ในขณะที่สมาร์ทโฟนแบรนด์อื่นยังคงเน้นชูจุดขายในเรื่องสเปกเครื่อง ระบบกันน้ำและกล้องถ่ายภาพ 12-41 ล้านพิกเซล แต่เหมือน HTC One M8 จะขอคิดต่างและเน้นจุดขายในเรื่องฟีเจอร์แหวกแนวภายใต้แนวคิดที่ต้องการสร้างความแตกต่างและสร้างความสดใหม่ให้กับวงการสมาร์ทโฟนอีกครั้งหลังจากเคยประสบความสำเร็จด้านภาพลักษณ์กับตัวเครื่องอะลูมิเนียมยูนิบอดี้ที่ทุกคนชื่นชอบ หรือแม้แต่การมาของรุ่น One M7 กับลำโพงสเตอริโอ BoomSound ที่โดดเด่นอย่างมาก
การออกแบบและสเปก
หน้าตาและการออกแบบ HTC One M8 ยังคงคล้ายกับ One M7 รุ่นก่อนหน้า โดยหน้าจอจะมีการเพิ่มขนาดเป็น 5 นิ้ว Super LCD3 441ppi วัสดุหน้าจอเป็น Corning Gorilla Glass 3 ป้องกันรอยขีดข่วน ความละเอียดหน้าจอ 1,920x1,080 พิกเซล พร้อมลำโพงสเตอริโอ HTC BoomSound ด้านหน้า (บน-ล่าง) และกล้องถ่ายภาพด้านหน้าแบบเลนส์มุมกว้างพิเศษ (Wide Angle) ความละเอียด 5 ล้านพิกเซล สามารถถ่ายภาพหมู่แบบ Selfie ตามสมัยนิยมได้ง่ายขึ้น
ส่วนวัสดุด้านหลังยังคงเป็นอะลูมิเนียมชิ้นเดียว (Unibody) ขัดมันและมีความโค้งมนดูหรูหราขึ้นกว่า One M7 พร้อมกล้องถ่ายภาพ 4 ล้านพิกเซล (2,688х1,520 พิกเซล) 2 ตัว (Duo Camera) รองรับการถ่ายวิดีโอ 1080p 30 เฟรมต่อวินาทีและ 720p 60 เฟรมต่อวินาที บนเทคโนโลยีเซ็นเซอร์รับภาพ HTC UltraPixel โดยใช้การรับภาพแบบ 3 มิติ (กล้อง 2 ตัวแทนตาซ้าย-ขวา โดยภาพที่ออกมาจะสามารถสร้างมิติและระยะชัดที่แตกต่างกันได้ผ่านซอฟต์แวร์ในสมาร์ทโฟน) พร้อมไฟแฟลช 2 ตัว 2 สี (ขาว-ส้ม) แบบเดียวกับไฟแฟลชบนไอโฟน 5s เพื่อให้ภาพถ่ายเวลาใช้ไฟแฟลชเป็นธรรมชาติ ไม่ขาวจนเกินไป
และนอกจากนั้นทางเอชทีซียังได้มีการปรับเปลี่ยนส่วนของตำแหน่งเสารับสัญญาณโทรศัพท์ใหม่เพื่อลดอาการ Death Grip ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว พร้อมช่องไมโครโฟนที่สองสำหรับระบบตัดเสียงรบกวน (Active noise cancellation)
มาถึงรอบตัวเครื่องกันบ้าง สำหรับ HTC One M8 มีความหนาเพียง 9.4 มิลลิเมตร น้ำหนัก 160 กรัมเท่านั้น และปุ่มกดและช่องใส่การ์ดต่างๆ รอบตัวเครื่องจะมีไม่มากเริ่มจากด้านซ้ายมือจะเป็นส่วนของช่องใส่ Nano Sim ด้านขวาเป็นปุ่มเพิ่ม-ลดระดับเสียงพร้อมช่องใส่การ์ดความจำเพิ่มความจุให้ตัวเครื่องได้สูงสุด 128GB
โดยวิธีนำทั้งถาดใส่ซิมและถาดใส่การ์ดความจำออกมาจะต้องนำเข็มที่แถมมาให้กับตัวเครื่องจิ้มที่รูข้างช่องถาดใส่การ์ดทั้งสอง ส่วนของถาดจะเด้งออกมา
ในส่วนพอร์ตเชื่อมต่อและปุ่มกดส่วนบนและล่างของตัวเครื่อง เริ่มจากด้านบนจะมีการออกแบบด้านวัสดุที่แตกต่างจากตัวเครื่องเพราะส่วนนี้มีเซ็นเซอร์อินฟาเรด (IR) ติดตั้งอยู่ใต้วัสดุพลาสติกใสสีดำ ส่วนปุ่มกดด้านข้างจะทำหน้าที่ปิด-เปิด-Sleep-Awake ตัวเครื่อง
และพอร์ตไมโครยูเอสบี 2.0 รวมถึงช่องหูฟัง 3.5 มิลลิเมตรจะติดตั้งอยู่ด้านใต้ของเครื่องแทน
สำหรับไฟแจ้งเตือน (Notification Light) จะติดตั้งอยู่บริเวณช่องลำโพงด้านบน โดยระหว่างชาร์จไฟเข้าเครื่องจะมีไฟสีส้มแสดงสถานะว่ากำลังชาร์จไฟอยู่ และไฟสีเขียวเมื่อชาร์จไฟเต็มเรียบร้อยแล้ว
ในส่วนอุปกรณ์เสริมในรูปแบบเคสที่น่าสนใจและออกแบบมาใช้อำนวยความสะดวกและป้องกันหน้าจอเฉพาะ HTC One M8 ก็คือ Dot View Cover โดยใช้หลักการนำเซ็นเซอร์ทตรวจจับแถบแม่เหล็กบริเวณเคสมาสั่งงานให้ตัวเครื่องเปลี่ยนรูปแบบการแสดงผลผ่านหน้าเคสที่ถูกเจาะเป็นรูขึ้นมา แถมยังสามารถสไลด์เพื่อรับสายโทรเข้าได้จากหน้าเคสโดยตรงตามรูปภาพประกอบและวิดีโอด้านบน
มาส่วนสุดท้ายกับสเปกขุมพลังภายในตัวเครื่องที่ถึงแม้เอชทีซีจะไม่ค่อยโปรโมตนัก แต่สเปกก็ถือว่าไม่ธรรมดา เริ่มจากหน่วยประมวลผล (ซีพียู) เลือกใช้ Qualcomm Snapdragon 801 รุ่นใหม่ล่าสุดที่เพิ่มความเร็วเป็น 2.5GHz Quad-core พร้อมกราฟิก Adreno 330
ในส่วนแรมให้มา 2GB และความจุภายในตัวเครื่องสำหรับรุ่นที่ขายในไทยตอนนี้มีเฉพาะความจุ 16GB (สามารถเพิ่มความจุด้วย MicroSD) เหลือให้ใช้งานจริงประมาณ 10GB และระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่ใช้จะเป็น KitKat 4.4.2 ครอบด้วย HTC Sense 6 UI ใหม่ล่าสุด
สำหรับเครือข่ายโทรศัพท์ 3G รองรับเคลื่อนความที่ 850/900/2,100MHz 2G GSM 850/900/1,800/1,900MHz และ 4G LTE บนคลื่นความถี่ 700 / 900 / 1800 / 2,100 / 2,600MHz นอกจากนั้นทางเอชทีซียังให้ระบบดึงคอนเทนต์ เช่น เบอร์โทรศัพท์ จากสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นๆ เพื่อบันทึกใหม่ลงใน HTC One M8 รวมถึงมีระบบสำรองข้อมูลผ่านบัญชี HTC Account ป้องกันเครื่องมีปัญหาแล้วข้อมูลหายหมดอีกด้วย
ด้านสเปกเครื่องส่วนอื่น การเชื่อมต่อ WiFi จะรองรับ 802.11 a/b/g/n/ac พร้อมรองรับ DLNA, WiFi Hotspot ผ่านสาย USB และระบบไร้สาย, บลูทูธรุ่น 4.0 มี NFC สามารถฟังวิทยุได้โดยต้องเสียบหูฟัง พอร์ตยูเอสบีสามารถเชื่อมต่อ A/V OUT ผ่านสาย MHL ส่วนแบตเตอรี Li-Po มีความจุ 2,600mAh
และสำหรับการใช้งานเครื่องครั้งแรกพร้อม Login เข้าใช้ Google Drive จะได้รับเนื้อที่คลาวด์เพิ่มอีก 50GB เป็นเวลานานสองปีด้วย
ฟีเจอร์เด่น/UI
ก่อนหน้านี้ผมและแพทหนึ่งในทีมงานไซเบอร์บิซได้เคยลงบทความเจาะลึกฟีเจอร์เด่นบน HTC One M8 ไปแล้วตามลิงค์ด้านล่าง
- จับของจริง 4 ฟีเจอร์เด็ดใน HTC One M8
- ไขความลับกล้องหลังสองตัวใน HTC One M8 (มีคลิปวิดีโอรีวิว)
โดยผู้อ่านที่สนใจอยากรู้ฟีเจอร์เด่นของ HTC One M8 สามารถกดเข้าไปอ่านเพื่อความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้น เพราะในหัวข้อนี้เราจะเน้นไปในเรื่องฟีเจอร์และเจาะลึกยูสเซอร์อินเตอร์เฟสที่ทำให้ HTC One M8 เกิดความแตกต่างจาก One M7 ที่มองจากภายนอกแล้วแทบจะเรียกได้ว่าเป็นฝาแฝดกันแต่ภายในนี่แหละคือส่วนแตกต่างอย่างน่าสนใจ
เริ่มจากส่วนแรกกับ HTC Sense 6 ซึ่งเป็นยูสเซอร์อินเตอร์เฟสครอบทับแอนดรอยด์ 4.4.2 KitKat รุ่นล่าสุดที่เอชทีซีออกแบบให้มีความเรียบ ไอคอนออกแบนๆ สไตล์มินิมัลลิสต์หรือจะเรียกว่า HOLO UI แบบแอนดรอยด์คิทแคทก็ไม่ผิด
นอกจากนั้นเอชทีซียังปรับปรุงเรื่องประสิทธิภาพและการบริโภคทรัพยากรของระบบเครื่องให้ดียิ่งขึ้นจนส่งผลให้ความเร็วและความลื่นไหลของเอฟเฟกต์ต่างๆ ทำได้ดีขึ้นไม่พบอาการหน่วงเหมือน Sense รุ่นเก่าๆ ที่มักขึ้นชื่อว่ากินแรมเป็นที่สุด
โดยในส่วนของแอปพลิเคชันที่ติดตั้งมาจากโรงงานหลักๆ เอชทีซียังมุ่งเน้นการแสดงผลในหน้าโฮมสกรีนด้วย HTC BlinkFeed หรือการแสดงข่าวสารรวมถึงโซเชียลรวมอยู่ในหน้าเดียวคล้ายแนวคิดแอปฯ Flipboard ซึ่งผู้ใช้สามารถปรับแต่งเพิ่มข่าวสารทั้งไทยและต่างประเทศได้ตามต้องการ
อีกทั้งถ้าสังเกตส่วนของแถบสถานะด้านบน (บริเวณไอคอนเสาสัญญาณโทรศัพท์, เวลา, ระบบแจ้งเตือน) เวลาเข้าใช้งานแอปฯหลักของเอชทีซีจะเปลี่ยนสีตามธีมของแอปพลิเคชันไปด้วยคล้ายกับการแสดงผลใน iOS 7 ของแอปเปิล รวมถึงในหน้าโฮมสกรีน ด้วยธีมหลักของระบบปฏิบัติการพื้นฐาน Android 4.4.2 KitKat ที่เน้นความโปร่งใสของแถบสถานะและส่วนของปุ่มคำสั่ง (เหมือนใน Nexus 5) ทำให้ในหน้าโฮมสกรีนของ Sense 6 จะมีความโปร่งใสทั้งหมดแบบเดียวกับบน Nexus 5 เพื่อบ่งบอกความเป็น Android 4.4.2 KitKat อย่างชัดเจน
Motion Gestures จากคลิปวิดีโอด้านบนหลักการทำงานเวลาหน้าจอปิดอยู่ ผู้อ่านสามารถนำนิ้วมาเคาะหน้าจอสองครั้งเพื่อสั่งให้จอติดได้ หรือจะปาดซ้ายขณะจอดับเพื่อเข้าสู่หน้า Widget Panel ปาดขวาเพื่อเข้าสู่หน้า BlinkFeed ปาดขึ้นเพื่อปลดล็อก ปาดลงเพื่อรับสายเมื่อใส่เคส Dot View อยู่หรือถ้าปาดนิ้วลงเมื่อหน้าจอดับอยู่จะเข้าสู่หน้าโทรออกด้วยเสียง (Voice dialing) ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการใช้งานระหว่างขับรถยนต์
และที่พิเศษสำหรับการเข้าโหมดกล้องขณะหน้าจอดับอยู่ สามารถทำได้โดยการกดปุ่มเพิ่มลดเสียงค้างไว้จากนั้นทำท่ายกสมาร์ทโฟนจากแนวนอนขึ้นตั้งเครื่องจะสั่นและเข้าสู่แอปฯกล้องทันที
Extreme Power Saving Mode หลังจากเทคโนโลยีแบตเตอรีในสมาร์ทโฟนเริ่มถึงทางตันและไม่สามารถทำให้ก้อนแบตเตอรีมีความจุเพิ่มขึ้นได้มากกว่านี้เพราะต้องคงขนาดก้อนแบตเตอรีให้เล็กเพื่อใส่ในสมาร์ทโฟนที่นับวันยิ่งเล็กลง โหมดประหยัดพลังงานพิเศษจึงถูดคิดค้นขึ้นจากทุกแบรนด์ผู้ผลิต ซึ่งใน One M8 เอชทีซีก็ได้คิดค้นโหมดประหยัดพลังานพิเศษขึ้นมาด้วยเช่นกัน
โดยการทำงานของโหมดนี้จะเหมาะกับตอนที่แบตเตอรีเหลือพลังงานน้อยกว่า 10% เมื่อผู้อ่านกดเปิดโหมดดังกล่าว ระบบจะปรับการทำงานของซีพียู ลดความสว่างหน้าจอ ปิดระบบสั่น ปิดดาต้าอินเตอร์เน็ต ปิดระบบนับก้าวเดินและจำกัดการใช้งานแอปพลิเคชันให้เหลือเพียง โทรศัพท์ อ่านข้อความ อีเมล์ ปฏิทินและเครื่องคิดเลขเท่านั้น ซึ่งมีผลให้สถานะแบตเตอรีที่เหลือเพียง 5% สามารถทำให้ One M8 ทำงานได้นานต่อเนื่อง 15 ชั่วโมงเพียงพอต่อการใช้งานฉุกเฉินเวลาเดินทางท่องเที่ยวแน่นอน
HTC Quick Charge 2.0 อีกหนึ่งเทคโนโลยีการชาร์จพลังงานที่เอชทีซีคิดค้นขึ้นและคาดว่าจะเริ่มวางจำหน่ายในปีนี้ (ไม่มีแถมให้ต้องซื้อเองข้างนอก) แน่นอนว่า HTC One M8 ก็รองรับเทคโนโลยีการชาร์จไฟแบบรวดเร็วนี้เช่นกัน
ด้วยการรองรับ Quick Charge 2.0 Adapter รวมถึงสาย USB ที่สามารถจ่ายไฟได้สูงถึง 1.67 แอมป์ ทำให้สามารถชาร์จไฟเข้าเครื่องได้รวดเร็วขึ้น โดยเวลาชาร์จไฟที่เอชทีซีเครมมาจาก 0-100% จะอยู่ที่ 96 นาทีจาก Adapter ชาร์จปกติที่แถมให้ในกล่องอยู่ที่ 270 นาที
Fitbit ในขณะที่ผู้ผลิตอุปกรณ์ตรวจนับก้าวเดินนาม fitbit ได้เริ่มอนุญาตให้แอปฯ fitbit รองรับกับเซ็นเซ็อร์ M7 ภายในไอโฟน 5s ล่าสุดทางเอชทีซีก็จับมือกับ fitbit ด้วยการปล่อยแอปฯ ของตนรองรับกับ Step Sensor บน HTC One M8 ในการตรวจนับก้าวเดิน คำนวณแคลอรี่รวมถึงวิเคราะห์อาหารการกินในแต่ละวันได้แล้ว
Remote Control ตามที่ตัวเครื่องมาพร้อมอินฟาเรดสามารถใช้แทนรีโมททีวีและกล่องจานดาวเทียมต่างๆ ได้เหมือนใน One M7 แต่สำหรับแอปฯ ตัวใหม่นี้จะสามารถอ่านตารางโปรแกรมของดาวเทียมจานแดง TrueVision พร้อมมีตารางเวลาฉาย รายละเอียดของรายการภาพยนตร์ที่ฉายไปถึงสามารถตั้งแจ้งเตือนรายการที่สนใจให้ผู้ใช้ทราบได้ด้วย
HTC Guide เป็นแอปฯช่วยเหลือที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ซื้อ HTC One M8 จากศูนย์และต้องการเช็คความผิดพลาดของเซ็นเซอร์และระบบเครื่องต่างๆ ก่อนจ่ายเงินรับเครื่อง โดยแอปฯ ตัวนี้สามารถเช็คระบบทุกส่วนของเครื่องได้ทั้งหมด พร้อมวิธีแก้ไขปัญหาเบื้องต้นรวมถึงมีรวมเบอร์โทรศัพท์ติดต่อศูนย์เอชทีซี (Contact Us) ไว้ด้วย
HTC Power to Give หรือแอปฯ เน้นทำประโยชน์ให้สังคมด้วยการแปลงสมาร์ทโฟนของเราให้เป็นหนึ่งในหน่วยประมวลผลเสริมสำหรับแบ่งปันการประมวลผลเพื่อใช้ในโครงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ วิจัยรักษาโรคมะเร็ง โรคอัลไซเมอร์ โรคเอดส์และโครงการอื่นๆ ทั่วโลก (จะเรียกว่าคล้ายหลักการบริจาคโลหิตให้สภากาชาดไทยอย่างใดอย่างนั้น) โดยการใช้งานก็เพียงเราเสียบสายชาร์จไฟและเชื่อมต่อ WiFi ทิ้งไว้ระหว่างนอนหลับ ระบบจะเริ่มทำงานอัตโนมัติทันที
Camera App with Duo Camera มาถึงฟีเจอร์เด่นที่หลายคนรอคอยกับแอปฯกล้องถ่ายภาพ โดยใน One M8 และ Sense 6 จะปรับเปลี่ยนไปมากตั้งแต่รูปแบบการใช้งานที่เน้นเรียบง่าย แต่มาพร้อมโหมดกล้องที่ครอบคลุมทุกการใช้งานเหมือนกล้องดิจิตอลคอมแพกต์เช่น โหมด Manual ปรับแต่เองได้ทั้งหมดตั้งแต่ ความไวแสง (ISO) ชดเชยแสง White Balance ระบบออโต้โฟกัส
เวลาถ่ายภาพด้วยกล้องหลังต้องระวังอย่าให้มือไปบังกล้่องตัวที่สองด้วยนะครับ
ส่วนโหมดถ่ายภาพหลักที่ให้มาจะมีการปรับเปลี่ยนให้เข้าใจง่ายขึ้นรวมถึงการใช้งานที่สร้างสรรค์แปลกแหวกแนวตามแนวทางของเอชทีซีที่ไม่ขอเดินตามใครตั้งแต่กล้องหลัง 2 ตัวแบบ Duo Camera ที่ให้ผลลัพท์ในการตกแต่งภาพที่น่าสนใจมาก
อย่างเช่น UFocus ที่ผู้ใช้สามารถเลือกจุดโฟกัสทำฉากหลังเบลอ (โบเก้) ได้ทันทีโดยไม่ต้องถ่าย 2 ภาพเหมือน Nokia ReFocus หรือ Lens Blur ใน Google Camera เพราะ Duo Camera จะบันทึกภาพแทนตาซ้ายและขวาพร้อมมีข้อมูลความลึกของภาพไว้ในตัวเองด้วยการกดชัตเตอร์เพียงครั้งเดียว และเมื่อเลือกจุดโฟกัสที่ต้องการผลลัพท์จะออกมาดังภาพตัวอย่างต่อไปนี้ (ไม่เข้าใจหลักการทำงานสามารถกดรับชมวิดีโอด้านบนได้)
หรือถ้าอยากสร้างเอฟเฟกต์ภาพแปลกตาก็สามารถทำได้ด้วยออปชัน Foregrounder
ซึ่งจากภาพจะเห็นว่าเพราะเป็นกล้องหลัง 2 ตัว Duo Camera ที่ใช้หลักการของกล้องสามมิติเข้ามาช่วยเขียนข้อมูลภาพแบบเดียวกับการมองด้วยตาซ้ายและขวาทำให้ผลลัพท์ของเอฟเฟกต์ที่ออกมาจะแตกต่างจากการตกแต่งด้วยซอฟต์แวร์เพียวๆ เหมือนแบรนด์อื่นเพราะภาพที่ได้จะดูมีมิติที่โดดเด่นกว่า
มาถึง Killer Feature ของ HTC One M8 ก็คือ Dimension Plus ที่เอชทีซีใช้ประสบการณ์จากตอน HTC EVO 3D มาปรับปรุงใหม่จากหน้าจอสามมิติที่ไม่ได้รับความนิยมถูกเปลี่ยนมาให้ใช้ความสามารถของตัวเครื่องในการแสดงผลภาพสามมิติจากกล้องหลังสองตัวด้วยการเอียงเครื่องขึ้นลงซ้ายขวาภาพที่ปรากฏจะเกิดเป็นมิติภาพให้เห็นส่วนลึกส่วนตื้นชัดเจนมาก (ติดตามชมจากวิดีโอด้านบนครับ จะเห็นภาพชัดเจนที่สุด)
ในส่วนของการปรับแต่งภาพถ่ายด้วยซอฟต์แวร์เหมืือนคู่แข่งต่างๆ เอชทีซีก็ไม่ทิ้่งให้หายไปไหน โดยภาพที่ถ่ายด้วยกล้องหลังทั้งหมดยังสามารถตกแต่งเช่นปรับสี คอนทราสต์ แสงสว่างต่างๆ ได้ปกติ เพียงแต่เมื่อปรับแต่งแล้วไฟล์จะสูญเสียฟีเจอร์ Duo Camera ไป
ภาพบนก่อนแต่งด้วยโหมด Touch UP ภาพล่างหลังแต่งด้วยโหมด Touch UP
ส่วนฟีเจอร์ ZOE Camera ที่โดดเด่นจากใน One M7 ก็ยังคงอยู่ใน M8 รุ่นใหม่นี้พร้อมปรับปรุงให้สามารถบันทึกภาพวิดีโอได้นานขึ้น โดยวิดีโอที่บันทึกผ่าน ZOE Camera จะนำมาใช้ร่วมกับเอฟเฟกต์ เช่น Sequence Shot สำหรับทำภาพแอ็คชันต่อเนื่อง Always Smile สำหรับถ่ายภาพกลุ่มบุคคลที่ระบบจะวิเคราะห์จะวิดีโอที่ถ่ายไว้และจับภาพตอนที่ทุกคนยิ้มทั้งหมดแสดงผลลัพท์ออกมาเป็นภาพนิ่งหรือแม้แต่ Object Remove หรือลบวัตถุที่ไม่ต้องการออกจากฉาก รวมถึง Touch Up สำหรับรีทัชหน้าตาเช่นปรับสีผิว ความใหญ่โตของดวงตาหรือทำหน้าเนียนก็สามารถทำได้ใน ZOE Camera เช่นเดิม
และอีกหนึ่งจุดเด่นของกล้อง HTC One M8 ด้วยการมาพร้อมกับหน่วยประมวลผลที่รวดเร็วขึ้น (Snapdragon 801 + ไฟล์ภาพที่มีขนาดเพียง 4 ล้านพิกเซล ซึ่งเอซทีซีเห็นว่าเพียงพอแล้วในยุคที่ผู้ใช้เน้นแชร์มากกว่าล้างอัดขยายภาพลงแผ่นกระดาษ) ผู้อ่านสามารถกดปุ่มชัตเตอร์ค้างไว้เวลาถ่ายภาพบุคคลหรือวัตถุต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีอาการหน่วงให็เห็น และเมื่อปล่อยปุ่มชัตเตอร์กล้อง ระบบจะเข้าสู่โหมด Best Photo อัตโนมัติและสามารถเลือกภาพแอ็คชันที่ดีที่สุดได้ทันที ไม่ต้องกดเข้าเมนูปรับแต่งให้วุ่นวายเหมือนแอปฯ กล้องของหลายแบรนด์ผู้ผลิต
ส่วน Gallery เอชทีซีก็มีการใส่ลูกเล่นให้มีความน่าสนใจโดยยึดแนวคิดมาจากแอปฯ Photo ของกูเกิลและ Gallery บน iOS เป็นแนวทาง โดยในแอปฯ สามารถแสดงผลรูปภาพแบ่งเป็น Timeline ตามพิกัดรูป หรือชมผ่านแผนที่โลก รูปทั้งหมดและสามารถใช้ ZOE ตกแต่งรวมภาพ ใส่เสียง ตัดต่อเป็นคลิปวิดีโอสั้นๆ ได้อย่างน่าสนใจอีกด้วย
Developer Options จบเรื่องกล้องถ่ายภาพไปแล้วมาชมในส่วนออปชันเสริมที่ถูกซ่อนไว้ใน Developer Options กับโหมด Maximize CPU Performance และ ART Runtime ที่หลายคนสงสัยว่าทางเอชทีซีใส่มาตามข่าวลือหรือไม่ คำตอบที่ได้ก็เป็นไปตามภาพประกอบที่เห็น โดย Maximize CPU Performance จะเป็นเหมือนโหมดสำหรับเปิดการทำงานของหน่วยประมวลผลแบบเต็มขั้นตลอดเวลา (เครื่องร้อนมากเมื่อเปิดใช้งานโหมดนี้) เพื่อจุดประสงค์ตั้งแต่โกงคะแนนผลทดสอบที่เป็นข่าวมาแล้วหรือจำเป็นต้องใช้ร่วมกับแอปฯ หรือการทำงานที่ต้องการประสิทธิภาพของเครื่องสูงมาก ส่วน Runtime ที่สามารถเลือกใช้ตั้งแต่ Dalvik และ ART นั้นก็เป็นไปตามพื้นฐานของแอนดรอยด์ 4.4 แบบเดียวกับ Nexus 5 ซึ่งใน HTC One M8 ทางเอชทีซีไม่ได้ตัดออปชันนี้ออก ผู้ใช้สามารถเข้าไปเลือกใช้ Runtime ได้ตามต้องการ แต่เท่าที่ทดลองเลือกเป็น ART ไม่เห็นความแตกต่างเหมือนตอน Nexus 5 ที่เห็นผลลัพท์ที่ดีกว่าแต่อย่างใด
สุดท้ายในส่วนของแอปฯ ที่ติดตั้งมาจากโรงงานอื่นๆ จะมีดังต่อไปนี้
จากซ้ายสุดแอปฯ Zoodles หรือ Kid Mode สำหรับตั้งรหัสจำกัดการใช้งานแอปฯ สำหรับเด็ก - Calendar หรือปฏิทิน - Stock หุ้น - Phonebook และ POLARIS Office 5 สำหรับเปิดอ่านและแก้ไขงานเอกสารต่างๆ
จากซ้ายสุดแอปฯ Weather - Clock - Scribble หรือสมุดจดโน้ตรองรับปากกาเขียนจอ - Voice Recorder - Flashlight - HTC Backup
Car Mode สำหรับใช้งานระหว่างขับรถยนต์ โดยจะมีผู้ช่วยเป็นระบบสั่งงานด้วยเสียงที่เน้นส่งข้อความและโทรออกไปยังหมายเลขที่ต้องการได้
ใน Sense 6 จะมี Web Browser ให้เลือกใช้งานได้ 2 ตัวทั้ง Google Chrome ที่มากับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.4.2 KitKat และ Web Browser ของทาง HTC เอง
หน้าตาคีย์บอร์ดไทย-อังกฤษ แบบ QWERTY ใน Sense 6 แบบ Flat Design กดใช้งานง่ายไม่ต้องลงคีย์บอร์ดเพิ่มเติมใดๆ
ทดสอบประสิทธิภาพ
จบจากฟีเจอร์เด่นจะเห็นว่า HTC One M8 มีการปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้นภายในมากกว่าภายนอก ตั้งแต่การมาของ HTC Sense 6 UI ใหม่ไปถึงฮาร์ดแวร์ที่ปรับสเปกขึ้นบนพื้นฐานสมาร์ทโฟนไฮเอนด์ในปัจจุบันที่มีสเปกยืนพื้นไม่ต่างกัน ซึ่งสุดท้ายแล้วไม่ว่าคะแนนทดสอบจะมากหรือน้อยกว่าคู่แข่ง อย่างไรก็ตามเมื่อนำมาใช้งานจริงก็แทบแยกความแรงเหล่านั้นด้วยตาไม่ออกอยู่ดี
แต่สิ่งที่ทำให้ HTC One M8 น่าสนใจและควรกล่าวถึงมากกว่าเรื่องสเปกที่เหมือนๆ กันไปถึงฟีเจอร์เด่นที่ลงรายละเอียดไปแล้วก็คือ เรื่องการจัดสรรทรัพยากรของ Sense 6 ที่เมื่อบวกกับ Android 4.4.2 KitKat แล้วถือว่าเปิดประสบการณ์การใช้งาน HTC ใหม่เลยก็ว่าได้ จากเดิมที่ Sense ชอบทำงานช้าและกินแรมมากในรุ่นเก่า กลับกลายเป็น Sense 6 ทำงานได้อย่างลื่นไหลตลอดการทดสอบและไม่เจออาการแอปฯ Force Close เลยทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว Background Apps ที่ทำงานในพื้นหลังของระบบมีมากมายกว่ารุ่นก่อน แต่ One M8 ก็ยังทำงานได้เร็วและจัดการได้ดีมาก
ยิ่งเรื่องแบตเตอรีกับการบริโภคพลังงาน (ต่อการชาร์จไฟเต็ม 100%) ด้วยทรัพยากรระบบที่จัดการมาอย่างดี พร้อมเงื่อนไขการทดสอบคือเปิดแสงสว่างหน้าจอแบบอัตโนมัติ เปิด NFC, WIFI, 3G, 4G LTE, Power Saver Mode เล่นเว็บบราวเซอร์ นำทางผ่าน Google Maps 30 นาที, ฟังเพลงจาก Tunein Radio และถ่ายภาพไปถึงตกแต่งภาพตลอดทั้งวัน แบตเตอรีความจุแค่ 2,600 mAh สามารถทำได้ตั้งแต่ 13-15 ชั่วโมง หรือเรียกได้ว่า “สามารถใช้งานได้ตลอดทั้งวันแน่นอน” และการเปิดโหมด Power Saver Mode ทิ้งไว้ก็ไม่มีผลต่อประสิทธิภาพแต่อย่างใด
ส่วนถ้าแบตเตอรีใกล้หมด ต่ำกว่า 10% โหมด Extreme Power Save ก็ช่วยได้นานกว่า 9-10 ชั่วโมงขึ้นไปแต่เป็นเรื่องน่าเสียดายที่เมื่ออยู่ให้โหมดดังกล่าวแล้วจะไม่สามารถใช้งานแอปฯอื่นๆ ได้นอกจากแอปฯพื้นฐานที่กล่าวไปข้างต้น
มาถึงการทดสอบ HTC BoomSound ในรุ่น One M8 ให้เสียงที่ดีและดังกว่ารุ่นเก่า One M7 พอสมควร โดยโทนเสียงสูง กลาง ต่ำมีการปรับปรุงให้มีมิติและใสกังวานกว่าเดิม เปิดเสียงดังลำโพงไม่มีแตกและถือว่า BoomSound ใน HTC One M8 เป็นลำโพงบนสมาร์ทโฟนที่ให้เสียงดีเหนือกว่าแอปเปิลไอแพด มินิที่มีลำโพงสเตอริโอเหมือนกัน
ในส่วนการทดสอบคุณภาพกล้องหลัง HTC UltraPixel ความละเอียด 4 ล้านพิกเซลตัวเดียวกันกับที่อยู่บน HTC One M7 ต่างกันแค่ใน One M8 เป็น Duo Camera เท่านั้น
ส่วนตัวอย่างภาพถ่ายอื่นสามารถกดเข้าไปรับชมได้ที่https://www.flickr.com/photos/potsawat/sets/72157643584542064/
แถมให้ชมอีกสอง เริ่มจากภาพแรกกับโหมด HDR ที่รองรับทั้งภาพนิ่งและวิดีโอ HDR
ภาพที่สองกับถ่ายมาโครย้อนแสงพร้อมเปิดไฟแฟลชเพื่อให้เห็นกำลังของไฟแฟลชในการถ่ายย้อนแสงถือว่าใช้ได้ในโหมดมาโครเท่านั้น
จากตัวอย่างภาพถ่ายทั้งหมดจะเห็นว่าคุณภาพไฟล์ภาพยังคงเหมือนกับ HTC One M7 รุ่นก่อนหน้าทั้งหมด สัญญาณรบกวนในสภาพแสงน้อยก็มากเหมือนเดิม แถมซูม 100% ยังเห็นความแตกของเม็ดพิกเซลชัดเจน ส่วนการถ่ายภาพในที่แสงน้อยด้วยขนาดเซ็นเซอร์รับภาพที่ใหญ่กว่าเซ็นเซอร์บนสมาร์ทโฟนด้วยกันหลายแบรนด์ทำให้การถ่ายในที่มืดทำได้สว่างสดใส แต่บางครั้งเมื่ออยู่ในสภาพแสงที่มีความซับซ้อนระบบวัดแสงก็ทำได้ไม่แม่นยำและชอบวัดแสงให้โอเวอร์อยู่บ่อยครั้งจนกลายเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เอชซีทีไม่ยอมปรับปรุงคุณภาพไฟล์กล้องให้ดีกว่านี้ทั้งที่สามารถทำได้
แต่กลับกันในส่วนกล้องหน้า 5 ล้านพิกเซล เอชทีซีนั้นทำได้ยอดเยี่ยมมาก ทั้งเรื่องความคมชัด เฟรมเรตที่ลื่นไหลและเลนส์ไวด์ที่สามารถถ่ายภาพหมู่ได้อย่างง่ายดายจนผมสามารถทดสอบถ่ายวิดีโอแบบ Selfie ได้อย่างสบายๆ
โดยรวมในส่วนของการทดสอบประสิทธิภาพทั้งหมด HTC One M8 ทำได้ดีมากและเอชทีซีได้นำเสน่ห์ของตนกลับมาให้ผู้ใช้ได้พบเห็นอีกครั้งหลังจากที่สมาร์ทโฟนรุ่นก่อนหน้านั้นแสนจืดชืดตามคู่แข่งไม่ทัน One M8 กู้หน้าให้เอชทีซีได้แล้ว
แต่น่าเสียดายในเรื่องของกล้องถ่ายภาพด้านหลังที่ถึงแม้เอชทีซีจะนำแนวคิดสุดเลิศกับกล้องสองตัว Duo Camera เซ็นเซอร์ใหญ่รับแสงได้มากตามแนวทาง UltraPixel ที่โด่งดังมาใส่ไว้พร้อมไอเดียการใช้งานที่ยอดเยี่ยมแหวกแนวคู่แข่งในตลาดตอนนี้อย่างมาก แต่กลับมาตกม้าตายเรื่องคุณภาพไฟล์ภาพที่ยังคงเหมือนกับ One M7 (แต่กล้องม่วงหายไปแล้ว) และหลังจากวางขายไปสักพักก็คงโดนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบเหมือนเดิม ไม่น่าเลยเอชทีซี คุณรู้อยู่แล้วทำไมไม่ปรับปรุง…
ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป?
ข้อดี
- วัสดุ งานประกอบหรูหราดูดีและแข็งแรงแบบ Unibody
- หน้าจอคมชัด สีสันสวยงาม ไม่หลอกตา
- กล้องหน้าให้คุณภาพที่ดีมาก
- HTC BoomSound ให้เสียงที่ยอดเยี่ยมหาคู่แข่งยากในปัจจุบัน
- รองรับ 3G/4G LTE ทุกค่ายในไทย
- ด้วยการจัดสรรทรัพยากรที่ดีทำให้แบตเตอรีอึดสามารถใช้งานได้ทั้งวันจริงๆ
- HTC Sense 6 มีเสน่ห์และประสิทธิภาพที่ดีและสาวกเอชทีซีต้องชื่นชอบกับลูกเล่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น ZOE, BlinkFeed
- Duo Camera ใช้งานได้จริงทุกฟีเจอร์
- Fitbit สามารถใช้งานร่วมกับฮาร์ดแวร์นับก้าวเดินในตัวเครื่องได้เลยไม่ต้องซื้ออุปกรณ์เสริม
- ฟีเจอร์ทั้งหมดโดดเด่น ใช้งานได้จริงและให้มาอย่างพอดีไม่มากเกินไปจนผู้ใช้สับสน
ข้อสังเกต
- Motion Gestures ยังตอบสนองได้ไม่ดีนัก บางครั้งใส่กระเป๋ากางเกงไว้หน้าจอติดเองเพราะหน้าจอไปสัมผัสต้นขากลายเป็นคำสั่งเปิดหน้าจอหรือเข้าโหมดกล้องถ่ายภาพเอง
- เมื่อใช้งานหนักตัวเครื่องจะมีความร้อนที่ฝาหลังพอสมควร
- HTC UltraPixel และ ImageChip ของเอชทีซีแม้จะรับแสงได้มากกว่าสมาร์ทโฟนหลายรุ่นแต่ยังให้ Noise เยอะมากเมื่อถ่ายในที่มีแสงน้อย
- เซ็นเซอร์รับภาพ 4 ล้านพิกเซลเป็นแนวคิดที่ดีแต่เวลาต้องการครอปภาพบางส่วนจะให้คุณภาพภาพไม่คมชัด และซูมดูรายละเอียดของภาพได้ไม่มากเพราะภาพจะแตก เนื่องจากขนาดภาพเล็กเกินไป
สรุป
ถึงแม้ข้อสังเกตเรื่องกล้องที่มีแนวคิดเลิศเลอแต่คุณภาพไฟล์ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร จะทำให้คะแนน HTC One M8 ตกต่ำไปบ้าง แต่โดยภาพรวมแล้วฟีเจอร์ภายในที่เอชทีซีจัดเต็มมาอย่างไม่มีกั๊กและเป็นฟีเจอร์แนวสร้างสรรค์แหวกตลาดคู่แข่งแถมใช้งานได้จริงทุกฟีเจอร์ ทำให้ One M8 จะกลับมาโดดเด่นได้อีกครั้งในตลาดไฮเอนด์สมาร์ทโฟนหลังจากไร้ผลงานสร้างชื่อมานาน
และด้วยราคาเปิดตัวที่ 23,500 บาท สำหรับงานประกอบที่ยอดเยี่ยม ฟีเจอร์ที่โดดเด่น Duo Camera ที่ใช้งานได้จริง ผมมองว่าเป็นราคาที่ไม่แพงเกินไปและเป็นครั้งแรกที่ผมกล้าบอกว่า HTC One M8 มีราคาขายที่สมเหตุสมผลที่สุดตั้งแต่แบรนด์เอชทีซีเคยตั้งราคาขายสมาร์ทโฟนมา ในครั้งนี้ผมไม่ขอเถียงเลยว่าเอชทีซีตั้งราคาขายมาแพงเพราะทุกสิ่งที่ได้ทดสอบมาตลอดสัปดาห์ถือว่าสมราคาแล้ว
Company Related Link :
HTC
CyberBiz Social