xs
xsm
sm
md
lg

Apple CarPlay จุดพลุสมาร์ทคาร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจากสมาร์ทโฟนเข้ามาเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตของคนทั่วทั้งโลกไปจนหมด ไม่เว้นแม้แต่วงการรถยนต์ที่ผู้ใช้ต่างเรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนระบบ In-Car Infotainment (information and entertainment หรือวิทยุติดรถหน้าจอสัมผัส) ใหม่ จากเดิมทำได้เพียงแค่เล่นไฟล์มัลติมีเดียและแผนที่แบบออฟไลน์ ให้สามารถใช้งานออนไลน์คอนเทนต์ได้ขณะขับรถแบบเดียวกับสมาร์ทโฟน

ในขณะที่กูเกิลเริ่มดำเนินโครงการรถยนต์อัจฉริยะ (Android Smart Car) เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ แต่แอปเปิลคิดต่างและเน้นไปให้ความสำคัญต่อ Infotainment ในรถมากกว่า ส่วนระบบควบคุมที่เชื่อว่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ผลิตรถยนต์ที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่า ด้วยการกำเนิด Apple CarPlay ขึ้นด้วยแนวคิดง่ายๆ ที่ค่ายรถยนต์สามารถติดตั้งได้ทันทีก็เพราะมีรากฐานมาจากระบบปฏิบัติการ iOS 7 ที่แอปเปิลออกแบบรวมไว้กับ iOS 7 และ 7.1 สำหรับไอโฟนที่จะปล่อยให้ดาวน์โหลดในเดือนนี้แล้ว เพียงผู้ใช้เชื่อมต่อสายไลนิ่งกับยูเอสบีหรือผ่านระบบไร้สาย Apple AirPlay เข้ากับหน้าจอในรถยนต์รุ่นที่รองรับเท่านั้นก็สามารถใช้งานฟีเจอร์แบบสมาร์ทโฟนตั้งแต่โทรศัพท์ไปถึงเล่นออนไลน์คอนเทนต์ผ่านหน้าจอสัมผัสในรถยนต์ได้ทันทีเพียงแค่ผู้ใช้มีไอโฟนและรถยนต์รุ่นที่รองรับเท่านั้น

**แนวคิดมาจากความไม่สมบูรณ์**

จากเมื่อก่อนคนขับรถยนต์ต้องการแค่ความบันเทิงระหว่างเดินทางจากแผ่นซีดีหรือไฟล์ MP3 จากยูเอสบีแฟลชไดรฟ์ แต่ปัจจุบันผู้คนเหล่านั้นต้องการสตรีมมิ่งคอนเทนต์ที่หลากหลายแบบเดียวกับที่สามารถหาได้จากสมาร์ทโฟน เช่น แผนที่นำทางแบบออนไลน์ สตรีมมิ่งคอนเทนต์จำพวกสถานีวิทยุที่สามารถเลือกแนวเพลงที่ฟังได้ตามต้องการผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ต

ความต้องการเหล่านี้ทำให้เกิด In-Car Infotainment ขึ้นด้วยการพัฒนาของค่ายรถยนต์แต่ละค่ายเอง ด้วยแนวคิดคือ Infotainment ต้องสามารถแสดงแผนที่นำทางบนหน้าจอสัมผัสซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณ Dashboard (คอนโซลหน้าแทนวิทยุแบบเดิม) รองรับการเล่นมัลติมีเดียไฟล์เช่น MP3 MP4 และสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตคอนเทนต์บางรูปแบบได้

ซึ่งก็มีค่ายรถยนต์หลายค่ายให้ความสนใจและพัฒนามาตลอด แต่ปัญหาอยู่ที่มาตรฐานในการพัฒนาแพลตฟอร์มระบบปฏิบัติการ In-Car Infotainment ที่ต่างคนต่างผลิตจนไม่มีมาตรฐานเดียวกันทำให้การเกิดขึ้นของแอปพลิเคชันอำนวยความสะดวกต่างๆ ทำได้ยากลำบากมาก แถมค่ายรถยนต์ในแต่ละประเทศยังมีปัญหาในเรื่องแพลตฟอร์มที่พัฒนาไม่สอดคล้องกับการใช้งานในแต่ละประเทศที่เข้าไปทำตลาดจนเป็นเหตุให้ต้องมีการตัดฟีเจอร์บางฟีเจอร์ออกจนถึงขนาดเปลี่ยนระบบ Infotainment ในรถบางรุ่นใหม่สำหรับบางประเทศไปเลย เช่น ฟอร์ดเปลี่ยนจากระบบ MyTouch ไปเป็นระบบ Sync ธรรมดาสำหรับ Ford Focus 2012 รุ่นที่วางจำหน่ายในไทย เพราะระบบแผนที่และแอปพลิเคชันบางตัวที่ใส่เข้ามาไม่รองรับกับประเทศไทย

สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคเกิดปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน ในขณะที่ค่ายรถยนต์บางค่ายเลือกแก้ปัญหาด้วยการพัฒนา Infotainment ใหม่สำหรับประเทศนั้นไปเลย แต่ปัญหาก็ยังมีตามมาอีกคือ คอนเทนต์หลักบางตัวขาดหายไปหรือมีการปรับแต่งจนสูญเสียประสิทธิภาพไป

**สมาร์ทโฟนถูกเลือกเป็นตัวช่วย**

ในเมื่อ Infotainment ในรถยนต์รุ่นปัจจุบันถึงแม้จะช่วยอำนวยความสะดวกแต่กลับไม่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้ทั้งหมด สิ่งที่ถูกเลือกมาเป็นตัวช่วยในยุคนี้ก็คือ 'สมาร์ทโฟน' ที่มีแอปพลิเคชันให้เลือกใช้เป็นจำนวนมากและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้แทบจะครบทุกรูปแบบ เช่น อยากดูแผนที่ก็มี Google Maps Apple Maps หรือ Sygic อยากฟังเพลงก็มีทั้ง Deezer Spotify หรือจะฟังวิทยุออนไลน์ก็มีทั้ง Tune in หรือแอปต่างๆ มากมาย แถมยังไม่เลือกประเทศที่ใช้แบบ Infotainment และมีอินเทอร์เน็ต สามารถโทรศัพท์ได้ รวมถึงรองรับภาษาทั่วโลกที่หลากหลายกว่า

**นับหนึ่งใหม่กับแอปเปิล Infotainment**

ในที่สุดในเมื่อกระแสคนใช้สมาร์ทโฟนร่วมกับรถยนต์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำทางหรือใช้งานมัลติมีเดียและเมื่อการใช้ Infotainment แท้ๆ ในรถยนต์น้อยลงจนเหลือเพียงแค่เป็นทางผ่านสัญญาณเสียงให้กับสมาร์ทโฟนไปสู่ระบบเครื่องเสียงในรถยนต์เท่านั้น

หลายค่ายผู้ผลิตสมาร์ทโฟนโอเอสก็คิดหาทางออกให้กับปัญหาเหล่านี้โดยแนวคิด และโครงการพัฒนาที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ในขณะที่แอปเปิลก้าวผ่านเรื่องแนวคิดไปสู่การผลิตจริง พร้อมนำ Apple CarPlay มาปรับรวมกับ Infotainment ในรถยนต์ได้ทันทีพร้อมเหตุผลหลักคือ

“เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับระบบปฏิบัติการบนรถยนต์แบบเดียวกับตลาดสมาร์ทโฟนเพื่อให้ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันสามารถทำงานได้ง่ายขึ้นและสามารถตอบสนองผู้ใช้รถยนต์ทั่วโลกได้โดยไม่มีกำแพงเรื่องคอนเทนต์มาขวางกั้นเพราะแอปเปิลทำตลาดทั่วโลกอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์แผนที่อย่าง Apple Maps หรือแม้แต่แอปเด่นๆ ของแต่ละภูมิภาค
แอปเปิลมีฐานผู้พัฒนาและผู้ใช้ตรงส่วนนี้อยู่มาก”

ด้วยแนวคิดที่แอปเปิลกล่าวไว้ เมื่อวิเคราะห์แล้วถือเป็นเรื่องจริงที่ดีและน่าสนใจอย่างมาก เนื่องจากจะเป็นการแก้ปัญหาใหญ่เรื่องมาตรฐานของคอนเทนต์ที่เกิดกับ Infotainment มาช้านานได้อย่างลงตัวที่สุด

ลองคิดภาพตามว่า ต่อไปถ้ารถยนต์หันมาใช้ Apple CarPlay หรือโอเอสอื่นที่ฐานผู้ใช้ทั่วโลกคุ้นเคยอยู่จำนวนมาก การพัฒนาแอปพลิเคชันที่ออกมารองรับกับผู้ใช้ในแต่ละประเทศที่มีเรื่องภาษา และข้อมูลของแต่ละประเทศเป็นสำคัญจะทำได้ดีขึ้น เพราะผู้พัฒนาในแต่ละประเทศจะสามารถพัฒนาแอปเหล่านั้นได้ตามความต้องการของผู้ใช้บนพื้นฐานของระบบปฏิบัติการที่นักพัฒนาคุ้นเคยดีเพราะใช้เหมือนกันทั้งโลก

ต่างจากการพัฒนาลงไปใน Infotainment ของค่ายรถยนต์แต่ละค่ายที่แยกพัฒนาเอง ที่กว่าจะพัฒนาคอนเทนต์ให้สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละประเทศที่วางจำหน่ายจะทำได้ยากมากเพราะต้องศึกษารากฐานของระบบปฏิบัติการที่ Infotainment เลือกใช้ก่อนถึงจะเริ่มพัฒนาแอปเหล่านั้นได้

หาก Apple CarPlay ประสบความสำเร็จจนกลายเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของระบบ Infotainment ในรถยนต์ได้แล้ว ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ก็ไม่ต้องมาเสียเวลาพัฒนาแพลตฟอร์ม Infotainment ของตนให้ยุ่งยากอีกต่อไป แถมในอนาคตถ้าค่ายรถยนต์หันมาใช้มาตรฐานของระบบปฏิบัติการเดียวกันทั้งหมดจนเกิดการแข่งขันเหมือนตลาดสมาร์ทโฟน (Apple, Google Android, BlackBerry, Microsoft Windows Phone) ผลประโยชน์จะตกมาอยู่ที่ผู้บริโภคที่สามารถเลือกใช้ระบบปฏิบัติการบนรถยนต์ที่ตัวเองชื่นชอบได้ โดยไม่ต้องมานั่งบ่นเรื่องความไม่เท่าเทียมกันที่เกิดขึ้นกับระบบ Infotainment เหมือนในอดีตอีกต่อไป

ในเมื่อทุกวันนี้ระบบ Infotainment ก็เหมือนเป็นส่วนเติมเต็มการเดินทางโดยรถยนต์ตั้งแต่โทรศัพท์แบบแฮนด์ฟรีหรือนำทางโดยแผนที่ดิจิตอลเหมือนกับสมาร์ทโฟนอยู่แล้ว สุดท้ายถ้ารวมระบบเหล่านั้นให้เป็นหนึ่งเดียวกันไปเลยจะเสียหายอะไร

**เมื่อสมาร์ทโฟนโอเอสถูกเลือกเป็นส่วนหนึ่งของรถยนต์**

ในขณะที่แอปเปิลเข็น CarPlay ให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างและเริ่มใช้งานจริงในรถยนต์ก่อนเป็นเจ้าแรกกับตลาดรถยนต์ที่จะจำหน่ายตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นไป ค่ายผู้ผลิตสมาร์ทโฟนโอเอสอีก 2 ค่ายก็พร้อมเริ่มโครงการสมาร์ทคาร์ยุคใหม่เช่นเดียวกัน

Google Android กับการร่วมเปิดกลุ่ม OPEN AUTOMOTIVE ALLIANCE (OAA) กับค่ายรถยนต์ เช่น ออดี้ ฮุนได และค่ายผู้ผลิตชิปอย่าง NVIDIA ในการร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มรถยนต์อัจฉริยะด้วยระบบปฏิบัติการแบบเปิดบนแอนดรอยด์โอเอสแพลตฟอร์ม

QNX โดย BlackBerry พร้อมแนวความคิดในการเข้าไปจัดการระบบรถยนต์ด้วย เช่น พัฒนาระบบลดเสียงรบกวนของช่วงล่างและยางรถยนต์ด้วยเทคโนโลยีดิจิตอลหรือแม้แต่ระบบช่วยขับ โดยแนวคิดเหล่านี้ยังเป็นเพียงโปรเจกต์ที่ BlackBerry วางไว้ในอนาคต

CyberBiz Social



Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket
กำลังโหลดความคิดเห็น