หลังจากทีมไซเบอร์บิซ ผู้จัดการออนไลน์นำเสนอรีวิวโน้ตบุ๊กลูกผสมแท็บเล็ตไปหลายรุ่นตั้งแต่ปลายปีที่แล้วถึงต้นปีที่ผ่านมา ล่าสุดทางทีมงานก็ได้รับโน้ตบุ๊กลูกผสมแท็บเล็ตมารีวิวอีกครั้ง แต่ในครั้งนี้จะมีความแตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะ Lenovo IdeaPad Yoga 11 รุ่นที่ได้รับมาทดสอบนี้ขับเคลื่อนด้วยระบบปฏิบัติการ Windows RT พร้อมหน่วยประมวลผลสุดฮิต NVIDIA Tegra 3 และแบตเตอรีที่อยู่ได้นานเป็นวันๆ
การออกแบบ
มองเผินๆ Lenovo IdeaPad Yoga 11 ดูไม่แตกต่างจากโน้ตบุ๊กทั่วไปเท่าใดนัก เพราะตัวเครื่องมีรูปแบบและรูปลักษณ์แบบโน้ตบุ๊กทั่วไป แต่จะมีความแตกต่างในเรื่องความสามารถในการพับหน้าจอสัมผัสเปลี่ยนเป็นแท็บเล็ตได้ตามชื่อ Yoga ถึง 4 รูปแบบ ได้แก่
Laptop Mode หรือ รูปแบบโน้ตบุ๊กทั่วไปสามารถใช้งานในส่วนคีย์บอร์ดและ Trackpad ได้
Tent Mode สำหรับใช้เมื่อต้องการอ่านหนังสือ หรือเปิดหน้าจอไว้ดูสูตรอาหารเมื่ออยู่ในครัว
Stand Mode สำหรับใช้งานในเชิงมัลติมีเดีย-เอนเตอร์เทนเมนต์ เช่น รับชมภาพยนตร์ ฟังเพลง คุยผ่านวิดีโอคอลล์ เป็นต้น
Tablet Mode สำหรับใช้งานในแบบแท็บเล็ตด้วยหน้าจอสัมผัสเต็มรูปแบบ โดยส่วนของคีย์บอร์ดและ Trackpad จะปิดการใช้งานอัตโนมัติทันทีเมื่ออยู่ในโหมดนี้
กลับมาในเรื่องสเปกกันต่อ สำหรับหน้าจอ Yoga 11 จะมีขนาด 11.6 นิ้ว รองรับมัลติทัช 5 นิ้วพร้อมกัน ความละเอียดหน้าจออยู่ที่ 1,366x768 พิกเซล พร้อมกล้องเว็บแคม 1 ล้านพิกเซล (720p) และน้ำหนักตัวเครื่องอยู่ที่ 1.27 กิโลกรัม หนา 15.6 มิลลิมเตร
ในส่วนพอร์ตเชื่อมต่อด้านขวาของตัวเครื่อง จากซ้ายสุดของภาพ ได้แก่ ปุ่มล็อกการหมุนของหน้าจอ - ลำโพง - พอร์ต USB 2.0 - ช่องอ่านการ์ด SD/MMC และช่องเชื่อมต่อ Adapter ชาร์จไฟ
ส่วนด้านซ้ายของตัวเครื่อง จากซ้ายสุดของภาพ ได้แก่ ช่องเสียบ Headset ขนาด 3.5 มิลลิเมตร - พอร์ต USB 2.0 1 พอร์ต - HDMI 1 พอร์ต - ลำโพง และปุ่มเพิ่ม-ลดเสียง
มาที่บริเวณสันเครื่องด้านล่างสุดจะเป็นปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง ส่วนด้านหลังจะไม่ม่ช่องระบายความร้อนหรือช่องให้อัปเกรดอุปกรณ์ใดๆ แต่จะมีเพียงลูกยางกันลื่นติดอยู่ 4 มุมเท่านั้น
สเปก
ในส่วนสเปก Lenovo IdeaPad Yoga 11 ขับเคลื่อนด้วยหน่วยประมวลผล NVIDIA Tegra 3 จำนวน 4 คอร์ กราฟิกชิปที่ใช้เป็น NVIDIA ULP GeForce ส่วนแรมมีขนาด 2GB DDR3L และหน่วยเก็บข้อมูลภายในเป็น SSD ขนาด 64GB (ใช้งานจริงเหลือประมาณ 40-50GB) แบตเตอรีขนาด 4 เซลล์ สามารถใช้งานได้สูงถึง 13 ชั่วโมง
สุดท้ายสำหรับ WiFi รองรับมาตรฐาน 802.11 b/g/n พร้อม Bluetooth
ขับเคลื่อนด้วย Windows RT?
เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้หลายคนอาจกำลังสับสนอยู่ว่า สรุปแล้ว IdeaPad Yoga 11 มีคอนเซปการใช้งานอย่างไร เพราะเป็น Windows RT
สำหรับ Windows RT ความจริงแล้วเป็นวินโดวส์ที่ทางไมโครซอฟท์ออกแบบมาเพื่อรองรับแท็บเล็ตที่ใช้สถาปัตยกรรม ARM แบบเดียวกับสมาร์ทโฟน หรือจะเรียกว่าเป็นวินโดวส์ที่ออกแบบมาเพื่อทำเป็นแท็บเล็ตน้ำหนักเบาแท้ๆ และเป็นระบบปิด เพื่อเข้าชิงตลาดแท็บเล็ตจากคู่แข่งที่อยู่ในสถาปัตยกรรมเดียวกัน
เพราะฉะนั้นการติดตั้งซอฟต์แวร์บน Windows RT จะต้องใช้ซอฟต์แวร์ที่เขียนมารองรับเฉพาะชิป ARM ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นซอฟต์แวร์ที่ขายและปล่อยให้ดาวน์โหลดผ่าน Windows Store เท่านั้น ส่วนซอฟต์แวร์อื่นๆ ที่เคยใช้บนหน้าเดสก์ท็อป เช่น Photoshop หรือเกมออฟไลน์ต่างๆ จะไม่สามารถติดตั้งได้ทั้งหมด ตามตัวอย่างจากภาพด้านบน ทีมงานพยายามติดตั้ง Google Chrome เวอร์ชันล่าสุดจะพบข้อความ "This app can't run on your PC"
แต่ถึงแม้ Windows RT บน Lenovo IdeaPad Yoga 11 จะไม่สามารถติดตั้งซอฟต์แวร์จากวินโดวส์ทั่วไปที่ใช้สถาปัตยกรรม x86 ได้ แต่ไมโครซอฟท์ก็ยังใจดีแถม Office Home & Student 2013 RT Preview มาให้ใช้งาน แต่เป็นรุ่นทดสอบต้องกดซื้อจากภายในอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนั้นในส่วนของเลอโนโวเองก็ยังให้ซอฟต์แวร์จัดการระบบเครื่อง เช่น Energy Management, Cloud Storage by SugarSync และ Motion Control รวมถึงมีการ Built-in แอปฯ อย่าง Skype, Amazon Kindle และ Evernote ไว้ให้ด้วย
ทดสอบประสิทธิภาพ
ด้วยความเป็น Windows RT ทำให้การทดสอบประสิทธิภาพพวกผลคะแนนไม่สามารถทำได้เหมือนตอนทดสอบโน้ตบุ๊ก x86 ทำให้การทดสอบจำเป็นต้องไปเน้นเรื่องมัลติเมีย อย่างการเปิดรับชมไฟล์วิดีโอความละเอียด 1080p และทดสอบเรื่องแบตเตอรี
โดยการทดสอบทีมงานเปิดวิดีโอ 1080p จากยูทูป พบว่าสามารถเล่นได้อย่างลื่นไหล ส่วนการใช้ซีพียูก็ไม่มากนัก สามารถเปิดซอฟต์แวร์พิมพ์งานควบคู่ไปได้ด้วย แต่ถ้าต้องการเล่นเว็บพร้อมรับชมวิดีโอ อาจพบอาการภาพวิดีโอกระตุกบ้างเป็นบางครั้ง
ส่วนการใช้งาน Multi-tasking สามารถใช้งานได้อย่างไม่มีปัญหา ตามตัวอย่างด้านบน และการพิมพ์งานภาษาไทย ส่วนนี้หายห่วงเพราะนี่คือไมโครซอฟต์วินโดวส์ที่ออฟฟิซส่วนใหญ่เลือกใช้อยู่แล้ว ทำให้การส่งงานจากออฟิซ 2013 (สามารถเซฟไฟล์ให้รองรับออฟฟิซรุ่นเก่าได้) ไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วไปสามารถทำได้อย่างไร้ปัญหา
มาที่การทดสอบการเล่นเว็บไซต์ต่างๆ สามารถแสดงผลได้ทั้ง IE จาก Desktop และ IE ในหน้า Start Screen แต่การแสดงผลบางเว็บไซต์ที่มีการลงสคริปไว้จำนวนมากอาจทำให้เครื่องประมวลผลช้า และบางครั้งทำให้เครื่องค้าง อย่างที่ทีมงานทดสอบหารูปจาก Google รูปแบบใหม่ล่าสุด พบว่าเครื่องค้างหลายรอบมากกว่าจะเซฟรูปได้
สุดท้ายสำหรับแบตเตอรีเรียกได้ว่า "เป็นแบตฯ ที่อึดมาก" และสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 9-10 ชั่วโมง แบบว่าทีมงานชาร์จแบตเต็มตั้งแต่เช้า 6 โมง และพับหน้าจอ Stand by ไว้ พร้อมเปิดเล่นเป็นระยะๆ ตลอดทั้งวัน พบว่าไม่มีอาการเครื่องไม่ตื่นจากโหมดสลีปเหมือนโน้ตบุ๊กบางรุ่น แถมกลับบ้านมาประมาณ 1 ทุ่ม แบตเตอรียังเหลือพอจะใช้งานได้ถึงเที่ยงคืนจนเกือบข้ามวันกันเลยทีเดียว
ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป?
สำหรับราคาขาย Lenovo IdeaPad Yoga 11 อยู่ที่ 30,900 บาท เรียกว่าในมุมมองผู้บริโภคทั่วไปถือเป็นราคาที่สูงมากถ้าเทียบกับประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นที่ได้ เพราะต้องไม่ลืมว่านี่คือสถาปัตยกรรม ARM กับ Windows RT ที่ต้องพึ่งพาแอปฯ จาก Windows Store ที่มีอยู่ไม่มากในปัจจุบัน ทำให้ผู้ใช้ที่มีซอฟต์แวร์ที่เคยใช้ได้กับ Windows ทั่วไปไม่สามารถติดตั้งและใช้งานร่วมกับ Windows RT ได้
แต่ถ้ามองในเรื่องการเป็นโน้ตบุ๊ก พิมพ์งาน เล่นอินเตอร์เน็ต พับเปลี่ยนมุมมองเป็นแท็บเล็ตได้ถึง 4 รูปแบบ ราคาระดับนี้ก็ถือว่าได้แค่นวัตกรรมและการออกแบบที่น่าสนใจเท่านั้น ในส่วนตัว Windows RT เองตอนนี้ยังสอบไม่ผ่าน ใครสนใจ Lenovo ตระกูล Yoga เก็บเงินเพิ่มแล้วมองข้ามไปรุ่น 13 นิ้วจะดีกว่า
ยกเว้นแต่ผู้ใช้ที่ต้องใช้งาน Microsoft Office เป็นประจำ เดินทางบ่อย และอยากได้โน้ตบุ๊กขนาดเล็ก น้ำหนักเบา แบตเตอรีออนไลน์ได้ทั้งวันแบบหมดห่วง Yoga 11 อาจเป็นคำตอบ
Company Related Link :
Lenovo
CyberBiz Social