Xperia V และ Xperia Tx กลายเป็นเรือธงอีก 2 รุ่นของโซนี ที่มาแจ้งเกิดในตลาดประเทศไทยช้าเกินไป ด้วยเหตุผลหลักเลยคืนเข้ามาวางจำหน่ายช้ากว่าในต่างประเทศกว่าไตรมาส หรือหลังจากเปิดตัวเกือบ 6 เดือน พร้อมกับล่าสุดทางโซนีก็เพิ่งเปิดตัวเรือธงของค่ายรุ่นใหม่อย่าง Xperia Z ไปอีกด้วย
ความโดดเด่นของ Xperia Tx และ Xperia V ที่วางจำหน่ายในราคาเดียวกันที่ 16,900 บาท อยู่ที่หน่วยประมวลผล Snapdragon S4 ที่เป็นดูอัลคอร์ 1.5 GHz แต่ประสิทธิภาพสูงทัดเทียมกับหน่วยประมวลผลตระกูลควอดคอร์ เพียงแต่ที่น่าเสียดายคือระบบปฏิบัติการที่ให้มายังเป็น แอนดรอยด์ 4.0 (ICS) ไม่ใช่ 4.1 (Jelly Bean) ทำให้ในส่วนของระบบภายในไม่ค่อยแตกต่างจากรุ่นที่ออกมาก่อนหน้า Xperia Ion
สำหรับความแตกต่างของ Xperia Tx กับ V จะอยู่ที่ขนาดหน้าจอ Tx ซึ่งมีขนาด 4.6 นิ้ว ส่วน V อยู่ที่ 4.3 นิ้ว โดยรุ่น V จะพิเศษตรงที่รองรับการเชื่อมต่อ 4G (LTE) กับหน่วยความจุ 8GB กล้องหน้า VGA และมีการประกอบที่ช่วยกันน้ำในระดับหนึ่ง ส่วน Tx จะรองรับเพียง 3G เท่านั้น กล้องหน้า 1.3 ล้านพิกเซล กับหน่วยความจุ 16 GB ส่วนที่เหลือทั้งความละเอียดกล้องหลัก และระบบอื่นๆเหมือนกันทั้งหมด
การออกแบบและสเปก
ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ในช่วงหลังของโซนีที่เริ่มมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองมากขึ้น ทำให้ทั้ง Xperia V และ Xperia Tx ไม่ทำให้เหล่าสาวกที่มั่นใจในแบรนด์โวนีผิดหวัง ด้วยการนำดีไซน์ฝาหลังโค้งในตระกูล Arc กลับมาผสานกับความบางของเครื่อง และวัสดุที่จับแล้วให้ความรู้สึกแข็งแรง
โดยในรุ่น Xperia V จะมีขนาดรอบตัวอยู่ที่ 129 x 65 x 10.7 มิลลิเมตร น้ำหนัก 120 กรัม มีวางจำหน่ายสีดำเพียงสีเดียว ส่วนรุ่น Xperia Tx มีขนาดรอบตัว 131 x 68.6 x 8.6 มิลลิเมตร น้ำหนัก 127 กรัม วางจำหน่ายด้วยกัน 3 สีคือ ดำ ชมพู และขาว
ทีนี้มาเจาะลึกกันไปทีละรุ่นเริ่มกันที่ Xperia V ซึ่งจะดูหนากว่า Xperia Tx เล็กน้อย จะมีช่องลำโพงสนทนาพาดยาวอยู่ใกล้เคียงกับขอบบน ถัดลงมาเป็นสัญลักาณ์ Sony โดยมีเซ็นเซอร์ตรวจวัดแสง และไฟแสดงสถานะอยู่ทางฝั่งขวา ส่วนฝั่งซ้ายเป็นกล้องหน้าความละเอียด VGA ถัดลงมาเป็นหน้าจอ TFT ทัชสกรีนแบบป้องกันรอยขีดข่วน ขนาด 4.3 นิ้ว ความละเอียด 1,280 x 720 พิกเซล 16 ล้านสี ส่วนด้านล่างถูกปล่อยโล่งไว้
ขณะที่ฝาหลังจะมีความโค้งบริเวณกลางเครื่องเล็กน้อย โดยมีกล้องความละเอียด 13 ล้านพิกเซล และไฟแฟลช อยู่ตรงกึ่งกลางบน ถัดลงมาเป็นสัญลักษณ์ Xperia และช่องลำโพงอยู่บริเวณล่าง
ด้วยความที่ตัวเครื่องมีระบบป้องกันฝุ่นและน้ำ มาตรฐาน IP55/IP57 เช่นเดียวกับในรุ่น Arco S ส่งผลให้การประกอบของ Xperia V จะมีจุกยาง และขอบยางปิดบริเวณช่องเชื่อมต่อทั้งหมด รวมถึงบริเวณฝาหลัง ที่มียางหุ้มคลุมแบตเตอรีขนาด 1,750 mAh ช่องใส่ไมโครเอสดี และช่องใส่ไมโครซิมการ์ด
ด้านซ้าย - เป็นช่องสำหรับเสียบสายชาร์จ และแถบสำหรับเชื่อมต่อกับฐาน ด้านขวา - มีปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง และปุ่มปรับระดับเสียง ด้านบน - เป็นช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. ด้านล่าง - จะมีช่องไมโครโฟนสนทนาเพียงอย่างเดียว
มาในส่วนของ Xperia Tx ที่ดูตัวเครื่องใหญ่กว่า เนื่องมาจากมีหน้าจอใหญ่ถึง 4.6 นิ้ว แบบป้องกันรอยขีดส่วนเช่นเดียวกัน ความละเอียดหน้าจอก็อยู่ที่ 1,280 x 720 พิกเซล 16 ล้านสีเหมือนกัน เพียงแต่การวางเลย์เอาท์ของกล้องหน้า และเซ็นเซอร์จะอยู่สลับฝั่งกัน ทำให้กล้องหน้าของ Tx อยู่ฝั่งขวา คู่กับไฟแสดงสถานะ ส่วนเซ็นเซอร์ทั้งหลายอยู่ฝั่งซ้ายของ สัญลักษณ์ Sony ส่วนล่างหน้าจอมีสัญลักษณ์รุ่นอย่าง Xperia พาดอยู่กึ่งกลาง
นอกจากนี้จะสังเกตุได้ว่าเครื่องทั้ง 2 รุ่นจะไม่มีปุ่มสัมผัส หรือซอฟต์คีย์ใดๆ สำหรับกดย้อนกลับ โฮม เมนู หรือค้นหา เพราะด้วยระบบของ ICS ทำให้ปุ่มฝั่งเข้าไปอยู่กับหน้าจอของแอนดรอยด์เรียบร้อยแล้ว
ด้านหลัง - ของ Xperia Tx จะมีความโค้งในลักษณะเดียวกับรุ่น Arc มากกว่า Xperia V เนื่องจากตัวเครื่องมีความบางกว่า ทำให้ในบริเวณที่เป็นกล้องความละเอียด 13 ล้านพิกเซล โดยมีไฟแฟลชแอลอีดีอยู่เยื้องลงมา ส่วนฝั่งล่างก็จะมีสัญลักษณ์ของ Xperia และช่องลำโพงทำให้ทั้ง 2 ฝั่งหนากว่าส่วนกลางเครื่อง
ด้านซ้าย - เป็นปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง โดยมีช่องร้อยสายคล้องโทรศัพท์อยู่ขอบล่าง ด้านขวา - มีช่องเสียบสายชาร์จไมโครยูเอสบี ปุ่มปรับระดับเสียง และปุ่มชัตเตอร์กล้อง ด้านบน - เป็นช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. ด้านล่าง - มีช่องไมโครโฟนสนทนา
เทียบขนาด Xperia S Xperia V และ Xperia Tx
สำหรับสเปกภายในของ Xperia V (LT25i) มาพร้อมกับหน่วยประมวลผล Snapdragon S4 ที่ใช้ชิปเซ็ตเป็น MSM8960 ทำให้ตัวเครื่องรองรับการเชื่อมต่อ LTE ด้วย ส่วน Xperia Tx (LT29i)ใช้หน่วยประมวลผลตัวเดียวกัน เพียงแต่ใช้ชิปเซ็ตเป็น MSM8260A แทน รองรับการใช้งานเพียง 3G ซึ่งหน่วยประมวลผลกราฟิกเป็น Adreno 225 เช่นเดียวกัน RAM 1 GB แต่หน่วยความจำ Tx ให้มา 16 GB V ให้มา 8 GB รองรับไมโครเอสดีการ์ดเพิ่มเติม
ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ
มากันในส่วนของฟีเจอร์ภายในกันบ้าง เนื่องจากเครื่องที่วางจำหน่ายออกมายังคงเป็น ICS (แอนดรอยด์ 4.0) ทำให้แทบไม่มีความแตกต่างจากตระกูล Xperia ในปี 2012 ที่ผ่านมาเลย เริ่มกันจากหน้าจออินเตอร์เฟส ที่ผู้ใช้สามารถเลือกวิตเจ็ตมาใส่ได้เอง โดยบังคับให้มีไอคอนหลักอยู่แถบล่าง ซึ่งสามารถลากแอปฯมารวมกันเป็นโฟลเดอร์ได้ด้วย ส่วนตรงกลางก็ไว้สำหรับเข้าหน้าเมนูหลัก
ที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มเข้ามาเห็นจะเป็นในส่วนของแถบ Notification ที่มีปุ่มลัดสำหรับการตั้งค่าด่วน จำนวนเปิดปิดเสียง บลูทูธ ไวไฟ การเชื่อมต่อโมบายอินเทอร์เน็ต จากของเดิมที่มีไว้กดเข้าหน้าตั้งค่าเฉยๆ นอกจากนี้กรณีที่กดปุ่มปิดเครื่องค้าง ก็มีโหมดจับภาพหน้าจอเพิ่มมาให้ใช้งานได้ทันที
อีกจุดหนึ่งที่เพิ่มมาคือหน้าจอแสดงการใช้งานแอปฯก่อนหน้า (ปุ่มขวาสุด) เมื่อกดขึ้นมาแล้วจะมีแถบไอคอนเล็กๆสำหรับเรียกใช้โปรแกรมด่วน (แอปฯขนาดเล็ก) จำพวกเครื่องคิดเลข นาฬิกาจับเวลา บันทึกเสียง สมุดจดโน้ตย่อ แน่นอนว่าในอนาคตจะมีเพิ่มมาอีก ซึ่งผู้ใช้สามารถเข้าไปโหลดเพิ่มเติมได้ใน Google Play
สำหรับแอปพลิเคชันที่ให้มาประกอบไปด้วย รายชื่อ โทรศัพท์ ข้อความ เบราว์เซอร์ TimeScape ตั้งค่า Walkman อัลบั้มรูป นาฬิกา กล้อง อีเมล กูเกิลเพลย์ เฟซบุ๊ก ปฏิทิน แผนที่ จีเมล ทอล์ก การนำทาง ละติจูด เครื่องคิดเลข TrackID Smart Connect ยูทูป สำรองข้อมูลและเรียกคืน ภาพยนตร์ โครมเบราว์เซอร์
ส่วนของแอปฯ Smart Connect มีการอัปเดตให้ดูน่าใช้งานมากขึ้น โดยยังคงความสามารถเด่นในการจัดการกับอุปกรณ์เสริมต่างๆ ว่าเมื่อเชื่อมต่อใช้งานแล้ว สามารถตั้งค่าให้มีการรันแอปพลิเคชันขึ้นมาใช้งาน ตั้งช่วงเวลา การเปิด-ปิด การเชื่อมต่อต่างๆ ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้
จุดที่โดดเด่นขึ้นมาคือโหมดกล้อง ที่มีโหมดอัจฉริยะสำหรับถ่ายภาพเพิ่มขึ้นมาจากการถ่ายภาพแบบปกติ รวมกับการใส่เอฟเฟกต์ให้ภาพ 9 รูปแบบ มีฉากให้เลือกถ่ายภาพได้ตามต้องการ สำหรับการถ่ายภาพ ถ้าต้องการถ่ายที่ความละเอียด 13 ล้านพิกเซล จะได้สัดส่วนภาพที่ 4:3 แต่ถ้าเป็นภาพสัดส่วน 16 : 9 ความละเอียดจะลดลง
นอกจากนี้ในส่วนของคีย์บอร์ด ที่แต่เดิมมีเฉพาะแป้นพิมพ์เต็มรูปแบบ ซึ่งจะมีการรวมสระเข้าไปไว้ด้วยกัน ทำให้ใช้งานไม่ค่อยคล้องตัว แต่ใน 2 รุ่นนี้ได้เพิ่มแป้มพิมพ์เต็มรูปแบบพิเศษมาให้ โดยมีการวางเลย์เอาท์แบบคีย์บอร์ดปกติด้วย แน่นอนว่าระบบ Swype ก็ยังสามารถใช้งานได้อยู่เช่นเดิม
เลย์เอาท์ของโหมดโทรศัพท์ก็ยังคงจุดเด่นที่ปุ่มตัวเลขขนาดใหญ่ โดยมีโหมดเดารายชื่อจากแป้นตัวเลขที่พิมพ์ไปก่อนหน้า การรับสายโทรศัพท์ใช้งานสไลด์ซ้ายไปขวา ส่วนถ้าต้องการตัดสายก็สไลด์จากขวาไปซ้ายแทน หรือถ้าต้องการส่งข้อความกลับไปใช้การลากนิ้วจากล่างหน้าจอขึ้นข้างบน
มาถึงในส่วนของการตั้งค่าเป็นไปตามมาตรฐานของแอนดรอยด์ 4.0 กล่าวคือมีการแบ่งออกเป็นระบบการเชื่อมต่อและเครือข่าย อุปกรณ์ ส่วนตัว และระบบ ซึ่งจุดที่เพิ่มเข้ามาสำหรับ Xperia ทั้ง 2 รุ่นคือในส่วนของเสียง ที่มีการนำเทคโนโลยี Clear Phase และ xLoud เข้ามาช่วยเพิ่มคุณภาพเสียง
ส่วนของหน้าจอก็มี Mobile Bravia Engine 2 มาช่วยเพิ่มคุณภาพ ขณะเดียวกันในส่วนของการเชื่อมต่อก็จะมีระบบ Media Server เพื่อแชร์คอนเทนต์ในเครื่องไปยังอุปกรณ์อื่นๆในเครือข่ายเดียวกัน
การเชื่อมต่ออื่นๆก็จะมีในส่วนของ NFC ที่ใช้งานร่วมกับ Android Beam ในการนำหลังเครื่องไปสัมผัสเพื่อส่งรูปภาพ วิดีโอ เพลง ไปยังอีกเครื่องหนึ่ง การส่งข้อมูลผ่าน Wi-Fi Direct ที่ให้ความเร็วในการส่งสูงขึ้น สำหรับ Xperia V ก็จะมีให้เลือกเครือข่าย LTE ไว้ใช้งานด้วย สุดท้ายระบบ Location Base Wi-Fi ไว้สำหรับจำว่าเมื่ออยู่ในสถานที่ใด จะเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ไวเลสตัวไหนเป็นต้น
ในส่วนของผลการทดสอบ Xperia V ผ่านโปรแกรมทดสอบประสิทธิภาพบนแอนดรอยด์อย่าง Quadrant Standart และ Antutu ได้คะแนน 5,743 คะแนน และ 11,382 คะแนน ตามลำดับ หน้าจอรองรับการสัมผัส 10 จุดพร้อมกัน Vellamo ทดสอบ HTML5 ได้ 2,014 และ METAL 608 ทดสอบกราฟิกผ่าน Nenamark1 และ Nenamark2 60.1 fps An3dBench 7,385 คะแนน และ An3dBenchXL 37,251 คะแนน
ขณะที่การทดสอบด้วยโปรแกรม Passmark PerformanceTest Mobile ได้คะแนน System 2,229 คะแนน CPU 4,295 คะแนน Disk 3,362 คะแนน Memory 2,759 คะแนน 2D Graphics 2,281 คะแนน และ 3D Graphics 787 คะแนน
ส่วนการทดสอบ CF-Bench ดูรายละเอียดได้จากรูปด้านล่าง
ในส่วนของผลการทดสอบ Xperia Tx ผ่านโปรแกรมทดสอบประสิทธิภาพบนแอนดรอยด์อย่าง Quadrant Standart และ Antutu ได้คะแนน 4,554 คะแนน และ 9,863 คะแนน ตามลำดับ หน้าจอรองรับการสัมผัส 10 จุดพร้อมกัน Vellamo ทดสอบ HTML5 ได้ 1,808 และ METAL 631 ทดสอบกราฟิกผ่าน Nenamark1 และ Nenamark2 60.1 fps An3dBench 7,312 คะแนน และ An3dBenchXL 36,877 คะแนน
ขณะที่การทดสอบด้วยโปรแกรม Passmark PerformanceTest Mobile ได้คะแนน System 2,193 คะแนน CPU 4,357 คะแนน Disk 4,382 คะแนน Memory 2,398 คะแนน 2D Graphics 2,146 คะแนน และ 3D Graphics 760 คะแนน
ส่วนการทดสอบ CF-Bench ดูรายละเอียดได้จากรูปด้านล่าง
จะเห็นได้ว่าแม้จะใช้หน่วยประมวลผลเดียวกัน แต่เนื่องจาก Xperia Tx มีขนาดหน้าจอใหญ่กว่า ทำให้ในการประมวลผลเพื่อแสดงผลทำได้ช้าลงกว่าเดิม ซึ่งในการใช้งานจริงด้วยการรับสัมผัสแล้ว ไม่แตกต่างกัน
จุดขาย
- Sony Xperia V รองรับการใช้งาน 4G LTE
- ตัวเครื่องกันน้ำ กันฝุ่นมาตรฐาน (IP55 / IP57)
- Sony Xperia Tx ตัวเครื่องบาง มีลักษณะการดีไซน์ที่โดดเด่น
- หน้าจอขนาด 4.3 / 4.6 นิ้ว ความละเอียดสูง 720p
- นำเทคโนโลยีทั้งภาพและเสียงจากโซนีมาใช้
ข้อสังเกต/ตอบจุดขายหรือไม่
- ยังไม่เป็นระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.1 Jelly Bean
- มีรุ่นใหม่มาจ่อคิววางตลาดแล้ว
ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป
อย่างที่บอกไปว่าช่วงเวลาที่เครื่องทั้ง 2 รุ่นเข้ามาวางจำหน่าย ล่าช้าไปค่อนข้างมากจากการที่ทางโซนีผลิตสินค้ามาจำหน่ายไม่ทัน จนมีรุ่นใหม่กว่าที่รวมความสามารถของเครื่องทั้ง 2 รุ่นเข้าด้วยกันคือ Xperia Z / ZL ทำให้อาจตัดสินใจได้ลำบากสำหรับผู้ที่ต้องการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆล่าสุด
แต่ถ้ามองถึงในแง่ของการใช้งานทั่วไปด้วยราคาที่เปิดมา 16,900 บาท ในทั้ง 2 รุ่น ทำให้กลายเป็นที่น่าสนใจของผู้ที่ต้องการสมาร์ทโฟนในระดับราคาที่ไม่สูงเว่อจนเกินไป เพียงแต่ต้องเลือกความแตกต่างระหว่างขนาดหน้าจอ และความบาง กับเครื่องที่รับ 4G และกันน้ำ ที่หน้าจอเล็กกว่านิดหน่อย
โดยรวมแล้วความสามารถของเครื่องทั้ง 2 รุ่น ถือว่าทำออกมาได้ค่อนข้างดีครบถ้วน ตอบโจทย์การใช้งานโดยรวมได้หมด ดังนั้นใครที่กำลังมองหาสินค้าของโซนีแล้ว เป็นอีก 2 ตัวเครื่องที่น่าสนใจ
Company Related Links :
Sony Mobile
CyberBiz Social