กระทรวงพลังงานเปิดโครงการจัดตั้งศูนย์บริการปรับแต่งเครื่องยนต์หรือจูนอัพให้สามารถใช้แก๊สโซฮอล์โดยไม่คิดค่าแรงกระจายทั่วประเทศกว่า 200 แห่งเริ่มแล้ววันนี้ (25 ธ.ค.) ถึง เม.ย. 56 รองรับนโยบายเลิกขายเบนซิน 91 ขณะที่ ธพ.เผยปี 2556 ผู้ค้าจะหันมาทำปั๊มอี 20 เพิ่มขึ้นนอกเหนือจาก ปตท.และบางจาก
พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดตัวโครงการจัดตั้งศูนย์บริการปรับแต่งเครื่องยนต์หรือจูนอัพให้สามารถใช้แก๊สโซฮอล์ หลังรัฐบาลมีนโยบายยกเลิการจำหน่ายเบนซิน 91 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.ว่า กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือ พพ.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสถาบันการศึกษาของรัฐ เช่น วิทยาลัยอาชีวศึกษา จัดโครงการจัดตั้งศูนย์บริการปรับแต่งเครื่องยนต์ให้สามารถใช้แก๊สโซฮอล์ได้ผ่านทางสถาบันการศึกษาของรัฐ ซึ่งจะกระจายทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 200 แห่ง โดยโครงการได้เริ่มแล้วตั้งแต่วันนี้ (25 ธ.ค. 55) ถึงปลายเดือนเมษายน 2556 รวมเวลา 4 เดือน เพื่อให้บริการปรับแต่งเครื่องยนต์ให้สามารถใช้แก๊สโซฮอล์ได้ฟรี
โดย พพ.จะเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของค่าแรงในการปรับแต่ง ส่วนอุปกรณ์ที่จะต้องเปลี่ยนในรถยนต์ผู้ขับขี่จะเปลี่ยนเอง เช่น หัวเทียน น้ำมันเครื่อง ฯลฯซึ่งถ้าเป็นรถยนต์จะมีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 2,000 บาท แต่ถ้าเพิ่งเปลี่ยนอุปกรณ์นี้มาค่าใช้จ่ายก็จะลดลง ส่วนจักรยานยนต์ก็จะมีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 200 บาทต่อคัน โดยค่าแรงที่สนับสนุนจะใช้งบประมาณจากกองทุนน้ามันเชื้อเพลิง 66 ล้านบาทในการดำเนินการ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดผ่านทาง call canter ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่ 0-2555-2620 และ 3. ผ่านทางศูนย์บริการข้อมูลของกรม ที่ 0-2223-3344 หรือที่ Hotline ที่หมายเลข 08-1938-8927, 08-1938-8312, 08-1938-8669
สำหรับการยกเลิกจำหน่ายเบนซิน 91 จะมีผู้ได้รับผลกระทบหลัก แบ่งเป็น 3 กลุ่มประกอบด้วย กลุ่มรถยนต์ที่ผลิตก่อนปี 2538 ซึ่งรถยนต์กลุ่มนี้เป็นรถยนต์ที่ไม่รองรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ประมาณ 500,000 คัน กลุ่มจักรยานยนต์ 2 จังหวะ ที่ผลิตก่อนปี 2543 มีประมาณ 500,000 คัน และกลุ่มเครื่องยนต์การเกษตรขนาดเล็กที่ไม่สามารถรองรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ได้ เช่น เครื่องพ่นเมล็ด เครื่องพ่นยา เครื่องตัดหญ้า มีประมาณ 500,000-1,000,000 เครื่อง
นายวีระพล จิระประดิษฐ์กุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า หลังจากยกเลิกเบนซิน 91 ซึ่งมียอดจำหน่ายประมาณ 7-8 ล้านลิตรต่อวัน ในวันที่ 1 มกราคม 2556 คาดว่าจะมีผู้หันไปใช้เบนซิน 95 เพิ่มจาก7-8 แสนล้านลิตรต่อวัน เป็น 1-2 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนที่เหลือจะหันไปใช้แก๊สโซฮอล์ โดยเฉพาะ อี 20 จะเพิ่มมากขึ้น โดยส่งผลทำให้ยอดใช้เอทานอล ขยับขึ้นจาก 1.3 ล้านลิตรต่อวันเป็น 2 ล้านลิตรต่อวัน ในปี 2556 ส่วนยอดใช้อี 20 จะเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 2 ล้านลิตรต่อวัน จากปัจจุบันมียอดใช้ 1.4-1.5 ล้านลิตรต่อวัน เพราะหลังจากยกเลิกเบนซิน 91 แล้ว ปั๊มน้ำมันทุกค่ายระบุว่าจะขายอี 20 จากปัจจุบัน่ี่มีเพียง ปตท.และบางจากจำหน่ายอี 20 เท่านั้น ขณะที่ผู้ค้าน้ำมันรายอื่น ยกเว้นบางจากจะมีการขายเบนซิน 95 เพิ่มขึ้นด้วย