโอเอส 8 ต่างมีการปรับเปลี่ยนหัวใจหลักอย่างเต็มรูปแบบครั้งแรกด้วยการฉีกกรอบเดิมๆ ทิ้งและคิดใหม่ทำใหม่ด้วยมุมมองใหม่ทั้งหมด

โดยการเปลี่ยนแปลงแรกที่เห็นชัดเจนมากที่สุดจะมาจากฝั่งไอโอเอสกับการยอมละทิ้ง อุดมการณ์เดิมในเรื่องของระบบปิด (Close Platform) เป็นครั้งแรก จากเดิมผู้พัฒนาต้องยอมรับเงื่อนไขและการตรวจสอบทุกส่วนจากแอปเปิล แต่ในไอโอเอส 8 แอปเปิลปรับนโยบายยอมให้โค้ดระบบบางส่วนถูกเผยแพร่ให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์นำไป ใช้พัฒนาแอปพลิเคชันของตนได้ เช่น คีย์บอร์ดที่สามารถปรับเลือกใช้คีย์บอร์ดเจ้าอื่นที่ผู้ใช้ชื่นชอบได้ผ่านการดาวน์โหลดจาก AppStore หรือแม้แต่ระบบแชร์แอปพลิเคชันของแอปเปิลให้ผู้พัฒนาอื่นสามารถเข้าถึงและเรียกใช้แอปพลิเคชันจากผู้พัฒนาแทนแอปพลิเคชันของตนก็ถือเป็นอีกหนึ่งเสียง ที่ช่วยยืนยันว่าแอปเปิลพยายามทำให้ไอโอเอส 8 เปิดกว้างมากกว่าเดิม

ในขณะที่ระบบเปิด (Open Platform) อย่างแอนดรอยด์กับ Lollipop ต่างไม่ได้สนใจในจุดที่แอปเปิลกำลังปรับเปลี่ยนเพราะกูเกิลมองว่าตนทำมาก่อน หน้านั้นและประสบความสำเร็จทั้งในเรื่องความเป็นอิสระในการปรับแต่งและใช้งาน แต่กูเกิลกลับเน้นหนักในเรื่องการผลักดันให้แอนดรอยด์สามารถเข้าสู่ยุค 64 บิต ได้อย่างสมบูรณ์เป็นครั้งแรก รวมถึงภารกิจสำคัญที่กูเกิลคิดต่างไปจากทุกครั้งก็คือ “ต้องจบปัญหาความอืดอาดเชื่องช้าและระบบแอนดรอยด์ที่บริโภคทรัพยากรเครื่องมากเกินความจำเป็นเสียที”

หลังจากปัญหาดังกล่าวกลายเป็นช่องว่างที่ถูกคู่แข่งโจมตีอยู่ตลอดเวลา

ทำให้การปรับเปลี่ยนของกูเกิลกับแอนดรอยด์ 5.0 Lollipop จึงตกไปอยู่กับการจัดสรรระบบภายในให้ดีขึ้น จากความพยายามทดสอบรันไทม์ตัวใหม่ในแอนดรอยด์ 4.4 KitKat ในชื่อ ART (Android Runtime) เพื่อให้มาใช้งานแทนรันไทม์เดิม Dalvik ที่เชื่องช้าและบริโภคหน่วยความจำมากในรุ่นก่อน กูเกิลใช้เวลาถึง 1 ปีในการเก็บผลการทดสอบจากแอนดรอยด์ 4.4 KitKat และปรับปรุงจนในที่สุด ART ก็เข้ามาอยู่กับแอนดรอยด์ 5.0 Lollipop อย่างเต็มรูปแบบ

ด้วยชุดรันไทม์ ART ที่กูเกิลตั้งใจเปิดประสบการณ์ใหม่ให้ผู้ใช้แอนดรอยด์ กูเกิลก็ได้ปรับหน้าตาแอนดรอยด์ 5.0 Lollipop จาก Holo UI เป็น Material Design ที่เน้นการออกแบบที่เรียบง่ายแบบกระดาษตัดแปะซ้อนทับกันประกบด้วยเอฟเฟกต์ ในส่วนอินเทอร์เฟสที่ลื่นไหลและมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลาโดยที่ตัวระบบจะไม่บริโภคทรัพยากรเครื่องเกินความจำเป็นอีกต่อไป และกูเกิลเชื่อว่าผู้ใช้แอนดรอยด์จะได้รับประสบการณ์การใช้งานและความรู้สึก ที่ลื่นไหลแบบเดียวกับไอโอเอสด้วยฮาร์ดแวร์ที่เหนือกว่าด้านสเปก

อีกประเด็นที่น่าสนใจและเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าทั้งแอนดรอยด์และไอโอเอสมีการปรับตัวที่แตกต่างจากครั้งก่อนๆ ก็คือการยอมรับเทรนด์ของอุปกรณ์ตรวจวัดการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อสุขภาพเป็นครั้งแรก ซึ่งทั้งแอนดรอยด์และไอโอเอสต่างออกแอปพลิเคชันเพื่อสุขภาพมาเป็นมาตรฐานใหม่ของระบบปฏิบัติการ โดยในฝั่งไอโอเอสจะใช้ชื่อ Apple Health ส่วนฝั่งกูเกิลใช้ชื่อ Google Fit พร้อมปล่อยโค้ดให้นักพัฒนานำไปปรับใช้กับซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์วัดสุขภาพของตนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อสร้างมาตรฐานการเชื่อมต่อกับระบบปฏิบัติการได้ ดียิ่งขึ้น

นอกจากนั้น ทั้งแอปเปิลและกูเกิลก็ยอมต่อยอดระบบปฏิบัติการของตนจากการปรับชุดคำสั่งทั้งหมดให้สามารถรันบนดีไวซ์ที่มีขนาดหน้าจอที่หลากหลายได้ ทำให้ระบบปฏิบัติการทั้งสองสามารถทำงานบนสมาร์ทวอทซ์หรืออุปกรณ์อื่นๆ ได้อย่างลื่นไหลและไร้รอยต่อมากขึ้น

ทั้งหมดคือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับทั้งไอโอเอส 8 และแอนดรอยด์ 5.0 Lollipop แม้ทิศทางการปรับปรุงและพัฒนาจะต่างกัน แต่ด้านแนวคิดและผลลัพท์ที่ได้ถือเป็นครั้งแรกที่ทั้งสองระบบปฏิบัติการไม่มีความแตกต่างกันเลย ทั้งแอปเปิลและกูเกิลเริ่มปรับระบบปฏิบัติการโดยเน้นให้โอเอสสามารถเข้ามา เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรามากขึ้น

ส่วนด้านเทคนิคฝั่งแอปเปิลต้องการให้ฐานระบบปิดของตนมีความเป็นอิสระมากขึ้น มีการสนับสนุนนักพัฒนาให้เข้ามาร่วมกับโครงการพัฒนาแอปพลิเคชันบนสมาร์ทวอทซ์ รวมถึงฟีเจอร์ปลีกย่อยในไอโอเอส 8 พร้อมขยายความเป็นอิสระให้ผู้ใช้สามารถเข้าไปจัดการได้ตามต้องการ เช่น กล้องถ่ายภาพในไอโอเอส 8 สามารถแชร์ความสามารถของแอปพลิเคชันตกแต่งรูปอื่นเข้ามาได้ตามความต้องการของผู้ใช้หลายคน ในขณะที่แอนดรอยด์ 5.0 Lollipop ก็พยายามอุดช่องว่างที่เกิดขึ้นจากแอนดรอยด์รุ่นก่อนหน้าให้หมดลง และถือเป็นครั้งแรกที่แอนดรอยด์จะสามารถทำงานแบบ 64 บิตตามแอปเปิลได้อย่างสมบูรณ์

แน่นอนการปรับตัวครั้งนี้ของทั้งสองระบบปฏิบัติการถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อ สิ่งที่ดีกว่าในอนาคต อย่างน้อยสิ่งที่จะได้เห็นในปีหน้าอย่างแน่นอนก็คือ

“สมาร์ทโฟน 64 บิตจะเริ่มทำตลาดอย่างเต็มตัว สมาร์ทวอทซ์และอุปกรณ์เก็บสถิติสุขภาพจะกลายเป็นคู่หูสมาร์ทโฟนของปีหน้าแน่นอน”

เนื่องจากทั้งสองระบบปฏิบัติการพร้อมน้อมรับเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเต็มที่ และอีกประเด็นที่น่าจับตามองต่อจากนี้ก็คือในอนาคตไอโอเอส 8 มีสิทธิ์จะเปิดโค้ดอีกหลายส่วนให้นักพัฒนาเข้ามาร่วมวงกับแอปเปิลได้ง่าย ขึ้นพร้อมความอิสระแก่ผู้ใช้จะมากขึ้นตาม ซึ่งนั่นหมายถึงความสามารถหลายส่วนของไอโอเอสจะคล้ายกับแอนดรอยด์หรือเหนือกว่า

ส่วนแอนดรอยด์เองก็จะลื่นไหลขึ้นด้วยซีพียู 64 บิตที่เข้ามาและกูเกิลจะสามารถจบปัญหาแอนดรอยด์ที่บริโภคทรัพยากรเกินความจำเป็นได้หมดสิ้นจนสุดท้ายแอนดรอยด์และไอโอเอสจะมีความรวดเร็วที่ใกล้เคียงกัน สิ่งที่จะตัดสินความน่าใช้ของทั้งสองระบบปฏิบัติการในอนาคตจะเปลี่ยนไปเป็นเรื่องการตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์มากกว่าเรื่องสเปกเครื่องที่ปัจจุบันไฮเอนด์ สมาร์ทโฟนฝั่งแอนดรอยด์ก็เริ่มมีความลื่นไหล ความรวดเร็วและการตอบสนองการใช้งานได้ไม่ต่างจากไอโอเอสแล้ว

Instagram


กำลังโหลดความคิดเห็น