xs
xsm
sm
md
lg

ถอดรหัสความฉลาด Google Now กับชีวิตคนไทยปี 2014

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Google Now (กูเกิล นาว) ถือเป็นบริการและฟีเจอร์หนึ่งในแอนดรอยด์ (Android) ที่ฝังอยู่ในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ตั้งแต่รุ่น 4.1 Jelly Bean เป็นต้นไป เปรียบเสมือนเลขาส่วนตัวที่สามารถเรียนรู้พฤติกรรมผู้ใช้ และนำเสนอเส้นทางการใช้ชีวิตประจำวันแก่ผู้ใช้ได้อย่างชาญฉลาด โดยที่เราไม่ต้องสั่งงาน เช่น สามารถเรียนรู้ว่าเราจะเริ่มไปทำงานกี่โมงและเดินทางผ่านถนนเส้นไหน ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่เราออกไปทำงาน Google Now จะแจ้งเตือนว่าถึงเวลาไปทำงานแล้วพร้อมบอกสภาพการจราจรถนนที่เราขับไปทำงาน เป็นต้น



สำหรับ Google Now ถือกำเนิดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2555 แต่ช่วงเวลาดังกล่าวฐานข้อมูลในประเทศไทยยังไม่เพียงพอทำให้การใช้งานในช่วงเวลานั้นยังทำได้ไม่สมบูรณ์ จนเมื่อกูเกิลเปิดตัวระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.4 KitKat และการมาของ Google Voice Search ภาษาไทย Google Now มีการปรับเปลี่ยนอีกครั้งพร้อมฐานข้อมูลประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นและผู้อ่านหลายคนคงได้พบเห็นไปแล้วบางส่วน โดยเฉพาะผู้ใช้สมาร์ทโฟนตระกูล Nexus จากกูเกิลจะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนที่สุด

ถึงเวลารู้จักคนไทยมากขึ้น

เหมือนจะเป็นบทความเขียนเชียร์กูเกิลประเทศไทยอย่างไม่ลืมหูลืมตา แต่จริงๆ แล้วมองดูรอบตัวให้ดีและถามว่า “ปัจจุบันคนไทยคนใดไม่ใช้บริการกูเกิลบ้าง” คำตอบที่ได้คงเป็นทิศทางเดียวกันทั้งประเทศว่า​ “ไม่มี” ทั้ง google.co.th, youtube.co.th, google maps, gmail ไปถึงสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์หลากหลายแบรนด์ สิ่งเหล่านี้ทุกคนเคยสัมผัสและทำให้กูเกิลเรียนรู้พฤติกรรมการใช้งานของคนไทยได้ตลอดเวลา


ในปีนี้ กูเกิลจะเริ่มเข้ามามีบทบาทกับชีวิตคนไทยมากขึ้น

ถูกต้องว่าทางแอปเปิลหรือไมโครซอฟท์เองก็มีบริการคล้ายกับกูเกิลไม่ว่าจะเป็น Siri, Cortana หรือ Bing ที่ใช้เป็นระบบสั่งงานด้วยเสียงที่เน้นให้เหมือนมนุษย์และเหนือกว่า Google Now อย่างมาก แต่เอาเข้าจริงแล้วรูปแบบการใช้งานที่ดูเหมือนขายฝัน ใช้งานจริงก็ดูแสนยากลำบากโดยเฉพาะการใช้งานในไทยที่ยังห่างไกลกับคำว่า "ผู้ช่วยเหลือเหมือนมนุษย์" เพราะเรื่องการเข้ามาทำการตลาด วิจัยและพัฒนาฐานข้อมูลในบ้านเรานั้นยังไม่จริงจังเหมือนกูเกิล และมองว่าเราเป็นประเทศโลกที่สาม ทำให้บริการต่างๆ ในไทยทำได้ไม่สมบูรณ์เลยแม้จะผ่านมาหลายปีแล้วก็ตาม


สำนักงานกูเกิลทั่วโลก ชมภาพประกอบนี้แล้วคงคิดไปในทิศทางเดียวกันแน่นอนว่า "กูเกิลอยากครองโลกออนไลน์จริงๆ นั่นคือ ข้อดีที่ทำให้ฐานข้อมูลและ Google Now บนกูเกิลดีไวซ์ใช้ได้ดีกว่าทุกแพลตฟอร์ม

จึงกลายเป็นโชคดีของคนไทยที่กูเกิลคิดต่าง เพราะด้วยการที่ตัวเองก็อยากครองโลกออนไลน์บนโลกใบนี้อยู่แล้ว และการจะครองโลกใบนี้ได้กูเกิลก็ต้องเข้าไปเก็บฐานข้อมูลที่ทำอย่างจริงจังเกือบทุกประเทศทั่วโลก และในไทยเองก็ลงทุนตั้งออฟฟิซกูเกิลประเทศไทยขึ้นเช่นกัน ทำให้กูเกิลเข้าใจคนไทยว่าในทุกวันคนไทยส่วนใหญ่ต้องการสิ่งใด จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นกูเกิลอยู่รอบตัวเราไม่ว่าจะเป็น สตรีทวิว, การเก็บข้อมูลทุกทำอันดับการค้นหาในไทยที่คนสนใจ การร่วมมือกับ ขสมก. ในการเก็บข้อมูลขนส่งสาธารณะหรือแม้แต่การร่วมมือกับ บก.จร. (กองบังคับการตำรวจจราจร) สำหรับการตรวจสภาพจราจรบนแผนที่กูเกิล และล่าสุดกับการร่วมมือกับสายการบินเอมิเรตส์และอีกหลายสายการบินเพื่อให้ระบบแจ้งเตือนเที่ยวบินหลังจากเราซื้อตั๋วแล้วรองรับกับ Google Now สิ่งเหล่านี้กูเกิลพัฒนามาอย่างต่อเนื่องหลายปีและพยายามขยายฐานข้อมูลให้เป็นไปตามลักษณะของคลาวด์คือ มีฐานข้อมูลที่ลอยอยู่ในอากาศ ทั้งคนของกูเกิลเองหรือแม้แต่ผู้ใช้ตาดำๆ ก็สามารถเพิ่มข้อมูลเหล่านั้นเองได้

"แต่การเพิ่มข้อมูลให้ฐานข้อมูลในไทย กูเกิลเลือกวิธีที่ชาญฉลาดแบบไม่ต้องไปนั่งพิมพ์กระดาษเก็บสถิติวิจัยเหมือนเรียนมหาวิทยาลัยที่ล้าหลังและไม่ได้ผลเท่าใด แต่กูเกิลเริ่มเก็บข้อมูลจาก Keyword ที่คนไทยค้นหาผ่าน google.co.th การแบ่งปันภาพถ่ายใน Google+ กลุ่มสังคมไปถึง บริการแผนที่กับภาพสถานที่สำคัญต่างๆ หรือการโพสต์วิดีโอลง Youtube ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงรสนิยมคนไทยที่กูเกิลสามารถเก็บข้อมูลได้ตลอดเวลา"

โดยเมื่อฐานข้อมูลในประเทศไทยเริ่มมีขนาดใหญ่ กูเกิลก็คิดต่อยอดไปยังบริการในมือของตนต่อไป และ Google Now ที่ปรากฏครั้งแรกบนแอนดรอยด์สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่กูเกิลประเทศไทยเลือก กับความมั่นใจว่า “เราเข้าใจผู้ใช้คนไทยได้ดีกว่าแพลตฟอร์มอื่น (iOS, Windows Phone) และคนไทยทุกคนจะต้องถูกใจกับแนวคิดและผลลัพท์ที่เกิดขึ้น"

ถึงแม้ Google Now จะเกิดมานาน แต่เขาเติบโตได้เองเหมือนมุษย์

ทุกเช้าผู้ใช้อุปกรณ์กูเกิลทุกท่านมักพบข้อความทักทายจาก Google Now ที่สามารถเรียนรู้ได้ว่าวันนี้ผู้ใช้ต้องไปทำงานหรือไม่ อย่างไร พร้อมมีรายงานสภาพอากาศด้วย

ด้วยคอนเซปการทำงานของ Google Now ซึ่งไม่เน้นด้านการตอบโต้กับผู้ใช้เหมือน Siri บน iOS หรือ Cortana จาก Microsoft แต่ Google Now เป็นระบบเน้นแนะนำการใช้ชีวิตและคาดเดาความในใจของผู้ใช้อุปกรณ์กูเกิล (หรือบางคนจะเรียกว่าเทพพยากรณ์) ที่สามารถเติบโตได้ตามขนาดฐานข้อมูลกูเกิลที่โตขึ้นทุกวัน โดยส่วนใหญ่ผลลัพท์จากการใช้ Google Now มักสร้างความประทับใจให้กับผู้ใช้เสมอ และทุกวันข้อความเริ่มต้นที่ Google Now ทำนายได้แม่นยำที่สุดก็คือ "เวลาที่เราควรออกไปทำงานพร้อมแนะนำเส้นทางการเดินทางพร้อมสภาพจราจรที่ถูกต้อง ส่วนวันเสาร์อาทิตย์ที่ไม่ใช่วันทำงาน Google Now ก็เรียนรู้ด้วยว่าเราชอบไปไหน เวลาใด"

และการที่ Google Now ทำงานด้วยการคาดเดาที่ต้องมีโดนใจผู้ใช้บ้างไม่หนึ่งก็สองเหตุการณ์ที่กูเกิลสุ่มขึ้นมา ผู้ใช้หลายคนคงสงสัยถึงหลักการทำงานว่ากูเกิลใช้หลักการคาดเดาและสุ่มข้อความเหล่านั้นขึ้นมาแจ้งเตือนได้อย่างไร

คำตอบนี้ตอบได้ไม่ยาก ซึ่งถ้าผู้ใช้แอนดรอยด์สังเกตให้ดีว่าก่อนจะเปิดใช้งาน Google Now ระบบจะสั่งให้ผู้ใช้ล็อคอินเข้าบัญชี Google Account เสียก่อน และการใช้งานทั้งหมดต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตไม่ว่าจะเป็น 3G/4G หรือ WiFi ก็ตาม เพราะระบบคาดเดาของ Google Now จะใช้การประมวลผลและเก็บข้อมูลผู้ใช้ผ่าน Server และบัญชี Google Account บนคลาวด์ทั้งหมด

โดยสิ่งที่ Google Now เรียนรู้ผู้ใช้ตลอดการใช้งานบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตจะมีดังต่อไปนี้

1.พิกัดและเวลาบนแผนที่ สิ่งสำคัญอันดับแรกที่กูเกิลต้องเรียนรู้เพื่อนำข้อมูลไปเข้าระบบประมวลผลและคาดเดามาเป็นผลลัพท์ กูเกิลจะเก็บพิกัดของผู้ใช้ตลอดเวลาผ่าน Cellsite เครือข่ายโทรศัพท์ WiFi และ GPS ผสมกันว่าตอนนี้เจ้าของเครื่องอยู่ที่ไหนในเวลาใด อาศัยอยู่สถานที่เหล่านั้นนานเท่าไร ซึ่งเมื่อกูเกิลเก็บข้อมูลสถานที่ต่างๆ ที่ผู้ใช้เดินทางไปเกิน 3-4 วัน ระบบจะมีการตรวจเทียบและวิเคราะห์ว่าผู้ใช้ชอบไปสถานที่ใดในแต่ช่วงเวลาเท่าใด และถ้าผู้ใช้มีการลงรายละเอียดของที่อยู่บ้านและออฟฟิซไว้ ระบบจะนำรายละเอียดเหล่านั้นมาเทียบกันและแสดงเป็นผลลัพท์เริ่มต้นได้อย่างแม่นยำ

ส่วนเสาร์ อาทิตย์ กูเกิลสามารถเรียนรู้ผู้ใช้ว่าไม่ใช่วันทำงานจากการที่ช่วงเวลาดังกล่าว ผู้ใช้ไม่ได้เดินทางไปสถานที่ที่ตรงกับรายละเอียดของออฟฟิซที่บันทึกไว้ใน Google Account

และอีกหนึ่งคำถามที่ว่ากูเกิลใช้หลักอะไรในการเรียนรู้เวลาว่าแต่ละช่วงเวลาผู้ใช้จะทำสิ่งใดอยู่ที่ไหน คำตอบนี้อยู่ที่เส้น Timeline สีแดงและจุด Pinpoint ที่มีการบันทึกเวลาแทบจะทุกนาทีและรวมข้อมูลเข้ากับฐานข้อมูลสถานที่ที่กูเกิลมี โดยจะคาดเดาจากจุด Pinpoint สีแดงว่า ณ เวลานี้ ผู้ใช้จะอยู่สถานที่ใดบ้างซึ่งถ้าใน 1 อาทิตย์เรายิ่งไปสถานที่เหล่านั้นบ่อยครั้งในเวลาเดียวกัน (ส่วนใหญ่ไปที่เดิมๆ สัก 2 ครั้งในเวลาใกล้ๆ กันกูเกิลก็จำแล้ว) กูเกิลจะเรียนรู้ว่าเราชอบสถานที่นั้นและทุกวันเมื่อถึงเวลาดังกล่าว ระบบก็จะแจ้งเตือนว่าเราต้องการไปยังสถานที่เหล่านั้นหรือไม่พร้อมบอกการจราจรให้เรียบร้อย (ดังภาพตัวอย่างด้านบนจากหน้าจอสมาร์ทโฟน)

2.จากอีเมล์และปฏิทิน สิ่งหนึ่งที่ Google Now สามารถทำได้อีกอย่างก็คือสามารถสำรวจอีเมล์ ปฏิทิน และแอปพลิเคชันบางตัวได้ และที่ผู้ใช้หลายคนน่าจะประทับใจสุดก็คือสามารถแยกข้อความในอีเมล์สำคัญเช่น ตั๋วเครื่องบิน หรือเอกสารสำคัญบางอย่างออกมาเป็นข้อความแจ้งเตือนบน Google Now ได้ ยกตัวอย่างจากภาพประกอบ Google Now สามารถแยกข้อความจากตั๋วเครื่องบินมาแสดงผลเป็น Card UI บอกว่าเที่ยวบินที่เราต้องการเดินทางจะออกบินกี่โมง เป็นต้น

ไม่ว่าจะเดินไปเที่ยวที่ไหน Google Now ก็ไม่พลาดที่จะรายงานสถานที่ที่น่าสนใจพร้อมภาพประกอบจากยูสเซอร์และทีมกูเกิลเป็นผู้ถ่ายในละแวกนั้นพร้อมนำทางผ่าน Google Maps โดยจับจากพิกัดและ Mobile Cellsite โดยไม่ต้องสั่งงาน

3.Web History เป็นอีกหนึ่งความสามารถของ Google Now ในการเก็บข้อมูลผู้ใช้จากประวัติการเข้าชมเว็บไซต์ โดย Google Now จะเรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใช้ว่าชื่นชอบเว็บไซต์แบบใด หรือชื่นชอบเว็บไซต์ที่มีเนื้องหาเกี่ยวกับอะไร ยิ่งถ้าเราค้นหาเว็บไซต์เหล่านั้นหลายครั้งติดต่อกัน ในวันต่อไปเมื่อเราเปิดเข้าหน้า Google Now ระบบจะค้นหาเว็บไซต์ที่เราสนใจและนำเสนอให้ผู้ใช้ได้ทราบ ซึ่งถ้าครั้งต่อไปผู้ใช้เปลี่ยนความสนใจไปชื่นชอบเว็บไซต์แนวอื่นอีก กูเกิลจะเรียนรู้ใหม่เรื่อยๆ

ซึ่งนอกจากเว็บไซต์ที่กูเกิลสามารถเรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใช้ได้แล้ว ส่วนของการค้นหาคลิปวิดีโอผ่าน YouTube กูเกิลก็สามารถเรียนรู้และค้นหาหมวดหมู้คลิปที่ผู้ใช้สนใจมานำเสนอได้อย่างค่อนข้างตรงใจผู้ใช้เลยทีเดียว

4.GPS/Mobile Cellsite/WiFi การที่ Google Now ดึงระบบเหล่านี้เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์และคาดเดาการใช้ชีวิตของเรา นอกจากจะช่วยเสริมในส่วนเรื่องพิกัดบนแผนที่แล้ว อีกส่วนที่น่าสนใจคือสามารถรายงานสภาพอากาศจากสถานที่ที่เราอยู่ สถานที่ทำงานและสภาพอากาศที่บ้านได้

นอกจากนั้นด้วยฐานข้อมูลจาก Google Maps ล่าสุดที่ทางกูเกิลสามารถดึงข้อมูลขนส่งสาธารณะจาก ขสมก. (องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ) เพื่อบอกสายรถเมล์และจุดจอดรถเมล์ได้แล้ว เมื่อทำงานร่วมกับ GPS Mobile Cellsite และ WiFi ระหว่างที่เราเดินเท้าหรืออยู่บริเวณใกล้กับป้ายรถเมล์ Google Now จะสามารถแสดงผลรายละเอียดของป้ายรถเมล์ที่อยู่ใกล้พร้อมรายละเอียดของสายรถเมล์ที่ผ่านบริเวณนั้นได้

หรือแม้แต่รอบฉายของโรงภาพยนตร์ Google Now จะใช้ความสามารถของ GPS และเสาสัญญาณโทรศัพท์ในการตรวจจับร่วมกับการวิเคราะห์ความสนใจเรื่องภาพยนตร์ของผู้ใช้ เช่น เคยค้นหารอบฉายภาพยนตร์จาก Google Search ไว้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ Google Now เรียนรู้และเมื่อผู้ใช้อยู่ใกล้กับโรงภายนตร์ (ตรวจจับจากการเก็บพิกัดตลอดเวลาในข้อ 1) ในช่วงเวลาใกล้กับที่ผู้ใข้เคยค้นหาตารางฉายภาพยนตร์เมื่อวันก่อน ระบบจะแสดงชื่อโรงภาพยนตร์ที่อยู่ใกล้พร้อมรอบฉายภาพยนตร์ทั้งหมดขึ้นมา

นอกจากนั้นยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ที่ Google Now สามารถแสดงความอัจฉริยะในเรื่องการนำเสนอข้อมูลที่ผู้ใช้สามารถกำหนดเพิ่มเติมได้เองทุกวัน เช่น กราฟหุ้น วัดระยะทางที่เดินโดยจะนำเสนอผู้ใช้ทุกต้นเดือนหรือแม้แต่การอัปเดตทีมกีฬาที่ชื่นชอบ



และในอนาคตกูเกิลก็มีแผนจะอัปเดตความสามารถของ Google Now ให้สามารถแจ้งเตือนบิลค่าบัตรเครดิตและบิลอื่นๆ ได้ พร้อมให้ผู้ใช้สามารถกดจ่ายบัตรได้ทันที โดยในส่วนระบบรักษาความปลอดภัยที่ใช้ป้องกันการเข้าดูข้อมูลเลขบัญชีบัตรเครดิตที่ผูกติดกับ Google Account ยังไม่มีการรายงานจากทางกูเกิลว่าจะเป็นไปในรูปแบบใด



ส่วนผู้ใช้อุปกรณ์อื่นที่ไม่ใช่ของกูเกิลไม่ว่าจะเป็น พีซี, Mac, Apple iOS Device ทางกูเกิลก็ไม่ปล่อยโอกาสให้ Google Now ต้องถูกปิดกั้นเหมือนค่ายอื่น ด้วยการคลอดซอฟต์แวร์ Google Now บนแพลตฟอร์มต่างๆ เช่นบน iOS จะใช้ชื่อ Google ส่วนในพีซีและ Mac จะใช้เป็นส่วนเสริมร่วมกับ Google Chrome ในรูปแบบของ Chrome Notifications โดยการใช้งานทุกแพลตฟอร์มจะผ่านระบบคลาวด์ทำให้เมื่อผู้ใช้เปิด Google Now ด้วยบัญชี Google Account ของตนเองในแต่ละดีไวซ์ ข้อมูลทั้งหมดจะสอดประสานกันเป็นเนื้อเดียว ทำให้ใช้งานได้ลื่นไหลและต่อเนื่องอย่างมาก

แต่สุดท้ายสำหรับผู้ใช้บางคนที่อาจไม่ถูกใจกับระบบคาดเดาวิเคราะห์ชีวิตประจำวันของผู้ใช้รวมถึงอยากรู้ข้อมูลอื่นๆ ที่ Google Now ไม่แสดงผลให้ผู้ใช้ทราบ เราก็สามารถบอกให้ Google Now หาข้อมูลเหล่านั้นให้เราได้ผ่านระบบ Google Voice Search ที่เคยลงรีวิวไปแล้วในบทความ ทดสอบ Google Search ฟังไทยได้แล้วบนแอนดรอยด์

สิ่งเหล่านี้ถ้าผู้ใช้เปิดใช้งานไว้ตามที่กูเกิลกำหนด ทุกการแจ้งเตือนที่เกิดขึ้นผ่าน Google Now จะหลั่งไหลเป็นกระแสน้ำอัปเดตเรื่องราว ชี้แนะการใช้ชี้วิต เดินทางไปถึงตรวจสภาพจราจร นำทาง ทุกสิ่งทุกอย่างจะเกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีคนสั่งงาน

และเมื่อเวลาผ่านไปเป็นเวลานานและผู้ใช้ยังคงเปิด Google Now ไว้ตลอดเวลา ระยะเวลาที่ผ่านมาจากวันเป็นเดือนจากเดือนเป็นปี Google Now จะเติบโตไปตามผู้ใช้และการเรียนรู้พฤติกรรมผู้ใช้รวมถึงระบบคาดเดาต่างๆ จะทำได้แม่นยำขึ้นเหมือนเรามีเพื่อนที่รู้ใจอยู่เคียงข้างอย่างใดอย่างนั้น

จากวันแรก Google Now จะไม่แสดงผลลัพท์ใดๆ เลยแต่เมื่อใช้งานไปสัก 2-3 วัน กูเกิลจะเริ่มเข้าใจเรามากขึ้นและพยายามเอาใจเราด้วยการคาดเดาสิ่งที่เราต้องทำในช่วงเวลานั้นด้วยข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับเรา

ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคตกูเกิลเองก็มีแผนปรับปรุงเพิ่มความฉลาดให้ Google Now ต่อไปด้วยฐานข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างไม่สิ้นสุดตราบใดที่โลกและชีวิตคนยังคงดำเนินอยู่และโลกไม่แตกสลายไปเสียก่อน

และสำหรับประเทศไทยเองก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่กูเกิลจะปรับปรุงพัฒนาฐานข้อมูลที่มีประโยชร์ต่อคนไทยต่อไป แต่ประเด็นสำคัญที่กูเกิลควรใส่ใจและตอบคำถามคนไทยให้ได้ก็คือ เรื่องการรุกล้ำชีวิตส่วนตัวไม่ว่าจะเป็นอีเมล์ ข้อมูลการเดินทางไปถึงการลงพื้นที่เพื่อเก็บภาพสามมิติทำแผนที่ประเทษไทย สิ่งเหล่านี้คนไทยหลายคนยังไม่เข้าใจและมองว่ากูเกิลทำเรื่องที่ไม่ควรทำจนนำไปสู่ปัญหาภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่เริ่มเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน

CyberBiz Social



Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket
กำลังโหลดความคิดเห็น